ThaiPublica > คอลัมน์ > “แผ่นดินไหวคอร์รัปชัน” ในอินเดีย

“แผ่นดินไหวคอร์รัปชัน” ในอินเดีย

26 มกราคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คอร์รัปชันคือการเอาอำนาจที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น คอร์รัปชันจึงเป็นปัญหาหนักใจของประชาชนผู้ไม่มีอำนาจ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรส่วนหนึ่งจะถูกดูดหายไปอย่างไม่เกิดประโยชน์ กอปรทั้งทำให้ศีลธรรมจรรยาของสังคมบิดเบี้ยวอีกด้วย เมื่อผู้คนตื่นขึ้นเห็นปัญหาก็ทำให้เกิด “แผ่นดินไหวทางการเมือง” ขึ้น ดังที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดีย ประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดของโลกในขณะนี้

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2556 มีการเลือกตั้งใน 5 รัฐ เพื่อเลือก ส.ส. ของรัฐและมุขมนตรีของรัฐ พรรครัฐบาลคือพรรคคองเกรสซึ่งครองอำนาจมายาวนานแพ้ขาดลอยทุกรัฐเนื่องจากประเด็นคอร์รัปชัน และความล่าช้าในการออกกฎหมายควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

อินเดียมีเรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชันของรัฐมนตรี ส.ส. และข้าราชการทั้งในระดับประเทศและรัฐมากมายเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ที่หนักสุดก็คือเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวคือ ในปี 2008 นาย Andimuthu Raja รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโทรคมนาคมแจกใบอนุญาตความถี่ตามลักษณะใครมาก่อนได้ก่อน ไม่ใช้วิธีประมูล จนทำให้รัฐขาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท งานเขมือบครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นกรณีคอร์รัปชันที่ใหญ่สุดของอินเดีย

เมื่อประชาชนไม่พอใจเรื่องนี้กันมาก รัฐมนตรีก็ลาออกไป 3 คน ผู้ช่วยคนหนึ่งที่เกี่ยวพันฆ่าตัวตาย ในที่สุดในปี 2012 ศาลฎีกาก็ตัดสินให้ยกเลิกใบอนุญาตโทรคมนาคมรวม 122 ใบ ขณะนี้มีข้าราชการกำลังรอติดคุกกันอยู่หลายคน คำถามที่ประชาชนสงสัยก็คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดจึงล่าช้ามากกว่าที่จะนำคนมาลงโทษได้

อีกเรื่องก็คือ การทำเหมืองเถื่อนในรัฐ Karnataka ระหว่างปี 2006 ถึง 2010 จนทำให้รัฐขาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ อีก เช่น การโกงกินครั้งมโหฬารในเกือบทุกลักษณะ ในการจัด Commonwealth Games ในปี 2010 หัวหน้าใหญ่ปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลถูกศาลฎีกาบีบให้ลาออกเนื่องจากมีมลทินฉ้อราษฎร์บังหลวง การซื้อเสียงตอนลงคะแนนไม่ไว้วางใจจนทำให้รัฐบาลรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ฯลฯ

คนอินเดียเบื่อหน่ายคอร์รัปชันเช่นเดียวกับคนไทย คนกัมพูชา คนจีน คนเวียดนาม ฯลฯ ซึ่งดูจะหนักมือขึ้นทุกทีในหลายประเทศ กระบวนการโกงก็ยอกย้อนซับซ้อนมากขึ้นมากกว่าการโกงกินกันซึ่งๆ หน้าแบบเมื่อสมัยก่อน (เชื่อว่ามีการเลียนแบบกันข้ามประเทศอย่างแน่นอน โดยเอาไปต่อยอดในรูปแบบที่เหมาะแก่แต่ละประเทศ คนสันดานขี้โกงนั้นมักมีความคิดริเริ่มและมีนวัตกรรมโดดเด่นกว่าคนซื่อสัตย์มากนัก)

Arvind Kejriwal ที่มาภาพ :http://upload.wikimedia.org
Arvind Kejriwal ที่มาภาพ :http://upload.wikimedia.org

การเลือกตั้งของรัฐหนึ่งในสี่รัฐคือรัฐเดลีซึ่งมี ส.ส. 70 ที่นั่ง พรรค Congress ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ครองอำนาจในประเทศได้ที่นั่งมาเพียง 8 ที่นั่ง (เสียไป 35 ที่นั่ง) พรรคฝ่ายค้านใหญ่คือ BJP ได้ที่นั่งมากสุดคือ 31 ที่นั่ง และพรรคใหม่คือพรรคคนเดินดิน (Common Man’s Party หรือ AAP) ของนาย Arvind Kejriwal ได้ 28 ที่นั่ง

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ พรรคคนเดินดินนี้เพิ่งตั้งได้เพียงปีเดียว มีนโยบายสำคัญคือปราบคอร์รัปชัน ใช้ไม้กวาดเป็นสัญลักษณ์ของพรรคในการหาเสียง ถึงแม้จะได้คะแนนเป็นที่สองแต่ก็ตั้งรัฐบาลได้เพราะพรรค Congress สนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่พรรค BJP ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

Kejriwal หักปากกาเซียนที่ไม่เชื่อว่าเขาจะชนะได้ นโยบายหลักของเขาก็คือปราบคอร์รัปชัน ซึ่งชัยชนะของเขาเปรียบเสมือน ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ในอินเดีย ซึ่งจะเกิด aftershocks ตามมาเป็นระยะ และจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปีหน้า ขณะนี้พรรค Congress รีบปรับขบวน เสนอแนะไอเดียปฏิรูปกระบวนการปราบคอร์รัปชัน (ฟังคุ้นหูจังเลย) เพราะรู้ดีว่าเจ้าของประเทศตัวจริงเอือมกับคอร์รัปชันซึ่งทำให้สูญเสียทรัพย์ของรัฐมากมายตลอดไปจนถึงสร้างความเสื่อมในจริยธรรมของสังคมอีกด้วย

นาย Kesriwal มีอายุเพียง 45 ปี เคยได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2549 จากผลงานผลักดันรัฐสภาให้ออกกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเพื่อสร้างธรรมาภิบาลโดยองค์กรภาคประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้มากขึ้น

เขาเคยทำงานในภาครัฐและเอกชนและลาออกมาเป็นนักเคลื่อนไหวสังคม เพราะเขาหมดศรัทธาในระบบการทำงานที่อุดมไปด้วยคอร์รัปชัน Kejriwal ต่อสู้คอร์รัปชันมาตลอด ขับเคลื่อนให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อสอบสวนเรื่องร้องเรียนทุจริตของข้าราชการและนักการเมือง

เขาตั้งพรรคคนเดินดินในวันตรงกับวันเกิดครบ 143 ปี ของมหาตมะคานธี โดยระดมคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีทั้งคนขับสามล้อ ทนายความ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ (ได้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 26 ปี) ร่วมบริหารรัฐ

เมื่อได้รับเลือกเป็นมุขมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีของรัฐ เขาปฏิเสธไม่อยู่บ้านใหญ่ประจำตำแหน่ง ปฏิเสธการใช้รถนำซึ่งมีการใช้กันเกร่อโดยนักการเมือง และปฏิเสธการใช้ทีมอารักขาความปลอดภัย เขาบอกว่าพระเจ้าคือความปลอดภัยของเขา

ไม่เพียงแต่เซียนการเมืองในรัฐเดลีที่มีประชาชน 15 ล้านคนวิเคราะห์พลาด คู่แข่งของเขาก็มองไม่เห็น ‘แผ่นดินไหวการเมือง’ ครั้งนี้ด้วย มุขมนตรีหญิงคนเก่าของพรรค Congress เป็นติดต่อกันมาก 15 ปี ต้องหลุดไปจากเก้าอี้

ชัยชนะของพรรค AAP มิได้หมายความว่าเขาจะเอาชนะคอร์รัปชันซึ่งลงรากลึกในสังคม พร้อมไปกับแก้ไขปัญหาความยากจนและข้าวของแพงได้ ในสังคมอินเดียที่วัฒนธรรมรักษาธรรมาภิบาลอ่อนแอ (แจกใบอนุญาตโทรคมนาคมได้อย่างไรโดยไม่มีการประมูล) การตรวจสอบอ่อนแอ บทบาทภาคประชาชนมีจำกัด มีนักการเมืองและข้าราชการ ‘ปากมัน’ อยู่เต็มไปหมด อย่างไรก็ดี การมีนักการเมืองหน้าใหม่ ไฟแรง มีความตั้งใจดี ก็อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

เป็นที่แน่นอนว่า หากสองพรรคใหญ่ คือ Congress และ BJP ที่มีอำนาจล้นฟ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็คงรำวงรอบเก่งกันอีกอย่างแน่นอน

เป็นที่ชัดเจนว่าความไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชันในอินเดียกำลังก่อตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การแพ้เลือกตั้งทั้ง 5 รัฐของพรรครัฐบาลเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าประชาชนกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศเอเชียในปัจจุบัน

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ม.ค. 2557