ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจปีมะเมีย…เพลียใจ

เศรษฐกิจปีมะเมีย…เพลียใจ

8 มกราคม 2014


ดร.วิรไท สันติประภพ

http://www.bloomberg.com
http://www.bloomberg.com

สวัสดีปีมะเมียครับ เห็นชื่อบทความนี้แล้วอย่าหาว่าผมกำลังทำลายบรรยากาศช่วงปีใหม่นะครับ ผมอยากฉายภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เห็นกันตั้งแต่ต้นปี เพราะคิดว่าเราต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมทรัพย์ ไว้อย่างรอบคอบและระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

มีหลายสาเหตุที่ทำให้ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2557 จะเพลียใจ ถ้าเริ่มจากเศรษฐกิจโลก จะพบว่ามีปัจจัยสองประการที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย

ประการแรก กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) จะน่าสนใจน้อยกว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมามาก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งพวกที่เคยเป็นพระเอก เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล หรือพระรอง เช่น แอฟริกาใต้ ตุรกี และอินโดนีเซีย ต่างมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว หลายประเทศมีปัญหาโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาปรับตัว เพราะช่วงที่ผ่านมากระตุ้นเศรษฐกิจกันเกินตัว ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง นอนตีพุงรับประโยชน์จากนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จนหนี้สินของทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว การบริโภคเฟื่องฟู แต่ในช่วงหนึ่งปีข้างหน้านี้ หลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องรัดเข็มขัดและปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ในวันนี้เราส่งสินค้าออกไปกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าออกของเราทั้งหมด เมื่อประเทศเหล่านี้เริ่มชะลอลง ตลาดส่งออกของเราก็จะชะลอลงด้วย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะทรุดหรือทรงในระดับต่ำต่อไป

ประการที่สอง นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Quantitative Easing (QE) จะถูกปรับลดลงจนถึงกับเลิกโครงการ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับลดวงเงิน QE ลงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 แม้ว่าจะลดลงเพียงวงเงินเล็กน้อย แต่เชื่อได้ว่าจะทยอยลดลงมากขึ้นตลอดทั้งปี การปรับลดวงเงินและเลิกโครงการ QE นี้จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดเงินโลกปรับสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การปรับลดวงเงิน QE ผนวกกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เงินทุนที่เคยไหลเข้ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แบบถล่มทลายเหือดแห้งไป และอาจจะไหลออกด้วยซ้ำ ประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงพระอันดับของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ย่อมถูกผลกระทบรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถาบันการเงินในประเทศจะไม่สามารถเร่งขยายสินเชื่อเหมือนกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องระมัดระวังความเสี่ยง และอาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลก ผนวกกับเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับข้างจากปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง ปีที่แล้วเรากังวลกันว่าค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นเร็วมาก แต่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เงินทุนไหลออกได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเร็วจนหลุด 33 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ไปแล้ว เวลาที่เงินบาทอ่อนค่าเร็ว เงินทุนจะยิ่งไหลออกเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติอยากที่จะขายทรัพย์สินเอาเงินออกก่อนที่มูลค่าจะลดลงไปอีก

ในวันนี้นักลงทุนต่างชาติยังถือหุ้นไทยและพันธบัตรไทยอยู่อีกหลายล้านล้านบาท ถ้าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อยๆ หุ้นและพันธบัตรไทยจะถูกขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทไหลลง ราคาหุ้นตกลง และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงขึ้นเป็นวงจรต่อเนื่อง เงินบาทที่อ่อนค่าจะเกิดผลเสียต่อเงินเฟ้อในประเทศ เพราะราคาสินค้านำเข้าจะปรับเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะราคาพลังงานที่กระทบกับเงินในกระเป๋าของคนไทยทุกคน

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าลงอาจจะช่วยให้การส่งออกและการท่องเที่ยวกลับมาเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยได้ในปีนี้ แต่ผมใช้คำว่าอาจจะ เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ประการแรก ผู้ส่งออกไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมสำคัญไปแล้ว และไม่สามารถวิ่งไล่ตามคู่แข่งได้ทันในช่วงเวลาสั้นๆ อุตสาหกรรมส่งออกข้าวได้ถูกนโยบายรับจำนำข้าวทำลายโดยสิ้นเชิง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในหลายพื้นที่และการขาดแรงงานฝีมือ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีสัญญาณชะลอลงมาหลายเดือนแล้ว เพราะเรากำลังตกขบวนรถไฟจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อสองปีที่ผ่านมา ผนวกกับสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน และรัฐบาลที่มุ่งทำแต่นโยบายประชานิยม ไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างจริงจัง แม้ว่าโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ดั้งเดิมไม่ได้ย้ายหนีน้ำหรือหนีการเมืองไปไหน แต่โครงการลงทุนใหม่ๆ ได้ไปเกิดในประเทศอื่น เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเราจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นสินค้าตกรุ่น ไม่ใช่สินค้าที่เป็นที่นิยมหรือมีศักยภาพจะเติบโตได้รวดเร็ว

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง) ในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วติดลบต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของเราได้ชัดเจนที่สุด ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อนำมาผลิตต่อยังติดลบต่อเนื่องในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณชี้นำว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยังไม่ฟื้นตัวได้เร็ว ถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะชะลอลงด้วยแล้ว ประเทศเหล่านี้จะมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก จะต้องแย่งกันส่งออก ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลาดที่อาจจะยังเป็นแสงสว่างอยู่บ้าง คงมีเพียงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ฐานการผลิตในประเทศไทยแข็งแกร่ง และการค้าชายแดนกับประเทศรอบบ้าน เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังขยายตัวสูง และยังต้องพึ่งสินค้าจากประเทศไทย

ส่วนการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีที่แล้วไว้ได้อย่างดีนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มจะรุนแรงและเผชิญหน้ากันมากขึ้นจะทำให้การท่องเที่ยวชะงักงันได้ นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่รักตัวกลัวตาย และกิจกรรมจัดประชุมนานาชาติขนาดใหญ่จะหายไป ถ้าเราเกิดโชคดี ความขัดแย้งทางการเมืองมีข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และเราสามารถกู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากคราบก๊าซน้ำตาได้รวดเร็ว เราอาจจะเห็นนักท่องเที่ยวราคาถูกกลับเข้ามาใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่น่าจะสรุปจบได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ในทางตรงกันข้าม มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน และยืดเยื้อ เรามีโอกาสสูงที่จะเกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองไปหลายเดือน ไม่มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐบริหารประเทศได้หรือได้รับการยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง ไม่มีรัฐสภาที่จะพิจารณางบประมาณของปีต่อไปที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2557 โครงการลงทุนของทั้งรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะหยุดชะงัก การเบิกจ่ายของภาครัฐจะเปลี่ยนจากที่เคยเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นกลไกถ่วงเศรษฐกิจ การตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ จะไม่สามารถทำได้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้นเพราะต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอน ธุรกิจไทยและต่างประเทศจะชะลอการลงทุนต่อเนื่องหลังจากที่ชะลอมาแล้วกว่าครึ่งปี หรืออาจจะหันไปลงทุนสร้างโรงงานหรือขยายกิจการในประเทศอื่นแทน ส่งผลให้เราติดกับดักความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปอีกหลายปี

สภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยืดเยื้อและความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงขึ้น จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเมืองไทย นักลงทุนเหล่านี้อาจจะเคยชินกับความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่มองว่าเศรษฐกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ แต่ถ้าเราเกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองเป็นเวลานาน และความขัดแย้งทางการเมืองซับซ้อนเกินกว่าที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้าใจ มีโอกาสที่แนวโน้มเครดิตของประเทศจะถูกปรับลดลง นักลงทุนต่างประเทศจะขายทิ้งหุ้นและพันธบัตรไทย เงินบาทอ่อนค่าได้เร็ว และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น กระทบกับต้นทุนการเงินของธุรกิจในประเทศอีกต่อหนึ่ง

เราต้องไม่ลืมว่าแนวโน้มเศรษฐกิจแบบเพลียใจนี้กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเป็นเหมือนยาชูกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้น ทำให้คนไทยลัลล้าได้ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเละ แต่นโยบายเหล่านี้ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาครัฐกระโดดสูงขึ้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเร็ว สภาพคล่องจะตึงตัว ค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจชะงักงัน คนตกงานเพิ่มขึ้น เราอาจจะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาสังคมที่เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือน ต้นทุนเงินกู้ที่รัฐบาลเอาไปสต็อกข้าวเน่าไว้ตามโกดังต่างๆ จะกระโดดขึ้นมากด้วย เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเละในขณะที่โลกเริ่มจะลัลล้า

ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยด้วยใจเป็นกลาง เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมทรัพย์ ตั้งรับได้อย่างเท่าทัน ในสถานการณ์เช่นนี้ เตรียมตัวแบบเผื่อไว้มากหน่อยจะดีกว่าขาด เราคงต้องคิดถึงความพอเพียงมากขึ้น หาทางลดค่าใช้จ่าย และควบคุมหนี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้ที่นำมาใช้อุปโภคบริโภค ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับตนเอง ในระดับธุรกิจ จะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่อง เตรียมวงเงินที่จะใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หาทางปิดความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่จะผันผวนได้สูง ลดค่าใช้จ่าย และทบทวนแผนการลงทุนขยายธุรกิจตามที่จำเป็น

ส่วนในระดับประเทศนั้น ต้องถือว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย (และเงินในกระเป๋าของพวกเราทุกคน) เป็นต้นทุนของการพัฒนาทางการเมือง เราจะต้องร่วมกันหาทางออกจากสภาวะขัดแย้งทางการเมืองโดยเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ต้องร่วมกันผลักดันแนวทางปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม และคิดถึงกลไกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปได้จริง มีกรอบเวลาชัดเจน เพราะถ้าปล่อยให้ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ แล้ว คนไทยที่หาเช้ากินค่ำจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุด และการปฏิรูปประเทศที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นจะได้รับเสียงสนับสนุนน้อยลง

สวัสดีปีมะเมียครับ
หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 8 มกราคม 2557