ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีลดจีดีพีในเอเชียโต 6% “จีน-อินเดีย” ถูกปรับลงมากสุด แนะปฏิรูป “กลไกภาครัฐ” เพิ่มศักยภาพเติบโตระยะยาว

เอดีบีลดจีดีพีในเอเชียโต 6% “จีน-อินเดีย” ถูกปรับลงมากสุด แนะปฏิรูป “กลไกภาครัฐ” เพิ่มศักยภาพเติบโตระยะยาว

3 ตุลาคม 2013


เอดีบีปรับลดประมาณการจีดีพีเศรษฐกิจเอเชียเหลือ 6% จากเดิม 6.6% และปรับจีดีพีไทยลดลงจาก 4.9% เป็น 3.8% รวมทั้งประเมินกระทบคิวอี “อินเดีย-อินโดนีเซีย” โดนหนักสุด พร้อมเสนอปฏิรูป “กลไกภาครัฐ” เพื่อเพื่อการเติบโตและการพัฒนายั่งยืน

เศรษฐกิจ “จีน-อินเดีย” ชะลอ ฉุดจีดีพีเอเชียชะลอโตแค่ 6%

จีดีพของเอเชียในปี 2013-2014   ที่มา " เอดีบี
จีดีพีของเอเชียในปี 2013-2014 ที่มา: เอดีบี

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย รายงานการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียปี 2013 ว่า เอดีบีปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเอเชีย จาก 6.6% ลงเหลือ 6% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และเศรษฐกิจจีนชะลอลง ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศ แต่ในปี 2014 คาดเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ 6.2%

ทั้งนี้ เอดีบีคาดการณ์ว่า จีดีพีสหรัฐในปี 2013 จะขยายตัว 1.7% สหภาพยุโรป -0.5% และญี่ปุ่น 1.9% แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2014 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.4%, 1.2% และ 1.4% ตามลำดับ (สหรัฐ, สภาพยุโรป และญี่ปุ่น)

“จีนและอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งเอดีบีได้ปรับประมาณการลงค่อนข้างมาก ทำให้กระทบเศรษฐกิจเอเชียทั้งหมด แต่ถ้าไม่นับรวม 2 ประเทศนี้ก็ยังถือว่าเศรษฐกิจเอเชียเติบโตได้ดี ขยายตัวประมาณ 4% ในปี 2013 และ 4.6% ในปี 2014” ดร.ลัษมณกล่าว

จีดีพีของประเทศต่างในเอเชีย  ที่มา : เอดีบี
จีดีพีของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่มา: เอดีบี

นอกจากนี้ เอดีบีประเมินว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงกระทบจีดีพีเอเชียตะวันออก (East Asia) มากที่สุด โดยทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขยายตัวต่ำกว่าภูมิภาคอื่นค่อนข้างมาก

เอดีบีคาดจีดีพีไทยปีนี้โต 3.8% และ 4.9% ในปีหน้า

สำหรับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดร.ลัษมณกล่าวว่า เอดีบีปรับประมาณการจีดีพีปี 2013 ลดลงจาก 4.9% เป็น 3.8% เพราะเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดไว้ และเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีนี้คง “หืดขึ้นคอ” เพราะไม่คิดว่าจะมีปัจจัยอะไรมาช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ และการลงทุนภาครัฐมีความล่าช้าเรื่องการดำเนินการในโครงการขนาดใหญ่

ส่วนในปี 2014 เอดีบีประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.9% โดยการลงทุนภาครัฐจะเป็น “พระเอก” เพราะรัฐน่าจะลงทุนในโครงการ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำได้มากขึ้นกว่าปีนี้ และไม่กังวลกับปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2014 ที่ล่าช้าออกไป เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถเร่งเบิกจ่ายได้ และสามารถดูแลการลงทุนให้เดินหน้าต่อไปได้

“เมื่อภาครัฐมีการลงทุนจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มผ่อนคลาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้นในปีหน้า น่าจะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้น ก็จะแปรผันมาที่ภาคเอกชน ทำให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มขึ้น”

เอดีบีปรับประมาณการส่งออกของไทยปีนี้เหลือขยายตัวเพียง 2% จากเดิมเมื่อเมษายนที่ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัว 7-8% แต่ปี 2014 คาดว่าการส่งออกของไทยจะปรับตัวดีขึ้น คือ ขยายตัว 7-8%

เอดีบีประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2013-2014
เอดีบีประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2013-2014

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้า ดร.ลัษมณกล่าวว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างยาก โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังดิ่งลง และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นช่วงที่ผ่านมาก็ฉุดการบริโภค เพราะเป็นการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นค่อนข้างยาก แต่ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายมากระตุ้นเฉพาะจุด เนื่องจากการกระตุ้นบริโภคเป็น “ดาบสองคม” ถ้ากระตุ้นมากเกินไปอาจช่วยเศรษฐกิจขยายตัวในระยะสั้น แต่จะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามมา

“การกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเน้นการลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนนโยบายกระตุ้นการบริโภค รัฐบาลไม่ดำเนินการอะไรเพิ่มเติมเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ส่วนนโยบายการเงินคิดว่ายังผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี และในปีหน้า หากเศรษฐกิจแย่ลงก็อาจปรับดอกเบี้ยลง” ดร.ลัษมณกล่าว

เอดีบีประเมินปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมี 3 ปัจจัย คือ โครงการลงทุนของภาครัฐที่หวังให้เป็นพระเอกล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักไม่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่คาดก็จะกระทบการส่งออกของไทย และการเมืองไทยจะมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นหรือไม่

คิวอีกระทบ “อินเดีย-อินโดนีเซีย” มากที่สุด

ดร.ลัษมณกล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะลดมาตรการคิวอี (Quantitative Easing) เมื่อไร อย่างไร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งเอเชีย แต่มี 2 ประเทศที่ได้รับผลกระทบเจอความผันผวนจากเรื่องนี้มากที่สุดคืออินเดียกับอินโดนีเซีย เพราะมีดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ และอินเดีย นอกจากดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบแล้วดุลการคลังก็ติดลบค่อนข้างมาก

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

แม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นในเอเชียจากความกังวลเรื่องการปรับลดคิวอี แต่เอดีบีมั่นใจว่าสถานการณ์นี้จะไม่เกิดวิกฤติแบบต้มยำกุ้งขึ้นอีก เพราะประเทศเอเชียมีความเข้มแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง

โดยเครื่องชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัด แม้จะเกินดุลลดลงแต่เป็นการปรับตัวเข้าสู่ “สมดุล” จากก่อนหน้านี้ที่เกินดุลค่อนข้างมาก ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ระดับสูง เช่น ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็น 7.6 เดือนของการนำเข้า เป็นต้น

“วิกฤติเศรษฐกิจอย่างปี 1997 ไม่น่าจะเกิดขึ้น” ดร.ลัษมณกล่าว

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ต้องปฏิรูป “กลไกภาครัฐ”

ในรายงานเอดีบีฉบับนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “กลไกภาครัฐที่ดี” (Governance) กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย พบว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีมาก มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มโออีซีดี (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) จากที่เคยมีรายได้ต่อหัวห่างกันพอสมควร ก็เริ่มเข้าใกล้กันมากขึ้น แต่ที่ไม่พัฒนาตามไม่ทันคือ “กลไกภาครัฐ”

กลไกภาครัฐ หรือ Governance หมายถึงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ ขององค์กรภาครัฐ เรื่องกฎระเบียบ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องการรับผิดชอบต่อสาธารณะ เป็นต้น

ดัชนีชี้วัดกลไกรัฐที่ดี

จากภาพข้างบน แสดงเครื่องชี้กลไกภาครัฐที่ดี จะเห็น เอเชียตะวันออก (เส้นสีแดง) ได้คะแนนเครื่องชี้กลไกภาครัฐทุกตัวค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เส้นสีฟ้า) ได้คะแนนค่อนข้างน้อย โดยเครื่องชี้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือเรื่องเสียงของประชาชน หรือการมีส่วนรวมของประชาชนกับความรับผิดชอบของภาครัฐต่อสาธารณะ

ดร.ลัษมณระบุว่า รายงานฉบับนี้ของเอดีบีพบว่า กลไกภาครัฐที่ดีมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีผลต่อพัฒนาการที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ทั้งสองส่วนต่างมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกัน

กล่าวคือ ประเทศที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ กลไกภาครัฐที่ดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่สัมพันธ์กันเท่าไร แต่ประเทศที่มีรายได้ดี กับกลไกภาครัฐที่ดี จะสัมพันธ์ไปทิศทางเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ประเทศกำลังพัฒนาควรเร่งปฏิรูปให้มีกลไกภาครัฐที่ดี เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้พัฒนาและเติบโตยั่งยืน

ดร.ลัษมณกล่าวว่า การวัดกลไกภาครัฐที่ดี เรื่องหนึ่งที่ใช้วัดคือ การที่ประชาชนได้รับบริการสาธารณะ ถ้าประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่แย่ จะสะท้อนว่ากลไกภาครัฐใช้ไม่ได้ ถ้าประเทศใดมีคอร์รัปชัน เป็นธรรมดาที่บริการสาธารณะจะต่ำลง เพราะเงินรั่วไหลหายไปไหนก็ไม่รู้

ตัวอย่างบริการสาธารณะที่ประชาชนได้รับไม่มีคุณภาพ เช่น สถานีอนามัยไม่มีหมอ หรือครูไม่สอนหนังสือ เพราะออกไปขายสินค้าแบบขายตรง เป็นต้น

วิธีที่คุณภาพบริการสาธารณะดีขึ้น ต้องมี “3 E”

Empowering citizens คือ การให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบบริการสาธารณะ

Engaging local governments and private sector คือการนำภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หรือเน้นการกระจายอำนาจ และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนบริการสาธารณะ (PPP: Public Private Partnership) จะช่วยทำให้บริการสาธารณะดีขึ้น

Expanding use of information and communication technology (ICT) คือ ขยายการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยทำให้บริการสาธารณะดีขึ้น

“ข้อสรุปของรายงานฉบับนี้คือ ทุกๆ ประเทศที่มีการพัฒนาที่ดีจะมีกลไกภาครัฐที่ดีเป็นหลัก และกลไกภาครัฐที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำวันนี้ รอไม่ได้” ดร.ลัษมณกล่าว

ดาวน์โหลดเอกสารในการแถลงรายงาน Economic outlook 2013 ของเอดีบี