ThaiPublica > สัมมนาเด่น > การเพิ่มบทบาทภาคประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทย…กลไกที่หายไป

การเพิ่มบทบาทภาคประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทย…กลไกที่หายไป

27 มกราคม 2014


เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2557 การสัมมนาสาธารณะเรื่อง "ภาวะผู้นำ และการเพิ่มบทบาทภาคประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทย" โดย Eisenhower Fellowship Alumni  (Thailand)  ที่มาภาพ : TDRI
เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2557 การสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ภาวะผู้นำ และการเพิ่มบทบาทภาคประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทย” โดย Eisenhower Fellowship Alumni (Thailand)
ที่มาภาพ: TDRI

เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2557 มีการสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ภาวะผู้นำ และการเพิ่มบทบาทภาคประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทย” โดย Eisenhower Fellowship Alumni (Thailand) ซึ่งหัวข้อการเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นเรื่อง“ภาวะผู้นำกับสังคมไทย: บทเรียนและประสบการณ์จาก Eisenhower Fellowship” และตอนที่สองเรื่อง“เพิ่มบทบาทของภาคประชาชน: กลไกที่หายไป”

“การเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนกับกลไกที่หายไป” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในกระแสการปฏิรูปในขณะนี้ และเป็นสิ่งที่จะขาดไปมิได้เลยในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย การเสวนาครั้งนี้มาจากผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ Eisenhower Fellowship ในหัวข้อนี้ผู้เสวนาประกอบไปด้วย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ

หาจุดร่วม-สลายคู่ขัดแย้ง

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ได้เสนอเป็นแนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศในขณะนี้คือ การเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนที่นำไปสู่การปรองดองโดยการหา “จุดร่วม” ของคู่ขัดแย้ง และต้องมีการพยายามสลายขั้วของความขัดแย้งนี้ ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นยุทธศาสตร์หลักๆ 3 ข้อ คือ

การเพิ่มบทบาทของประชาชนที่ต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้เล่น (player) มากขึ้น ดร.กิตติพงษ์ให้ความเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่ขั้นตอนในการตัดสินคดีความที่มีตำรวจหรืออัยการเป็นต้นน้ำ มีศาลยุติธรรมอยู่ในขั้นกลางน้ำ และมีราชทัณฑ์อยู่ปลายน้ำของกระบวนการ แต่หลักการของมันที่ทุกวันนี้ยังมีปัญหาคือ “ตัวกฎหมาย” ว่ามันมีเพื่อประโยชน์สุขและความอยู่ดีกินดีของประชาชนหรือเปล่า เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากแค่ไหน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชนจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

การหา “จุดร่วม” ที่ทำให้เดินหน้าไปสู่ความ “ปรองดอง” โดยไม่ลืมข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้น

นอกจากจะเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่มากขึ้นแล้ว การหา “จุดร่วม” ของทุกฝ่ายนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งดร.กิตติพงษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้ทำงานในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นั้น ทำให้มีโอกาสได้คุยกับคู่ขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง และสิ่งที่ได้จากการพูดคุยก็คือ ทุกฝ่ายต่างก็มีจุดร่วมที่ตรงกันในหลายๆ จุด คือไม่พอใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้ผล ไม่พอใจในความไม่เป็นกลาง ต้องการเห็นการปฏิรูป และต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่มาภาพ : TDRI
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่มาภาพ: TDRI

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อ ของนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ที่มีใจความสำคัญว่า หากต้องการจะปฏิรูปให้ประเทศเดินไปข้างหน้า การหา “จุดร่วม” ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย และแน่นอนว่าการค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพียงแต่การมองไปในอนาคตโดยไม่ลืมอดีตนั้นต่างหากที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้

ดร.กิตติพงษ์กล่าวต่อว่าการที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างก็ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน และการปลุกปั่นในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศจนทำให้มีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น สงครามกลางเมืองที่สหรัฐอเมริกาในสมัยก่อน ที่มีคนตายไปเป็นจำนวนนับแสนๆ คน

อย่างไรก็ตาม หากดูให้ดีจะเห็นว่า ภายใต้ความขัดแย้งย่อมมี “จุดร่วม” ที่เหมือนกันของทุกฝ่าย เพียงแต่การแบ่งขั้วและปลุกปั่นความเกลียดชังทำให้กระบวนการนั้นเกิดไม่ได้ และจริงๆ แล้วคนใต้กับคนอีสานต่างก็มีจุดร่วมเหมือนกันแต่ไม่เคยมาคุยกัน ซึ่งหากให้ผู้นำทางความคิดมาคุยกันก็พอจะหาทางออกได้ จะมีปัญหาก็แต่ผู้นำทางการเมืองที่สูงขึ้นไปกว่านั้นว่าจะทำได้หรือไม่

ไม่เห็นด้วยกับอำนาจที่มาจากศูนย์กลาง และเพิ่มบทบาท”ตัวกลาง” ให้มากขึ้น

นพ.บัญชากล่าวว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีที่มาจาก “คนเล็กคนน้อยต้องการมีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่มีที่ไป เลยพากันไปเข้าพวก” แต่ก็ไปติดกับดักเดิม ก็คือการแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาที่สะสมมายาวนานในประเทศไทย พร้อมชี้ให้เห็นว่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีการเปิดโอกาสที่ทุกคนจะสามารถไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จได้ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีแต่การเล่นพรรคเล่นพวกและเน้นศูนย์กลางของอำนาจเท่านั้น ไม่ได้มองการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเลย

นอกจากนี้นพ.บัญชาให้ความเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับองค์กรตัวกลางที่จะขับเคลื่อนการมีบทบาทของภาคประชาชนว่า”ระบบความคิดเรื่องผู้นำมันก็โอเคนะ แต่ผมมองว่าผู้นำคนเดียวมันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก ถ้านำโดยลำพังมันจะไปไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน ทุกวันนี้เราโหยหาผู้นำแล้วเป็นไงล่ะ ได้ผู้นำเข้มแข็งแล้วเป็นไงล่ะ”

นพ.บัญชาไม่เห็นด้วยกับการที่สังคมจะต้องหวังพึ่งแต่ผู้นำหรืออำนาจที่มาจากศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว โดยมองว่ากลไกที่องค์กรเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ “ตัวกลาง” นั้นมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ยังหายากในประเทศไทย

พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิที่ภาคใต้เมื่อปี 2549 ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้มองเห็น “ความโกลาหลของระบบ” ที่พวกที่อยู่ข้างบนคือ “ผู้ช่วย” และผู้ที่อยู่ข้างล่างคือ “ผู้รับ” ต่างไม่สามารถประสานงานกันหรือได้รับความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพได้ โดย นพ.บัญชามองว่าต้องมี “ตัวกลาง” ที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานระหว่าง “ผู้ช่วย” และ “ผู้รับ” ซึ่งไม่ใช่รัฐแต่ต้องเป็นองค์กรจากภาคเอกชน

นพ.บัญชา พงษ์พานิช  ที่มาภาพ : TDRI
นพ.บัญชา พงษ์พานิช ที่มาภาพ: TDRI

นพ.บัญชาชี้ว่า ตอนที่เกิดภัยพิบัตินั้น ทุกคนต่างรอที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ หรือแม้แต่หน่วยงานในภาครัฐเองก็ตาม ต่างก็รอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไป ตรงนี้เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับอำนาจที่เป็นทางการและมาจากศูนย์กลางเอามากๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลตามที่หวัง และยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ยังชี้ว่า ในขณะที่เกิดเหตุภัยพิบัตินั้น องค์กรตัวกลางที่มาจากภาคเอกชนเป็นผู้ที่ประสานงานระหว่าง “ผู้ช่วย” กับ “ผู้รับ” ได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น กรมประมง ที่ต้องมาขอข้อมูลจากทีมงานของ นพ.บัญชาเป็นประจำ และในเรื่องระยะเวลาของการปฏิบัติงานก็ยังพบว่า ภายหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ องค์กรจากภาคเอกชนยังมีการติดตามและศึกษาผลระทบของเหตุการณ์ต่อมา รวมถึงเตรียมการป้องกันที่จะเกิดเหตุในครั้งต่อไป ในขณะที่รัฐเน้นการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นการชี้ความสำคัญจากภาคประชาชนในการทำหน้าที่ตัวกลางต่างๆ แทนรัฐ

วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล กลไกที่เพิ่มพลังภาคประชาชน

นางสาวสฤณี กล่าวถึงบทบาทของสื่อในยุคใหม่ที่เป็น New Media ว่าจะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มพลังและบทบาทของภาคประชาชนได้ดีในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากสื่อในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว แต่มีการเกิดขึ้นของ “ชุมชนออนไลน์” ในโซเชียลมีเดีย เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบสองทางที่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน โดยเกิดเป็นกระแสที่บริษัทสื่อในสหรัฐอเมริกาต่างก็ปรับตัวให้เข้ากับสื่อในยุคใหม่นี้กันแล้วทั้งนั้น

แต่การเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคใหม่ มีประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ เรื่อง “การเท่าทันข้อมูล (Data Literacy)” ว่าข้อมูลที่ได้มานั้น “เร็ว ลึก แท้” เพียงใด บางครั้งการที่ข้อมูลข่าวสารมาด้วยความรวดเร็วก็อาจจะทำให้ข้อมูลนั้นไม่มีความลึกพอ หรือบางครั้งอาจจะเป็นข้อมูลเท็จเสียด้วยซ้ำ เครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการรู้เท่าทันข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น Google Image ที่สามารถตรวจสอบรูปภาพได้ว่ารูปนี้เป็นภาพที่เกิดในปัจจุบันจริงๆ ไม่ได้เอาภาพเก่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาใช้ ฉะนั้น การปรับตัวของสื่อในยุคใหม่ควรจะถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

นอกจากจะต้องปรับตัวกับสื่อยุคใหม่แล้ว นางสาวสฤณีได้ตั้งคำถามนำสองข้อกับสื่อในปัจจุบันว่า หนึ่ง สื่อจะทำหน้าที่ให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร และ สอง สื่อจะสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้อย่างไร และกล่าวต่อไปว่า หากจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นไปได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ที่มาภาพ  : TDRI
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ที่มาภาพ: TDRI

นางสาวสฤณีได้เสนอแนะการทำ “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล” หรือ Data Journalism ว่าเป็นวิธีที่จะสามารถพัฒนาสื่อเพื่อไปสู่การสร้างกลไกที่เพิ่มพลังภาคประชาชนได้ และมีตัวอย่างในสหรัฐฯ ที่สามารถมีกำไรจากการทำสื่อด้วยวิธีนี้ มันคือการนำข้อมูลมาขับเคลื่อนในการทำสื่อ ซึ่งโดยปกติแล้วสื่อมวลชนนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ สื่อจะทำเองไม่ได้ ฉะนั้น การที่สื่อจะพัฒนาไปสู่การเป็นวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลได้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ มาประกอบ เช่น ด้านไอที ด้านสถิติ ด้านสังคม เป็นต้น และต้องหาวิธีที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชนไปด้วย

โดยประโยชน์ของวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลเท่าที่พอจะสรุปได้คือ 1) การเอาข้อมูลมารวบรวมและวิเคราะห์ สามารถทำให้เจอสิ่งใหม่ๆ ที่ได้มาจากข้อมูลนั้น จนนำไปสู่การตั้งประเด็นต่อไป 2) ถ้าทำเป็นข่าวก็เป็นข่าวที่มีหางยาวคือไม่จบในทีเดียว สามารถเป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้ามาหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ เช่น สถิติการยกมือโหวตของ ส.ส. ในสภา 3) เป็นแหล่งรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะว่าหลักการของสื่อก็คือต้องการให้มีคนมาดูเยอะๆ อยู่แล้ว 4) ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายและมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนอ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของสื่อได้

ผลักดัน”มาตรฐานข้อมูลเปิด”..สู่”มาตรฐานรัฐเปิด”

เมื่อสื่อพัฒนาไปสู่การทำ “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล” แล้ว ขั้นต่อไปคือการผลักดันให้เกิด “มาตรฐานข้อมูลเปิด” หรือ Open Data คือการที่ทุกคนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของสื่อไปใช้ซ้ำได้และเผยแพร่ข้อมูลต่อได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขการให้เครดิต และต้องเป็นระบบที่เข้าถึงง่าย

อย่างไรก็ตาม ลำพังการทำ “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล” และ “มาตรฐานข้อมูลเปิด” อาจจะไม่เพียงพอ สุดท้ายก็ต้องมีการผลักดันให้รัฐเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่แรกอยู่ดี ซึ่งก็คือ “มาตรฐานรัฐเปิด” หรือ Open Government โดยการให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใสกับประชาชน และรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งตัวอย่างที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในกลุ่มประเทศอาเซียนคือ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์

โดยนางสาวสฤณีกล่าวปิดท้ายว่า “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล สามารถสร้างกลไกที่จะเพิ่มพลังของภาคประชาชนได้อย่างหนึ่ง ในการติดตามตรวจสอบรัฐ ด้วยการผลักดัน Open Data และ Open Government”

ดร.วิรไท  สันติประภพ  ที่มาภาพ : TDRI
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่มาภาพ: TDRI

ด้านดร.วิรไทกล่าวถึงวิธีเพิ่มบทบาทภาคประชาชนว่ามีสองมิติ คือ หนึ่ง ความสามารถที่ประชาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และ สอง กลไก เครื่องมือ วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้ รวมถึงภาคประชาชนต้องเต็มใจในการมีส่วนร่วมและกล้าแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งสองมิตินี้ยังหาไม่พบในสังคมไทย

ทั้งนี้ คำว่าภาคประชาชน ไม่ได้หมายถึงประชาชนคนเดินถนนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึง กลุ่มเอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ ข้าราชการ ประชาสังคม โดยมองว่าภาคธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนภาคประชาชนเป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากโดนผลกระทบจากปัญหาคอร์รัปชัน

ในขณะที่ความสามารถที่ประชาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของภาครัฐ ที่มักจะถูกปิดบังหรือล่าช้าในการขอ โดยมักอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเอง การที่จะอ้างเรื่องความมั่นคงได้ จะมีแต่เฉพาะกระทรวงกลาโหมเท่านั้น

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างที่ลดบทบาทของภาคประชาชนลงก็คือเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นอุปสรรคของผู้ที่ให้ข้อมูลหรือเบาะแสของการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมักจะถูกฟ้อง ในขณะที่ต่างประเทศมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับรัฐ

ภาคประชาชนตื่นตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณที่ดีของการตื่นตัวจากภาคประชาชนมากขึ้นในระยะหลังๆ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดินประท้วงทางการเมือง ซึ่ง ดร.วิรไทมองว่ามาจาก 2 สาเหตุ

หนึ่ง มาจากเทคโนโลยีด้านสื่อ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดีและง่ายขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย

สอง การที่ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเมื่อคนมีรายได้มีฐานะดีขึ้น ความกล้าที่จะออกมาแสดงออกก็มีมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ววิถีของชนชั้นกลางจะต้องแข่งขันกัน โดยผลจากการแข่งขันทำให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สร้างคนที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน เมื่อชนชั้นกลางมาเจอการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่ชอบและต่อต้าน เพราะสำหรับชนชั้นกลางแล้ว เงินทองเป็นสิ่งที่หามาอย่างยากลำบาก พอมาเจอการกดขี่จากอำนาจรัฐ จึงส่งผลให้เกิดการต่อต้านอย่างที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม วงเสวนาเห็นตรงกันว่า กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาและเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้หลักการพื้นฐานซึ่งก็คือ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชัน และยินดีที่จะเสียสละ ซึ่งจะทำให้ทิศทางการทำงานของภาคประชาชนมีบทบาทอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์(ที่2จากซ้าย), นายรัฐพล ภักดีภูมิ (ที่3จากซ้าย)และนายปริญญา หอมเอนก (ขวาสุด) โดยมีนายรพี สุจริตกุล (ซ้ายสุด)ดำเนินรายการ ที่มาภาพ : TDRI
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์(ที่2จากซ้าย), นายรัฐพล ภักดีภูมิ (ที่3จากซ้าย)และนายปริญญา หอมเอนก (ขวาสุด)
โดยมีนายรพี สุจริตกุล (ซ้ายสุด)ดำเนินรายการ ที่มาภาพ : TDRI

“ภาวะผู้นำกับสังคมไทย บทเรียนและประสบการณ์จาก Eisenhower”

การเสวนาในหัวข้อ “ภาวะผู้นำกับสังคมไทย: บทเรียนและประสบการณ์จาก Eisenhower” เป็นการเสวนาของ 3 ศิษย์เก่าจากโครงการ Eisenhower Fellowship ประกอบไปด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายรัฐพล ภักดีภูมิ และนายปริญญา หอมเอนก โดยมีนายรพี สุจริตกุล ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 คน ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำของสังคมไทยไว้หลายประเด็น ซึ่งพอจะสรุปออกมาได้ดังนี้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เล่าว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เติบโต ได้ทำตามความฝัน สามารถประสบความสำเร็จได้ และทุกความฝันเป็นจริงได้ “every dream you come true” ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสรุปออกมาว่าปัญหาการขาดภาวะผู้นำในเมืองไทยมาจาก 2 สาเหตุ

หนึ่ง สังคมไทยขาด Role Model หรือคนต้นแบบที่เป็นตัวอย่างให้กับเยาวชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงดารานักแสดงนักร้อง นอกจากนี้ยังขาดแรงจูงใจ ขาด success story ขาดตัวอย่างความสำเร็จ “ถ้าหากวันนี้คุณไปถามลูกคุณว่าใครเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดของไทย ลูกคุณรู้ไหม?”

ประเทศไทยขาดการยกย่องคน ฉะนั้นเราต้องเชิดชูคนให้มากขึ้น ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการยกย่องผู้นำที่ต้องดีเลิศทุกประการเหมือนในประเทศไทย ที่ดีหมดทุกอย่าง อะไรที่ไม่ดีก็ปิดไว้ ในขณะที่สหรัฐฯ จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น Thomas Jefferson อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เป็นที่เชิดชูและยกย่องของคนสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการบันทึกประวัติในด้านที่ไม่ดีของเขาไว้ และเรียนรู้ความผิดพลาดของคนคนนั้น ดังจะสังเกตได้จากหนังชีวประวัติของบุคคลสำคัญที่มักจะมีการแสดงออกถึงด้านที่ไม่ดีของบุคคลนั้นๆ

สอง ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเด็กไทยทุกวันนี้ไม่เชื่อว่าคนที่ขยันตั้งใจเรียนหนังสือจะประสบความสำเร็จ โดยดูจากเมื่อโตขึ้นมาแล้วคนที่ประสบความสำเร็จมักจะมาจากคุณสมบัติอื่นมากกว่า ไม่ใช่มาจากการขยันเรียนหนังสือ ในขณะที่ต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือมาก ยกตัวอย่างเช่น ศิษย์เก่าโครงการ Eisenhower Fellowship ที่มาจากประเทศเกาหลีใต้คนหนึ่งที่ได้ไปพบกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 5 คน หลังจากที่กลับมาประเทศตัวเองแล้ว ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 คน มาบรรยายให้เด็กมัธยมในเกาหลีใต้ฟัง ซึ่งเขาคนนั้นบอกว่าเยาวชนเหล่านั้นเป็นอนาคตที่จะพาเกาหลีใต้ให้เจริญในวันข้างหน้า ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่แสดงถึงการให้ความสำคัญกับเยาวชนและการศึกษามากๆ

ในตอนท้าย ศ.ดร.สุชัชวรีร์ได้ฝากผู้นำในอุดมคติว่า “ผู้นำที่ดีที่สุด ต้องมีแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าว่า One man can change the world” และฝากให้คนไทยต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้นำต่างๆ ทั่วโลก

นายรัฐพล ภักดีภูมิ ได้เล่าประสบการณ์จากการไปโครงการ Eisenhower Fellowship พร้อมกับแบ่งปันข้อคิดที่ได้ไปสหรัฐฯ ในครั้งนั้นว่า ประเทศสหรัฐฯ มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติตัวเองมาก เขาจะบอกว่าที่ชาติของเขามาจนถึงทุกวันนี้ได้มีที่มาจากเหตุการณ์การต่อสู้ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน

สหรัฐฯ เป็นสังคมที่มีการพึ่งพาตัวเองสูง คนในสังคมจะไม่พึ่งพาและไม่เชื่อถือในรัฐบาลของเขา ทำให้คนในสังคมมีความแข็งแกร่งในตัวเองอยู่แล้ว มีความไว้เนื้อเชื่อกัน

เมื่อหน่วยใดในสังคมทำอะไรได้ดี จะมีการแบ่งปันกัน ทำให้เราคิดว่าเราสามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ถ้าใครเก่งเรื่องใด คนคนนั้นก็จะทำเรื่องนั้นให้เก่งและนำมาแบ่งปันกับสังคม จะมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคสู่ยุค ไม่เหมือนกับหนังกำลังภายในของจีน ที่อาจารย์จะเก็บเคล็ดวิชาสำคัญให้กับลูกศิษย์ที่คิดว่ามีคุณธรรมที่สุด ซึ่งในแง่นี้ไม่ใช่ทัศนคติที่ถูกต้อง

“สังคมที่มีการแบ่งปันความรู้ เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ซึ่งถ้าทำกันได้ทั้งสังคมและยาวนานพอ ก็จะเป็นสิ่งที่ผลักดันและช่วยเหลือให้สังคมแข็งแกร่งขึ้นนั่นเอง”

ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดของ นายปริญญา หอมเอนก ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ โดยเห็นว่าสิ่งที่ได้จากการเดินทางไปสหรัฐฯ ครั้งนี้คือการเห็นสังคมที่มีการแชร์การแบ่งปันกันมาก เวลาเกิดวิกฤติการณ์อะไรสักอย่างในสังคม ก็จะมีการแชร์และแบ่งปันข้อมูลกันตลอด ที่นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมแล้ว ยังสร้างการเรียนรู้และภูมิปัญญาที่จะส่งต่อไปให้รุ่นต่อไปได้

แม้ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศจีนกำลังจะกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา แต่ในความเห็นส่วนตัวของอาจารย์ปริญญา มองว่าในอนาคตสหรัฐฯยังจะคงรุ่งเรืองต่อไป เพราะมีการ “transfer knowhow” ที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น

พร้อมฝากถึงความเป็นผู้นำในอุดมคติว่า “ผู้นำต้องคิดเพื่อส่วนรวม มองระยะยาว ในขณะที่ครอบครัวตัวเองต้องอยู่ได้ มีวิริยะ และที่สำคัญคือต้องมี integrity หรือความซื่อสัตย์กับตัวเอง เมื่อเวลามองกระจกจะต้องคิดว่าเมื่อเราเดินออกไปข้างนอก เราจะเป็นเหมือนสิ่งที่เราเป็นได้หรือเปล่า