ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “วิรไท สันติประภพ” ชี้ 3 ปัจจัยส่งผล “fear index” สูงขึ้น เตือนตลาดการเงินโลกผันผวน – เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแต่ไม่ทั่วถึง

“วิรไท สันติประภพ” ชี้ 3 ปัจจัยส่งผล “fear index” สูงขึ้น เตือนตลาดการเงินโลกผันผวน – เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแต่ไม่ทั่วถึง

11 กุมภาพันธ์ 2016


วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ประจำปีสำหรับสื่อมวลชนในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางการดำเนินนโยบาย ธปท. ปี 2559” มีรายละเอียดดังนี้

“ทุกท่านครับ เราเริ่มต้นปีด้วยความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดเงินตลาดทุนโลก ซึ่งอาจสร้างความกังวลใจให้กับพวกเราไม่น้อยทีเดียว แต่ก็ถือได้ว่า ตลาดเงินตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีกันชนที่เข้มแข็งในหลายด้าน จึงช่วยให้เรารับมือกับความผันผวนจากภายนอกได้ค่อนข้างดี

ตลอดปีนี้ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจะยังคงอยู่กับเรา และมีโอกาสที่จะผันผวนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ผมจึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพวกเรามาร่วมกันทบทวนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่เราเผชิญในระยะที่ผ่านมา รวมถึงประเมินแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ในช่วงท้าย ผมจะเล่าถึงภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงบทบาทในการร่วมพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของประเทศ

ตลาดการเงินโลกผันผวนหนัก

ขอเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปมองพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะที่ผ่านมา ตลาดเงินและตลาดทุนโลกผันผวนมากขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงในหลายประเทศทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยนเกือบทุกสกุลเงินผันผวนสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ดัชนี VIX ซึ่งหลายคนเรียกกันว่า “fear index” หรือดัชนีความกลัว ปรับสูงขึ้น สะท้อนความกังวลใจของนักลงทุนต่อเหตุการณ์ต่างๆ และทำให้อ่อนไหวต่อข่าวหรือข้อมูลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะข่าวหรือข้อมูลที่ต่างไปจากที่ตลาดได้คาดไว้ ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้นเกิดจากอย่างน้อย 3 ปัจจัย

ปัจจัยประการแรก คือ การปรับตัวอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นและตลาดเงินของจีน ซึ่งสะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะเศรษฐกิจจีนและทิศทางการดำเนินนโยบายของทางการจีนตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงกลไกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน, มาตรการนโยบายการเงิน และการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย มาตรการใหม่ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นใจของทั้งนักลงทุนจีนและนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้ผ่านช่องว่างระหว่างค่าเงินหยวน offshore และ onshore ที่เพิ่มขึ้นในหลายช่วงเวลา

อีกส่วนหนึ่งมาจากการออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดทุน อาทิ การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ มาตรการเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนี Shanghai Composite Index ปรับลดลงถึงร้อยละ 30 ในปัจจุบันจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หากมองย้อนไปถึงช่วงต้นปี 2558 แล้ว เราจะเห็นว่าความผันผวนดังกล่าวอาจเป็นการปรับตัวของตลาดให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง (Correction) เพราะในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 สวนทางกับเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเองก็เป็นสาเหตุสำคัญของความผันผวน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุน และหันมาส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกมาเพิ่มบทบาทของภาคบริการ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน กระทบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ทั้งในประเทศจีนเองและในภูมิภาค และสร้างความไม่แน่นอนซึ่งกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน

ปัจจัยประการที่สองของความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกมาจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลงมาก ราคาน้ำมันดิบแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานพลังงานทั้งจากเชลล์ก๊าซในสหรัฐฯ จากการยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน และการที่กลุ่มประเทศ OPEC ไม่สามารถตกลงกันได้ รวมถึงการชะลอตัวของอุปสงค์จากจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในฐานะผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันรายใหญ่ของโลก การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันลดลงมากย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบต่อการจ้างงานและการลงทุนในระยะต่อไป รวมไปถึงผลกระทบต่อภาคการเงินจากความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

ปัจจัยที่สาม คือ การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่แตกต่างกันมากขึ้น (Policy Divergence) ซึ่งเป็นผลจากอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เห็นได้จากตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงาน จนนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่างไปจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป รวมถึงธนาคารกลางจีนที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา

ความผันผวนตลาดเงิน

จีดีพีไทย

การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในทิศทางที่แตกต่างกันขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างขั้วเศรษฐกิจสำคัญของโลกเช่นนี้ทำให้กระแสเงินทุนในโลกอ่อนไหวต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกที่ยังมีอยู่สูงมาก ได้ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกและอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลสำคัญปรับตัวผันผวนรุนแรงต่อข่าวใหม่ๆ ที่ออกมา

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลกค่อนข้างสูง แต่ภาคการเงินไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จากการที่เรามีกันชนหรือภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง

ในปี 2558 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลถึงร้อยละ 9 ของ GDP หรือ 34,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงถึง 3 เท่าของหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี ขณะที่การถือครองในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ของยอดคงค้างทั้งหมด ณ สิ้นปี 2558 นอกจากนี้ หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำและส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ท้ายที่สุด สภาพคล่องในระบบการเงินในประเทศที่อยู่ในระดับสูงเป็นกันชนช่วยป้องกันผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนได้เป็นอย่างดี ไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัวเหมือนกับบางประเทศ

ด้วยเหตุนี้ ไทยเราจึงสามารถรับมือกับผลกระทบจากความผันผวนจากภายนอกในช่วงที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า วันนี้เราเดินทางอยู่บนถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่รถของเรามีแหนบ มีโช้คอัพ หรือระบบรองรับแรงกระแทกที่ดี คนในรถจึงไม่เวียนหัวมากเท่าไหร่ แต่เครื่องยนต์อาจจะอ่อนแรงไปบ้าง วิ่งได้ไม่เร็วทันใจผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงสูงทั้งจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงจากโรคระบาดประเภทใหม่ๆ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศจะเผชิญวิกฤติการเงิน หรือความเสี่ยงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศจะสะดุดลง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ประเมินทิศทางและผลกระทบได้ยาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน และมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งผมจะกล่าวถึงรายละเอียดในช่วงต่อไป

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาตลาดการเงินให้มีความลึกและกว้างเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีแผนที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้เกิดความสมดุลของกระแสเงินทุนทั้งขาเข้าและขาออก และให้ตลาดมีบทบาทช่วยสร้างเสถียรภาพการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจป้องกันความเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินในระดับจุลภาคอีกด้วย ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนเกิดขึ้นได้ทั้งสองทิศทาง ผู้ประกอบการต้องไม่ชะล่าใจเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเท่านั้น เพราะจะทำให้การบริหารความเสี่ยงขาดความรอบคอบและเสียหายได้

สิ่งที่ผมได้เล่าให้ฟังมาถึงตอนนี้ เป็นเรื่องของความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกที่เพิ่มมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ซึ่งบางครั้งการขึ้นลงอย่างรวดเร็วของตลาดเงินตลาดทุนอาจสร้างความตระหนกตกใจ และทำให้หลายคนลืมนึกถึงสภาวะเศรษฐกิจจริง ซึ่งในปี 2559 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะฟื้นตัวด้วยอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงขยายตัวในทิศทางเพิ่มขึ้นเหมือนกับที่เคยประเมินไว้ และเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป แม้ว่าหลายสำนักจะปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวลงบ้างก็ตาม ความกังวลจะยังคงมีอยู่สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ทั่วถึง

S__15024260

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยขณะนี้ประเมินว่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 3.5 เพิ่มจากปีที่แล้วที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ สำหรับด้านต่างประเทศ การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี แต่ภาคการส่งออกโดยรวมจะทรงตัว

เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านบวก เราจะเห็นปัจจัยหลายประการ เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะกระทบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เราส่งออกอยู่มากพอสมควร แต่โดยรวมแล้วราคาน้ำมันในระดับต่ำส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิและพึ่งพิงพลังงานมาก ที่เห็นได้ชัด คือ มูลค่าการนำเข้าน้ำมันที่ประหยัดได้ถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันถูกยังมีผลดีต่อทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยช่วยลดค่าครองชีพและพยุงการบริโภคของภาคครัวเรือนได้บางส่วน และยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้ธุรกิจบางประเภทมีกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เราไม่ควรชะล่าใจกับราคาน้ำมันที่ถูกลงชั่วคราว และใช้น้ำมันตามสบายใจ จนหยุดมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจไทย

การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี 2559 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2558 อีกทั้งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกจากประเทศทั้งหมดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไม่คงทนและบริการ ตลอดจนกลุ่มสินค้ากึ่งคงทนที่เริ่มเห็นการฟื้นตัว สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งคงได้รับอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยประคับประคองกำลังซื้อของภาคประชาชน และกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจฐานราก

ด้านการส่งออกสินค้า ถึงแม้ในภาพรวมยังซบเซา โดยส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวด้านปริมาณ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว และอีกส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวด้านราคาตามแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกที่ซบเซามีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไม่มากนัก การจ้างงานโดยรวมยังค่อนข้างทรงตัวทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมโดยรวมและในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาในภาคอุตสาหกรรมเริ่มทรงตัว ในระยะข้างหน้านี้ เราต้องเฝ้าระวังและติดตามภาวะเศรษฐกิจจริงและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมากที่อาจกระทบการส่งออกและการจ้างงาน

การฟื้นไม่กระจายตัว

ดัชนีความเชื่อมั่น

ถึงแม้อุปสงค์โดยรวมต่อสินค้าไทยจะอยู่ในภาวะซบเซา แต่เรายังมีตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง คือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้านหรือ CLMV ซึ่งอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชนชั้นกลางและการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันตลาด CLMV มีส่วนแบ่งในการส่งออกรวมของไทยเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 10.4 ณ สิ้นปี 2558

ในภาพรวม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่กระจายตัว หรือ uneven growth โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าส่งออกบางกลุ่มที่ประสบปัญหาเชิงโครงสร้างจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าแรงของไทยที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ หรือปัญหาโครงสร้างด้านราคาสินค้าที่ลดต่ำลงตามราคาน้ำมัน ผู้ส่งออกบางกลุ่มได้รับผลกระทบตามวัฏจักรอุปสงค์ในเศรษฐกิจโลก และบางกลุ่มที่เราเห็นการปรับตัวดีขึ้นอาจจะเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว เช่น สินค้าที่เป็นชิ้นส่วน smartphone ซึ่งมีความต้องการสูงในช่วงแรกของการออกรุ่นใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายไปสู่ภาคเกษตรหรือภาคเศรษฐกิจชนบท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกภาคเกษตรทยอยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่รายได้ของเกษตรกรยังถูกกดดันต่อเนื่อง เพราะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำรวมทั้งภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง

ในขณะเดียวกัน ภาระหนี้สินของคนในชนบทในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็อยู่ในระดับสูงและขาดภูมิคุ้มกันทางการเงิน รายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงจึงกระทบต่อทั้งการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มนี้

ชี้ภาครัฐเยียวยาอย่างระมัดระวัง เน้นมาตรการระยะยาว

สำหรับบทบาทของภาครัฐ ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายลงทุนทั้งจากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เร่งการเบิกจ่ายเร็วขึ้น โดยเห็นได้จากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ขาดดุลมากขึ้นในระยะหลัง

มาตรการภาครัฐได้มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่กระจายตัว โดยอาจแบ่งมาตรการภาครัฐได้เป็น 3 ประเภท

1) มาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงมาตรการที่เกิดผลได้เร็ว กระจายเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจได้เร็ว เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการคืนภาษีผู้บริโภคช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเร่งรัดการลงทุน

และ 3) มาตรการเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

แม้ว่ามาตรการภาครัฐในสองกลุ่มแรกจะสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเยียวยาประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเปราะบาง รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ควรสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว ผลประการหนึ่งจากบทเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วจนสูงกว่า 80% ของ GDP ในขณะนี้และยังไม่มีแนวโน้มลดลง หนี้ครัวเรือนในระดับสูงสร้างความอ่อนไหวให้แก่ครัวเรือน และเป็นตัวฉุดไม่ให้การบริโภคโดยรวมฟื้นตัวได้เต็มที่ จากนี้ต่อไป ประสิทธิผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือนจะจำกัดมาก เห็นได้จากการชะลอตัวลงของสินเชื่อของภาคครัวเรือนและแรงส่งที่มาจากเครื่องยนต์การบริโภคตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

มาตรการของภาครัฐที่จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ คือ การลงทุนยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน อาทิ การสร้างระบบสาธารณูปโภค กรอบการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อสร้างฐานสำหรับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการ กฎเกณฑ์ และกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกลไกตลาดและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงการปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย

การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่พูดถึงนี้มีความสำคัญเหมือนกับการยกเครื่องรถยนต์ของเราที่ค่อนข้างเก่าและอ่อนแรงมาเป็นเวลานาน การเดินทางของเรายังต้องเผชิญกับถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เราต้องการรถยนต์ที่มีทั้งโช้คอัพหรือระบบรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และต้องมีเครื่องยนต์ที่ดี สมรรถนะสูงด้วย จึงจะทำให้เราเดินทางไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ย้ำบทบาท ธปท. “รักษาเสถียรภาพ-งานพัฒนา”

ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยึดมั่นบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน พร้อมกับการให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนาที่อยู่ภายใต้พันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยใน 3 มิติสำคัญ คือ 1. การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน 2. การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน และ 3. การรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน

พันธกิจแรก คือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในทิศทางผ่อนปรนทั้งด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เข้มแข็ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ในระดับติดลบ และสินเชื่อรวมหุ้นกู้เอกชนก็ยังขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 7% ในปี 2558 สูงขึ้นจากประมาณ 6% ในปีก่อนหน้า แสดงถึงภาวะการเงินที่ผ่อนปรน เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งต้องเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยงที่อาจสะสมจนก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินในอนาคตได้ รวมทั้งต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม หรือ policy space ในภาวะที่ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีมาก และตลาดเงินตลาดทุนโลกมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

ในด้านเสถียรภาพราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในปัจจุบันจึงไม่ใช่ภาวะเงินฝืด และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้ได้ช่วยให้นโยบายการเงินอยู่ในทิศทางผ่อนปรนเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะก่อให้เกิดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

สำหรับพันธกิจที่สอง คือ การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน ในปีที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสถานะแข็งแกร่งและมั่นคง โดย ณ สิ้นปี 2558 มีการกันสำรองหนี้เสียในระดับสูงถึง 156% ของเงินสำรองพึงกัน และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 17.4% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดที่ 8.5% อยู่มาก ในระยะต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจบางกลุ่ม เช่น ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนในภาคเกษตรที่มีความเปราะบาง ส่งผลให้ NPLที่ร้อยละ 2.55 ณ สิ้นปี 2558 มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น แนวทางการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบโดยต่อเนื่อง

นอกจากการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ตามปกติแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFIs อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อแยกบทบาทและหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกับ SFIs ให้ชัดเจน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะมีบทบาทเป็นเจ้าของ (owner) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีบทบาทด้านการดูแลนโยบายการทำธุรกิจ (policymaker) ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีบทบาทกำกับดูแล (regulator) เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความยั่งยืน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะวางกรอบการกำกับดูแลตามหลักการบริหารจัดการสถาบันการเงินที่ดี แต่จะปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับพันธกิจและลักษณะการประกอบธุรกิจของ SFIs เพื่อให้ SFIs ดำเนินงานตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนในระยะยาว ในระยะแรกธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งกำกับดูแลระบบการบริหารความเสี่ยงสำคัญของ SFIs ได้แก่ หลักเกณฑ์ด้านการดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และกระบวนการด้านสินเชื่อ และในระยะต่อไปจะมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงของ SFIs ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และช่องทางการให้บริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

พันธกิจที่สาม คือ การรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ระบบการชำระเงินเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงของเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง และเชื่อมต่อภาคเศรษฐกิจจริงและระบบสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน ความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจของระบบการชำระเงินที่ดี ระบบการชำระเงินจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การคุกคามทางโลกไซเบอร์ หรือ cyber risk ซึ่งต้องทำความเข้าใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ในช่วงหลัง ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทั้งของไทยและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า cyber risk จะสร้างความเสียหายให้กับระบบการชำระเงินไทย กระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการและเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวทางการรับมือกับการคุกคามทางโลกไซเบอร์ต้องมีการสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ อาทิ ภาครัฐต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวปฏิบัติที่ดีของสากล ขณะที่สถาบันการเงินต้องมีมาตรการป้องกันและติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติงานประจำวันให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจหลักทั้ง 3 ด้าน เพื่อรักษาให้ระบบเศรษฐกิจระบบการเงินมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งดำเนินนโยบายเชิงรุกในงานด้านพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว งานด้านพัฒนาระบบการเงินมีหลากหลายมิติ และต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้รองรับ game changers สำคัญ อาทิ พัฒนาการด้าน Fin Tech (เทคโนโลยีทางการเงิน) ที่เติบโตได้เร็วโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ เกิดผู้ให้บริการประเภทใหม่ๆ และเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างตลาดเงินตลาดทุนโลก

game changers

ภูมิคุ้มกันของไทย

ในปี 2559 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งผลักดันงานพัฒนาในหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (FSMP 3) หลายท่านคงจะเคยได้ยินเป้าหมายของแผนที่ 3 ที่ต้องการให้ระบบสถาบันการเงินไทย “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง และยั่งยืน” ในมิติ “แข่งได้” FSMP 3 มุ่งวางแนวนโยบายที่สอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของระบบการเงิน (Financial Landscape) โดยพิจารณาบทบาทของผู้ให้บริการทางการเงินทั้งที่เป็นและไม่เป็นสถาบันการเงิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน และส่งเสริมช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการทางการเงินและการชำระเงิน

นอกจาก “แข่งได้” แล้ว ระบบการเงินของประเทศควรเปิดกว้างให้ประชาชนและธุรกิจ “เข้าถึงได้” ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและธุรกิจในราคาที่เป็นธรรม ในอนาคตประชาชนอาจใช้บริการทางการเงินพื้นฐานทั้งผ่านตัวแทนและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

มิติถัดมา คือ “เชื่อมโยง” สอดคล้องกับความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนจะเจรจารูปแบบการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks หรือ QABs กับประเทศเป้าหมาย เพื่อเพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยที่ออกไปทำธุรกิจในภูมิภาค และจำนวนธนาคารพาณิชย์จากภูมิภาคที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ จะเจรจากับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการใช้เงินตราสกุลท้องถิ่น เช่น การแต่งตั้งธนาคารพาณิชย์เป็น clearing agents สำหรับธุรกรรมเงินบาทและริงกิตของมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกนี้

มิติสุดท้าย คือ “ความยั่งยืน” เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ และสนับสนุนความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ระบบสถาบันการเงินไทยต้องได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล ประชาชนมีความรู้และวินัยทางการเงิน ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีบุคลากรทางการเงินที่มีศักยภาพและมีกฎหมายทางการเงินที่ทันสมัย

งานด้านพัฒนาหลักอีกด้านหนึ่ง คือ การพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันการสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับระบบการชำระเงิน อาทิ ระบบ Any ID ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และผู้ให้บริการสามารถพัฒนาต่อยอดได้ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและขยายจุดเครื่องรับชำระผ่านบัตรให้ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินสด ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายภาษีและการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐให้ประชาชน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งขับเคลื่อน Payment System Roadmap ระยะที่ 3 โดยกำหนดมาตรฐานกลางด้านต่างๆ สำหรับบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตร ATM และบัตรเดบิตเป็น chip card และส่งเสริมให้เกิด local card scheme เพื่อให้การทำธุรกรรมการชำระเงินปลอดภัย มีราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ดีขึ้นด้วยท้ายที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลระบบการชำระเงินที่จะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทมากขึ้น และมีกฎหมายด้านระบบการชำระเงินที่เป็นเอกภาพ

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความผันผวนสูง ในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี ทั้งฐานะด้านต่างประเทศ สภาพคล่องภายในประเทศ และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน สามารถรองรับความเสี่ยงจากตลาดเงินตลาดทุนโลกที่อาจเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ดี เราชะล่าใจไม่ได้ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่กระจายตัวและมีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ฐานะทางเศรษฐกิจอ่อนไหว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของระบบการเงิน จะดำเนินนโยบายการเงินที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและพัฒนาการในตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับสมรรถนะเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย

ท้ายที่สุดนี้ เราทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี แม้ว่ารถของเราจะมีระบบกันกระเทือนที่ใช้ได้ เป็นกันชนจากความผันผวนที่มาจากนอกประเทศ แต่ถนนข้างหน้ายังมีหลุมมีบ่ออยู่มาก หากเราร่วมกันรักษาภูมิคุ้มกันหรือระบบกันกระเทือนของเราให้ดีไปพร้อมๆ กับการยกเครื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์ในด้านต่างๆ แล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงเส้นทางถนนที่ราบรื่นขึ้น หลุมบ่อน้อยลง รถของเราก็จะเร่งเครื่องได้เต็มที่ สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่คนไทยได้อย่างยั่งยืน

สไลด์ประกอบสุนทรพจน์ประจำปี 2559