ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ(7) : สงครามกลางเมืองโซมาเลีย VS สงครามขยะพิษ

ขยะพิษปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ(7) : สงครามกลางเมืองโซมาเลีย VS สงครามขยะพิษ

28 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

นอกเหนือจากประเทศกานา เซเนกัล และยูกันดาในทวีปแอฟริกาที่กลายเป็นบ่อขยะพิษขนาดมหึมาที่บริษัทตะวันตกแอบนำมากลบฝังโดยไม่ถูกวิธี ทำให้สารพิษที่รั่วไหลออกมา สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ทึ่ระบุว่ามีแนวโน้มที่ปริมาณของขยะพิษประเภทคอมพิวเตอร์ถูกนำไปทิ้งที่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างเซเนกัลและยูกันดามากขึ้นเป็น 4-8 เท่า ภายในปี 2563

ขณะเดียวกัน โซมาเลียก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่กำลังมีปัญหาเรื่องขยะพิษ หนำซ้ำดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากกว่าประเทศอื่น เพราะขยะพิษนั้นถูกทิ้งเรี่ยราดบริเวณชายฝั่งจนส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารใหญ่ แต่เพราะเป็นประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อกว่าสิบปี ประกอบกับเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยโจรสลัดที่อาละวาดปล้นเรือและยึดเรือสินค้าเพื่อเรียกค่าไถ่อยู่เนืองนิจ ปัญหาของโซมาเลียจึงไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก

กระทั่งสำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานข่าวประหลาดชิ้นหนึ่งเมื่อราวกลางเดือน ต.ค. 2551 ว่า โจรสลัดในโซมาเลียได้กล่าวหาบริษัทในยุโรปว่าเป็นตัวการนำขยะพิษมาทิ้งที่นอกชายฝั่งของโซมาเลีย พร้อมกับเรียกค่าไถ่ 8 ล้านดอลลาร์ หรือราว 240 ล้านบาท หากต้องการเรือเอ็มวี. ไฟนา ของยูเครนคืน โดยเรือลำนี้ได้บรรทุกรถถังและอุปกรณ์หนักทางทหารระหว่างถูกยึดบริเวณนอกชายฝั่งตอนเหนือ โจรสลัดโซมาเลียกล่าวด้วยว่าเงินค่าไถ่นี้จะนำไปทำความสะอาดชายฝั่งให้สะอาดปราศจากการปนเปื้อนของสารพิษ

โจรสลัดกลุ่มนี้อ้างว่าการเรียกค่าไถ่นี้มีขึ้นเพื่อหวังสกัดกั้นการลักลอบนำขยะพิษมาทิ้งที่บริเวณชายฝั่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปีแล้ว เป็นเหตุให้พื้นที่ชายฝั่งถูกทำลาย คิดมูลค่าความเสียหายมากกว่าเงินค่าไถ่ที่เรียกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า

จากรายงานของสำนักงานกิจการเดินเรือระหว่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา โจรสลัดโซมาเลียได้โจมตีเรือต่างชาติ 61 ครั้ง จุดประสงค์หลักเพื่อหวังจะเรียกค่าไถ่ โดยอ้างว่าเพื่อนำมาชำระสะสางชายฝั่งที่ถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างขวางแต่กลับไม่ได้การดูแลจากเจ้าหน้าที่เดินเรือในภูมิภาค

ด้านนายอาห์เมโด โอลด์ อับดุลเลาะห์ ทูตสหประชาชาติประจำโซมาเรีย แถลงยืนยันรายงานข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีราว่า องค์การโลกแห่งนี้มี “ข้อมูลที่เชื่อถือได้” ว่า บริษัทในยุโรปและเอเชียได้นำสารพิษรวมไปถึงกากนิวเคลียร์ไปทิ้งที่บริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลียจริง แต่กลับไม่มีรัฐบาลประเทศใดเป็นหัวหอกเรียกร้องให้ร่วมกันกำจัดขยะพิษ และร่วมกันปราบปรามขบวนการทิ้งขยะพิษโดยผิดกฎหมาย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนหรือบริษัทเอกชนที่จะรับผิดชอบตามลำพัง

การกล่าวหาว่ามีการลักลอบทิ้งขยะพิษนอกชายฝั่งโซมาเลีย รวมทั้งการลักลอบจับปลานอกชายฝั่ง เริ่มหนาหูตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2533 แต่นับวันหลักฐานเริ่มปรากฏชัดมากขึ้นหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมมหาคลื่นยักษ์หรือสึนามิถล่มเอเชียอาคเนย์ เอเชียใต้ และชายฝั่งของทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2547 โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกหางเลขของสึนามิด้วยก็คือชายฝั่งของโซมาเลีย จากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่า หนึ่งในเศษซากความเสียหายที่โผล่มาประจานหลังสึนามิก็คือ ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะพิษ ที่จู่ๆ โผล่ขึ้นมาฟ้องประชาคมโลกที่บริเวณชายฝั่งพันต์แลนด์

โดยตู้คอนเทนเนอร์หลายตู้ที่ถูกคลื่นยักษ์สาดซัดมาที่ชายฝั่งได้ฉีกขาด เผยให้เห็นขยะพิษที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ถือเป็นประจักษ์พยานหลักฐานประจานความมักง่ายในการกำจัดขยะพิษโดยไม่คำนึงว่าส่งผลกระทบเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ รวมทั้งเป็นหลักฐานยืนยันว่า โซมาเลียเป็นหนึ่งในประเทศในทวีปแอฟริกาที่ถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในบ่อขยะพิษที่ใหญ่ที่สุดแล้ว

ที่มาภาพ : http://www.somaliareport.com/images_large/suspect_container
ที่มาภาพ : http://www.somaliareport.com/images_large/suspect_container

โฆษกโครงการสิ่งแวดล้อมโลกยอมรับด้วยว่า บริษัทยุโรปต่างมักง่ายในการกำจัดขยะพิษด้วยวิธีนี้ เพราะทุ่นค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนลงไปได้มาก เสียค่าใช้จ่ายเล็กน้อยแค่ตันละ 2.50 ดอลลาร์ หรือตันละไม่ถึงร้อยบาท เทียบกับต้นทุนการกำจัดขยะพิษในยุโรปที่สูงถึงตันละ 1,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 บาท

“ที่น่าตกใจก็คือ ขยะพิษที่นำมาทิ้งที่นอกชายฝั่งโซมาเลียนั้นมีหลากหลายประเภทด้วยกัน มีทั้งกากนิวเคลียร์ สารตะกั่วและโลหะหนักอย่างแคดเมียและสารปรอท นอกจากนี้ยังมีกากพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ขยะพิษจากโรงพยาบาล ขยะพิษจากสารเคมี หรือว่าไปแล้วเป็นแหล่งชุมนุมขยะพิษทุกประเภท”

โฆษกโครงการสิ่งแวดล้อมโลกยังยอมรับด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะพิษถูกซัดมากองที่ชายฝั่ง ชาวบ้านในพื้นที่นั้นก็เริ่มล้มป่วย มีเลือดออกในช่องท้อง ปากเป็นแผล ผิวหนังติดเชื้อ และยังมีสารพัดอาการ สหประชาชาติเองก็ไม่นิ่งนอนใจ พยายามตรวจสอบระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากบริเวณชายฝั่งนั้นมีปริมาณสารพิษในระดับสูงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพ สหประชาชาติจึงไม่สามารถเข้าไปประเมินผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รู้แต่เพียงว่ากากพิษนิวเคลียร์ที่ลักลอบนำไปทิ้งนอกชายฝั่งโซมาเลียมีสิทธิจะทำให้ชาวโซมาเลียในพื้นที่เสียชีวิตได้ หลังจากได้ทำลายชายฝั่งโดยสิ้นเชิงแล้ว

อย่างไรก็ดี โฆษกโครงการสิ่งแวดล้อมยังคงสงวนท่าทีไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อบริษัทของยุโรป ที่เป็นตัวการกำจัดขยะพิษด้วยวิธีไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ เพียงแต่กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สงครามกลางเมืองในประเทศนี้ที่ยืดเยื้อมานาน 18 ปี ยิ่งทวีความดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากบริษัทยุโรปใช้วิธีติดสินบนให้รัฐมนตรีหลายคนเพื่อขอสิทธิพิเศษในการทิ้งขยะพิษ หรือขอใบอนุญาตประกอบการหรือทำสัญญาทิ้งขยะพิษโดยชอบด้วยกฎหมายในราคาถูกและด้วยวิธีง่ายๆ

บริษัทยุโรปหลายแห่งยอมรับว่าต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากโซมาเลียประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ จึงไม่รู้ว่าจะเจรจากับเผ่าใดดี ประกอบกับประเทศนี้อยู่ในภาวะสงคราม ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจเด็ดขาดที่จะอนุญาตให้กลบฝังขยะพิษโดยถูกกฎหมายได้

เมื่อปี 2535 บริษัทอาแชร์ พาร์ตเนอร์ แอนด์ โพรเกรสโซ บริษัทเดินเรือของสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลีได้ทำสัญญาทิ้งขยะพิษกับอดีตข้าราชการระดับสูงของโซมาเลียผู้หนึ่ง ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่เข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาล แต่บริษัทนี้ปฏิเสธว่าไม่ได้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อสงครามกลางเมืองขึ้นมา

ขณะที่อดีตกรรมการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมโลก เผยกับสำนักขาวอัลจาซีราว่า กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมได้รวมตัวตั้งบริษัทนอมินีขึ้น มีหน้าที่กำจัดขยะพิษโดยเฉพาะ กระทั่งตัวเองรู้สึกเหมือนกับกำลังทำงานกับมาเฟียหรือกลุ่มอาชญากรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมช่วยกำจัดขยะพิษให้ด้วยการส่งออกไปทิ้งในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

อดีตกรรมการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมโลกผู้นี้เผยด้วยว่า การกระทำของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปิดลับ มีคนรู้กันไม่กี่คน แต่โชคร้ายที่ว่าสงครามกลางเมืองในโซมาเลีย ทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่สามารถเข้าไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ มีรายงานว่ากลุ่มมาเฟียอิตาลีได้รับงานกำจัดขยะพิษคิดเป็นสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซนต์ รวมไปถึงการทำสัญญารับช่วงกำจัดขยะพิษ เมื่อปี 2541 นิตยสารรายสัปดาห์ฟามิกเลีย คริสเตียนา ของอิตาลีอ้างว่า แม้ว่าการลักลอบส่งขยะพิษไปทิ้งที่โซมาเลียอาจจะเกิดขึ้นในปี 2532 หรือก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2534 นอกเหนือจากต้องตอบคำถามเรื่องที่ทำผิดศีลธรรมและจริยธรรมกรณีนำขยะพิษไปทิ้งในประเทศที่เกิดภาวะไม่มั่นคงอย่างโซมาเลีย บริษัทของสวิสเซอร์แลนด์และอิตาลียังร่วมกันทำผิดอนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ซึ่งรัฐบาลของสองประเทศได้ลงนามรับรองอนุสัญญากฎหมายสากลฉบับนี้ด้วย

นายอับดี อิสเมล ซามาทาร์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา เผยกับอัลจาซีราว่านานาประเทศจะต้องเร่งสอบสวนกรณีที่เรือบรรทุกรถถังและอุปกรณ์ทางทหารถูกโจรสลัดยึดเพื่อเรียกค่าไถ่ เนื่องจากมีกองเรือรบของฝ่ายพันธมิตรประจำการอยู่ที่อ่าวเอเดนอยู่หลายลำ ถ้าขืนปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไป ก็ไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่าสักวันหนึ่งโจรสลัดนี้อาจจะกำเริบเสิบสาน คิดลองดีกับกองเรือรบของประเทศตะวันตก หรือทำให้เส้นทางเดินเรือนี้ไม่ปลอดภัย ที่สำคัญ หากทางการมองข้ามปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ไม่เร่งจัดการให้เด็ดขาด ก็อาจบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง นอกเหนือจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดมานานหลายสิบปีแล้ว

“ชายฝั่งของโซมาเลียนั้นมีคนนับหมื่นนับแสนอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ถ้าหากถูกทำลาย โดยเฉพาะจากฝีมือของรัฐมนตรีที่สมคบกับบริษัทต่างชาติ ก็เท่ากับขายชาติเพียงเพื่อหวังมีเงินเต็มกระเป๋ามากขึ้น”

โฆษกโครงการสิ่งแวดล้อมโลกตบท้ายว่า โจรสลัดยึดเรือเรียกค่าไถ่ ไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะพิษได้ เพราะเป้าหมายใหญ่ของโจรสลัดไม่ได้อยู่ที่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพที่พร้อมจะลงมือทำเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น