ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษ(4) :ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ – ขบวนการแยกซากเรือ

ขยะพิษ(4) :ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ – ขบวนการแยกซากเรือ

27 สิงหาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ที่มาภาพ :  http://designtoimprovelife.dk
ที่มาภาพ : http://designtoimprovelife.dk

เพื่อจะแก้ปัญหาความมักง่ายในการกำจัดขยะพิษอย่างไม่ถูกวิธี แอตเทโร บริษัทรับกำจัดขยะพิษของอินเดียจึงต้องดิ้นรนหาวิธีจูงใจผู้บริโภคให้ตระหนักถึงผลดีจากการกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธี จนท้ายสุดได้ร่วมมือกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) รณรงค์โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่แล้วของซาเล้งรับซื้อของเก่าตามบ้านให้ช่วยรับซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานในครัวเรือนแล้ว แลกกับบัตรกำนัลซึ่งสามารถนำไปแลกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป ปรากฏว่าโครงการนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะนี้มีบริษัทร่วมโครงการนี้ 15 บริษัท อาทิ ซัมซุง ไวโปร โวลทาส์ และเอชซีแอล คาดว่าจะมีบริษัททยอยเข้าร่วมโครงการอีกกว่า 200 บริษัท ในอนาคตอันใกล้

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้เมืองใหญ่หลายเมือง อาทิ กรุงนิวเดลี, มุมไบ, ไฮเดอร์ราบาด และอาห์เมดาบาด ต่างลอกเลียนแบบโดยเริ่มวางระบบการจัดการขยะพิษแบบใหม่นี้ เช่นเดียวกับที่เมืองบังกาลอร์หรือบังกล่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นซิลิคอน วัลเลย์ หรือศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ที่กำลังประสบปัญหาการกำจัดขยะพิษจากซากคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้บริโภคที่สักแต่ใช้คอมพิวเตอร์แต่กลับไม่ตระหนักถึงอันตรายจากสารพิษ อาทิแคดเมียมและตะกั่ว จากสถิติของโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศนี้พบว่า คนไข้มีตะกั่วปนในเม็ดเลือดมากกว่าปรกติถึง 10 เท่า อันมีผลต่อระบบสมองและการจดจำ

นอกเหนือจากได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของขยะพิษจากอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ทั้่งอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ มือถือ ตู้เย็น ฯลฯ แล้ว แดนภารตะอินเดียยังเป็นสุสานของเรือใหญ่น้อยที่เต็มไปด้วยสารพิษมากมายที่รอการรีไซเคิลหรือการแยกชิ้นส่วนซากเรือเหล่านั้น โดยเฉพาะตลอดแนวชายฝั่งอาลัง ทางตะวันตกของรัฐคุชราต

รายงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยว่า ขณะนี้มีซากเรืออย่างน้อย 90 ลำ จอดตายสนิทบริเวณชายหาดในรัฐนี้ โดยเรือทุกลำล้วนแต่เต็มไปด้วยสารพิษหรือสารอันตรายที่ไม่เคยได้รับการชำระล้างมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหิน (Asbestos) และ โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls: PCB หรือ พีซีบี) ซึ่งก็คือสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี นิยมใช้ฉาบพื้นเรือ หลังคา เชือก ฯลฯ เพื่อเสริมความคงทนและกันความร้อน ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือสารพิษที่ทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่นอกจากชาวเมืองภารตะจะไม่มองว่าเป็นสารพิษแล้วยังถือเป็นขุมทรัพย์ขุมใหญ่ ซากเรือเหล่านั้นจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ริมชายหาดใกล้กับหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ทำให้คนงานแยกชิ้นส่วนซากเรือราว 5,000 คน ตกอยู่ในอันตราย

จากรายงานของศาลฎีกาอินเดียเมื่อปี 2549 ระบุว่า พบว่าจำนวนของผู้ประสบอุบัติที่ศูนย์แยกชิ้นส่วนซากเรือมีมากกว่าอุบัติเหตุที่เหมืองแร่ถึง 6 เท่า ในจำนวนนี้ 1 ใน 6 มาจากการหายใจเอาแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเข้าไป ซึ่งแร่นี้จะทำให้เกิดโรคปอดจากใยหินหรือแอสเบสโตสิส (Asbestosis) หรือการเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อปอด, มะเร็งเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma) และมะเร็งปอด (Lung cancer)

ทีมาภาพ : http://clui.org
ทีมาภาพ : http://clui.org

คนงานที่รับจ้างแยกชิ้นส่วนซากเรือเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนงานอพยพจากรัฐที่ยากจนที่สุดหลายรัฐ ซึ่งได้ค่าจ้างแค่วันละ 2-3 ดอลลาร์ (ราว 60-100 บาท) ในการตัดหรือรื้อแผ่นเหล็กและท่อต่างๆ จากผลการศึกษาของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเมื่อปี 2548 พบว่าในแต่ละปี คนงานที่ศูนย์แยกชิ้นส่วนซากเรือที่อาลังนี้เสียชีวิต 48 คนจากทุกๆ 60 คน ส่วนใหญ่จากระเบิดและจากการถูกแผ่นเหล็กตกทับ รายงานชิ้นนี้สรุปด้วยว่างานนี้เป็นหนึ่งในงานที่ไม่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก จนทำให้หมู่บ้านแถบนั้นเป็นหมู่บ้านแม่หม้ายที่สามีเสียชีวิตขณะกำจัดซากเรือเก่า

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการควบคุมสิ่งแวดล้อมของรัฐคุชราตโต้ว่า อินเดียมีศักยภาพที่จะแยกชิ้นส่วนเรือรบ เรือพลังนิวเคลียร์ เรือโดยสาร และเรือทุกประเภทเป็นอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าสารพิษเหล่านั้นถูกกำจัดไปจนหมดสิ้นแล้ว ส่วนที่เป็นเศษแร่ใยหินนั้นได้นำไปขายต่อที่ตลาดเหล็กนอกพื้นที่แห่งนั้น ส่วนสารพิษอื่นๆ ที่นำไปใช้ต่อไม่ได้ก็จะถูกเก็บใส่ถุงแล้วนำไปกลบฝังในที่รกร้างใกล้ๆ กันนั้น เล่นเอากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพากันโวยว่าวิธีกำจัดขยะพิษแบบนี้เท่ากับละเมิดอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่อินเดียร่วมลงนามด้วย

ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ศูนย์แยกชิ้นส่วนซากเรือที่อาลังเริ่มเสื่อมความนิยมไปมาก โดยมีซากเรือรอการทำลายอยู่ 129 ลำ เมื่อปี 2550 ในขณะที่เมื่อปี 2544 มีมากถึง 428 ลำ สาเหตุสำคัญไม่ได้มาจากการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงภัยมืดจากอุตสาหกรรมนี้ หากเป็นเพราะบริษัทรับกำจัดซากเรือเก่าได้โยกย้ายฐานการแยกชิ้นส่วนซากเรือไปที่บังกลาเทศและปากีสถานแทนเนื่องจากค่าแรงถูกกว่ามาก แถมกฎหมายว่าด้วยการกำจัดขยะพิษก็สุดแสนจะหย่อนยาน เหมาะกับการจะแยกชิ้นส่วนเรือสักลำอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องกำจัดขยะพิษให้หมดไปก่อน แต่อาลังก็ยังคงเป็นศูนย์กลางในการแยกชิ้นส่วนซากเรือขนาดใหญ่ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยการแยกชิ้นส่วนเรือใหญ่ๆ สักลำหนึ่งหมายถึงรายได้เข้ากระเป๋าถึง 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 300 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาลังสามารถรวบรวมเศษเหล็กจากซากเรือเก่าได้ถึง 23 ล้านตัน อีกทั้งสามารถจ้างงาน 40,000 ตำแหน่ง แต่หลายภาคส่วนเตือนว่าได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเทียบกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของคนงาน กระทั่งศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com
ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า เจ้าของเรือมักจะหลบเลี่ยงกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการตั้งบริษัทนอมินีคอยส่งมอบเรือให้เจ้าของแท้จริง จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเรือและธงแสดงสัญชาติ นอกเหนือจากโกหกเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของเรือลำนั้น เห็นได้ชัดจากกรณีโด่งดัง 2 กรณีที่ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญก็คือ กรณีเรือบลูเลดี้ หรืออดีตเรือครูสไลน์ ของนอร์เวย์ที่มีอายุ 47 ปีแล้ว ซึ่งต้องปลดระวางหลังหม้อน้ำเกิดระเบิดที่ไมอามีเมื่อปี 2546 มีลูกเรือเสียชีวิต 8 ราย หลังจากนั้นเจ้าของเรือได้ลากเรือลำนี้ไปที่เยอรมนีและกัปตันได้หลอกเจ้าหน้าที่ว่าจะนำเรือไปซ่อมที่มาเลเซีย แต่กลับกลายเป็นว่าได้แอบขายเรือบลูเลดี้ให้กับบริษัทชิปปิ้งของไลบีเรียซึ่งได้ลากเรือมาที่อาลังพร้อมกับสารพิษประเภทแร่ใยหินและกัมมันตรังสีรวมแล้ว 1,200 ตัน

อีกกรณีหนึ่งก็คือเรือโอเชียนิกของครูสไลน์ของนอร์เวย์เช่นกัน สร้างเมื่อปี 2493 ประกอบด้วยแร่ใยหินจำนวน 250 ตันและ พีซีบีอีก 210 ตัน หลังจากจอดนิ่งอยู่ที่ท่าเรือที่ซานฟรานซิสโกเป็นเวลา 4 ปีเต็มก็ได้แล่นออกจากท่าเรือนั้นมุ่งหน้ามาที่เอเชีย โดยมีคนพบเห็นครั้งสุดท้ายใกล้กับดูไบ แต่เจ้าของซึ่งเป็นบริษัทรับแยกชิ้นส่วนซากเรือเก่าอ้างว่ากำลังรอคนซื้อมาดัดแปลงเป็นโรงแรมลอยน้ำ, บ่อนคาสิโน หรือที่พักของคนงานต่างชาติ

ฟิลิปปินส์: อาณานิคมขยะพิษญี่ปุ่น

แดนตากาล็อกฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญกับปัญหาขยะพิษท่วมเมืองโดยเฉพาะขยะคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ชาวตากาล็อกไม่ได้ก่อ แต่ต้องรับกรรมในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศที่กลายเป็นบ่อขยะพิษที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นนำมาทิ้งอย่างปราศจากความรับผิดชอบใดๆ จากรายงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในฟิลิปปินส์ระบุว่า เมื่อปี 2542 บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งได้ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ 124 ตู้ มาทิ้งในประเทศนี้โดยโกหกว่าเป็นกระดาษ แต่เมื่อเปิดออกมากลับเป็นขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลและขยะพิษ

เท่านั้นยังไม่พอ ญี่ปุ่นยังอาศัยช่องโหว่ของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ(JPEPA: Japan Philippines Economic Partnership Agreement) นำขยะสารพิษเข้ามาทิ้งที่ฟิลิปปินส์ได้ง่ายดายมากขึ้นภายใต้การทำธุรกิจรีไซเคิลและการกำจัดขยะพิษ จนทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมแห่งขยะของญี่ปุ่นที่ไม่คำนึงว่าสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้ถูกทำลายมากสักเพียงใด

ความมักง่าย เห็นแก่ตัว และเห็นแก่ได้ ของบริษัญี่ปุ่น ทำให้นักเคลื่อนไหวชาวตากาล็อกมีงานล้นมือในการรณรงค์ต่อต้านขยะพิษในฟิลิปปินส์โดยเฉพาะการร่วมมือเป็นเครือข่ายกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มจากทั่วโลก กดดันญี่ปุ่นให้ยุติการขนสารพิษไปทิ้งในประเทศอื่นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ตลอดจนการเสนอทางออกที่ถือเป็น “วิน-วิน” ของทุกฝ่าย นั่นก็คือ ให้ญี่ปุ่นเป็นหัวหอกในการตั้งตลาดขยะรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ด้วยความโปร่งใส และสามารถติดต่อแหล่งที่มาได้