ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (5): อังกฤษ-เยอรมนี ลักลอบทิ้งติดอันดับโลก

ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (5): อังกฤษ-เยอรมนี ลักลอบทิ้งติดอันดับโลก

18 กันยายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐฯ ซึ่งอาศัยความสัมพันธ์พิเศษในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ของฟิลิปปินส์ได้ลักลอบนำขยะพิษมาทิ้งในประเทศฟิลิปปินส์นี้เช่นกัน ดังรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศที่ว่า ระหว่างที่กองเรือรบของสหรัฐฯ ​เปิดฉากซ้อมรบในน่านน้ำฟิลิปปินส์นั้น เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ​ได้แอบทิ้งสารพิษลงไปในอ่าวซูบิก อดีตฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นท่าเรือเสรี เป็นเหตุให้ท่าเรือแห่งนี้ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและคนในท้องถิ่นต่างตื่นตัวเรียกร้องให้สหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบ

จากแรงกดดันของคนในพื้นที่ทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯ ต้องลงมือสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็ปัดความรับผิดชอบไปที่บริษัทเดินเรือ Glenn Defense Marine Asia ที่มาเลเซียเป็นเจ้าของ แต่มีอดีตนายทหารเรือใหญ่ของฟิลิปปินส์หลายคนเป็นกรรมการบริหาร ในฐานะที่เป็นบริษัทรับช่วงกำจัดของเสียจากเรือรบอเมริกันที่เทียบท่าที่อ่าวซูบิกนับตั้งแต่ปี 2552 เฉพาะปีนี้มีเรือรบอเมริกัน 37 ลำใช้บริการของบริษัทนี้

แอฟริกา: สวรรค์ของบ่อขยะพิษใหญ่ที่สุดในโลก

european-e-waste-arrives-illegที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/new-zealand/Global/new-zealand/External/image/2009/2/european-e-waste-arrives-illeg.jpg
ที่มาภาพ: http://www.greenpeace.org

ในบรรดาประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาที่ต้องกลายสภาพเป็นบ่อขยะพิษใหญ่สุดโดยไม่ปรารถนาแม้แต่น้อยนั้น หลายประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก อาทิ ไนจีเรียและกานา กำลังได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยที่สุดที่จะทิ้งขยะพิษโดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ มือถือ และคอมพิวเตอร์ โดยอาจจะทำอย่างเนียนๆ ในรูปของสิ่งของบริจาค หรือขายเป็นสินค้ามือสองราคาถูกที่มีอายุการใช้งานแสนสั้น จากนั้นก็แปรสภาพเป็นขยะพิษโดยปริยาย โดยรัฐบาลประเทศเหล่านั้นไม่สามารถบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำจัดขยะพิษด้วยวิธีที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดสารตะกั่ว (ส่วนประกอบในการบัดกรีในแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หลอดภาพรังสีแคโทด (CRT) ถ้าได้รับในปริมาณมากก็จะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของไต รวมไปถึงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก) แคดเมียม (มักพบในแผ่นวงจรพิมพ์ ตัวต้านทาน และหลอดภาพรังสีแคโทด สารนี้จะสะสมในร่างกายโดยเฉพาะที่ไต ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการหรืออาจมีผลกระทบต่อพันธุกรรม) สารปรอทพลาสติก (มักพบในตัวตัดความร้อน สวิตช์ และจอแบน จะส่งผลในการทำลายอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสมอง ไต และเด็กในครรภ์)

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทวีปนี้กลายเป็นบ่อขยะพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเพราะประเทศต่างๆ ทั่วทั้งทวีปนี้ต่างไม่มีกฎหมายว่าด้วยการกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ยกเว้นแอฟริกาใต้เพียงประเทศเดียวที่มีกฎหมายครอบคลุมในเรื่องของขยะพิษ ส่วนเคนยากำลังเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยแนวทางการกำจัดขยะพิษ คาดว่าอาจจะมีผลบังคับใช้ภายใน 2-3 ปีนี้

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ขยะพิษเกือบทั้งหมดในทวีปแอฟริกานำเข้ามาจากกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทวีปที่ผลิตขยะพิษในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี และล้วนแต่มีกฎหมายคุมเข้มว่าด้วยมาตรฐานการกำจัดขยะพิษทั้งในบ้านและนอกบ้าน อาทิ ห้ามฝังกลบเนื่องจากไม่ปลอดภัย หรือห้ามส่งออกไปยังประเทศที่สาม เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ บังคับให้ผู้ผลิตต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวม กู้คืน และกำจัดขยะพิษเหล่านั้น อาจจะด้วยวิธีแปรรูป หรือนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการรณรงค์ให้ผู้ผลิตปรับปรุงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

แต่ด้วยความมักง่าย เห็นแก่ตัว และเพื่อประหยัดงบประมาณก้อนใหญ่ ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษและเยอรมนี ประเทศที่ผลิตขยะพิษมากเป็นอันดับ 3 ของโลก กลับใช้วิธีส่งออกสินค้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มือสองไปยังแอฟริกาทุกวันแทน แม้จะมีกฎหมายห้ามการส่งออกขยะพิษก็ตาม เกือบทั้งหมดของขยะพิษที่ส่งออกไปส่วนใหญ่จะเสื่อมสภาพ มีบ้างที่พอจะใช้งานได้หรือนำกลับมาซ่อมได้ แต่มีอายุใช้งานแสนสั้นแค่ปีสองปี จากนั้นก็กลายเป็นขยะพิษ และกลายเป็นภาระใหญ่ของประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้นที่จะกำจัดขยะพิษด้วยวิธีง่ายๆ เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนและต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มาภาพ : http://www.independent.co.uk
ที่มาภาพ : http://www.independent.co.uk

เพื่อจะตรวจสอบเส้นทางการลักลอบส่งออกขยะพิษไปยังแอฟริกา หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์, โทรทัศน์สกายนิวส์ในอังกฤษ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ได้ร่วมกันติดตามเส้นทางนี้ ด้วยการแอบติดตั้งอุปกรณ์ระบุพิกัดไว้ที่โทรทัศน์เก่าเครื่องหนึ่งที่เสียจนใช้การไม่ได้และถูกปล่อยทิ้งไว้ในศูนย์พัฒนาแห่งหนึ่งของสภาเทศบาลแฮมเชียร์ สภาเทศบาลแห่งนี้ได้ขายต่อโทรทัศน์เสียเครื่องนี้ให้กับบริษัทรับซื้อขยะพิษแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทนับสิบๆ บริษัทที่รับซื้อขยะพิษรวมแล้วหนักราว 940,000 ตันในแต่ละปี เพื่อรอการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี แต่กลับลักลอบส่งออกไปยังประเทศที่สามพร้อมกับขยะพิษจำนวน 15 ลำเรือ มุ่งหน้าจากท่าเรือเอสเซ็กซ์และท่าเรือต่างๆ ในยุโรปและเอเชียไปแอฟริกาในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ โทรทัศน์เก่าเครื่องนี้ถือเป็นขยะพิษที่ห้ามนำออกจากประเทศ แต่เพียงแค่แจ้งว่าเป็นสินค้ามือสองก็กลับส่งออกได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ ยิ่งกว่านั้น ผลการตรวจสอบขยะพิษทั้ง 15 ลำเรือพบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสินค้านั้นล้วนแต่แตกหักใช้การไม่ได้ พร้อมจะถูกทิ้งที่บ่อขยะพิษ เพื่อให้คนท้องถิ่นจัดการแยกชิ้นส่วนตามมีตามเกิด ปราศจากหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนเส้นทางของโทรทัศน์เก่าเครื่องนั้นได้ไปสิ้นสุดที่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ในกรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย ที่อยู่ห่างออกไปราว 4,500 ไมล์ จากนั้นถูกขายต่อง่ายๆ ในฐานะสินค้ามือสอง เนื่องจากสามารถดัดแปลงเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมได้ โดยกรีนพีซได้จัดการซื้อกลับมา เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันถึงเส้นทางการลักลอบส่งออกขยะพิษอย่างปราศจากความรับผิดชอบใดๆ พร้อมกับประนามผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่รับผิดชอบในการรับขยะพิษกลับไปรีไซเคิล ว่าเท่ากับส่งเสริมทางอ้อมให้มีขบวนการลักลอบส่งออกขยะพิษจากยุโรปไปยังประเทศกำลังพัฒนา จนส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่รู้วิธีแยกชิ้นส่วนขยะพิษให้ถูกวิถีและไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัย ทำให้ชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะเด็กๆ จึงกลายเป็นเหยื่อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขณะแยกชิ้นส่วนหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกม และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จนได้รับสารพิษอันตราย สารพิษอันตรายอาทิ ปรอท ที่ส่งผลทำลายสมอง สารตะกั่ว ที่ทำลายระบบสืบพันธุ์ และแคดเมียม ที่ส่งผลกระทบต่อไต เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://www.independent.co.uk
ที่มาภาพ : http://www.independent.co.uk

เมื่อปี 2551 วอยซ์ ออฟ อเมริกา ได้นำรายงานชิ้นหนึ่งขององค์กรเพื่อผู้บริโภคระหว่างประเทศ (Consumers International) ที่ระบุว่าในแต่ละเดือน จะมีการส่งออกหรือบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เก่าล้าสมัยนับหมื่นๆ ชิ้น ส่วนใหญ่มากถึง 3 ใน 4 ของทั้งหมดล้วนแต่ใช้การไม่ได้ไปยังแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะที่ไนจีเรียและกานา หรือเท่ากับว่าในแต่ละปีมีขยะพิษถูกส่งมาทิ้งที่ทวีปนี้และที่เอเชียประมาณ 6 ล้าน 6 แสนตัน

เจ้าหน้าที่ขององค์กรนี้เผยด้วยว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงความนิยมในตลาดผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ เช่น การเปลี่ยนจากโทรทัศน์รุ่นเก่าที่ใช้หลอดภาพรังสีคาโทดไปเป็นโทรทัศน์จอแบนแบบแอลซีดี หรือจอพลาสมา ทำให้โทรทัศน์แบบเก่าจำนวนมหาศาลถูกส่งไปยังแอฟริกา และเมื่อกลายเป็นขยะ คนเก็บขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ก็มักจะพากันทุบทำลายหลอดภาพของโทรทัศน์นั้นๆ รวมทั้งเผาสายไฟและแผงวงจรไฟฟ้าเพื่อแยกเศษโลหะ เช่น ทอง ทองแดง สังกะสี และวัสดุอื่นๆ ไปขาย โดยไม่รู้ว่าการทำเช่นนี้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ นอกเหนือจากปล่อยให้ขยะพิษไปปะปนกับแหล่งน้ำสะอาดอีกด้วย

ถึงแม้จะมีการเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้ยุโรปเร่งป้องปรามขบวนการลักลอบนำขยะพิษไปทิ้งที่แอฟริกา แต่เสียงกู่ร้องเพื่อมนุษยธรรมนี้หรือจะสู้เสียงเงินได้ ในเมื่อรู้ๆ กันดีว่าต้นทุนการกำจัดขยะพิษด้วยการรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนานั้นถูกกว่าการรีไซเคิลในประเทศพัฒนาแล้วมาก อาทิ ต้นทุนการรีไซเคิลกระจกจากจอคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ คิดเป็น 0.5 ดอลลาร์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ เทียบกับ 0.05 ดอลลาร์ในจีน ขณะที่เยอรมนีนั้นใช้งบแค่ 1.5 ยูโรในการส่งจอมอนิเตอร์หนึ่งตัวไปที่กานาหรือจีน แต่จะสูงขึ้นเป็น 2 เท่าถ้าหากทำการกำจัดภายในประเทศ

เหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการตรวจสอบท่าเรือ 18 แห่งในยุโรปเมื่อปี 2548 พบว่า มากถึงร้อยละ 47 ของขยะพิษเหล่านี้ถูกส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย เฉพาะในอังกฤษ มีการลักลอบส่งออกขยะพิษอย่างน้อย 23,000 ตัน ไปยังตะวันออกไกลไม่ว่าจะเป็นอินเดีย แอฟริกา และจีน โดยไม่มีการระบุว่าเป็นสินค้าประเภทใด ส่วนเยอรมนีส่งออกขยะพิษราวปีละ 155,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นจอมอนิเตอร์ราว 1-3 ล้านตัว หรือคิดเป็นนํ้าหนักประมาณ 52,000 ตัน อีก 142,000 ตัน เป็นนํ้าหนักรวมของขยะพิษขนาดเล็ก ประเภทโทรศัพท์มือถือ คีย์บอร์ด และเมาส์คอมพิวเตอร์ ด้านสหรัฐฯ นั้น เชื่อว่าร้อยละ 50-80 ของขยะพิษถูกส่งออกไปในลักษณะเดียวกัน แต่การกระทำเช่นนื้ถือว่าถูกกฎหมายเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาบาเซล

ที่มาภาพ : http://www.vancouversun.com
ที่มาภาพ : http://www.vancouversun.com

ขณะเดียวกัน ผลการตรวจสอบเส้นทางการส่งออกขยะพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน กานา และไนจีเรีย ดำเนินการโดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีชและเครือข่ายบาเซล แอ็กชัน เน็ตเวิร์ก (Basal Action Network) พบว่าแต่ละปีมีการส่งออกขยะพิษมากขึ้นราว 20-50 ล้านตัน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสินค้าใช้แล้วหรือสินค้ามือสอง เช่น คอมพิวเตอร์มือสอง เครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง และในรูปแบบเป็นเศษซากหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดผสมกันเข้าไป

ประเทศเหล่านั้น เมื่อนำเข้าขยะพิษแล้วก็ทำการแยกชิ้นส่วนด้วยวิธีการและเทคโนโลยีง่ายๆ ขาดหลักวิชาการรองรับ อาทิ ทุบทำลายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แตกละเอียด หรือใช้ไฟอุณภูมิสูงเผาเพื่อให้ได้มาเฉพาะส่วนของสารมีค่าในตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ทองแดง หรือทองคำ ซึ่งเป็นแร่ที่มีมูลค่าสูง โดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือจะก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากน้อยเพียงใด