ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ชุมนุมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม สะท้อนประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาล – “Public Office is a Public Trust”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ชุมนุมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม สะท้อนประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาล – “Public Office is a Public Trust”

12 พฤศจิกายน 2013


การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีหลากหลายความคิดเห็น จากหลายองค์กร หลายอาชีพ แม้แต่องค์กรอิสระอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. ได้แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดย “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการ ธปท. เห็นด้วยกับการแสดงออกของพนักงาน ธปท. และผู้ที่แสดงออกคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ดร.ประสาร ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในงานเปิดอบรมหลักสูตรการธนาคารกลางสำหรับสื่อมวลชน หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวน” ที่จัดโดย ธปท. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า การแสดงออกมองในแง่บวกได้ คือ เป็นการแสดงถึงคุณภาพชีวิตของสังคมไทยว่า มีเรื่องที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นก็มีการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย

“หากมี 2 สังคม ถ้ามีเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สังคมหนึ่งอาจไม่แสดงออก แต่อีกสังคมหนึ่งแสดงออก กรณีสังคมที่แสดงออกน่าจะดีกว่าในระยะยาว และที่น่าสนใจคือ หลายส่วนที่เคยเห็นด้วยกับเคยสนับสนุนรัฐบาล เวลาไม่เห็นด้วยก็แสดงออก” ดร.ประสารกล่าว

ดังนั้น ในกรณีที่พนักงาน ธปท. บางส่วนแสดงออกถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้ว่าการ ธปท. มีความเห็นว่า เขาก็เป็นคนไทยที่มีความคิด เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องก็แสดงความคิดเห็นออกมา และเห็นแล้วทึ่ง เพราะแทนที่เขาจะชุมนุมในรั้ว ธปท. เขาก็ออกมานอกรั้ว

“เพราะฉะนั้นในส่วนตัวรู้สึกว่า แสดงออกดีกว่าไม่แสดงออก” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เขียนประโยคข้างบนนี้ "Public office is a public trust” เองที่ห้องอบรมฯสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เขียนประโยคข้างบนนี้ “Public office is a public trust” ไว้ที่ห้องอบรมฯ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ดร.ประสารมั่นใจว่า การแสดงออกของพนักงาน ธปท. จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร พร้อมเล่าถึงการทำหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่วันแรกมาจนถึงกว่า 30 ปีว่า มีประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายที่ใช้ทำงานมาตั้งแต่วันนั้นจนมาถึงวันนี้คือ “Public Office is a Public Trust”

ดร.ประสารกล่าวว่า Public Office is a Public Trust ทั้งหมดนี้คือ “หัวใจ” ของเรื่องทั้งหมด และเป็นแนวทางที่ใช้ทำงานมาตลอด 30 ปี เมื่อไปทำงานในองค์กรสาธารณะทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) โดยเราต้องเข้าใจว่าเราเป็น public office ซึ่งไม่ใช่ตัวอาคาร 1 อาคาร 2 หรือ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ไม่ใช่ ส.ส. ในรัฐสภา แต่มันคือ “ความไว้วางใจ” ของประชาชน

ดังนั้น การแสดงออกถึงการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันนี้ เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี และทางออกต่อไปคืออะไร ผู้ว่าการ ธปท. มีความเห็นว่า ถ้าเข้าใจประโยคนี้ (Public Office is a Public Trust) การแสดงออกโดยการชุมนุมเป็นตัวอย่างของ “ปลายเหตุ” ซึ่งเป็นตัวทำลายความไว้วางใจ แต่การแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ “ต้นเหตุ” คือ ประชาชนไม่ไว้วางใจ จึงแสดงออกด้วยการกระทำที่ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

“หลายคนพยายามหาวิธีฝังแดรกคูลาไม่ให้ฟื้นขึ้นมา แต่ถามว่าจบไหม ผมว่าไม่จบ เพราะอันนี้เป็นปัญหาปลายเหตุ ยังมีเรื่องอื่นที่ทำลายความไว้วางใจของประชาชน เช่น นโยบายจำนำข้าว เสียงประชาชนจำนวนมากมีความเห็นว่าทำลายประเทศ แต่ผู้มีอำนาจยังยืนยันคำตอบเดินเดินหน้าต่อ แต่จำนำข้าวมีประเด็นทางเทคนิคมากกว่ากฎหมายนิรโทษกรรม” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหา ดร.ประสารเสนอว่า ต้องไปสำรวจว่ามีอะไรไปทำลาย public trust หรือทำให้ความไว้วางใจของประชาชนอ่อนแอ ก็ต้องยกเลิก เพราะถ้า public trust หายไป public office ก็จะจางหายไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องสร้าง “public trust”

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า เมื่อ public trust หายไปเศรษฐกิจจะอ่อนแอ จริงอยู่ที่หลายปีที่ผ่านมาเรามักจะสังเกตว่า แม้ public office จะมีปัญหาพอประมาณ แต่กลไกต่างๆ ของภาคธุรกิจ เอกชน ก็ทำงานได้ โดยธุรกิจก็เดินต่อไป แต่ในที่สุดก็จะมีข้อจำกัด โดยเฉพาะมาเผชิญกับปัญหาความผันผวน ความไม่แน่นอน หรือการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น

“ช่วง 2 สัปดาห์ที่่มีการชุมนุม เหตุการณ์ทางการเมืองเริ่มบั่นทอนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากสมาคมท่องเที่ยวและสภาอุตสาหกรรม ที่ออกมาแสดงความกังวล แต่ไม่รู้ว่าจะปรับตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน” ดร.ประสารกล่าว

ขณะที่นโยบายการเงิน การคลัง สามารถดูแลและมีผลในระยะสั้น ช่วย “ประคอง” ให้เราผ่านความผันผวนไปได้ แต่จะไปได้ถึงไหนและได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับสมรรถนะของเครื่องยนต์หรือสมรรถนะของเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้มีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเรื่องกฎหมาย เรื่องธรรมาภิบาล และการไม่ยอมรับคอร์รัปชัน ถ้าเรื่องเหล่านี้มีความเข้มแข็งก็จะนำพาเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี แต่ถ้าอ่อนแอ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็สู้เขาไม่ได้ และพลังต่างๆ ก็จะลดลง

“เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ วิธีแก้จึงไม่ใช่การเอาคนมากมาชนคนมาก แต่ต้องเช็คว่าอะไรจะทำให้ public trust อ่อนแอก็ต้องเลิก” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวย้ำ

พนักงานแบงก์ชาติต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556
พนักงานแบงก์ชาติต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556

นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นจะมีทางออกหรือไม่ ดร.ประสารให้ความเห็นว่า วิธีมองปัญหามองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่คนที่ถูกสอนให้มาเป็นผู้นำองค์กรที่ดีต้องทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง ต้องอธิบายและบอกความจริงเพื่อให้คนในองค์กรมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ใช่อยู่ในความฝัน และ สอง ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรมีความหวัง

“ในเรื่องของประเทศก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องบอกความจริง ยอมรับว่าประเทศมีปัญหา มีความขัดแย้งรุนแรง แต่ขณะเดียวก็สร้างความหวังของสังคมไทยด้วยว่าจะแก้ปัญหาผ่านไปได้ เหมือนน้ำครึ่งแก้วที่มีโอกาสเติมน้ำให้เต็มแก้วได้ เพราะฉะนั้น ผู้นำน่าจะมีความหวังในการแก้ปัญหา” ดร.ประสารกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า เป็นห่วงที่จะมีการยกระดับการชุมนุมมากขึ้น แต่เชื่อว่าสังคมมีหลัก ไปถึงจุดหนึ่งก็น่าจะบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง ถ้าบริหารจัดการไม่ได้ก็จะนำไปสู่ความยุ่งยาก ความยุ่งเหยิง เหมือนบางประเทศที่เกิดปัญหายุ่งเหยิงเป็นศตวรรษ เป็น 100 ปี เช่น จีน แต่เขาก็สามารถกลับมาได้

“คิดว่าน่าจะหาทางออกได้ด้วยการไม่บอบช้ำเกินไป” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

สำหรับบทบาทของ ธปท. ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความท้าทายมากขึ้น แต่ ธปท. จะทำหน้าที่ของ ธปท. ให้ดีที่สุด และเตรียมการ เตรียมมาตรการรองรับ อาทิ สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน การดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงิน และดูแลไม่ให้เกิดความผันผวน

โดยวิธีการดีที่สุดคือ การอธิบาย การให้ข้อมูล เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ที่เป็นจริง รวมถึงการจัดสัมมนาวิชาการของ ธปท. ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ public office อีกส่วนหนึ่งคือทำหน้าที่ “เตือนสติ” คนที่เกี่ยวข้อง อย่างที่ออกมาพูดเรื่องคุณภาพของสถาบัน เรื่องขีดความสามารถแข่งขัน เรื่องการปฏิรูปด้านอุปทาน เป็นต้น

“เรามองเห็นว่า สิ่งที่เราดูแลเป็นระยะสั้นคงไม่เพียงพอ ก็ต้องมองระยะยาว และบอกคนที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดูแล” ดร.ประสารกล่าว