ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (3)

ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (3)

18 กรกฎาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ในรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่บุกเข้าไปสำรวจชีวิตของคนงานในเมืองกุ้ยอวี๋ นอกจากจะระบุชัดว่าชีวิตของคนงานรีไซเคิลขยะพิษสุดแสนจะไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว รายงานชิ้นนี้ยังเผยด้วยว่า เมืองกุ้ยอวี๋กำลังจะเป็นเมืองที่มีมลพิษรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะหลังการรีไซเคิลขยะพิษ ผู้ประกอบการท้องถิ่นก็มักง่าย เลือกจะใช้วิธีทำลายขยะพิษที่เหลือด้วยการฝังกลบ หรือเผาทำลายด้วยวิธีที่ขาดมาตรฐานควบคุม แทนการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม

“การทำลายขยะพิษทำอย่างมักง่าย ที่นี่ไม่มีการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาสนใจเพียงแต่กำไรระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น” นายหนี หย่งเฟิง ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยซิงหัวให้ความเห็น

เหนืออื่นใด ด้วยความกลัวว่าข่าวนี้จะแพร่ออกไปจนถูกทางการยื่นมือมาสอบสวน ผู้ประกอบการในพื้นที่จึงพยายามปิดเมืองนี้ไม่ให้นักข่าวเข้าไปสำรวจพื้นที่หรือบังคับไม่ให้คนงานพุดคุยด้วย ด้วยการขู่ว่าหากข่าวนี้แพร่ออกไป ทางการก็จะสั่งห้ามไม่ให้ขนขยะพิษมารีไซเคิลที่เมืองนี้อีก ซึ่งหมายความว่าชาวบ้านจะไม่มีงานทำและไม่มีเงินใช้จ่าย แต่ไม่มีการพูดถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นแม้แต่คำเดียว รวมไปถึงเรื่องที่เด็กๆ เริ่มป่วยเป็นโรคมินามาตะหรือโรคพิษตะกั่ว หรือการที่ผืนแผ่นดินในบริเวณนั้นไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป เนื่องจากทั้งผืนดินและน้ำในเมืองนี้ปนเปื้อนด้วยโลหะหนักอย่างเช่นตะกั่วและแคดเมียม พลอยทำให้น้ำใต้ดินมีพิษไม่สามารถดื่มกินได้ ทั้งยังมีสารพิษไดออกซินสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

เมืองกุ้ยอวี๋ที่กำลังจะตายอันเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลขยะพิษปริมาณมหาศาล ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/eastasia/Global/eastasia/photos/toxics/ewaste/guiyu-woman-river.jpg
เมืองกุ้ยอวี๋ที่กำลังจะตายอันเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลขยะพิษปริมาณมหาศาล ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/eastasia/Global/eastasia/photos/toxics/ewaste/guiyu-woman-river.jpg

นอกเหนือจากเมืองกุ้ยอวี๋ที่กำลังจะตายอันเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลขยะพิษปริมาณมหาศาลแล้ว เมืองอีกหลายเมืองใน 3 มณฑล ได้แก่ เจ๋อเจียง เหอเป่ย และกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ใต้ดินก็กำลังเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะรุนที่แรงไม่แพ้กัน แม้จะมีความพยายามจะทำให้กระบวนการรีไซเคิลขยะพิษนี้ถูกกฎหมายและปลอดภัยแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับเมืองเทียนอิ๋ง ในมณฑลอานฮุย ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 4.2 ล้านคน ได้กลายเป็นเมืองที่สกปรกที่สุดในโลกเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว เมื่อมลพิษจากการเผาไหม้ของถ่านหินโรงงานไฟฟ้า และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำที่ผิดกฎหมายแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วเมืองเหมือนหมอกควันหนาหนักที่ไม่มีวันสลายไปกับสายลม หนำซ้ำบางวันรุนแรงจนมองไม่เห็นแม้กระทั่งมือตัวเองที่ยื่นไปตรงหน้า รถยนต์ต้องเปิดไฟหน้าตลอดเวลา ซ้ำร้ายก็คือ ในแต่ละปีมีเด็กๆ ในเมืองนี้ป่วยเพราะสารพิษนี้มากขึ้น แต่ก็ถูกทางการทอดทิ้ง ปล่อยไปตามยถากรรม

ว่ากันว่า ขณะนี้ 5 ใน 10 เมืองใหญ่ที่มีปัญหามลภาวะมากที่สุดในโลกล้วนแต่อยู่ในจีนทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น กว่า 2 ใน 3 ของแม่น้ำและทะเลสาบที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศเริ่มมีปัญหาปนเปื้อนสารพิษโดยทางการยังไม่สามารถหาวิธีกำจัดปัญหาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ลูกหลานแดนมังกรกว่า 200 ล้านคน ไม่มีแหล่งน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยเฉพาะหลังเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งหลายครา ยิ่งทำให้ปัญหามลภาวะในแดนมังกรทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะกรณีโรงงานผลิตเบนซินที่มณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งเป็นต้นแม่น้ำซ่งหัว แม่น้ำสายหลักในภูมิภาคนี้ได้เกิดระเบิดขึ้น เมื่อปลายปี 2548 ทำให้ระดับของเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 100 เท่าของระดับปกติ หน่วยงานที่รับผิดชอบในเมืองฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเหยหลงเจียง ที่อยู่ตอนใต้ของแม่น้ำซ่งหัวต้องปิดเส้นทางน้ำ และอพยพชาวบ้านบางส่วน ซึ่งต้องพึ่งพาแต่น้ำบรรจุขวดที่ซื้อมากักตุนไว้ตลอดช่วงหลายวันต่อมา โดยทางการไม่ยอมให้รายละเอียดหรือเหตุผลใดๆ

ต่อมาเมื่อกลางปี 2553 ได้เกิดเหตุน้ำท่วมพัดถังบรรจุสารเคมีอันตรายจากโกดังโรงงานสารเคมีแห่งหนึ่งในมณฑลจี๋หลินจำนวน 3,000 ถัง ลงสู่แม่น้ำซ่งหัวในจำนวนนี้มีอยู่ 2,500 ใบ มีสารเคมีไร้สีที่สามารถระเบิดได้ 510 ตัน อาทิ สารเคมีไร้สีเมทิลคลอไรด์ นอกจากนี้ ยังมีถังสารเคมี 500 ใบ ที่มีสารละลายเคมีจากโรงงานเคมี 2 แห่ง ถูกพัดลงแม่น้ำสายนี้เช่นกัน ทางการต้องเร่งปิดแหล่งน้ำประปาที่มาจากแม่น้ำซ่งหัว ทำให้ประชาชนกว่า 360 ล้านคน ไม่มีน้ำสะอาดที่จะดื่มกินหรือใช้ทำความสะอาด ชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำเกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ จากกลิ่นฉุนจากสารเคมี สารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำจนฟองฟูเหมือนฟองสบู่ยังได้แผ่กว้างไปตามลำน้ำสายต่างๆ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงกว่าที่อื่น

กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนก็ได้แต่รายงานว่า ปัญหามลภาวะตามแหล่งน้ำทั่วประเทศยังคงจะรุนแรงต่อไป รวมไปถึงแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง แม่น้ำสายยาวที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มของประชาชนหลายล้านคนทางภาคเหนืออของประเทศ มีปัญหาปนเปื้อนมลพิษจากของเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยออกมา ขณะที่คณะกรรมการอนุรักษ์แม่น้ำเหลือง ได้เปิดเผยผลการสำรวจซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2550 พบว่า ร้อยละ 33.8 ของตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำเหลืองที่ทำการบันทึกไว้ต่ำกว่าระดับ 5 ตามเกณฑ์มาตรฐานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งหมายความว่า น้ำเหล่านั้นไม่เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภค การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การใช้ในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม สาเหตุใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมได้ผลิตและปล่อยของเสียลงแม่น้ำมากถึงร้อยละ 70

ส่วนแม่น้ำแยงซีเกียงที่อดีตประธานเหมา เจ๋อ ตุง มาว่ายเล่นเพื่อโชว์สื่อว่ายังคงมีสุขภาพแข็งแรง เริ่มกลายเป็นแม่น้ำวิปโยค คร่าชีวิตของประชาชนที่ไม่ทันระวังตัวไปใช้น้ำในแม่น้ำสายนี้ ซึ่งเหมือนกับการฆ่าตัวตายทางอ้อมโดยไม่เจตนา

ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/
ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/

อินเดียกับการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการกำจัดขยะพิษ

จากการสำรวจของกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์อิสระระดับโลกที่ต้องการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสันติภาพ พบว่าแดนภารตะอินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปผิวเหลืองเอเชียที่มีปัญหาการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เฉพาะในกรุงนิวเดลีและปริมณฑลมีคนงาน 25,000 คน ที่ทำงานตามแหล่งทิ้งขยะ ซึ่งต้องคัดแยกขยะถึงปีละ 10,000-20,000 ตัน ในจำนวนนี้มากถึงร้อยละ 25 ของขยะเหล่านี้เป็นคอมพิวเตอร์ ไม่นับรวมขยะพิษที่กำลังก่อปัญหารุนแรงมากขึ้นในเมืองเมืองมีรุต เฟโรซาบัด เชนไน บังกาลอร์หรือบังกล่า และมุมไบ นอกเหนือจากที่นครการาจี ในปากีสถาน

จากการสำรวจเมื่อปี 2548 พบว่า อินเดียมีขยะพิษประมาณ 1.47 แสนตัน คาดว่าจำนวนขยะพิษจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าในปี 2568 แต่ปรากฎว่า 95 เปอร์เซนต์ของขยะพิษโดยรวมไม่ผ่านการกำจัดอย่างถูกวิธี แม้ว่ารัฐบาลภารตจะออกกฎหมายฉบับหนึ่งตั้งแต่ปี 2554 บังคับให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีหน้าที่รับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้วคืนเพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน แต่บริษัทผู้ผลิตยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคจะใช้วิธีขายต่อให้กับซาเล้งรับซื้อของเก่าตามบ้านมากกว่า เพราะสะดวกสบายกว่าและไม่ต้องเสียค่าเดินทางหอบขยะพิษไปขายคืนให้กับบริษัทผู้ผลิต

ส่วนซาเล้งที่รับซื้อของขยะพิษก็จะนำขยะพิษนั้นไปขายต่อให้แก่ผู้รับซื้อโลหะรายย่อยที่ไม่มีกรรมวิธีกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธีใดๆ ทั้งสิ้น หรือใช้วิธีกำจัดง่ายๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในละแวกใกล้เคียง

ร้อนถึงบริษัทแอตเทโร บริษัทรับกำจัดขยะพิษของอินเดีย ต้องดิ้นรนหาทางโน้มน้าวใจให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลดีจากการกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธี จนท้ายสุดได้ร่วมมือกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) รณรงค์โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่แล้วของซาเล้งที่รับซื้อของเก่าตามบ้านให้รับซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานในครัวเรือนแล้ว แลกกับบัตรกำนัลซึ่งสามารถนำไปแลกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป