ThaiPublica > เกาะกระแส > ADB คาด “เอเชียแปซิฟิก” เติบโตเพียง 0.1% ต่ำสุด รอบ 60 ปี

ADB คาด “เอเชียแปซิฟิก” เติบโตเพียง 0.1% ต่ำสุด รอบ 60 ปี

18 มิถุนายน 2020


 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี (ADB — Asia Development Bank) เปิดเผยว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโตไม่มากนักในปี 2563 เนื่องจากมาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้ความต้องการจากภายนอกลดลง

ในรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO 2020) ฉบับเพิ่มเติมล่าสุด (Supplement: ADOS) ระบุว่า ในปี 2563 ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2 ในเดือนเมษายน และตัวเลขนี้คาดว่าจะเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดสำหรับภูมิภาคตั้งแต่ปี 2504 อย่างไรก็ตาม สำหรับการเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 และหากไม่รวมประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่อย่างฮ่องกง จีน เกาหลี สิงคโปร์ และไทเป เศรษฐกิจของภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 0.4 ในปีนี้และร้อยละ 6.6 ในปี 2564 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2563 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.2 ในเดือนเมษายน ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์และราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4

เศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวแบบ V-shaped

นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิกจะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในปีนี้ แม้ว่าการปลดล็อกจะค่อยๆ คลี่คลายและมีการผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบ ‘วิถีชีวิตใหม่’ หรือ New Normal

ในขณะที่เราเห็นแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นสาหรับภูมิภาคในปี 2564 แต่นั่นเป็นเพราะตัวเลขที่อ่อนแอในปีนี้และจะไม่ใช่การฟื้นตัวในรูปแบบตัววี (V-shaped recovery)

และรัฐบาลควรดำเนินมาตรการเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบของโควิด-19 และทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคระลอกใหม่

นอกจากนี้ แนวโน้มทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงขาลงจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง บวกกับหนี้รัฐบาลและวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มระดับความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย

เวียดนามนำโด่งยังโตได้ 4.1% – สวนทางไทยหดตัว 6.5%

ด้านเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 2.7 ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาเติบโตร้อยละ 5.2 ในปี 2564 การหดตัวดังกล่าวเกิดจากประเทศเศรษฐกิจหลักในอนุภูมิภาคได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัวที่ร้อยละ 1.0 ฟิลิปปินส์จะหดตัวที่ร้อยละ 3.8 ในขณะที่เวียดนามคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2563 ซึ่งยังต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 0.7 จุด แต่ยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งหดตัวเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนที่ลดต่ำอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กอปรกับแนวโน้มอุปทานภายนอกที่อ่อนแอส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของไทยคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2564 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สำหรับภูมิภาคอื่นๆ อย่างเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.3 ในปี 2563 ซึ่งเป็นอนุภูมิภาคเดียวที่ยังมีการเติบโตในปีนี้ ในขณะที่การเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.8 การเติบโตของจีนคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปีนี้ และ 7.4 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ และเศรษฐกิจของเอเชียใต้คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับการเติบโตร้อยละ 4.1 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในอนุภูมิภาค ส่วนแนวโน้มการเติบโตในปี 2564 ถูกปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 6.0 เศรษฐกิจของอินเดียคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.0 ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ก่อนจะกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 5.0 ในปีงบประมาณถัดไป

เศรษฐกิจของเอเชียกลางคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจากการหยุดชะงักทางการค้าและการตกต่ำของราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตจะกลับมาฟื้นตัวที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2564 สุดท้ายเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคแปซิฟิกจะหดตัวที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2563 ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.6% ในปี 2564 โดยเป็นผลจากมาตรการจำกัดการค้าและจำนวนการท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ