ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อาการประเทศไทย ปัจจัยบ่งชี้ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก แนะต้องปรับ 3 ทัศนคติ

อาการประเทศไทย ปัจจัยบ่งชี้ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก แนะต้องปรับ 3 ทัศนคติ

23 ตุลาคม 2013


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สำรวจเศรษฐกิจไทย พบยังไม่พร้อมแข่งขันรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางแก้ต้องเร่งปรับ 3 ทัศนคติ “เลิกแข่งขันด้านราคา-ยอมรับการแข่งขันมากขึ้น-ปฏิเสธคอร์รัปชัน” เพื่อประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว แต่ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน เศรษฐกิจอาจล่มได้

ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาเรื่อง “การปรับเปลี่ยนประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก” ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำรวจโลก: แนวโน้มใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ

ดร.ประสารกล่าวว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งสามารถส่งผลต่อด้านการผลิตแบบต่อเนื่องยาวนานจนทำให้บริบทของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้นั้น มีแนวโน้มใหญ่ 2 ประการ คือ

หนึ่ง โครงสร้างประชากรโลกที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2555 จำนวนประชากรโลกได้ผ่านหมุด 7 พันล้านคนมาแล้ว และมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 11

โดยล่าสุด UN คาดว่า ในปี 2573 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคน และสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ในปัจจุบันปรับลดลงจาก 5 คน เหลือเพียง 2.5 คน ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานของโลกมีแนวโน้มลดลง สร้างความท้าทายอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกที่พยายามจะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป

สอง คือ การเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation technologies) โดยเฉพาะวิทยาการหุ่นยนต์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนมาก ต้องใช้คุณภาพและความแม่นยำสูง จะช่วยย่นย่อเวลาและขั้นตอนในกระบวนการผลิต (Supply chain)

ปัจจุบันเทคโนโลยีอัตโนมัติมีใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตแบบเดิม และเริ่มถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดด้านแรงงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเพิ่มผลผลิตกำไรให้สูงขึ้น โดยล่าสุด McKinsey Global Institute คาดว่า ในอีก 12 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกพัฒนาให้ช่วยเพิ่มผลิตภาพได้อีกถึงร้อยละ 70 ของการผลิตในปัจจุบัน

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรและการเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีอัตโนมัติ ย่อมส่งผลให้บ้างประเทศได้เปรียบและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่บางประเทศจะประสบอุปสรรคต่อการเติบโต

ในกรณีของไทย เราอยู่ในกลุ่มที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตโลกน่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเติบโต

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

สำรวจไทย: ปัจจัยบ่งชี้ความไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

หากสำรวจเศรษฐกิจไทยให้ลึกลงไป เราจะพบสัญญาณต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอลงอย่างมากของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 ต่อปีในช่วงทศวรรษก่อนวิกฤติเอเชีย มาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในช่วงปี พ.ศ. 2543–2555

นอกจากนี้ เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งชี้ชัดว่าไทยเองก็เผชิญอยู่กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกในด้านประชากรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำมานาน โดยปัจจุบัน ไทยมีประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน มีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 15 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 ในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียน นับเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานไทย (Labor productivity) ก็ชะลอลงมากจากเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปีในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างการผลิตที่ขาดการยกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตของไทยอาจไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลกที่เกิดขึ้นใหม่ (Global supply chain) ซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังขาดการคิดค้นนวัตกรรม ข้อมูลจาก World Economic Forum ล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อเดือนก่อน พบว่าความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหล่นจากอันดับ 64 มาอยู่ที่อันดับ 87 อันดับของการใช้จ่ายในด้านวิจัยและพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของไทยปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันไทยลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศ ASEAN ชั้นนำ

ไทยยังคงติดอยู่ในขั้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-Driven Economy) ซึ่งอาศัยประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน ตลาดสินค้า และตลาดการเงิน รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน แต่ไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) ได้อย่างประเทศไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่มาเลเซีย ที่เริ่มก้าวไปในทิศทางนั้นแล้ว

ดังนั้น การยกระดับศักยภาพการผลิตจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน นโยบายที่สำมารถทำให้ประสบความสำเร็จและแก้ไขได้ตรงจุดนั้นไม่ได้มาจากนโยบายที่กระตุ้นด้านอุปสงค์ แต่ต้องมจากนโยบายด้านอุปทาน ซึ่งใช้เวลานานถึงจะสัมฤทธิผล

ที่สำคัญ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน และต้องเริ่มเลย เพราะหากวันนี้เรายังไม่เริ่ม สุดท้ายช่องห่างของศักยภาพการผลิตของไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันจะต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราจะไม่สามารถทะยานขึ้นไปอย่างยั่งยืนเหมือนประเทศเกาหลีและไต้หวัน แต่อาจจะเป็นเหมือนหลายประเทศที่เติบโตได้ช่วงหนึ่งแล้วหยุดชะงักไป เช่นเดียวกับประเทศในแถบลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่ติดอยู่ในกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap)

การยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่มีหลายคนพูดถึงมานานแล้ว ที่ผ่านมาเราได้แต่ย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศไทย แต่ก็ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจนและจริงจัง ขณะที่เวลาก็เดินไปเรื่อยๆ จนประเทศที่เคยด้อยกว่าเริ่มตีตื้นขึ้นมา ประเทศที่เคยทัดเทียมกับเราก็เริ่มแซงหน้าไป

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการอยู่กับทัศนคติแบบเดิมๆ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เดิมเราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้แรงงานเป็นหลักและเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังแรงงานก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยยังคงติดกับการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต โดยไม่ได้ “ตระหนัก เข้าถึง ซึมซับ และต่อยอด” เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้สามารถเกาะกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลกได้

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ก้าวไปหน้า: ต้องเปลี่ยนทัศนคติ 3 ด้าน

ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางแนวโน้มใหญ่ของโลก ไทยจะต้องเปลี่ยน “ทัศนคติ” หรือ Mindsets ที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งผมยอมรับว่าทัศนคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนยากแต่จำเป็นต้องรีบเปลี่ยน เพื่อลงมือปฏิบัติให้สัมฤทธิผล

ทัศนคติ หรือ Mindsets ที่ต้องปรับเปลี่ยนมี 3 ด้าน ทั้งนี้ หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนเรือสำเภาที่กำลังวิ่งออกสู่มหาสมุทร Mindsets ที่สำคัญนี้ย่อมเปรียบเสมือนได้กับ “เสาใบเรือ” ทั้ง 3 ที่จะใช้กำหนดทิศทางและความเร็วของการเดินเรือ

Mindset แรก คือ การเลิกแข่งขันที่ราคาและปริมาณ แต่ต้องแข่งด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ การที่จะผลิตของที่มีคุณภาพได้จำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานต้องมีทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ ตามการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถพึ่งพาภาคการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยการผลิตหลักอีกต่อไป เนื่องจากกำลังแรงงานของไทยลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จนทำให้ผู้ประกอบการบางรายหันไปแสวงหาแรงงานที่ค่าจ้างต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน

การที่เศรษฐกิจไทยจะแสวงหาประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่เพื่อเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลก ต้องเปลี่ยน mindset ใหม่ โดยมีแนวทาง “เอกชนแนะนำ รัฐบาลช่วย” ภาคเอกชนต้องเสนอต่อภาครัฐถึงทักษะแรงงานที่ต้องการ รวมถึงเสนอความร่วมมือด้านการวิจัยและเทคโนโลยี ขณะที่ภาครัฐต้องสนองตอบความต้องการของภาคเอกชน เป็นการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง เสมือนกับช่วยกันประคับประคองเสาใบเรือฝ่ากระแสลมไปด้วยกัน

mindset ที่สอง คือ การยอมรับการแข่งขันที่มากขึ้น ภาคเอกชนต้องไม่กลัวที่จะแข่งขัน เพราะการแข่งขันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ทดแทนเทคโนโลยีเดิมเพื่อยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ

ในด้านนี้ ภาครัฐควรสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันทางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนกฎและกติกาของรัฐ ให้มีการแข่งขันเสรีจากภายในและภายนอกได้มากขึ้น

mindset สุดท้าย คือ ทัศนคติที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน เพราะการคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุสำคัญของการบิดเบือนทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม กัดกร่อนแรงจูงใจในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน เป็นข้อจำกัดต่อการนำนโยบายไปใช้แก้ไขปัญหา และเกิดความสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากรของประเทศ

เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้เราจะบอกว่าการคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่ผลสำรวจตั้งแต่ปี 2554 กลับชี้ให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติยอมรับการคอร์รัปชันถ้าตนเองได้ประโยชน์อยู่ และทัศนคติดังกล่าวไม่มีแนวโน้มว่าจะเลือนหายไป

ถ้าเรายืนยันว่าการปรับเปลี่ยนประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ การปรับทัศนคติให้ “ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน” เป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องเริ่ม โดยเริ่มจากระดับปัจเจกชน สั่งสมกันขึ้นไปถึงระดับประเทศ โดยเชื่อมั่นว่า หากเม็ดเงินทั้งหมดไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยไม่มีการคอร์รัปชัน เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้โดยอาศัยศักยภาพเงินทุนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เปรียบเสมือนเสาเรือใบต้นที่ 3 ที่จะคอยประคับประคองอีก 2 ต้น เพื่อนำเรือไปให้ถึงจุดหมาย

ท้ายที่สุดนี้ หากเปรียบสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรือสำเภาไทยกำลังแล่นออกสู่มหาสมุทร ทุกคนในเรือทราบดีว่าพายุลมแรงกำลังซัดผ่านมา ถ้าทุกคนไม่ปรับ mindsets และเตรียมรับมือ ซึ่งเปรียบเสมือนการเลือกเสาใบเรือและปรับทิศทางให้ถูกต้องเหมาะสม พายุลมแรงที่มาพร้อมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกก็อาจปะทะเรือสำเภาของเราจนไม่อาจแล่นไปข้างหน้า หรือถึงกับล่มได้

แต่หากมองในมุมกลับ ถ้าทุกคนปรับ mindsets และร่วมมือกันปรับทิศทางเสาใบเรือให้ถูกต้องเหมาะสม พายุลมแรงก็จะกลายเป็นแรงส่งให้เดินทางไปสู่จุดหมายได้รวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ ผมหวังว่าเราจะสามารถอาศัยพายุลมแรงนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือไปข้างหน้า

“ทัศนคติทั้ง 3 ด้าน มีความสำคัญเท่ากัน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนจะต้องทำพร้อมๆ กัน แบบเรียงแถวหน้ากระดานแล้วเดินหน้าพร้อมกัน ไม่ใช่เรียงเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม” ดร.ประสารกล่าว

อ่านเพิ่มเติม คำกล่าวปาฐกถาฉบับสมบูรณ์ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล