ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > จับชีพจรประเทศไทย (2): ย้อนอดีต 20 ปีประเทศไทย เรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างไร

จับชีพจรประเทศไทย (2): ย้อนอดีต 20 ปีประเทศไทย เรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างไร

7 ตุลาคม 2013


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Background paper “A nation in decline?” ที่จะนำเสนอในงานสัมมนา Thailand Future Forum ครั้งที่ 4 “จับชีพจรประเทศไทย”ซึ่งจัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โรงแรมพลาซา แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุ

เรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างไร : ย้อนอดีต 20 ปีประเทศไทย

จากการจับชีพจรประเทศไทยในตอนที่ 1 สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้นำเสนอ “3 อาการ” ที่เริ่มฟ้องถึงของความเสื่อมถอยของประเทศไทย และขอต่อด้วยการนำทุกท่านกลับไปย้อนมองอดีตของเราในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรลงไป จึงทำให้เรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ ทั้งนี้การมองย้อนอดีตจะช่วยทำให้เราเข้าใจอะไรได้ดีขึ้น และสร้างบทเรียนที่จะช่วยไม่ให้เราไม่ก้าวพลาดซ้ำรอยในอนาคต

View-history ย้อนอดีตประเทศไทย

ด้านเศรษฐกิจ: เน้นการเพิ่มการผลิตมากกว่าเพิ่มผลิตภาพ

20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2555 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเราตกมาอยู่ที่อันดับ 81 สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประชากรในประเทศมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรในวัยแรงงานที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% ในระหว่างปี 2533-2543 ก็ลดเหลือเพียง 0.2% ในระหว่างปี 2553-2563 และอัตราการเติบโตนี้กำลังจะติดลบในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนแรงงานจะน้อยลง แต่เศรษฐกิจก็ยังคงเติบโตได้หากแรงงานเหล่านั้นมีผลิตภาพแรงงานสูง แต่สำหรับประเทศไทยกลับมีสภาวะตรงกันข้าม ผลิตภาพแรงงานของเราเพิ่มขึ้นน้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การลงทุนของไทยในปี 2555 ยังคงอยู่ที่ประมาณ 80% ของการลงทุนปี 2539 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งเผชิญวิกฤติเช่นกัน แต่ก็สามารถฟื้นระดับการลงทุนให้กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตได้ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ (117%) อินโดนีเซีย (152%) หรือมาเลเซีย (111%)

การลงทุนโดยรวมที่ว่าน้อยอยู่แล้ว แต่การลงทุนด้านความรู้และทักษะยิ่งน้อยมาก ไม่เพียงแค่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของไทยจะน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ (0.24%ของ GDP) แต่สัดส่วนนี้ยังแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 10 ปี และกลับลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

ด้านสังคม: การเข้าถึงดีขึ้น … แต่คุณภาพแย่ลง

จริงอยู่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการศึกษาได้มากขึ้น ใน 20 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจบชั้นมัธยมปลาย (รวมปวช.) และจบปริญญาตรีเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรในวัยเดียวกัน แต่ปัญหาอยู่ที่คุณภาพ เพราะไม่ว่าจะดูจากการสอบวัดผลภายในประเทศอย่าง O-Net จะพบว่าผลสอบ 4 วิชาหลัก คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยของเด็กชั้น ป.6, ม.3 และม.6 ในปี 2555 ได้คะแนนลดลงแทบทุกวิชาและในทุกระดับชั้นเมื่อเทียบกับปี 2549 หรือหากดูผลการสอบระดับนานาชาติอย่าง PISA ที่ใช้ทดสอบเด็กกว่า 60 ประเทศทั่วโลกใน 3 วิชาคือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จะพบว่าคะแนนปีล่าสุดลดลงจากปี 2543 ในทุกวิชาเช่นกัน ทั้งๆ ที่งบประมาณด้านการศึกษาของไทยนั้นสูงถึง 4 % ของ GDP และมากกว่าสิงคโปร์ (3.3 %) ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด (22 %) และงบที่ได้รับเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ที่น่าเป็นห่วงที่สุด น่าจะเป็นปัญหาสังคมของเยาวชนในอนาคต ปัจจุบันมีเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับทั้งพ่อและแม่ราว 40 % เพิ่มจาก 27 % ในปี 2537 ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะออกนอกลู่นอกทางมากขึ้น

นอกจากนี้ จำนวนคดีเด็กและเยาวชนเฉลี่ยระหว่างปี 2550-2554 ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2539-2543 ถึง 40 % ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่เยาวชนที่มีปัญหา แต่ยังรวมไปถึงรุ่นลูกของเยาวชนอีกด้วย ซึ่งพบว่าเฉพาะแค่ปี 2554 เพียงปีเดียว มีเด็กถึง 114,000 คนที่เกิดจากแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่น

ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม: จากที่สถานการณ์แย่อยู่แล้ว … ก็ยิ่งแย่ลงไปอีก

ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างมหาศาลแล้ว ยังสะท้อนว่าเราใช้พลังงานได้อย่างสิ้นเปลือง ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ใช้พลังงานได้ฟุ่มเฟือยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทั้งๆ ที่เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง

ในปี 2554 เรามีขยะเพิ่มขึ้นวันละกว่า 41,000 ตัน เพิ่มขึ้น 35 % จากปี 2533 ปริมาณขยะที่เราทิ้งรวมกันภายใน 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณสูงถึง 1.64 แสนล้านตัน ซึ่งถ้าจะจินตนาการว่ามีปริมาณมากเพียงใด ก็ให้ลองคิดว่าหากเรานำขยะเหล่านี้มาฝังกลบจะต้องใช้พื้นที่ในการฝังกลบเท่ากับเกาะสมุยถึง 2 เกาะ

ด้านธรรมาภิบาลภาครัฐ : ชิ้นส่วนสำคัญที่หายไป

ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 88 จาก 174 ประเทศในการจัดอันดับ Corruption Perception Index ประจำปี 2556 ถ้าดูจากดัชนีด้านการควบคุมปัญหาคอร์รัปชันที่จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่าเราจัดการเรื่องของคอร์รัปชันได้แย่ลงเมื่อเทียบกับปี 2539 เนื่องจากเราได้คะแนนลดจาก 50 เหลือเพียง 44 คะแนน ทั้งๆ ที่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาทกรรมหลักที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและมีข่าวปรากฏบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ที่ผ่านมา มีนักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากคดีคอร์รัปชันเพียงคนเดียว คือ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบ ยังมีอยู่อย่างจำกัด

ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ เพราะเรามักคิดว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้เรามองข้ามเสถียรภาพในระดับของการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมตรีและการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ แม้ว่าเราจะไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาก็ถูกปรับเปลี่ยนมากถึง 4 คน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระยะเวลาดำรงตำแหน่งโดยเฉลี่ยของรัฐมนตรีทั้ง 19 กระทรวงอยู่ที่ 11 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 20 จังหวัดใหญ่ก็มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเฉลี่ยเพียง 17 เดือน

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา คงทำให้ทุกท่านเห็นภาพว่าทำไมประเทศไทยถึงมาอยู่ ณ จุดนี้ และแน่นอนว่าหากเรายังไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรให้ดีขึ้น อนาคตที่เราจะเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยก็คงอยู่อีกไม่ไกล

ในบทความตอนหน้าซึ่งเป็น ตอนสุดท้าย จะเป็นการสรุปมุมมองและความเห็นจากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ที่ใช้ชีวิตและผ่านประสบการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทยนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้