ThaiPublica > คอลัมน์ > ไซเบอร์รับจ้างในอินโดนีเซีย

ไซเบอร์รับจ้างในอินโดนีเซีย

29 กันยายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : http://www.dw.com/image/38772300_304.jpg

ในยุคโซเชียลมีเดียครองโลก การเสียผู้เสียคนโดยเฉพาะทางการเมืองเป็นไปได้ไม่ยากนัก เพื่อนอาเซียนของเราคืออินโดนีเซียกำลังกวาดล้างแก๊งรับจ้างทำลายผู้คนทางไซเบอร์อย่างหนัก ผลงานของแก๊งเมื่อไม่นานมานี้สามารถทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟและอดีตผู้ว่าการเขตจาร์กาต้าต้องติดคุก บ้านเราควรเรียนรู้ไว้เพราะเป็นอันตรายต่อการได้คนดีมีความสามารถเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย

นาย Joko Widodo หรือ Jokowi ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย ถึงแม้จะชนะเลือกตั้งในปี 2557 และทำงานมาแล้ว 3 ปีกว่า แต่ก็ต้องเผชิญวิบากกรรมต่อสู้กับกลุ่มอำนาจทหารที่ฝังรากมายาวนานนับตั้งแต่ประธานาธิบดี Sukarno หมดอำนาจลงในปี 1967 โดยอยู่ในรูปของพรรค Golkar และพรรค Gerindra ที่มีนายพล Probowo Subianto อดีตลูกเขยของประธานาธิบดี Suharto ซึ่งมีอำนาจต่อจาก Sukarno และครองอำนาจยาวนาน 31 ปี จนจบลงในปี 1998

นายพล Subianto ลงแข่งประธานาธิบดีกับ Jokowi ในเดือนกรกฎาคม 2557 และแพ้ไป 46.9 กับ 53.2% ซึ่งเรียกได้ว่าเฉียดฉิว ถึงจะแพ้เสียงเลือกตั้งแต่ก็ดิ้นรนฟ้องศาล ต่อสู้ทุกลักษณะ ประท้วงวุ่นวายกันนานพอควรจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ Jokowi เป็นผู้ชนะ

Jokowi ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในเรื่องการต่อสู้คอร์รัปชัน เขามาจากเส้นทางของนักการเมืองท้องถิ่นคือเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo และต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการเขต Jakarta เมื่อทำงานเข้าตาประชาชนก็มีเสียงเรียกร้องให้ลงแข่งประธานาธิบดี ซึ่งประสบปัญหาทันทีเพราะนายพล Probowo Subianto ผู้เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าของ Suharto จองตำแหน่งประธานาธิบดีไว้แล้ว

Subianto ถึงแม้จะมีชื่อเสียงมัวหมองเรื่องล้ำสิทธิมนุษยชน โดยถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนติมอร์ตะวันออกไปนับหมื่นเมื่อตอนพยายามแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่ก็มีเงินมากมาย เมื่อแพ้เลือกตั้งเขาประกาศว่าจะต่อต้าน Jokowi ในทุกเรื่อง ว่ากันว่าเขาแค้น Jokowi ที่เคยช่วยเหลือผลักดันให้ชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเขต Jakartaโดยแลกกับคำสัญญาว่าจะอยู่ในตำแหน่งจนครบ ไม่ลาออกมาสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

3 ปีที่ผ่านมา นาย Jokowi หมกมุ่นกับปัญหาในประเทศ อย่างระวังการถูกแทงข้างหลังโดยกลุ่มอำนาจจนละเลยเรื่องต่างประเทศ ไม่สนใจนักกับการเป็นผู้นำของอาเซียนของอินโดนีเซีย จนกล่าวได้ว่าอาเซียนอยู่ในสภาพย่ำแย่ในปัจจุบัน เพราะมิได้รับความสำคัญดังที่ได้เคยฝันร่วมกันไว้

มันเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อ Basuki Tjahaja Purnama ผู้ว่าการเขตจาร์กาต้า (นายกเทศมนตรีเมืองจาร์กาต้า) ผู้มิได้เป็นมุสลิมและมีเชื้อสายจีน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Ahok แพ้เลือกตั้งผู้ว่าการเขตจาร์กาต้าในปี 2017 ระหว่างหาเสียงเขาได้ปราศรัยครั้งหนึ่งโดยพาดพิงถึงข้อความไม่กระจ่างเรื่องไม่ให้เลือกคนที่มิได้เป็นมุสลิมมาเป็นหัวหน้า ผลปรากฏว่าสร้างความไม่พอใจให้ชุมชนมุสลิมบางแห่งเพราะเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา และเข้าแจ้งความตำรวจให้จับเขาเพราะในอินโดนีเซียถือว่าการดูหมิ่นศาสนาอิสลามเป็นคดีอาญา

เหตุที่มันเดือดร้อนมาถึง Jokowi ก็เพราะ Ahok เป็นผู้มีความสนิทชิดเชื้อกับเขา เคยเป็นทีมปราบคอร์รัปชันและทำงานให้จาร์กาต้ามาด้วยกันอย่างประสบความสำเร็จ โดยเป็นรองผู้ว่าการในสมัยที่นาย Jokowi เป็นผู้ว่าการฯ และเมื่อเขาพ้นมาเป็นประธานาธิบดี Ahok ก็ได้ขึ้นเป็นแทนเป็นเวลา 3 ปีเศษ และต้องลงเลือกตั้งในปี 2017

หากแพ้เลือกตั้งแค่นี้ก็คงไม่กระไรนัก แต่ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา Jokowi โดนถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคนจีน เป็นคอมมูนิสต์ ไม่ใช่มูสลิมแท้ และ Ahok ก็โดนเช่นเดียวกันโดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งเมื่อเขาไปพลาดเรื่องคำปราศรัยก็โดนหนักยิ่งขึ้น สังคมสื่อออนไลน์ปลุกปั่นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา (“จะเอาคนจีนไม่ใช่มุสลิมเป็นคริสต์มาเป็นผู้ว่าการฯ ได้อย่างไร และอาจได้เป็นประธานาธิบดีต่อไปก็ได้เพราะ Jokowi ย่อมปูทางไว้ให้”) ปรากฏว่าเรื่องลุกลามใหญ่โตเกิดความตึงเครียดและความหวั่นวิตกในประเทศมุสลิมใหญ่สุดของโลก มีคนออกมาชุมนุมเรือนแสนเพื่อต่อต้าน Ahok

ที่มาภาพ : https://reformedglobalprayer.com/2017/05/09/jakarta-governor-ahok-sentenced-to-two-years-in-prison-for-blasphemy/

ในที่สุด Ahok ก็แพ้เลือกตั้ง และแถมถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาอีกด้วย Jokowi เข้าใจว่านี่คือการตีวัวกระทบคราด หากทิ้งให้สังคมออนไลน์สนุกกันเช่นนี้ การปกครองของเขา และการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในปี 2561 จะมีปัญหาอย่างแน่นอน

ประธานาธิบดีสั่งให้กวาดล้างกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาที่ร่วมกันสร้างข่าวลวงให้หมด และเมื่อต้นกันยายน 2560 ก็สามารถจับผู้ต้องสงสัยได้ 5 คน เมื่อสาวไปก็พบว่าไม่ใช่กลุ่มสนุกธรรมดากับการกระจายข่าวแบบส่งต่อ หากเป็นกลุ่มมือปืนรับจ้างสร้างข่าวลวงตามใบสั่ง โดยมีโรงงานข่าวปลอมชื่อ Saracen ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในหลายโรงงาน เครือข่ายนี้โยงใยกว้างขวางไปถึงนักการเมือง และนายทหารใหญ่ด้วย

ตำรวจพบว่ากลุ่มนี้เรียกค่าจ้างในการทำลายบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มด้วยการใช้สังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบในราคา 75-100 ล้านรูเปียะห์ต่อเดือน (1.9-2.5 แสนบาท) เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบหลายบัญชีของหลายธนาคารมีการโอนเงินเข้าจากผู้จ้างและโยงใยกับผู้นำการประท้วงต่อต้าน Ahok ด้วย

การสร้างข่าวลวงนี้มีการเผยแพร่ในระดับท้องถิ่นและในภาษาอังกฤษโดยใส่หลายบัญชีปลอมในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นโฃเชียลมีเดียที่นิยมอย่างยิ่งของคนอินโดนีเซีย เมื่อขุดลึกเข้าก็ดูจะโยงใยกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและนายทหารใหญ่ที่ยังมิได้เอ่ยชื่อแต่ดูเหมือนจะรู้กันในสังคม และคาดว่าจะมีการจับกุมเพิ่มเติมอีก

การปลุกระดมโดยสังคมออนไลน์ได้สำเร็จก็เพราะมีสาเหตุจากการขาดความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีเรื่องความเปราะบางของเชื้อชาติและศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันอีกด้วย (อย่าลืมว่าในปี 1965-1966 มีคนจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ถูกฆ่าตายในอินโดนีเซีย 300,000-400,000 คน) หากปล่อยไว้โดยไม่ปราบปรามเด็ดขาดในครั้งนี้ เหตุการณ์อาจลุกลามกว่านี้ได้มากเพราะจะมีอีกหลายกลุ่มที่ออกมารับจ้างและน่าจะมีนักการเมืองอีกจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการลักษณะเดียวกันนี้

ในสังคมไทย กลุ่มรับจ้างทำลายกลุ่มคนและบุคคลน่าจะมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายและยังไม่สามารถจุดได้ติดอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเมื่อใดมีกลุ่มรับจ้างที่มีความสามารถมากจำนวนมากขึ้น บ้านเมืองจะปั่นป่วนและถึงกลียุคได้ไม่ยากนักเพราะเรามีนักไซเบอร์ที่มีความหวือหวาทางอารมณ์เสริมอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

อาชญากรรมไซเบอร์ล้วนมาจากคนที่มีการศึกษาทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาทางสมอง แต่ขาดการศึกษาทางหัวใจ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 ก.ย. 2560