ThaiPublica > คอลัมน์ > SLAPP…ตบปากให้หยุดพูด (2)

SLAPP…ตบปากให้หยุดพูด (2)

14 ตุลาคม 2013


“หางกระดิกหมา”

ได้บอกไปแล้วว่า SLAPP หรือ Strategic Litigation Against Public Participation นั้นคือ “การฟ้องคนหรือกลุ่มคนที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยใช้กระบวนการทางศาลขัดขวางคำพูดหรือการกระทำของบุคคลเหล่านั้นไม่ให้ราบรื่น” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ใช้ศาลตบปากคนที่พูดไม่เข้าหูตัวเอง

สิ่งนี้ถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นระบบที่ยังต้องอาศัยคนเถียงกัน หลายประเทศจึงมีการออก Anti-SLAPP Law มาเพื่อระงับการใช้สิทธิทางศาลอย่างชั่วร้ายนี้

อย่างไรก็ดี ในเมื่อการใช้สิทธิทางศาลของคนเรานั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของการ SLAPP ไปเสียทุกกรณี กลไกของกฎหมาย Anti-SLAPP จึงต้องแบ่งเป็น 2 เปลาะ

กล่าวคือ ในเปลาะแรก คนที่ถูกฟ้องหรือจำเลยจะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ก่อนเลยว่าสิ่งที่ตนได้พูดหรือทำไปจนถูกฟ้องนั้นเป็นการสื่อสารในประเด็นประโยชน์สาธารณะ โดยถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็แปลว่าไม่ใช่เรื่องของ SLAPP ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้ต้องใช้กระบวนการพิเศษของกฎหมาย Anti-SLAPP เรื่องของจำเลยก็จะถูกดำเนินคดีโดยอ้อยสร้อยต่อไปตามกระบวนการปกติ ไม่มีรวบรัดตัดความ

แต่หากว่าจำเลยเกิดพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจริง ภาระก็จะไปตกอยู่กับโจทก์แทน โดยโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ได้ว่าคดีของตนนั้นมีมูลอย่างไร และข้อแก้ตัวของจำเลยฟังไม่ขึ้นอย่างไร หาไม่แล้วคดีของโจทก์ก็จะถูกตัดจบเสียตั้งแต่ตอนนี้

จะเห็นได้ว่า เพียงเท่านี้ กฎหมาย Anti-SLAPP ก็เป็นบุญเป็นคุณมหาศาลแล้ว อย่างแรก ก็เพราะธรรมดาในคดีหมิ่นประมาทนั้น พอถูกฟ้องและโจทก์นำสืบว่าจำเลยหมิ่นประมาทแล้ว จำเลยจะต้องเป็นฝ่ายแก้ตัวให้ได้ว่าตัวเองไม่ได้หมิ่นอย่างไร ซึ่งออกจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก เพราะลำพังการนำสืบยืนยันว่าอะไรมีอยู่จริงนั้นก็พอทำเนา แต่การจะนำสืบว่าอะไรมันไม่มีนั้น บางทีมันก็ไม่รู้จะนำสืบอย่างไรเหมือนกัน

การที่กฎหมาย Anti-SLAPP กำหนดให้จำเลยพิสูจน์เพียงแค่ว่าคำพูดของตนเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ชีวิตจำเลยง่ายขึ้นอีกมาก และถ้าจำเลยพิสูจน์ได้ ความลำบากก็จะไปตกอยู่กับโจทก์แทน เพราะนอกจากจะต้องพิสูจน์ถึงการหมิ่นประมาทของจำเลยแล้ว โจทก์ยังต้องพิสูจน์ถึง “ความไม่มีอยู่” ของข้อแก้ตัวที่จำเลยกล่าวอ้างด้วย ซึ่งบอกแล้วว่าเป็นงานยากกว่าเป็นไหนๆ

ไม่เท่านั้น แม้โจทก์เกิดขยันพิสูจน์ประเด็นที่ว่าขึ้นมาได้จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าโจทก์จะชนะ เพราะกฎหมาย Anti-SLAPP ให้อำนาจศาลเป็นคนพิจารณาอีกทีว่า คำฟ้องของโจทก์นั้นมุ่งแค่ปกป้องชื่อเสียงประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวหรือไม่ โดยถ้าใช่ และศาลเห็นว่าการคุ้มครองประโยชน์แคบๆ ดังกล่าวและปล่อยให้คดีดำเนินต่อไปจะไม่คุ้มกับความเสียหายที่จะเกิดแก่เสรีภาพในการแสดงออกในประเด็นประโยชน์สาธารณะ ศาลก็จะยกฟ้องโจทก์อยู่ดี

และนั่นก็เป็นเพียงแต่เปลาะแรกของกฎหมาย Anti-SLAPP ซึ่งก็ชักจะทำให้โจทก์ต้องคิดหนักมากขึ้นอีกจมแล้วหากอยากจะฟ้องใคร แต่เพื่อดัดสันดานพวกฟ้องส่งเดชให้ยิ่งกว่านั้น กฎหมายจึงยังมีเปลาะสอง ซึ่งจะบังคับด้วยว่าถ้าจำเลยชนะคดีแล้วละก็ โจทก์จะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กับจำเลยทีเดียว ยิ่งถ้ามีกรณีพิสูจน์ได้ชัดๆ ว่าโจทก์จงใจฟ้องแกล้งคนอื่นจริง ก็ให้ศาลกำหนดค่าปรับทับถมเข้าไปอีกได้ตามแต่จะเห็นว่าสมควร มิหนำซ้ำ ในคดีอย่างนี้ บางทีเขาก็อนุญาตให้ทนายคิดค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินที่จำเลยได้รับอีกด้วย ซึ่งยิ่งเป็นการช่วยให้จำเลยมีทนายเข้ามาเสนอตัวช่วยสู้คดีมากเข้าไปอีก

เด็ดยิ่งกว่านั้น หากระหว่างที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์กำลังจะดำเนินการหรือขออนุญาตอะไรที่เกี่ยวกับทางการอยู่ และการดำเนินการนั้นๆ เกี่ยวด้วยเรื่องที่จำเลยเขาไปพูดคัดค้านไว้ การดำเนินการนั้นก็จะถูกระงับไว้พลางๆ จนกว่าคดีจะจบด้วย ซึ่งการฟ้องของโจทก์มีผลเป็นการถ่วงการดำเนินการเรื่องอื่นๆ ของโจทก์เสียเองนี่เอง ที่จะเป็นหลักประกันอีกประการหนึ่งว่าโจทก์จะตัดสินใจฟ้องก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเห็นว่าฟ้องได้ก็ฟ้องไปเรื่อยอย่างที่กำลังเป็นปัญหา

ทั้งนี้ มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่จำเลยได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้้ ไม่ได้แปลว่าจำเลยจะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ผิดกฎหมายอะไรเลยแต่อย่างใด เพราะความจริงเท่าที่คนเขามาฟ้องจำเลยเป็นคดี SLAPP ได้ ก็แปลว่าพฤติกรรมของจำเลยจะต้องมีจุดผิดกฎหมายอยู่บ้างแล้วอย่างน้อยก็ในทางเทคนิค เพียงแต่กฎหมายนี้ ให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะชัั่งดูอีกทีว่าความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากความผิดของจำเลยในกรณีหนึ่งๆ นั้นมันจะคุ้มกับประโยชน์สาธารณะที่จะต้องเสียไปหากปล่อยให้มีการดำเนินคดีกับจำเลยหรือไม่ พูดตรงๆ ก็คือ กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ศาลโอ๋จำเลยมากกว่าโจทก์ถ้าจำเลยยืนอยู่บนประโยชน์สาธารณะ โดยถือเสียว่าในเมื่อสิ่งที่จำเลยทำเป็นสิ่งดีน่าอนุโมทนาแล้ว รัฐก็มีหน้าที่จะต้องช่วยทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นกว่าเดิมบ้าง ไม่ใช่อะไรๆ ก็หวังแต่จะให้คนดีทนเอาๆ ราวกับนึกว่าเขาอยากจะเป็นพระโพธิสัตว์กันหมด

และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของกฎหมาย Anti-SLAPP ที่อาจเป็นไปได้ ซึ่งเขียนไปเขียนมาก็รู้สึกว่าออกจะแก่ไปในทางเทคนิคมาก แต่เชื่อเหลือเกินว่ามีแต่การจัดโครงสร้างในทางเทคนิคอย่างนี้นี่แหละ ที่จะช่วยปรับแต่งสังคมไปทีละน้อยๆ จนสุดท้ายทำให้เรามีสังคมที่ “ความดีต้นทุนต่ำ ความระยำต้นทุนสูง” จนได้

ถึงตอนนั้น รับรองว่าเราจะไม่ต้องมาเสียเวลานั่งเคี่ยวเข็ญให้คนทำดีกันอีกต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันจันที่ 14 ตุลาคม 2556