ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > หลากหลายความคิดต่อการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และข้อเรียกร้องจาก ศปช.

หลากหลายความคิดต่อการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และข้อเรียกร้องจาก ศปช.

9 พฤศจิกายน 2013


เสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน ภายใต้หัวข้อ "หลากหลายความคิดต่อการคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม" เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556
เสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน ภายใต้หัวข้อ “หลากหลายความคิดต่อการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน ภายใต้หัวข้อ “หลากหลายความคิดต่อการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” โดยเชิญผู้เสวนามา ได้แก่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด), ผศ. นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย และ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา

การเสวนาในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาที่ต่างก็มีความเห็นคัดค้านต่อ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ด้วยกันทั้งสิ้น โดยในแต่ละคนก็มีเหตุผลและมุมมองต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแตกต่างกันไป ซึ่งมีความคิดเห็นที่น่าสนใจดังนี้

รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนเองและทางศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 หรือ ศปช. ไม่เห็นด้วยกับการล้มกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งที่รวมเอากรณีของคุณทักษิณและกรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 เข้ามารวมด้วย เพราะจะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นผู้ที่เดือดร้อนที่สุด ทุกวันนี้ยังติดอยู่ในเรือนจำหรือติดคดีความต่างๆ และยังไม่ได้รับการนิรโทษกรรม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความคลุมเครือในกระบวนการยุติธรรมในกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และกรณีเผาห้าง Central World ที่ผู้ถูกจับกุมหลายคนถูกยกฟ้อง แม้ว่าจะติดคุกไปแล้วก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลักนิติรัฐและนิติธรรม มีจุดมุ่งหมายและหลักการสำคัญในการให้ความยุติธรรมกับ “ประชาชน” และการนิรโทษกรรมก็ถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบนิติรัฐและนิติธรรม เพียงแต่ “โดยหลักจะนิรโทษกรรมให้กับผู้ถูกใช้กฎหมายซึ่งก็คือประชาชน ไม่ใช่ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ส่วนกรณีคดีทุจริตของคุณทักษิณ เสนอว่าควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ในแบบปกติ ที่ไม่ใช่ถูกฟ้องและกล่าวหาโดยองค์กรที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังกล่าวในตอนท้ายว่า การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่อยู่ในมิติทางกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิติทางสังคม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าแม้จะมีการถอนกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว แต่ทำไมการชุมนุมคัดค้านยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ผศ. นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย กล่าวว่า เหตุการณ์หลักที่เป็นที่มาของการนิรโทษกรรมคือเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 ไม่ใช่การรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยการตายจากเหตุการณ์สลายการชุมนมีคนที่ได้ประโยชน์อยู่และเชื่อว่ามีการวางแผน และคนคนนั้นก็คือฆาตกรตัวจริง และเชื่อว่าการวางเพลิงมีการวางแผนมาอย่างแน่นอนโดยผู้สั่งการคนเดียวกัน และเหตุจากการตายนี้ จึงเป็นคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงกล้าหักหลังคนเสื้อแดงเหล่านี้โดยการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะทำให้ฆาตกรพ้นผิดและลอยนวล นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวของรัฐสภาไม่ใช่หลักการของเสียงข้างมาก แต่เป็นการส่งคำสั่งมาจากคนคนเดียว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการออกมาคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ เช่น เป่านกหวีด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย โดยมองว่าระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยเริ่มมีความหวังแม้ว่านักการเมืองจะไม่มีความหวังก็ตาม และกล่าวต่อไปว่า “ปัญหาของเราไม่ใช่การเลือกข้าง แต่ปัญหาของเราคือการเข้าข้าง”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงมาตรา 309 ว่า เป็นตัวอย่างของการนิรโทษกรรมที่เลวร้ายที่สุด โดยเปรียบเปรยว่ามีลักษณะ “สิ่งใดถูกก็ถือว่าถูก สิ่งใดผิดก็ถือว่าถูก” โดยได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมกับเรื่องการนิรโทษกรรมว่า หากรัฐบาลยอมขอโทษและยอมรับผิดกับเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็พร้อมจะให้อภัยและให้โอกาสรัฐบาลต่อไป แม้ว่ากลุ่มอื่นจะไม่ให้โอกาสก็ตาม และการเผชิญหน้ากันของความขัดแย้งยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันๆ และมีขนาดใหญ่กว่าการเผชิญหน้ากันครั้งก่อนในประวัติศาสตร์มาก

นอกจากการเสวนาแล้วยังมีการเผยแพร่ข้อเรียกร้องของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 หรือ ศปช. เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อวุฒิสภา ให้พิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อประชาชน

8 พฤศจิกายน 2556

กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. จนมีเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างที่สภาฯ ได้รับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1 โดยครอบคลุมการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เป็นผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง อีกทั้งยังได้ขยายระยะเวลาการนิรโทษกรรมออกไปครอบคลุมคดีความที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอาจรวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั้น การดำเนินการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาคัดค้านจากประชาชนทุกสีทุกฝ่ายอย่างรุนแรง ทำให้สังคมเข้าสู่ความตึงเครียดและการเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นาน ประชาชนหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนี้คืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานวุฒิสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช และวุฒิสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะใช้อำนาจยับยั้งหรือไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่า หากวุฒิสภายับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจริง จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ได้อีกจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 180 วันไปแล้ว นั่นหมายความว่า ประชาชนธรรมดาที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง จะต้องสูญเสียอิสรภาพต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เท่ากับว่า กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมุ่งช่วยเหลือแต่เดิม กำลังจะกลายเป็นผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบมากที่สุด

ศปช. มีความเห็นว่า เพื่อให้เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบรรลุผล สมาชิกวุฒิสภาไม่ควรยับยั้งร่างกฎหมายทั้งฉบับ แต่สมควรพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายให้เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในวาระที่ 1 โดยมีสาระดังต่อไปนี้

1. ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน “ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

2. ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่ง บังคับบัญชา หรือกระทำการใดๆ อันนำไปสู่ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และไม่นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใดๆ ของบุคคลไม่ว่าฝ่ายใดที่ถูกดำเนินคดีหรืออาจถูกดำเนินคดีในอนาคตในความผิดต่อชีวิต”

3. ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ศปช. ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยยึดหลักความยุติธรรมและมนุษยธรรมที่พึงมีต่อประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังนับแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 เพราะการกระทำของพวกเขามิได้มุ่งก่ออาชญากรรมต่อสังคม แต่เป็นการต่อสู้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเมืองที่ดีตามอุดมการณ์ของตน ในช่วงเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา การปฏิเสธการประกันตนและให้นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง ขณะที่กระบวนการยุติธรรมต่อกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งกลับมีลักษณะตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้มีแต่ยิ่งเพิ่มพูนความคับแค้นใจในหมู่ประชาชนเสื้อแดงทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงภาวะสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้น การนิรโทษกรรมประชาชนจึงเป็นหนทางที่จำเป็นที่จะช่วยลดความรู้สึกเจ็บแค้นและแตกแยกในสังคมให้เบาบางลงได้

เราใคร่ย้ำว่า เราไม่เห็นด้วยกับการลบล้างความผิดของนักการเมืองด้วยการพ่วงไปกับประชาชนที่เป็นนักโทษการเมือง พอๆ กับการใช้อิสรภาพของพวกเขาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อต่อรองอำนาจและทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนี้ อดีตที่ผ่านมาในสังคมไทยชี้ว่า ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายครา จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ปราบปรามประชาชน เป็นการเปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยแทบไม่มีการคัดค้าน ณ วันนี้ สังคมไทยต้องยุติการโอบอุ้มวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล (culture of impunity) วัฒนธรรมการเมืองที่เลวร้ายนี้ไม่เพียงยุติความพยายามแสวงหาความจริงว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความรุนแรง แต่ยังเป็นอาวุธที่บ่อนทำลายคุณค่าสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในชีวิต ไม่ให้มีวันได้เติบโตในสังคมไทย สังคมจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลย หากผู้มีอำนาจไม่กลัวเกรงต่อการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตละเมิดชีวิตของประชาชน

เราขอย้ำว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่วุฒิสภากำลังจะพิจารณานี้ ควรเป็นเครื่องมือทางมนุษยธรรมสำหรับเยียวยาความแตกแยกและคับแค้นใจในหมู่ประชาชน พร้อมๆ ไปกับหยุดยั้งวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล

ขอแสดงความนับถือ

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.)