ThaiPublica > คอลัมน์ > Bharat : Soft Power ในหนัง Bollywood

Bharat : Soft Power ในหนัง Bollywood

12 พฤษภาคม 2022


Hesse004

ข้าวเหนียวมะม่วง ที่มาภาพ : https://www.thaiticketmajor.com/variety/travel/10818/

หลังการแสดงโชว์ของแรพเปอร์สาวชาวไทย “น้องมิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล บนเวที Coachella ด้วยการกินข้าวเหนียวมะม่วงช่วง”แรพ” ไปด้วยนั้น…คำว่า Soft Power ถูกหยิบมาเป็นกระแสอยู่หลายวัน โดยเฉพาะ Soft Power ที่มาจากข้าวเหนียวมะม่วง

จะว่าไปแล้ว “ข้าวเหนียวมะม่วง” มีความเชื่อมโยงกับเรื่องทุนวัฒนธรรม (Cultural capital) สัมพันธ์กับการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) …สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนำมาแปลงเป็น “อำนาจละมุน” หรือ Soft Power อย่างที่กูรูรัฐศาสตร์ โจเซฟ ไนล์ (Joseph Nye) ให้คำจำกัดความไว้1

โลกยุคโลกาภิวัตน์นั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทางวัฒนธรรม คือ ความงดงามอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

เช่นเดียวกับที่หลายประเทศได้สร้าง Soft Power ผ่านช่องทางหลายรูปแบบทั้งดนตรี กีฬา อาหาร รวมทั้งภาพยนตร์

เอ่ยมาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้นึกถึง เกาหลีใต้ ที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และสร้าง Soft Power ผ่านภาพยนตร์มาตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21

เกาหลีใต้นับเป็นประเทศต้นแบบในการสร้าง Soft Power ด้วยการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีจากภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ มี Production ชั้นยอด มีพล็อตเรื่องที่น่าติดตาม

ขณะที่หลายประเทศในเอเชียนำภาพยนตร์มาเป็นเครื่องมือสะสมทุนวัฒนธรรมและสร้างอำนาจละมุนไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงอินเดีย

อินเดีย เป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยทุนวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีอาหารน่าหลงใหล มีศิลปะการเต้นรำที่มีสีสัน มีเสน่ห์ในความเป็นอินเดีย

…สิ่งต่าง ๆ ที่ว่ามานี้อินเดียนำเสนอไว้ในภาพยนตร์ของพวกเขาที่เรารู้จักกันในชื่อบอลลีวู้ด (Bollywood)

ที่มาภาพ : https://www.amazon.in/Bollywood-Boom-Indias-Rising-Power/dp/0143429183?asin=B071KXFS8Y&revisionId=&format=2&depth=1

หนังสือเรื่อง Bollywood Boom : India ‘s Rising Soft power ของ Roopa Swaminathan

นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเติบโต Soft Power ของอินเดียผ่านหนัง Bollywood

Bollywood เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางความบันเทิงของโลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 แผ่นขยายอิทธิพลครอบคลุมทั้งอนุทวีป เอเชียใต้ เอเชียกลาง อาเซียน แอฟริกา รวมถึงยุโรปตะวันออก

ภาพยนตร์ Bollywood เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศอินเดีย หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1947
เหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์กลายมาเป็นพล็อตเรื่องให้ Bollywood หยิบไปถ่ายทอด

Indian-Pakistan Partition เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์โศกนาฎกรรมแห่งการพลัดพรากครั้งใหญ่ของชาวอินเดีย ที่เรียกตัวเองว่า ฮินดูสถาน (Hindustan) และชาวปากีสถาน

ทั้งสองฝั่งมีเรื่องบอกเล่าของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และได้กลายมาเป็นพล็อตเรื่องให้กับคนรุ่นปัจจุบันที่ถ่ายทอดเรื่องราวการแบ่งแยกประเทศ เหตุการณ์จลาจล รบราฆ่าฟันระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ไม่ว่าจะชาวฮินดูกระทำต่อชาวมุสลิมในภาพยนตร์เรื่อง Manto (2018) หรือที่ชาวมุสลิมกระทำต่อชาวฮินดู เช่นในหนังเรื่อง Bharat (2019)

Manto ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/

Manto (2018) หนังที่ว่าด้วยอัตชีวประวัติของกวีชาวอินเดีย ซาดัต ฮาซัน มานโต (Sadatt Hasan Manto) ที่บอกเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงช่วงการจลาจลระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดู

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำจากความรุนแรง…แน่นอนว่า สงครามไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์สำหรับคนธรรมดาทั่วไป

ภาพยนตร์เรื่อง Bharat (2019) ดำเนินเรื่องด้วยภาษาฮินดี ผลงานการกำกับของ อาลี อับบาส ซาฟาร์ (Ali Abbas Zafar) โดยได้ดารานำระดับซูป “ตาร์” ของ Bollywood อย่าง ซัลมาน ข่าน (Salman Khan) และ คาทริน่า เคฟ (Katrina Kaif)

น่าสนใจตรงที่ เรื่องราวของ Bharat (เขียนเป็นไทย คือ ภารัต หรือ ภารตะ) สร้างขึ้นจากพล็อตของภาพยนตร์เกาหลี เรื่อง Ode to My Father (2014) ซึ่งเป็นผลงานกำกับของยุน เจ เยียน (Yoon Je Kyeon) ที่กล่าวถึงการพลัดพรากของครอบครัวในช่วงสงครรามแบ่งแยกดินแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

สงครามไม่ว่าเกิดที่ใดก็แล้วแต่ ล้วนทำให้ครอบครัวต้องพลัดพรากอย่างไม่ทันตั้งตัว

เช่นเดียวกับครอบครัวของภารัต กูมาร์ (Bharat Kumar) ซึ่งนำแสดงโดย ซัลมาน ข่าน ครอบครัวของเขาต้องพรากจากพ่อ ซึ่งเป็นนายสถานีรถไฟชายแดนอินเดีย ปากีสถาน และน้องสาวที่หายไปช่วงระหว่างชุลมุนวุ่นวาย หนีการไล่ฆ่าของชาวมุสลิมขณะขึ้นรถไฟจากลาฮอร์มายังเดลี

Bharat (2019) หนังที่สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ที่แสดง Soft Power ของประเทศอินเดีย ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Bharat_(film)#/media/File:Bharat_film_poster.jpg

ชีวิตของภารัต กูมาร์ เล่าเรื่องไปพร้อม ๆ กับเหตุการณ์สำคัญของอินเดีย หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เริ่มจากเหตุการณ์จลาจลแบ่งแยกดินแดนระหว่างอินเดีย ปากีสถาน เมื่อปี 1947…เหตุการณ์การตายของยะวะหราล เนห์รู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก ในปี 1964 การเดินทางไปแสวงโชคด้วยการเป็นแรงงานขุดเจาะน้ำมันในตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย ช่วงกลางทศวรรษที่ 70

เหตุการณ์ที่อินเดียได้แชมป์คริเกตโลก ปี 1983 การพัฒนาเติบโตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 90 ในยุค Economic Liberalization สมัยนายกรัฐมนตรีมาโมฮาน ซิงห์

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกบอกเล่าได้อย่างลงตัว กลมกลืม เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และแฝงด้วยดราม่าเป็นระยะ…และที่ลืมไม่ได้ในหนังอินเดีย คือ ฉากเต้นของคู่พระนาง

Bharat นับเป็นหนัง Bollywood ที่สอดแทรกวัฒนธรรม การใช้ชีวิตของคนอินเดีย ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การเต้นรำ การร้องเพลง พิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงกีฬาคริเก็ตที่คนอินเดียคลั่งไคล้

แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะถูกวิจารณ์จากนักวิจารณ์หนังชาวอินเดียไม่ค่อยดีนัก โดยมุ่งไปที่เรื่องเนื้อหาที่กระจัดกระจาย

…แต่เอาเข้าจริงแล้ว สำหรับคนดูหนังอินเดียด้วยความบันเทิงและแสวงหาความรู้จากเกร็ดต่าง ๆ จากหนังเรื่องนี้… Bharat นับว่าทำให้เรารู้จักอินเดียมากขึ้น ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ มุมมองของพระเอกอย่าง ภารัต กูมาร์ ที่รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และพยายามเลือกใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็น

Bharat เป็นอีกหนึ่งตัวแทน Soft Power ที่ปรากฏในหนัง Bollywood ทำให้เรามองเห็นอินเดีย ชาติที่เป็นมหาอำนาจทางด้านวัฒนธรรม

หมายเหตุ : 1. ผู้สนใจโปรดดู Joseph Nye, Soft Power: The Means to Success in World Politic