ThaiPublica > คอลัมน์ > City of God บน “บาทวิถีอันธพาล” ในสลัมแซมบ้า

City of God บน “บาทวิถีอันธพาล” ในสลัมแซมบ้า

8 กันยายน 2013


Hesse004

ว่ากันว่าบรรดาหนังลาตินที่ถูกจัด “ขึ้นหิ้ง” ว่าเป็นหนึ่งในร้อยเรื่องที่สมควรดูเป็นอย่างยิ่ง คงต้องนับรวมหนังเรื่อง City of God (2002) ของ Fernando Meirelles ผู้กำกับชาวบราซิลที่ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังคลาสสิกอีกเรื่องที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจในเมืองแซมบาได้เป็นอย่างดี

ใครที่เคยดูหนังเรื่องนี้แล้ว คงรู้สึกคล้ายกับผู้เขียนว่า City of God เปรียบเสมือนสารคดีชีวิตที่นำเสนอภาพผู้คนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสลัมแห่งนคร Rio De Janeiro

City of God เป็นชื่อหนังสือของ Paolo Lins นักเขียนบราซิลเลียนที่เคยอาศัยอยู่ในย่าน Cidade de Deus ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่โด่งดังย่านหนึ่งในนคร Rio De Janeiro

คำว่า Cidade de Deus มาจากภาษาโปรตุกีส หมายถึง City of God หรือ เมืองของพระเจ้า ซึ่งชาว Rio เรียกบริเวณนี้ว่าย่าน CDD

อย่างไรก็ดี สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบ CDD นั้นกลับไม่ได้สมชื่อว่าเป็น City of God แต่อย่างใด หากแต่สภาพชุมชนนั้นเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมและคนยากจนที่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด

…แน่นอนที่สุดว่า การอาศัยอยู่ในละแวกที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ผู้คนจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ

ทำงานกันแบบปากกัดตีนถีบ ขณะเดียวกันสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ย่านนี้มีคุณภาพชีวิตแย่ เกิดอาชญากรรมขึ้นทุกวัน ตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปจนคดีอาชญากรรม

เหล่าอันธพาลนักเลงหัวไม้ต่างตั้งแกงก์ทั้งค้ายาเสพติด ขายอาวุธสงครามเถื่อน พนันบอล ซึ่งแม้แต่ตำรวจเองก็ไม่กล้าที่จะย่างกรายเข้าไปในย่านดังกล่าว

City of God ได้สะท้อนภาพชีวิตของบรรดาอันธพาลที่ตั้งตัวเป็น “ขาใหญ่” คุมย่าน CDD ช่วงทศวรรษที่ 70-80 โดยหนังได้ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องผ่านสายตาช่างภาพฝีมือดีอย่าง Rocket เด็กหนุ่มที่เติบโตในสลัม CDD และเคยข้องแวะอยู่กับแกงก์อันธพาลพวกนี้

แต่ด้วยโชคชะตาและความ “รักดี” ของ Rocket ทำให้เขาถีบตัวเองออกมาจากวงจรอันธพาลนั้นได้

จริง ๆ แล้ว Rocket ในเรื่อง คือ ภาพของ Paolo Lins ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ Lins พยายามก้าวให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ต้องติดอยู่ในสลัมนรก ซึ่งเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย และพยากรณ์ชีวิตได้ไม่ยากเลยว่าเขาจะมีจุดจบอย่างไร

ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com

จากหนังสือของ Paolo Lins ก่อนจะมาโด่งดังบนแผ่นฟิล์มด้วยผลงานกำกับของ Fernando Meirelles

จะว่าไปแล้ว วงจรอุบาทว์นี้เปรียบเสมือน “บาทวิถีอันธพาล” ที่เริ่มต้นจาก เด็กที่มีครอบครัวยากจน พ่อแม่ปากกัดตีนถีบ ต้องเลี้ยงลูกอีกเป็นโขยง เด็กๆ เหล่านี้ขาดโอกาสได้เรียนหนังสือ บางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน บ้างก็ต้องลักเล็กขโมยน้อย เพื่อความอยู่รอด

เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เด็กเหล่านี้กลายเป็น “เด็กเดินยา” ซึ่งทำให้ธุรกิจค้ายาเสพติดเติบโตได้ในสลัม และเมื่อโดนตำรวจจับ ก็จะมีลูกพี่มาประกันตัวและ “ยัดเงิน” ให้ตำรวจ แล้วก็ถูกปล่อยตัวไปเดินยาได้เหมือนเดิม

เมื่อเป็นวัยรุ่น เด็กเหล่านี้จะเริ่มประกอบอาชญากรรมที่ใหญ่ขึ้น โดยยกระดับจากการลักเล็กขโมยน้อย เป็นการวิ่งราว ขู่กรรโชกทรัพย์ ปล้น ฆ่า ข่มขืน บางรายหันมาค้ายาเอง ขายอาวุธเถื่อน รีดไถ เรียกคุ้มครอง

ท้ายที่สุด เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ประสบการณ์ที่โชกโชนได้พัฒนาไปสู่การสถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้าแกงก์และพยายามวัด “รอยตีน” รุ่นพี่ รุ่นอา รุ่นพ่อ รุ่นลุง ที่เคยเป็นขาใหญ่

บางคนประสบความสำเร็จก็สามารถยึดครองดินแดนสลัมและแย่งตำแหน่งขาใหญ่คนใหม่มาได้ แต่บางคนก็พ่ายแพ้ ซึ่งนั่นหมายถึงจุดจบของชีวิต

ดังนั้น อันธพาลพวกนี้จึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ บาทวิถีอันธพาล จึงเต็มไปด้วยภาพลักษณ์ของความรุนแรง ดิบ เถื่อน เพราะอันธพาลต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา

ด้านหนึ่งพวกเขาต้องต่อสู้กับอันธพาลแกงก์อื่นที่พยายามเข้ามา “รุกราน” และแย่งชิงผลประโยชน์ที่พวกเขาปล้นมาอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นการต่อสู้ที่ต้องใช้ “ส่วย” เพื่อแลกกับการคุ้มครองทางกฎหมายอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะตำรวจที่กลายเป็น “มาเฟีย” ตัวจริงที่คอยคุ้มกะลาคนพวกนี้อีกที

น่าสนใจว่าหนังเรื่อง City of God กล่าวถึงบทบาทของตำรวจในทางที่ไม่ดีนัก ไล่ตั้งแต่ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่กล้าแม้แต่จะเหยียบเข้าไปในสลัมแห่งนี้

นอกจากนี้ตำรวจยังกลายเป็นผู้ลักลอบเอาอาวุธจากคลังหลวงออกมาส่งขายให้พวกอันธพาลห้ำหั่นกันเองอีก

และท้ายที่สุด ก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จ คือ ตำรวจคอยไถเงินเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากพวกอันธพาลอีกต่อหนึ่ง

ภาพสะท้อนของ City of God ในบราซิล จึงแทบไม่ต่างอะไรกับ City of God ในกรุงเทพฯ “เมืองแมนแดนสวรรค์” หรือแม้แต่ที่ไหนๆ บนโลกนี้

เพราะที่ผ่านมา จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมักเน้นไปที่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) แต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้มองว่าการเจริญเติบโตดังกล่าวจะส่งผลต่อการกระจายรายได้ของคนในสังคมมากน้อยเพียงใด

…จึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”…

การพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 มุ่งเน้นการเติบโตของภาคเมือง (Urbanization) ทำให้ผลพวงของการพัฒนาต้องดึงผู้คนจากชนบท จากภาคเกษตรกรรมให้ก้าวเข้ามาสู่ภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรม ในฐานะปัจจัยการผลิตราคาถูก

ผลของการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองใหญ่ ทำให้พวกเขาต้องค่อยๆ จับจองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและสร้างเป็นชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับการ “เหลียวแล” จากรัฐเลยแม้แต่น้อย

…นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “คนจนในเมือง”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิดชุมชนแออัดหรือ “สลัม” (คำว่าสลัมในภาษาโปรตุกีสจะใช้ว่า Favela)

ปัจจุบันมีชาวบราซิลที่อาศัยอยู่ใน Favela นั้นมากถึง 6% ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนราวๆ 11.4 ล้านคน1

จำนวนสลัมในบราซิลกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เฉพาะใน Rio De Janeiro มีร่วม 40 แห่ง โดย Rocinha เป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดในนคร Rio

การขยายตัวของจำนวนสลัมในบราซิลทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายหรือ “เศรษฐกิจใต้ดิน” ไปพร้อมๆ กัน มีพ่อค้ายาเสพติดเพิ่มขึ้น มีการค้าของเถื่อนอย่างอาวุธสงคราม เป็นแหล่งค้าประเวณี ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องยากยิ่งนักที่รัฐจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลได้อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจใต้ดินกลับ “เปิดช่อง” ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้โอกาสดังกล่าวเป็นช่องทางในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจผ่านการ “ขูดรีด” เหล่าทุรชนนั้นอีกที …จนเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ใครกันแน่ที่เป็น “ทุรชน” ตัวจริง

…จะเป็น “อันธพาล” ผู้ละเมิดกฎหมาย หรือว่าเป็น “ผู้รักษากฎหมาย” นั้นเสียเอง!!

หมายเหตุ: 1 ข้อมูลจาก Brazilian Institute of Geography and Statistics

ป้ายคำ :