ThaiPublica > คอลัมน์ > SLAPP…ตบปากให้หยุดพูด

SLAPP…ตบปากให้หยุดพูด

7 ตุลาคม 2013


หางกระดิกหมา

รู้สึกว่าข้าวของในเมืองไทยเดี๋ยวนี้แพงขึ้นทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่คำพูด

เพราะเดือนที่แล้ว หลังจากที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการ TDRI ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของ กทค. ว่าทำให้ประเทศเสียหายเป็นแสนล้านบาทเพราะดูดายไม่รีบเอาคลื่นความถี่ 1800 MHz ออกมาประมูลตามที่กฎหมายกำหนด บัดนี้ ดร.เดือนเด่นก็ได้ถูก 4 บอร์ด กทค. กับเลขาธิการ กสทช. ฟ้องหมิ่นประมาทเป็นที่เรียบร้อย

นี่ก็เห็นว่าสำนักข่าวสืบสวน ThaiPublica หลังจากเปิดเผยเรื่องที่คุณศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น เอาเงินของสหกรณ์ไปปล่อยกู้ให้บริษัทที่มีตัวเองเป็นกรรมการอยู่ มูลหนี้รวมหลายพันล้านบาทและอาจมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว นักข่าวของ ThaiPublica ก็กำลังถูกคุณศุภชัยฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเหมือนกัน

ทั้งสองคดีนี้ ใครจะมั่ว ใครจะหมิ่น หรือจะแพ้ชนะกันอย่างไรคงยังไม่รู้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่เรื่องการต้องจ่ายราคาแพงเพราะคำพูดนั้น ดูเหมือนจะไม่ต้องรอเวลา เพราะเพียงถูกฟ้อง ก็เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยของทั้งสองคดีจะต้องเริ่มสูญเงิน สูญเวลาไปกับการสู้คดี ซึ่งรับรองว่าจะไม่จบกันง่ายๆ

ซึ่งเรื่องนี้เองที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้คำพิพากษาจะยังไม่ออก แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะบอกได้เลยตอนนี้ก็คือ ทั้งสองกรณีล้วนแต่เป็นเรื่องของการแสดงความเห็นในประเด็นประโยชน์สาธารณะ หรือ “Public Interest” ทั้งสิ้น ซึ่งการแสดงความเห็นอย่างนี้ จะดีร้ายก็ออกจะเป็นของจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ไม่มีไม่ได้ การที่ของสำคัญอย่างนี้สามารถถูกบั่นทอนได้ง่ายๆ โดยกรรไกรของกฎหมายหมิ่นประมาท จึงเป็นสิ่งที่เราอาจต้องทบทวนกันใหม่

การฟ้องอย่างนี้ ฝรั่งมีศัพท์เรียกว่า SLAPP ซึ่งย่อมาจาก Strategic Litigation Against Public Participation แปลว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” หรือแปลให้ง่ายเข้าก็คือการฟ้องให้หุบปาก ซึ่งเข้ากันเหมาะเจาะกับตัวย่อ SLAPP ที่พ้องเสียงกับคำว่า slap อันแปลว่าตบผัวะพอดิบพอดี เพราะเอาเข้าจริง ใครโดนฟ้อง SLAPP ก็ไม่ต่างอะไรจากการโดนตบปากให้หยุดพูด

เขานิยามกันว่า SLAPP นี้คือ “การฟ้องคนหรือกลุ่มคนที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยใช้กระบวนการทางศาลขัดขวางคำพูดหรือการกระทำของบุคคลเหล่านั้นไม่ให้ราบรื่น” ซึ่งนี่จะได้ผลเป็นทั้งการข่มขวัญ ผลาญเงินทอง ผลาญกำลังและเวลาของบุคคลเหล่านั้นไม่ให้เหลือมาใช้กับการถกเถียงสาธารณะต่อไปได้ และที่ร้ายที่สุดก็คือเป็นการ “เชือดไก่” ไม่ให้คนอื่นนึกอยากจะมีปากมีเสียงในประเด็นนั้นๆ หรือแม้แต่ในประเด็นประโยชน์สาธารณะอื่นๆ อีก

จริงอยู่ที่บางครั้งการฟ้องก็เป็นเรื่องของการใช้สิทธิทางศาลของโจทก์โดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ใช่การเชือดไก่หรือ SLAPP เสมอไป อย่างไรก็ตาม SLAPP จะมีจุดสังเกตต่างจากการฟ้องธรรมดาตรงที่ SLAPP มักจะเป็นการฟ้องส่งเดชโดยโจทก์ไม่หวังว่าจะต้องชนะ ขอเพียงมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ พอให้ฟ้องได้ก็ฟ้องเลย โดยปกติโจทก์จะเลือกฟ้องตอนเวลาสุกดิบที่รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังไม่ค่อยมีเวลาหรือกำลังขาดเงิน (เช่นช่วงเลือกตั้ง) ครั้นเวลาฟ้องก็จะฟ้องจำเลยทีละหลายๆ คน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นมากหรือน้อย เสร็จแล้วก็ยังอาจจะฟ้องในหลายๆ ท้องที่ให้จำเลยหัวหมุน นอกจากนั้น ประเด็นที่ฟ้องก็มักจะรวมประเด็นที่หยุมหยิมคลุมเครือหาวิธีพิสูจน์ได้ยากหรือต้องใช้เวลาพิสูจน์นาน และสุดท้ายแม้จำเลยขอประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็จะปฏิเสธถ่ายเดียว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงเกมให้คดียืดเยื้อและเปลืองเงินที่สุด

ลักษณะเหล่านี้ทำให้ในคดี SLAPP ส่วนใหญ่ แม้ในที่สุดโจทก์จะแพ้ความในศาล แต่นอกศาลก็เรียกได้ว่าโจทก์ชนะแล้ว เพราะอย่างน้อยๆ ประเด็นที่โจทก์เคยถูกโจมตีก็จะหายไปเองท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมอันยาวนาน ทางเดียวที่จำเลยจะได้เปรียบในกรณีอย่างนี้ก็ต่อเมื่อจำเลยถูกฟ้องแล้วสังคมกลายเป็นตื่นตัวลุกขึ้นมาติดตามเรื่องนั้นหนักเสียยิ่งกว่าปกติ อย่างที่เรียกกันว่า Streisand Effect (มีที่มาจากเหตุการณ์ที่ดารานักร้องสาว Barbra Streisand ฟ้องช่างภาพเพื่อให้ยุติการมาขุดคุ้ยเรื่องของเธอ แต่แล้วกลับกลายเป็นการก่อกระแสทำให้คนยิ่งสนใจขุดคุ้ยเธอหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก) แต่เอฟเฟกต์อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้กับทุกเรื่อง อย่างเรื่องของ ดร.เดือนเด่นก็เห็นเงียบไปแล้ว ยิ่งเรื่องของนักข่าว Thaipublica ถูกฟ้องนี่ยิ่งไม่เป็นข่าวเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม เพราะลักษณะของ SLAPP ที่เป็นการเอาทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐมาใช้บั่นทอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองของรัฐเองนี่แหละ ที่ทำให้หลายๆ ประเทศ ต้องออกกฎหมายหรือคิดหากลไกต่างๆ ออกมารับมือกับ SLAPP อย่างเช่น ในบางรัฐของแคนาดา หรืออย่างในสหรัฐฯ ซึ่งมีถึง 29 รัฐที่ออกกฎหมายต้านตบหรือ “Anti-SLAPP Law” มาไว้เสริมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

กระนั้น นักกฎหมายทั่วไปยอมรับว่าการร่างกฎหมายต้านตบอย่างที่ว่ามานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะทางหนึ่ง กฎหมายนี้จะต้องช่วยพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกของคนถูกฟ้อง แต่อีกทางหนึ่ง กฎหมายก็ต้องไม่ละเลยที่จะให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายคนฟ้องเหมือนกัน เพราะในหลายกรณี คนที่โดน SLAPP ก็เพราะไปพูดจาน่าตบและจงใจสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของประโยชน์สาธารณะอะไร โดยมากกฎหมาย Anti-SLAPP จึงมักไม่ใช่การตัดสิทธิฟ้อง แต่จะเป็นสร้างกระบวนการพิเศษเพื่อทำให้คดีรวบรัดและประหยัดสำหรับจำเลยที่พิสูจน์ได้ว่าการกระทำของตนเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า

คราวหน้าจะขอมาเล่าถึงรายละเอียดของ Anti-SLAPP อีกสักหน่อย เพราะถ้าจับพลัดจับผลูมีใครเอาไปผลักดันจนเป็นกฎหมายในเมืองไทยได้จริง อานิสงส์ก็น่าจะตกแก่ “หางกระดิกหมา” นี่เองด้วย

ใครจะไปรู้ กระดิกเฉียดไปเฉียดมาอยู่อย่างนี้ วันดีคืนดีก็อาจจะโดนตบเข้าสักฉาดเหมือนกัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ โดย หางกระดิกหมา น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2556