ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > จับชีพจรประเทศไทย (1): 3 อาการเสื่อมถอยที่เริ่มฟ้อง

จับชีพจรประเทศไทย (1): 3 อาการเสื่อมถอยที่เริ่มฟ้อง

30 กันยายน 2013


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ background paper “A nation in decline?” ที่จะนำเสนอในงานสัมมนา Thailand Future Forum ครั้งที่ 4 “จับชีพจรประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โรงแรมพลาซา แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุ

ประเทศไทยกำลังเสื่อมถอยหรือไม่? 3 อาการที่เริ่มฟ้อง

ในปี 2503 รายได้ต่อหัวของฟิลิปปินส์เคยสูงเป็น 2 เท่าของไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 กว่าปี กลับกลายเป็นว่ารายได้ต่อหัวของไทยนั้นคิดเป็นสองเท่าของฟิลิปปินส์ ไทยสามารถแซงหน้าฟิลิปปินส์ได้ในราวปี 2527 ซึ่งเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในตอนนั้นโตเฉลี่ยแค่ 2% ต่อปี ในขณะที่ไทยนั้นโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7% และหลังจากนั้นไทยก็ขึ้นนำฟิลิปปินส์มาตลอด

หรือประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยเหมือนฟิลิปปินส์ในอดีต? หรือว่าทศวรรษที่ 2550 ของไทย จะเหมือนกับช่วงปี 2523-2533 ของฟิลิปปินส์ที่เติบโตอย่างเชื่องช้าแล้วค่อยๆ ถูกประเทศอื่นแซงหน้า ถ้าจะให้ตอบสั้นๆ ก็คือ “มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง” แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับว่า “เราตัดสินใจที่จะทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร!)” ตอนนี้มีสถานการณ์หลายอย่างที่บ่งบอกให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มมีอาการน่าเป็นห่วง แต่ถ้าเราพร้อมที่จะประเมินสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา กล้าเผชิญหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แทนที่จะผลักมันออกไปให้เป็นเรื่องของอนาคต เราก็จะได้เห็นสิบปีข้างหน้าของประเทศไทยเป็น “ทศวรรษแห่งความหวัง” เช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะอ่อนแอเพียงชั่วคราว และอีกสักพักก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ดังเดิม หรือจริงๆ แล้วเรากำลังเข้าสู่ระยะเริ่มต้นของช่วงเสื่อมถอยเพียงแต่เรายังไม่รู้ตัว ซึ่งกว่าจะรู้ตัวมันก็อาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้

สำหรับประเทศไทย หากจะใช้ศัพท์ทางการแพทย์มาเปรียบเทียบก็อาจพูดได้ว่า เราอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรและอาการหนักแค่ไหนแล้ว แต่จาก “อาการ” ที่เรามีอย่างน้อย 3 อาการ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพของเราเริ่มมีปัญหาแล้ว

อาการที่ 1: ส่วนแบ่งตลาดเริ่มหดตัว สัญญาณเริ่มต้นอย่างหนึ่งของบริษัทที่กำลังมีผลงานตกต่ำคือ ส่วนแบ่งตลาดเริ่มเล็กลง ถ้าเรามองประเทศไทยเป็นเสมือนบริษัทก็จะพบว่า 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทนี้มีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกโลกลดลงจาก 1.7% เหลือเพียง 1.3% และเมื่อดูเป็นอันดับเราร่วงจากอันดับ 15 ในปี 2533 มาเป็นอันดับ 22 ถึงแม้ว่าเราจะส่งออกรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ได้เพิ่มขึ้น แต่สินค้าเกษตรที่เป็นพระเอกส่งออกของประเทศตลอดมาอย่างข้าว จากเดิมที่เราเคยส่งออกในมูลค่าที่มากถึง 69% ของตลาดโลกในปี 2533 แต่ในปี 2555 ก็ลดลงเหลือเพียง 21% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน การไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ หรือ FDI ก็ดูจะไม่สดใสนัก เพราะสัดส่วนการไหลเข้าของเงินทุนจากทั่วโลกของไทยได้ตกลงจาก 1.2% ในปี 2533 เหลือเพียง 0.6% ในปี 2555 เทียบเท่ากับเงินลงทุนที่ไหลเข้าประเทศเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ในขณะที่เมื่อ 20 ปีก่อน เงินที่ไหลเข้ามาในไทยนั้นสูงกว่าเวียดนามถึง 13 เท่า

อาการที่ 2: ล้าหลังเพื่อนบ้าน อีกวิธีหนึ่งที่บริษัทเอกชนมักทำก็คือ การเปรียบเทียบผลงานของตัวเองกับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง และหากเรามองไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็จะพบว่าเราไม่สามารถปิดช่องว่างระหว่างรายได้ต่อหัวของเรากับมาเลเซียที่เป็นคู่แข่งตลอดกาลได้ ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็กำลังไล่ตามเรามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ

ไทย v.s. มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว รายได้ต่อหัวของมาเลเซียเคยคิดเป็น 1.7 เท่าของประเทศไทย แต่ในปี 2555 รายได้ของมาเลเซียก็ยังคงสูงกว่าไทย 1.7 เท่าเหมือนเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ควรกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่งก็คือ มาเลเซียมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนาที่ดีกว่าเรามาก มาเลเซียได้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้าน R&D ที่เคยคิดเป็นเพียง 0.2% ของ GDP ในปี 2539 มาเป็นกว่า 1.0% ในปี 2552 ซึ่งมากกว่าของประเทศไทย (0.24%) ถึง 4 เท่า นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีจำนวนนักวิจัยต่อกำลังแรงงานสูงกว่าไทยถึง 3 เท่า การที่มาเลเซียสามารถให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของประเทศในระยะยาวส่วนหนึ่งอาจมาจากเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ เราพบว่านายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียมาจากพรรคเดียวกันมาตลอดตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชในปี 2500 ในขณะที่ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลมาทั้งสิ้น 6 ครั้งเพียงแค่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ไทย v.s. เวียดนาม รายได้ต่อหัวของเวียดนามเคยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของรายได้ต่อหัวของไทยในปี 2533 แต่สัดส่วนนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ในปี 2555 แน่นอนว่าสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่เวียดนามสามารถทำได้ดีมากด้านหนึ่งก็คือเรื่องของการศึกษา เวียดนามมีสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP ที่ 6.6% ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 3.8%

อาการที่ 3: เราเก่งในด้านอะไร หากเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหรือในโลก ก็จะพบว่าทั้งๆ ที่เรามีความกระตือรือร้นที่จะเตรียมตัวรับกับ AEC แต่ระดับทักษะด้านภาษาอังกฤษของไทยก็ยังอยู่อันดับที่ 53 จาก 54 ประเทศ นอกจากนี้ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักพูดถึงเรื่องการยกระดับมูลค่าเพิ่มของสินค้าและการพัฒนาประเทศให้เป็นระบบเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ แต่เรายังลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก (อันดับที่ 62) ทั้งๆ ที่เรามีการรณรงค์ติดป้ายต่อต้านคอร์รัปชันไปทุกที่ แต่ดัชนีภาพลักษณ์ที่ดีด้านคอร์รัปชันของเราอยู่ในอันดับที่ 88 และที่น่าตกใจที่สุดก็คือเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 168 ของประเทศที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีเพียง 31 ประเทศเท่านั้นที่ใช้พลังงานสิ้นเปลืองกว่าเราซึ่งรวมถึงประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างอิหร่าน รัสเซีย และบาห์เรน โดยที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงหรือกระแสไฟฟ้าก็ตาม

Thailand-ranking ชีพจรประเทศไทย

แต่อาจดูไม่ยุติธรรมนัก ถ้าเราจะนำเสนอเฉพาะแต่ด้านที่เราอยู่ในอันดับท้ายๆ เพราะที่จริงแล้ว ประเทศไทยก็ได้รับอันดับต้นๆ ในหลายด้านด้วยกัน อาทิ เราได้อันดับ 1 ของประเทศที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อ HIV ต่อประชากรมากที่สุดในเอเชีย อันดับ 2 ของประเทศในเอเชียที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงที่สุด และมีจำนวนคุณแม่วัยใสมากที่สุด (รองจากลาว) อันดับ 3 ของโลกที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 4 ของประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดในโลก

เรามายืนอยู่จุดนี้ได้อย่างไร เราสูญเสียความน่าดึงดูดในสายตานักลงทุนไปตั้งแต่เมื่อไร ทำไมเราถึงตามหลังเพื่อนบ้าน และเป็นเพราะเหตุใดเราถึงได้อันดับต้นๆ ในมิติอย่างความเหลื่อมล้ำ หรืออันดับท้ายๆ ในเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในบทความตอนหน้า สถาบันอนาคตไทยศึกษาจะพาท่านกลับไปย้อนอดีตของประเทศเพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี และค้นหาสาเหตุที่พาเรามาสู่ ณ จุดนี้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม