หางกระดิกหมา
ในที่สุดคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงก็จบไปจนได้
หลายคนเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นมหากาพย์ เพราะใหญ่ด้วยทุนสร้างฉิบหายมโหฬารกว่า 6.69 พันล้านบาท และมีเนื้อเรื่องลากยาวเป็นทศวรรษ จนแม้ตัวละครเองก็ยังไม่ได้อยู่จนเห็นตอนจบกันครบ คู่ควรกับการมอบ “รางวัลสุพรรณหงส์จอดทิ้งแหลมฉบัง” ไว้เพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่
แต่กรรมการหลายคนแอบตัดคะแนนความคิดสร้างสรรค์เล็กน้อย เพราะพล็อตคอร์รัปชันในคดีนี้เป็นหนึ่งในพล็อตที่ดึกดำบรรพ์ที่สุด ชนิดที่ว่าองค์การ Transparency International นั้น เขาเอาพล็อตอย่างนี้ไปเขียนสรุปไว้แทบทุกขั้นตอนเป็นตำรา “Curbing Corruption in Public Procurement” อยู่แล้ว ใครที่สนใจน่าจะไปลองโหลดมาอ่าน
นี่ก็เพราะการโกงการจัดซื้อจัดจ้างที่ไหนในโลกก็ทำอย่างนี้ คือ หนึ่ง จะมีการริเริ่มโครงการจัดซื้อจัดจ้างในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่หรือโดยพ่อค้าเป็นคนชงเรื่อง โดยไม่ต้องพูดถึงว่าสิ่งต่างๆ นั้นเป็นของจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นก็ต้องทำให้ดูจำเป็นจนได้ โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ เช่น การอ้างบริษัทประเมิน การอ้างภาวะฉุกเฉิน หรือการดึงโครงการไว้รอช่วงชุลมุนตอนจวนสิ้นปีงบประมาณ
จากนั้น พอมีโครงการแล้ว ก็เป็นเรื่องของการจำกัดการแข่งขันให้มีน้อยหรือไม่มี เพื่อที่จะให้พ่อค้าที่สมคบกันไว้เป็นคนได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างนั้นไป ไม่ว่าจะโดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ต้องประกวดราคา การกำหนดสเป็คหยุมหยิมเพื่อกำจัดพ่อค้าคนอื่น การแอบบอกข้อสอบให้กับพ่อค้าพวกเดียวกัน หรือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เลือกพ่อค้าที่สมคบกันเอาดื้อๆ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ผลที่ได้ก็คือรัฐต้องจ่ายแพงกว่าปกติ เพื่อซื้อของที่ห่วยหรือไม่จำเป็น
ถึงตอนนี้ ใครที่ติดตามอ่านข่าวแล้วเห็นข้อเท็จจริงว่าในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ กทม. ทั้งสั่งซื้อรถ-เรือเพิ่มทั้งที่จริงๆ ตัวก็มีอุปกรณ์เกินกำลังคนอยู่แล้ว ทั้งยังอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อยกเว้นระเบียบการจัดซื้อปกติ ทั้งยังซื้อสินค้าโดยไม่สอบราคา และมีเจ้าหน้าที่ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีความสัมพันธ์กับพ่อค้าคอยวิ่งเต้นเร่งรัดการซื้อขายโดยตลอด ก็คงรู้ชัดแล้วว่าเราเล่นตามพล็อตมาตรฐานเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับหนังทุกเรื่อง ตอนจบของหนังยาวเรื่องนี้มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ที่คนไม่ชอบที่สุดเลย ดูเหมือนจะเป็นการที่พอตอนจบ เรารู้ว่าใครเป็นตัวร้ายแล้ว แทนที่ตัวร้ายจะถูกจัดการกลับกลายเป็นว่าตัวร้ายทั้งหลายหนีรอดไปได้จนหมด เพราะมีอย่างที่ไหน ทุกคนที่มาฟังคำพิพากษาในคดีนี้นั้น สุดท้ายคือคนที่จะถูกตัดสินว่าไม่ผิด ในขณะที่คนผิดกลับหายต๋อมราวกับรู้โพย หนังที่ไม่เลวจริงๆ มักจะไม่จบแบบไม่มีที่มาที่ไปแบบนี้ อย่าว่าแต่นี่ไม่ใช่หนัง แต่เป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วมีหน้าที่จะต้อง “ทำให้จบลงโดยเป็นธรรม” ตามคำแปล
แต่ท่ามกลางกระแสไม่พอใจนี้ ก็ยังเห็นว่าเรื่องนี้มีคติดีๆ บ้างเหมือนกัน คืออย่างน้อยก็จะได้รู้กันไปว่าการโกงกินนั้น แม้ขณะนี้จะทำกันกว้างขวางใหญ่โตเพียงใด แต่สุดท้ายก็ยังถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และถ้ากองเชียร์อึดๆ เสียหน่อย วันหนึ่งกฎหมายก็จะมีโอกาสเล่นงานคนโกงเหล่านี้หนักๆ เข้าจนได้ อย่างในกรณีนี้ ถ้าคุณประชา มาลีนนท์ มาฟังอ่านคำพิพากษา คนไทยก็คงจะได้เห็นคนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นถึงรัฐมนตรีช่วย มีหน้าตาดูเหมือนจะเสวยสุขไปได้จนหมดอายุขัย กลับต้องหมดวาสนา ใส่เสื้อนักโทษแทนสูท และห้อยตรวนแทนปาเต๊ก ซึ่งน่าจะช่วยรื้อฟื้นความรักดีในหัวใจคนไทยได้มาก และแม้ในความเป็นจริง คุณประชาจะหนีโทษไปได้ แต่ความรู้ที่ว่าคนโกงจะต้องถูกเช็กบิลจนไม่มีแผ่นดินจะอยู่ จะมากน้อยก็ต้องทำให้ความรู้สึกมั่นใจในกฎหมาย ความมั่นใจในระบบกลไกต่างๆของบ้านเมืองกลับเพิ่มพูนขึ้นมาอยู่ดี
อย่าประมาทว่าความมั่นใจอย่างนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยทีเดียว เพราะถ้าปราศจากความมั่นใจอย่างนี้เสียแล้ว นานไปคนก็คงมีแต่จะรู้สึกว่าตนนั้นใช้ชีวิตอยู่ในกรุงโจร ซึ่งใครทำชั่วดูเหมือนจะใช้ชีวิตได้คล่องและสะดวกสบายกว่าคนดี หนักๆ เข้าคนก็จะพลอยเลิกทำดี เลิกทำตามกฎหมายกันเสียหมด ในขณะที่คนชั่วก็จะยิ่งย่ามใจ อยากทำทุจริตอะไรก็ทำได้ เพราะสภาพบ้านเมืองเอื้อให้มิจฉาชีพกลายเป็นอาชีพที่นอกจากผลกำไรสูงแล้ว ยังไร้ความเสี่ยงอีกด้วย
เรื่องนี้เคยมีนักอาชญวิทยาฝรั่ง สรุปไว้เป็น “ทฤษฎีกระจกแตก (The Broken Windows Theory)” อันมีใจความว่า ถ้าย่านใดไม่ซ่อมหน้าต่างที่ถูกอันธพาลเขวี้ยงแตกไว้ ก็จะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่าละแวกนั้นไม่มีคนดูแล ไปๆ มาๆ ก็ย่อมจะมีพวกมือบอนมาเขวี้ยงกระจกให้แตกมากบานเข้าไปอีก จนในไม่ช้าละแวกนั้นก็จะกลายเป็นแดนมิคสัญญี ในทางตรงกันข้าม บ้านไหนเมืองไหนที่กระจกแตกแล้วมีการ “ซ่อม” คนทั่วไปก็จะรู้สึกมั่นใจได้ว่าบ้านเมืองยังมีขื่อมีแป ยังมีคนคอยดูแลไม่ทอดทิ้ง ก็ทำให้คนเกิดความพอใจที่จะประพฤติตัวตามกฎหมายต่อไป ส่วนพวกคนชั่ว แม้ไม่อยากทำตามกฎหมาย ก็ย่อมระมัดระวังไม่กล้าชั่วออกนอกหน้าหรือ
เขวี้ยงกระจกซี้ซั้วอย่างแต่ก่อน การที่เราเลือกจะ “ซ่อม” หรือ “ไม่ซ่อม” กระจก สุดท้ายแล้วจึงมีผลกำหนดสภาพสังคมที่เราอยู่ เป็นเรื่องใหญ่พ้นกระจกบานนั้นๆ ไปไกลเลยทีเดียว
น่าดีใจ ที่สำหรับกรณีทุจริตรถ-เรือดับเพลิงนี้ ดูเหมือนกระจกจะถูก “ซ่อม” แล้ว ฝีมือซ่อมอาจจะยังหยาบบ้าง ยังทิ้งร่องรอยแตกอยู่บ้าง หรือว่าใช้เวลาซ่อมนานไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็นับว่าซ่อมแล้ว ถ้ารัฐยังทำหน้าที่ซ่อมอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ บ้านเมืองที่เรียบร้อยก็น่าจะเป็นไปได้
ว่าแต่กระจกยังแตกอยู่อีกหลายบาน ถ้าจะซ่อม ก็ขอให้รัฐรีบๆ ทำเสียก่อนจะหมดอายุความก็แล้วกัน
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2556