ThaiPublica > คอลัมน์ > วัฒนธรรม สถาบัน และการ(ไม่)เติบโตระยะยาว

วัฒนธรรม สถาบัน และการ(ไม่)เติบโตระยะยาว

9 ตุลาคม 2013


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

เมื่อเดือนที่แล้วผมได้รับเชิญให้ไปวิจารณ์บทความเรื่อง “วัฒนธรรม สถาบัน และการเติบโตระยะยาว” ของอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ ในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย บทความนี้เปิดประเด็นกว้างไกลกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้ความสนใจมาก เพราะพูดถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมและสถาบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว และเป็นอุปสรรคทำให้นโยบายเศรษฐกิจดีๆ ไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดผลได้ในทางปฏิบัติ

ข้อสรุปของบทความนี้น่ากังวลมาก เพราะพบว่าแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่หลายรัฐบาลไทยใช้ได้ส่งเสริมให้คนคำนึงถึงผลประโยชน์ในระดับปัจเจกเป็นหลัก หรืออีกนัยหนึ่งทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นเมื่อรวยขึ้น อาจารย์ธานีวัดความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของสถาบัน ระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายจังหวัด และสรุปว่าจังหวัดที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเร็ว มักจะมีคุณภาพสถาบันดี แต่มีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในจังหวัดด้วยกันเองต่ำ

ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สังคมโดยรวมสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ คนในสังคมกล้าที่จะลงทุนคิดและทำร่วมกัน เพราะไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะโกงผลประโยชน์ไปอย่างไม่เป็นธรรม อาจารย์ธานีเรียกความไว้เนื้อเชื่อใจกันประเภทนี้ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไป (generalized trust)

ในขณะที่ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไปเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจง (particularized trust) กลับเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงให้ความสำคัญกับพวกพ้องของตนเองเหนือคนกลุ่มอื่นในสังคม เป็นสาเหตุของความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่พวกพ้อง จนสร้างความแปลกแยกในสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประเทศในระยะยาว น่ากลัวยิ่งที่สังคมไทยดูจะนิยมความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่าเรามี “วัฒนธรรมลูกพี่” ที่มีรากฐานจากความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงมานานแล้ว ตั้งแต่ลูกพี่ที่เป็นนายใหญ่ จนถึงหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์ ความเป็นลูกพี่และความไว้เนื้อเชื่อใจเฉพาะพวกพ้องได้พัฒนาจากที่เคยเป็นเพียงวัฒนธรรมมาเป็นสถาบัน มีลูกพี่คอยเก็บค่าต๋งและแบ่งผลประโยชน์ มีการใช้อำนาจรัฐเบียดบังผลประโยชน์ของคนอื่นมาเป็นของพวกพ้องโดยไม่ละอายและเกรงกลัวต่อความผิด ตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการเป็นพวกใครมากกว่าความสามารถและความเหมาะสม การให้ผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างแก่พรรคพวกของตน การจัดสรรงบประมาณลงจังหวัดของตนโดยเบียดบังงบประมาณจากจังหวัดอื่นที่อาจจำเป็นมากกว่า ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภากลายเป็นสภาวงศาคณาญาติ เพื่อที่จะสามารถตั้งพวกพ้องของตนเองในองค์กรอิสระต่างๆ ได้ง่าย ยึดประเทศให้เป็นของพวกพ้องตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงไม่ประหลาดใจที่ประเทศไทยวันนี้ประสบกับปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้น ระบบราชการอ่อนแอลงมาก และระบบเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยมแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เกิดความเหลื่อมล้ำสูง เพราะทรัพย์สิน ที่ดิน และรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนไม่กี่ตระกูล ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ที่เดินทางไปฮ่องกง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประดับยศ  ที่มาภาพ :http://4.bp.blogspot.com
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เดินทางไปฮ่องกง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประดับยศ ที่มาภาพ: http://4.bp.blogspot.com

เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงรุนแรงขึ้นในสังคมไทย ย่อมส่งผลให้คนเห็นแก่ตัวและเห็นแก่พวกพ้องมากกว่ามองถึงสังคมโดยรวม เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้นย่อมจะมีผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ แต่การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันโดยทั่วไปทำให้ผู้ที่เสียประโยชน์คิดว่าจะไม่ได้รับการดูแล ไม่ถูกจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ประเทศไทยในวันนี้จึงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่สามารถริเริ่มเรื่องใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตได้ และหลายเรื่องยังถอยหลังลงทะเลอีกด้วย เราต้องช่วยกันถามตัวเองว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผมไม่มีคำตอบ แต่คิดว่ามีสามมิติที่เราต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันคิดอย่างจริงจัง

มิติแรก การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไปทำให้การประสานงานล้มเหลว (coordination failure) ในเกือบจะทุกระดับของสังคมไทย เรามักพูดกันว่าคนไทยเป็นพวกเก่งคนเดียว แยกกันเราเด่น รวมกันเราตาย ธุรกิจในประเทศไทยไม่สามารถรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเหมือนประเทศอื่น องค์กรการค้าต่างๆ แบ่งกลุ่มแบ่งพวกแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันอยู่เนืองๆ หน่วยงานราชการทำงานเป็นไซโล ต่างคนต่างคิด ต่างทำ จนไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างเป็นระบบ และภาครัฐกับเอกชนดูจะมีอุปสรรคในการประสานงานกันทุกเรื่องไป

ประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของการประสานงานได้อย่างเป็นรูปธรรม นักเศรษฐศาสตร์มักจะคิดแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างแรงจูงใจร่วมกัน จากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจากภัยคุกคามที่จะทำให้ทุกคนเสียประโยชน์ ผมคิดว่าการสร้างแรงจูงใจจากผลประโยชน์ร่วมกันคงจะยากในสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นระบบความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจง ผู้มีอำนาจมักเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม เมื่อเห็นว่ามีโอกาสใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมก็มักจะแปลงไปเป็นผลประโยชน์ของพวกพ้องก่อน การแปลงผลประโยชน์ของส่วนรวมไปเป็นผลประโยชน์ของพวกพ้องยังได้สร้างความบิดเบือนผ่านกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำให้เราถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้าเสียด้วยซ้ำไป

ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาความล้มเหลวจากการประสานงานด้วยการคิดถึงผลประโยชน์ร่วมกันได้แล้ว คงต้องคิดว่าจะมีภัยคุกคามอันใดที่จะทำให้คนไทยทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น หลายประเทศเปลี่ยนแปลงได้เพราะภัยคุกคามทางสงคราม (เช่น อิสราเอล เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน) ที่จริงแล้วประเทศไทยในขณะนี้ก็กำลังเผชิญภัยคุกคามหลายด้าน อาทิเช่น ประเทศกำลังจะถูกยึดครองแบบเบ็ดเสร็จ คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยตกต่ำลงจนเกิดปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศตกต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือปัญหาคอร์รัปชันที่หลายคนเห็นตรงกันว่าเลวร้ายที่สุด ทำอย่างไรที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะตระหนักถึงภัยคุกคามเหล่านี้ เลิกเป็นไทยเฉย ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันโดยเร็ว

มิติที่สอง เราคงต้องคิดว่าจะปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร ที่จะทำให้คนไทยไม่เห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นเมื่อรวยขึ้น เรามีตัวอย่างจำนวนมากของคนที่ยิ่งรวย ยิ่งโกง ยิ่งเห็นแก่ตัว ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้แล้ว เศรษฐกิจไทยจะเปราะบางมาก พร้อมที่จะเกิดวิกฤติล้มลงได้ง่าย ผมเชื่อว่าเราต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนมากกว่าที่จะโตก้าวกระโดดแต่ต้องตกหลุมวิกฤติเศรษฐกิจเป็นระยะๆ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบนี้ก็ได้ทำให้คนในประเทศอุตสาหกรรมหลักหันมาสนใจระบบทุนนิยมที่เป็นธรรม (moral capitalism) มากกว่าที่จะคิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้นของตนและพวกพ้อง คิดถึงระบบที่จะควบคุมความโลภของคนในสังคม แม้ว่าความโลภและความเห็นแก่ตัวเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ความโลภและความเห็นแก่ตัวที่เกินควรก็ทำให้ระบบทุนนิยมพังได้เช่นกัน

วิธีการหนึ่งที่อาจจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้คือ จะต้องเปลี่ยนจากวิธีคิดจาก “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หน้าบ้านเรามีเซเวนส์” ไปสู่วัฒนธรรมมองไกลและคิดไกล การมองถึงผลประโยชน์และภัยคุกคามในระยะยาวจะช่วยจำกัดความโลภในช่วงสั้นๆ ได้บ้าง รวมทั้งจะต้องส่งเสริมให้คนคิดถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยง การสร้างภูมิคุ้มกัน มากกว่าที่จะใช้เงินกันแบบหมดหน้าตัก แล้วไปตายเอาดาบหน้า ปิดหีบไม่ลงทั้งในระดับครัวเรือนและรัฐบาล

มิติที่สาม ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสถาบันจะต้องเริ่มที่ผู้นำ แม้คนรุ่นผมอาจเกิดไม่ทันยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” แต่ผมเชื่อว่าผู้นำสามารถชี้เป็นชี้ตายให้แก่ประเทศได้ เราจะเชื่อผู้นำได้ก็ต่อเมื่อผู้นำมีความน่าเชื่อถือ (และอ่านออกเขียนได้) เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมโดยรวมมากกว่าพวกพ้อง และมีวิสัยทัศน์ ต่างจากผู้นำจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบันที่เราไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้อย่างไร หลายคนยิ่งรวย ยิ่งลัก ยิ่งขโมย หลายคนเจตนาพูดไม่หมดเพื่อให้คนหลงเชื่อคล้อยตาม หรือหลายคนทำงานแบบปลอดประสบการณ์

เรื่องของผู้นำเป็นเรื่องที่ไกลกว่าความฉลาดหรือโชคดีของคนที่จับพลัดจับผลูได้เป็นผู้นำ แต่จะต้องโยงถึงระบบของการได้มาซึ่งผู้นำของประเทศด้วย ระบบการเมืองไทยก็เป็นระบบที่นิยมความไว้เนื้อเชื่อใจเฉพาะพวกพ้องมากกว่าความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไป นักการเมืองนิยมมองสั้นๆ แค่หาทางให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้นำการเมืองไทยมักมีฐานมาจากการทำธุรกิจ (ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นธุรกิจที่อิงอำนาจรัฐสร้างความร่ำรวยให้เฉพาะตนและพวกพ้อง) มีฐานะดีมากเพราะเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชนะการเลือกตั้ง ผมไม่แน่ใจว่าเราจะเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ให้คิดถึงส่วนรวมได้อย่างไร ถ้าชีวิตดั้งเดิมของเขามาจากการสร้างผลประโยชน์จากความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจง และความเห็นแก่ตัว

วัฒนธรรมของสังคมไทยหลายเรื่องกำลังเสื่อมลง และหลายเรื่องที่เสื่อมลงกำลังถูกทำให้เป็นสถาบัน (ที่เลวร้าย) ซื่งจะปรับเปลี่ยนได้ยากในอนาคต คงต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ไทยเฉยกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย และความเห็นแก่ตัวถูกทำให้เป็นสถาบัน เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมไทยมีโอกาส (อีกครั้ง) ที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2556