ThaiPublica > เกาะกระแส > ThailandFuture Forum 2021: สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย (ตอน 1) กลไกภาครัฐที่ควรจะเป็น

ThailandFuture Forum 2021: สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย (ตอน 1) กลไกภาครัฐที่ควรจะเป็น

10 กรกฎาคม 2021


เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดงาน ThailandFuture Forum 2021 ขึ้นผ่านคลับเฮาส์ เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อหลักฐานเชิงข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้รับนโยบาย นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ากับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการ “ร่วมคิด-ร่วมทำ” นโยบายรูปแบบใหม่ ที่เปิดกว้าง กระจายอำนาจ และอิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส

หัวข้อหนึ่งในการเสวนา คือ สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย เพื่อฉายภาพอนาคตรัฐไทย (ระบบราชการและกลไกภาครัฐ) และแนวทางสู่ภาพอนาคตเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลง จากผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย, นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

โดยได้ตั้งคำถามว่า หากเปรียบ “ระบบราชการ” เป็นองค์กร คงจะเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ความพยายามในการพัฒนาระบบราชการไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร? ภาพใหม่ของระบบราชการและกลไกภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพร้อมรับมือความท้าทายในอนาคตเป็นแบบไหน? แนวทางการเปลี่ยนแปลง เรื่องสำคัญของวันข้างหน้าที่ต้องเริ่มทำในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการ ThailandFuture เริ่มการเสวนาด้วยการแนะนำ Thailand Future หรือสถาบันอนาคตไทยศึกษา ว่า เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำงานเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ ThailandFuture กำลังก้าวไปสู่บทใหม่ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งและตัวรวมในด้านนโยบายสาธารณะ เพราะเชื่อว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มนโยบายที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศด้วย

“อนาคตเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ThailandFuture จึงอยากจะชวนพวกเราทุกคนมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ช่วยกันชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่มีความสำคัญ กระตุ้นการตั้งคำถาม แล้วก็ค้นหาคำตอบเชิงลึก นำไปสู่การลงมือทำจริง เพื่อพัฒนาอนาคตประเทศไทยของเราทุกคน”

“สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยในการขับเคลื่อนประเทศไทย ก็คือบทบาทของภาครัฐ เพราะว่าภาครัฐเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีกำลังคนกว่า 2 ล้านคน ไม่ว่านักการเมืองจะมาหรือจะไป ระบบราชการก็จะอยู่กับเราตลอดเสมอ แล้วเราจะทำยังไงให้การอยู่ร่วมกันที่มีพลัง สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าร่วมกับภาคส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐไม่เหมือนร้านอาหาร ที่หากไม่ถูกใจเราสามารถเลือกร้านอื่นได้ แต่ภาครัฐมีอยู่อันเดียว ยังไงก็ต้องอยู่กับภาครัฐอันนี้”

การเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับกลไกภาครัฐที่ควรจะเป็นจากมุมมองของผู้ร่วมเสวนา โดยเริ่มจากนางสาว อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ที่รู้เรื่องการปฏิรูประบบราชการที่ดีที่สุดในขณะนี้

Digital Government–Open Government เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มาภาพ: https://www.opdc.go.th/content/Njc1Nw

นางสาวอ้อนฟ้าชี้ว่า ราชการเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ และเป็นกลไกหลักในการดูแลประชาชน

สำหรับราชการในอนาคตจะเป็นอย่างไร นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า ในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งได้วางเป้าว่า ราชการไทยควรจะเป็นรัฐบาลดิจิทัล (digital government) กับรัฐบาลเปิด (open government) ซึ่งหมายถึงต้องเป็นรัฐบาลดิจิทัลและเป็นรัฐบาลที่เปิดกว้าง

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตอกย้ำแนวคิดนี้ว่า การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและเป็นรัฐบาลที่เปิดกว้างสำคัญอย่างยิ่ง

“ไม่ใช่แค่ว่าเรามีแผนที่จะเป็น แต่เราต้องเป็น ถ้าไม่เป็น ราชการจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ และไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้เลย”

“การเป็นรัฐบาลดิจิทัลไม่เพียงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน แต่ยังมีผลให้ชีวิตข้าราชการเองก็ดีขึ้น ฝ่ายนโยบายทางการเมืองที่ตัดสินใจนโยบายก็จะดีขึ้น”

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเด่นชัดในการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลหรือ ที่เรียกว่า e-service จากหลายหน่วยงาน แต่ลักษณะของการให้บริการในรูปของดิจิทัลยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะระบบสนับสนุนของแต่ละหน่วยงาน ยังไม่ได้เป็นดิจิทัล โดยข้อมูลต่างๆ ยังไม่อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า แม้มีบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) หลายรูปแบบบนแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ อุปกรณ์ต่างๆ ได้ แต่หากระบบสนับสนุนและระบบข้อมูลของของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เป็นระบบดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ก็ยังไม่จัดว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล

“ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลดิจิทัลไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูล แต่จะต้องมีกระบวนการที่เป็นดิจิทัล มีการปรับกระบวนการทำงานของภาครัฐ ของหน่วยงานให้เป็นดิจิทัลก่อน ถึงจะปรับเปลี่ยนให้เป็นการให้บริการผ่านดิจิทัลได้เต็มที่”

การระบาดของไวรัสโควิดได้เร่งให้การพัฒนา e-service ของหน่วยงานต่าง ๆ เร็วขึ้น และแสดงให้เห็นว่า ยังสามารถพัฒนา e-service ในด้านใดได้อีกบ้าง รวมทั้งสะท้อนปัญหาของการจัดทำข้อมูลให้เป็นดิจิทัล ปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูล ปัญหามาตรฐานของข้อมูล ปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ไม่สามารถที่จะให้เปิดเผยข้อมูลได้ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พยายามช่วยแก้ไข

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า การเป็นรัฐบาลเปิดหรือ open government ภาครัฐที่เปิดกว้าง ก็มีคำถามว่าภาครัฐเปิดกว้างเพื่ออะไร คำตอบคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ระหว่างราชการกับประชาชน

“ถ้าเราเข้าใจจุดนี้ เข้าใจเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ เราก็จะรู้เองว่าเราควรจะเปิดแต่ละเรื่องมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างกัน และยิ่งเปิดเผยมาก ก็จะนำไปสู่การที่อยากจะเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ แล้วจะเกิดการประสานพลัง ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันทั้งภาครัฐ ราชการ แล้วก็เอกชน

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า การเปิดมีหลายระดับ แต่ที่ผ่านเมื่อพูดถึงรัฐบาลเปิดมักจะมองเพียงแค่การเปิดเผยข้อมูลหรือ open data แต่การเปิดเผยสุดท้ายจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมแล้วเกิดการร่วมกันผลักดัน

ระดับแรกของการเปิดเผยหรือการเป็นภาครัฐระบบเปิด คือ การเปิดให้ประชาชนมารู้จัก ด้วยการนำข้อมูล ที่รัฐมีและเป็นประโยชน์กับประชาชน มาเปิดให้ประชาชนรู้และให้เอาไปใช้ได้ ซึ่งจะเป็นการแสดงถึงความจริงใจของภาครัฐที่เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นให้ ระดับถัดไปคือ การที่จะรับฟังความเห็นความต้องการจากประชาชน เพราะรัฐคือภาครัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่วนการเปิดในระดับที่สูงขึ้น คือ ให้ประชาชนมาร่วมคิดกับรัฐ หมายถึงการวางแผนต่างๆ หรือให้ความเห็นผ่านโครงการต่างๆ การทำโครงการ

“นอกจากฟังแล้วให้มาร่วมคิด ระดับที่สูงกว่านั้นคือร่วมทำ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การร่วมทำ ทำได้หลายแบบ มีทั้งแบบร่วมกันทำ แบ่งกันทำ หรือว่าให้ทำไปเลย เพราะมีให้เห็นอยู่แล้วว่าภาคเอกชนรวมทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมหลายรายสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ช่วยดูแลประชาชน หรือช่วยให้บริการสาธารณะบางอย่างแทนได้ ฉะนั้นก็ต้องช่วยคิดกันว่าในอนาคตต้องแบ่งกันทำ เพื่อจะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำได้จริง”

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมี พ.ร.บ.ร่วมลงทุน แต่ขอบเขตค่อนข้างจำกัด ในอนาคตมีอีกหลายอย่างที่รัฐต้องเปิดกว้างให้ร่วมทำกับรัฐได้บางเรื่อง หรือรัฐแบ่งให้ทำ การกำหนดเกณฑ์การประเมิน (KPI) ต้องชัดเจนถึงผลที่ต้องการจากการให้เอกชนไปทำ แต่ต้องมีการกฎระเบียบรองรับอนาคต และการเป็นรัฐบาลเปิดจริง ที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อน

“สถานการณ์โควิด เราได้เห็นแล้วว่า ภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชน ฉะนั้นการเป็นรัฐบาลเปิดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเป็นอีกประการหนึ่ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐบาลดิจิทัล และเชื่อว่าถ้าเป็นทั้ง 2 อย่าง ที่เหลือจะตามมาเอง ไม่ว่าการบูรณาการ เพราะการเป็นดิจิทัลต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูล ก็จะบูรณาการกันเอง ความโปร่งใสจะตามมา มีความชัดเจน การสร้างนวัตกรรม และภาครัฐในอนาคตก็จะตอบสนองความต้องการประชาชนอย่างแท้จริง แล้วสามารถเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนประเทศไปได้”

Solution Oriented และ Collaborative Government ในโลก VUCA

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไทเริ่มต้นด้วยการพูดถึงบริบทที่ไทยกำลังเผชิญอยู่และจะเผชิญต่อไปในอนาคตว่า เป็นโลก VUCA ที่ V คือ volatility หรือความผันผวนสูง, U คือ uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง, C คือ complexity มีความซับซ้อนสูงมาก และ A คือ ambiguity ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนอยู่มาก

“โลกข้างหน้าเราต้องเจอกับความผันผวนสูงขึ้น สถานการณ์โควิด-19 เป็นเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น ความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญข้างหน้ามาจากอีกหลากหลายด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะกระทบกับพวกเราทุกคน อาจจะแรงมากด้วย แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก เป็นปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์หรือบริบทที่เราเจอเป็นโลก VUCA มากขึ้น”

ดร.วิรไทกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นด้วยจากทรัพยากรที่ภาครัฐมี ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงมากจากวิกฤติการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ภาครัฐจะไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้มากแบบเดิม แล้วก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรจนเกินควร ระดับหนี้สาธารณะจะเป็นข้อจำกัดของภาครัฐ ของการทำนโยบายต่างๆ หนี้สาธารณะเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ

นอกจากนี้ โลกกำลังปรับตัวกับวิถีใหม่ หรือ new normal หลังจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลง โลกในอนาคต วิธีที่ใช้ชีวิต วิธีในการทำธุรกิจจะไม่เหมือนเดิม ทรัพยากรจะมีการย้ายจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่ง ต้องมีการปรับตัว และต้องมีแนวทางที่จะให้ทรัพยากรเกิดการปรับตัวได้เร็วและง่าย

“การที่จะย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่โลกใหม่ที่เป็น new normal วิธีการทำธุรกิจแบบใหม่ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะภาครัฐ กฎเกณฑ์ กติกา รวมทั้งกลไกการทำงานของภาครัฐเกี่ยวข้องกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เกิดการย้ายทรัพยากรได้เร็ว”

สำหรับคุณลักษณะของกลไกภาครัฐในอนาคต ดร.วิรไทมองว่ามีคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ข้อ ประกอบด้วย คุณลักษณะแรกหลักความรับผิดชอบ หรือ accountability คือต้องให้แน่ใจว่ากลไกภาครัฐมีความรับผิดชอบกับประชาชน และความอยู่ดีกินดีของประชาชน accountability สำคัญมาก ต้องมีแนวทางที่จะทำให้หลักความรับผิดชอบลงไปอยู่ในภาครัฐทุกระดับ

“วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งการติดต่อกับหน่วยงานราชการ หรือการทำงานกับระบบราชการไม่ค่อยแน่ใจว่า accountability ไปสู่ประชาชนหรือความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างแท้จริง บางทีก็กลายเป็น accountability กับหัวหน้าของส่วนราชการ บางทีก็กลายเป็น accountability กับนักการเมืองที่กำกับดูแลส่วนราชการนั้นๆ หรืออาจจะเป็น accountability กับกลุ่มทุนก็ได้ เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันอยู่”

ดร.วิรไทกล่าวว่า ในภาวะที่บางครั้ง accountability ไม่ชัดเจน จุดเชื่อมต่อระหว่างภาคการเมืองกับประชาชนขาดหายไป ก็ยิ่งทำให้ accountability ของระบบราชการกับประชาชนยิ่งขาดหายไปด้วย ฉะนั้นเรื่องที่สำคัญ คือต้องทำให้ accountability chain ชัดเจนจากระบบราชการไปสู่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งในวันนี้และก็ในอนาคต

คุณลักษณะที่ 2 solution oriented คือ การทำให้จิตวิญญาณของระบบราชการเป็นจิตวิญญาณที่เน้นการตอบโจทย์ การหาคำตอบและก็ตอบโจทย์ ไม่ใช่ทำงานแบบเอกสารที่ให้ความเห็นแล้วผ่าน แต่จะต้องนำมาสู่การแก้ปัญหา การตอบโจทย์ความต้องการ การตอบโจทย์ปัญหาที่ประชาชนและธุรกิจเผชิญอยู่ให้ได้

“ในการทำงานกับระบบราชการ เรามักจะเจอว่าแต่ละหน่วยงานรายงานว่าทำเสร็จแล้ว แต่งานไม่สำเร็จ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเยอะมาก งานทำเสร็จก็คือ ได้ทำเอกสารพ้นจากหน่วยงานของตัวเองไปแล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานถัดไปที่ต้องไปดำเนินการ แต่ถ้าเราคิดว่าระบบราชการจะต้องเน้นที่การตอบโจทย์ การหาคำตอบ เป็น solution oriented ที่จะตอบโจทย์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง จิตวิญญาณของการทำงานในระบบราชการก็คงจะต้องต่างไปจากเดิม”

คุณลักษณะที่ 3 agility คือ ความคล่องตัวทันการ ในโลก VUCA ที่กำลังเผชิญกันอยู่และจะเผชิญรุนแรงมากขึ้น ผนวกกับความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายทรัพยากร และปรับวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้สอดคล้องกับโลกใหม่ ความคล่องตัวของกลไกภาครัฐจะสำคัญมาก ต้องดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

“การที่ภาครัฐเป็นกลไกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น และเป็น open government มากขึ้น ผมก็เชื่อว่าจะช่วยให้ agility เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”

คุณลักษณะที่ 4 เป็นคุณลักษณะที่สำคัญในโลกข้างหน้า คือ นอกจากจะเป็น open government แล้วยังจะต้องเป็น collaborative government ต้องเป็นรัฐบาลที่เน้นการสร้างความร่วมมือ ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมามาก แต่มีปัญหา มีอุปสรรคอยู่มาก และบทบาทของรัฐในการทำงานกับภาคเอกชนมักจะเป็นผู้ร่วมการจ้างทำของหรือผู้ร่วมทุนตามกรอบของ PPP

“เมื่อดูในเชิงลึก วิธีการที่กำหนดกติกา กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ PPP ภาครัฐเสียประโยชน์ไม่ได้ ภาครัฐไม่ร่วมรับความเสี่ยง ทำให้การทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็นพันธมิตรเกิดขึ้นได้ยากมาก การจะตอบโจทย์ที่มีความซับซ้อนสูง โจทย์ที่ต้องการความคล่องตัวทันการ มีประสิทธิ ภาพสูงในช่วงเวลาที่ภาครัฐมีข้อจำกัดในเรื่องหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น มุมมองในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนจะต้องเปลี่ยนไป จะต้องทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็นพันธมิตร ก็แปลว่าทั้งร่วมรับผลประโยชน์และก็ร่วมรับความเสี่ยงด้วยกัน”

ดร.วิรไทกล่าวอีกว่า นอกจากคุณลักษณะ 4 ด้านที่มีความสำคัญสำหรับการตอบโจทย์บริบทของโลกใหม่ ก็อาจจะต้องพูดถึงโทษลักษณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด เพราะหากยังคงดำรงอยู่ในระบบการทำงานของกลไกภาครัฐใน 2 เรื่อง จะทำให้ไทยเข้าสู่โลกใหม่ที่มีข้อจำกัดมากขึ้นได้ยากมากขึ้น

โทษลักษณะด้านแรก คือ รูปแบบหรือกลไกการทำงานที่เรียกว่าหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแทนที่จะบริหารความเสี่ยง เพราะมีกฎเกณฑ์มากที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งโครงสร้างของความเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่ได้ (risk reward structure) ไม่เอื้อต่อการจะทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม จึงทำให้ระบบราชการหรือข้าราชการต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าที่จะบริหารความเสี่ยง เนื่องจากการที่ทำให้รัฐเสียหายแม้เพียงเล็กน้อยก็มีโทษ มีความผิด

“แม้ในขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินภาครัฐ ก็จะมีปัญหาในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจะทำให้รัฐเสียหาย หรือแม้การซื้อวัคซีนในช่วงแรกเมื่อปีที่แล้ว หลายประเทศสามารถสั่งซื้อวัคซีนโดยที่ยังไม่ทราบผลประสิทธิผลของวัคซีนได้ เราก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่สามารถนำเงินของรัฐไปรับความเสี่ยงได้ ขณะที่ภาครัฐอาจจะไม่เสียหาย แต่เราเสียโอกาสมาก คนไทย สังคมไทยเสียโอกาสมาก มีอีกหลายเรื่องที่กฎเกณฑ์ กติกา กรอบการทำงานของภาครัฐทำให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแทนที่จะบริหารความเสี่ยง แล้วทำให้เกิดค่าเสียโอกาสให้กับสังคมไทย เศรษฐกิจไทยมาก”

โทษลักษณะที่สองของระบบราชการที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และไม่ควรจะปล่อยให้ต่อเนื่องไปนาน คือ กฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย

ไทยติดอยู่ในกรอบของโลกใบเก่า เพราะมีกฎเกณฑ์ กติกาที่ล้าสมัยจำนวนมาก ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากร การปรับตัวของภาคเอกชนเกิดขึ้นได้ยากมาก

“กฎเกณฑ์หลายอย่างเป็นกฎเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่นำไปสู่การทำให้เกิดปัญหาเรื่องของคอร์รัปชันได้โดยง่าย ที่สำคัญคือกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ หรือกฎหมายต่างๆ เป็นการออกแบบให้อำนาจหน้าที่ตามโครงสร้างของหน่วยงานราชการที่มีมาแต่เดิม แต่โจทย์ข้างหน้าที่เราต้องเผชิญเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ในโลก VUCA”

ดร.วิรไทกล่าวว่า การแบ่งหน่วยงานราชการแบบเดิมภายใต้กรอบกฎหมายแบบเดิม เป็นตัวตีกรอบการทำงานให้ข้าราชการต้องทำงานภายใต้กรอบกฎหมายของตัวเอง ทำให้ไทยไม่สามารถที่จะเอาโจทย์ของประชาชนเป็นตัวตั้งได้ และไม่สามารถแก้ไขให้นำไปสู่ผลสำเร็จ ทุกหน่วยงานราชการทำงานเสร็จภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ของตัวเอง แต่ไม่เกิดผลสำเร็จอย่างที่ต้องการ

“ประเทศไทยมีข้าราชการที่มีความสามารถสูงจำนวนมาก และระบบประเทศไม่สามารถพัฒนาได้หากเราไม่มีข้าราชการที่เก่งๆ และมีความสามารถสูง แต่ระบบทำให้ข้าราชการเก่งๆ ถูกดูดพลังไปมาก และในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำยังไงที่เราจะทำให้เป็นการเสริมพลังมากกว่าที่จะดูดพลังข้าราชการเก่งๆ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ”

กฎเกณฑ์น้อยลงคล่องตัวมากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/TheFederationOfThaiIndustries/photos/4049094785156021

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุว่า ภาคเอกชนต้องการเห็นภาครัฐหรือระบบราชการปรับเปลี่ยนให้เป็น digital government และในอีกหลายๆ ด้าน เพราะกฎเกณฑ์ ระเบียบของภาครัฐมีจำนวนมาก กฎหมายก็มีมาก ความคล่องตัวของภาครัฐมีขีดจำกัด กลไกต่างๆ ทำให้ราชการทำงานด้วยความไม่คล่องตัว และยังความแตกต่างของการทำงานของส่วนของราชการในส่วนกลางกับภูมิภาค ที่อาจจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

“มุมมองเอกชนต้องการให้กฎเกณฑ์ ระเบียบน้อยลง ภาครัฐเองมีความเล็กลง มีเราอยากเห็นทุกอย่างอยู่บน ออนไลน์ ดิจิทัล เท่ากันหมด เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาคเอกชนทำงานคล่องตัว รวมทั้งการสื่อสาร การได้ข้อมูลต่างๆ อย่างรวดเร็ว วิธีการและขั้นตอนการขอใบอนุญาต จำนวนใบอนุญาตที่ลดลง”

นายสุพันธุ์กล่าวว่า เอกชนต้องการเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงานและบทบาทของราชการ โดยต้องการเห็น การทำงานของราชการที่เหมือนกับภาคเอกชน แต่ยอมรับว่ามีอุปสรรคตรงกฎเกณฑ์ และบทลงโทษ กฎเกณฑ์ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดความคล่องตัวของภาคราชการที่จะมาช่วยเอกชน

“สิ่งสำคัญคือ มุมมองของเอกชนกับราชการจะแตกต่างกัน เอกชนเองมองราชการก็เหมือนกับว่าราชการมีความล่าช้า ไม่อำนวยความสะดวก เพราะต้องการทุจริตคอร์รัปชัน ราชการก็มองเอกชนว่าเห็นแต่ผลประโยชน์ เอาแต่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยปรับให้มองไปทิศทางเดียวกันว่า ฝ่ายหนึ่งไม่ได้เอาแต่ได้ แต่ต้องการพัฒนาให้องค์กรแข็งแรง อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีแต่คอน์รัปชัน”

นายสุพันธ์กล่าวว่า การขับเคลื่อนของภาคราชการค่อนข้างทำได้ยาก เพราะรายได้ของภาคค่อนข้างจำกัด ข้าราชการมีเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน จึงควรมีแนวทางในการเพิ่มรายได้ข้าราชการ เพราะจะเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มแรงจูงใจ เพิ่มการทำงาน เพิ่มความเชื่อมั่น ธรรมาภิบาลของภาคราชการเกิดขึ้น การดูแลภาคเอกชนก็จะมีความเต็มใจให้บริการมากขึ้น

รัฐต้องเล็กและมีประสิทธิภาพ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ดร.เอกนิติเข้าสู่การเสวนาด้วยการชวนคิดว่า ต้องมาตั้งโจทย์ให้ชัดก่อนว่ามีรัฐขึ้นมาทำไม เพราะโจทย์ไม่ชัดว่าทำไมถึงต้องมีรัฐ การจะหาคำตอบว่ารัฐที่ดีควรจะเป็นอย่างไรตอบยาก

“ผมว่าการที่มีรัฐเพราะมีกิจกรรมบางอย่างที่เอกชนอาจจะทำไม่ได้ หรือภาครัฐอาจจะจำเป็นจะต้องมีกฎกติกาบางอย่างเพื่อทำให้ระบบทำงานได้ดี และจากจุดตั้งต้นที่มาจากความปรารถนาดี แต่รัฐทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใหญ่ขึ้นจึงมีหลายอย่างที่รัฐทำโดยที่ไม่จำเป็น กิจกรรมบางอย่างเอกชนทำได้ รัฐก็รับมาทำ กติกาบางอย่างแทนที่รัฐจะทำเพื่อเอื้อให้เอกชนทำงานได้ รัฐกลับไปทำให้เอกชนทำงานยาก”

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ฉะนั้น รัฐที่พึงประสงค์ คือ รัฐต้องเล็ก ทำเฉพาะในสิ่งที่ควรทำที่เอกชนทำไม่ได้ และหน้าที่ที่ดีที่สุดของรัฐคือ อำนวยความสะดวกให้เอกชนทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วรัฐก็คือทำให้เล็กและมีประสิทธิภาพที่สุด การที่รัฐทำเองในแง่กลไกตลาดรัฐไม่มีคู่แข่งจึงไม่เกิดประสิทธิภาพ ต่างจากเอกชนเมื่อมีการแข่งขันจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น

“รัฐ ควรจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกและก็ทำในสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้ ในความเป็นจริงในโลกปัจจุบันคือโลกเปลี่ยนเร็ว และเป็นโลก VUCA รัฐปรับตัวไม่ทัน ปรับตัวได้ช้า เพราะมีขนาดใหญ่”

ดร.เอกนิติกล่าวว่า การที่รัฐมีขนาดใหญ่จึงติดกับดัก โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เจอโจทย์หนี้สาธารณะสูง งบประมาณจำกัด ความใหญ่ทำให้เกิดปัญหา ก็กลายเป็นปัญหาวนอยู่ในอ่าง นอกจากนี้การที่จะหาคนที่มีประสิทธิภาพขณะที่เงินเดือนน้อยก็ทำได้ยาก ส่วนการปรับเงินเดือนก็กระทบภาพใหญ่ การจัดสรรงบประมาณก็ถูกจัดสรรด้วยการจำกัด เพราะราชการใหญ่แล้วก็จัดตามโครงสร้าง หน่วยงานที่มีคนอายุมาก ฐานเงินเดือนใหญ่ก็จะได้เงินเดือนมาก หน่วยงานที่มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก ฐานเงินเดือนต่ำ

“อันนี้เป็นโลกของระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ถ้าทำได้ รัฐควรจะลดบทบาท แล้วก็ทำในสิ่งที่ควรทำ แล้วอะไรที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัด แต่ว่าการทำยาก”

สิ่งที่รัฐควรทำ ข้อแรก คือ ทำให้เอกชน ทำให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์บริการประชาชน บริการประชาชน ถ้ารัฐต้องทำก็ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการให้แรงจูงใจกับราชการก็ต้องสอดคล้องกับการตอบโจทย์ประชาชนในสิ่งที่รัฐต้องทำและเอกชนทำได้

ข้อสอง คือ ความโปร่งใส ความโปร่งใส ได้แก่ open government เปิดให้เอกชน เปิดให้ประชาชนเห็น ซึ่งประสิทธิภาพจะช่วยทำให้เกิดขึ้น

ข้อสาม นอกจากความรับผิดชอบและ ความโปร่งใสแล้ว คือ ประสิทธิภาพ หมายถึงต้องเปลี่ยนแรงจูงใจของระบบราชการ ปัจจุบันระบบราชการไม่ได้จูงใจให้คนทำงานได้เต็มที่ คนที่กล้าตัดสินใจก็จะมีความเสี่ยง จึงขอไม่ทำดีกว่า ดังนั้นต้องเปลี่ยนแรงจูงใจเพื่อให้แรงจูงใจคนที่กล้าตัดสินใจ ต้องมีกลไกในการปกป้องข้าราชการที่กล้าตัดสินใจบนข้อมูลที่มีอยู่ ทำอย่างซื่อสัตย์สุจริต แล้วเอื้อให้สามารถที่จะตัดสินใจได้

“ที่สำคัญคือต้องมีแรงจูงใจให้กับคน มิฉะนั้นทุกคนจะไม่กล้าตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็น ขณะเดียวกันเราเน้นกระบวนการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใครผิดกระบวนการมีสิทธิ์ติดคุก จึงไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นควรจะต้องมีกฎหมายบางอย่างเพื่อปกป้องคนดีที่กล้าตัดสินใจ และเป็นการตัดสินใจบนข้อมูลวันนี้ที่มีอยู่ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร แต่ทำดีที่สุดบนข้อมูล บนความซื่อสัตย์สุจริตที่มีอยู่ ต้องปกป้อง มิฉะนั้นจะไม่เกิดการตัดสินใจ และเอาปัญหาไปใส่ให้กับอนาคต ให้กับประเทศ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ”

ดร.เอกนิติสรุปในรอบแรกว่า หนึ่ง ต้องทำให้ราชการให้เล็กลง เพราะถ้าไม่ลดจะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เนื่องจากจะติดขัดทั้งในเรื่องคน เรื่องระบบ เรื่องงบประมาณ สอง ต้องเปลี่ยนระบบราชการ ซึ่งเปลี่ยนทุกอย่างไม่ได้ แต่เปลี่ยนในสิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนอย่างแท้จริง รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่มีจำนวนมาก

“การเปลี่ยนที่สำคัญมากที่สุด คือ การเปลี่ยนวิธีการ การกฎหมายที่ปกป้องคนดีกล้าตัดสินใจ ยังไม่ต้องให้ แรงจูงใจก็ได้ แต่ทำยังไงให้คนดีกล้าตัดสินใจ คนดีที่กล้าตัดสินใจเหลือน้อยมากๆ เพราะระบบไม่เอื้อ สิ่งสำคัญต่อมาคือการก้าวสู่ดิจิทัล ทั้งเรื่อง digitalize กับ digitize ไม่ใช่แค่แปลงจากกระดาษเป็นดิจิทัล แต่ต้องเอาดิจิทัลมาเปลี่ยนเป็นกระบวนการทำงาน”

โดย ดร.เอกนิติยกตัวอย่างการเอานำดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เร็วขึ้น จากการยกระดับการให้บริการประชาชนของกรมสรรพากร ซึ่งหากดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนราชการปกติจะใช้เวลาถึง 3 ปี จึงเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัล โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม แล้วเปิดเป็น open application programming interface (open API) ให้เอกชนที่มีความปลอดภัยเข้ามาร่วมงาน โดยดึงหน่วยงานรัฐ คือ ETDA มาเป็นพันธมิตรให้ช่วยตรวจสอบเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วม ส่งผลให้กรมสรรพากรสามารถให้บริการประชาชนได้ดี โดยมีเอกชนที่เป็นสตาร์ตอัปร่วมกับกรมสรรพากร 2-3 รายที่ประชาชนสามารถใช้บริการยื่นแบบภาษีแล้วส่งข้อมูลให้กับสรรพากรได้ทันที แนวทางนี้ราชการก็ไม่ต้องใช้เงิน

รัฐต้อง smart เพื่อเป็นเจ้าภาพประสานงาน

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

นางสาวสฤณีเห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาที่บอกว่าอยากให้รัฐเล็กลง แต่เล็กลงอย่างเดียวไม่พอ รัฐจะต้อง smart จะต้องฉลาดขึ้น ปัญหาในโลก VUCA เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งความซับซ้อนนี้ต้องอาศัยกลไกทุกองคาพยพร่วมกัน คือทั้งรัฐ รัฐต้องเป็นตัวตั้ง เป็นเจ้าภาพในการประสานการทำงานให้ได้ ประสานข้ามหน่วยงานตัวเอง ข้ามภาคส่วนต่างๆ แล้วจะต้องร่วมมือกับเอกชน ภาคประชาสังคมหรือประชาชนด้วย

“รายงานของ OECD ที่ติดตามวิธีการแก้ปัญหาช่วงโควิดของประเทศสมาชิก ที่ชี้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น จะต้องเป็นลักษณะของ all society คือจะต้องระดมความช่วยเหลือ การประสานงานจากทั้งสังคม เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีบทบาทหลักอยู่แล้ว เพราะรัฐมีหน้าที่หลักในการประสานความช่วยเหลือ”

นางสาวสฤณีกล่าวว่า ขนาดรัฐไทยเป็นรัฐราชการที่ใหญ่มากขึ้น โดยอาจจะไม่ได้มีหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น แต่มีการตั้งคณะกรรมการตลอดเวลา แล้วมีองค์กรที่มีลักษณะไม่ใช่หน่วยงานราชการ สถานะเป็นนิติบุคคล เงินก็ไม่ต้องนำส่งรัฐ ฉะนั้นรัฐก็ต้องเล็กลง แต่เล็กลงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีแนวทางที่ทำให้ smart ขึ้นด้วย รวมทั้งการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้แก้ปัญหา

ในยุคโควิดมี 5 ประเด็นใหญ่ที่มีสำคัญสำหรับภาครัฐ

ประเด็นแรก คือ accountability หากรัฐไม่มีความรับผิด หรือราชการไม่มีความรับผิดที่ชัดเจนก็มีปัญหาแน่นอน เช่น การทำหน้าที่ของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ต้องบริการประชาชนที่ต้องมีกลไกป้องกัน ความรับผิดเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการให้ชัดเจน และคุ้มครองทุกคนให้สามารถทำหน้าที่ที่มีความรับผิดนั้นได้ด้วย

ประเด็นที่ 2 คือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือ transparency ซึ่งมี 3 เรื่องที่ต้องทำเพื่อนำไปสู่ความโปร่งใส ในยุคนี้ไม่ได้ใช้คำว่า transparency ทั่วๆ ไปแล้ว แต่ต้องเป็น radical transparency ความโปร่งใสแบบสุดขั้ว เพราะเทคโนโลยี หรือเครื่องมือต่างๆ เอื้อให้ทำได้แล้ว

ทั้งนี้เรื่องที่ต้องทำ 3 เรื่องเพื่อความโปร่งใส ได้แก่ การสื่อสารของภาครัฐต้องชัดเจน ต้องอยู่บนฐานข้อมูล (evidence-based) การทำนโยบายสาธารณะ ต้องมีข้อมูลหลักฐานตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าทำไมถึงตัดสินใจ รัฐตัดสินใจด้วยพื้นฐานของอะไร เมื่อทำไปแล้ว ต้องมีการติดตามผล แล้วต้องมีการถอดบทเรียนมา

“รายงาน OECD บอกว่าการสื่อสารที่ชัดเจน ที่เป็น evidence-based สำคัญมากในยุคโควิด เพราะเป็นยุคที่ media landscape หรือภูมิทัศน์สื่อเองแน่นมาก วันนี้ทุกคนก็พูดอะไรผ่าน social media เอง ก็เลยกลายเป็นป่าดงดิบของข่าวปลอม fake news ของ misinformation และ disinformation ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน เต็มไปหมด ฉะนั้นรัฐยิ่งต้องสามารถที่จะสื่อสารอย่างชัดเจน โดยที่ใช้ข้อมูลหลักฐานแล้วก็พร้อมที่จะอธิบายข้อเท็จจริงให้กับประชาชน เวลาที่รัฐมองว่าเกิด fake news หรือ misinformation วิธีที่ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ดีที่สุด ก็คือกระจายข้อเท็จจริง และรัฐก็ไม่ควรจะเป็นคนปล่อย fake news เสียเอง หรือไปตีความสิ่งที่เป็นเพียงการแสดงความเห็นว่าเป็น fake news”

นางสางสฤณีกล่าวว่า…

“การสื่อสารจะช่วยสร้างความโปร่งใส และเชื่อมโยงกับความไว้วางใจของประชาชนด้วย ยิ่งรัฐโปร่งใสประชาชนยิ่งเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ”

เรื่องที่ 2 ที่ต้องทำคือ open government กับ digital government ซึ่งอุปสรรคใหญ่เป็นเรื่องแนวคิด mindset วิธีคิด กรอบคิดเกี่ยวกับข้อมูล มากกว่าที่จะเป็นปัญหาด้านเทคนิค ส่วนหนึ่งอาจจะมาจาการหน่วยงานทำงานภายใต้กรอบกฎหมายคนละฉบับ จึงทำให้ราชการมีลักษณะที่ใช้คำว่าหวงข้อมูล ทั้งที่จริง แล้วข้อมูลทั้งหมดที่ราชการมีอยู่ ข้อมูลสำนักงานทั้งหมด ไม่ใช่ข้อมูลของหน่วยงานราชการ แต่เป็นหน่วยงานของสาธารณะ เป็นข้อมูลของประชาชน

“open data หรือ open government จุดเริ่มต้นคือ mindset ที่ว่าการเปิดคือ default ค่าตั้งต้นคือต้องเปิด การปิดเป็นข้อยกเว้น การเปลี่ยน mindset สำคัญกว่าเรื่องทางเทคนิค”

เรื่องที่ 3 ที่คิดว่าสำคัญต่อการเพิ่มความโปร่งใส คือ กลไกสถาปนาความเป็นธรรมในระบบราชการ เพราะปัญหาทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงคอร์รัปชัน แต่เป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์กันโดยมิชอบ เป็นเรื่องของระบอบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมาก แล้วเป็นประเด็นหลักที่ทำให้คนดีๆ ในระบบราชการอยู่ยาก

“เราจะสถาปนาความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ยังไง เรามีกฎหมาย ในกฎหมาย กพ. มีคณะกรรมการที่ว่าคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม มีกลไกให้ร้องทุกข์ ให้ร้องเรียน คำถามคือว่า กลไกเหล่านั้นทำงานได้ดีแค่ไหน คุ้มครองเขาได้จริงไหม กลไกอาจจะเรียกว่าเป็น whistle-blower ก็ได้ การคุ้มครองผู้ให้เบาะแส เพื่อให้เขาสามารถทำหน้าที่ แล้วก็กล้าแสดงออกมากขึ้น”

ประเด็นที่สัมพันธ์กัน คือการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของข้าราชการ ตัวอย่างเช่น เริ่มมีแพทย์ มีข้าราชการในสายสาธารณสุขก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ออกมาเตือนเกี่ยวกับปัญหาของระบบสาธารณสุข นโยบายวัคซีน เตียง ซึ่งหมอ ข้าราชการถูกข่มขู่ เราจะคุ้มครองคนเหล่านี้ได้ยังไง เพราะเห็นชัดว่าคนเหล่านี้ออกมาเพราะเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง

ประเด็นที่ 3 คือ civic empowerment การเพิ่มพลังให้พลเมืองของประเทศ การเพิ่มพลังพลเมืองมีความสำคัญมากขึ้น เพราะโดยเทคโนโลยีทำได้มากขึ้น และการที่รัฐมีข้อจำกัดในแง่ของทรัพยากร ก็ยิ่งทำให้การเพิ่มพลังประชาชน เพิ่มพลังให้พลเมืองจัดการตัวเองได้มากขึ้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ประเด็นที่ 4 คือ โลก VUCA มีความซับซ้อนสูง ความเสี่ยงหลายอย่างที่จะเจอเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน จึงไม่มีบทเรียนจากอดีตว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องคิดวิธีใหม่ๆ ในการจัดการ ลักษณะของรัฐเรื่องที่ 4 ที่คิดว่าสำคัญมาก คือจะต้อง experiment ตลอดเวลา จะต้องมีกระบวนการที่ทดลอง ลองผิดลองถูก และจะต้องรับความเสี่ยง จะต้องมีกระบวนการที่รับความเสี่ยงแบบทั้งองคาพยพ

กฎระเบียบหลายอย่างไม่ได้เป็นปัญหาและทำให้ราชการไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่เป็นอุปสรรคกับการทดลองสิ่งใหม่ๆ และการสร้างวัฒนธรรมการลองผิดลองถูกด้วย อุปสรรคอีกด้านหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการทดลองในราชการ คือ การวัดผลของราชการ หรือ KPI

โครงการหลายโครงการ ไม่ได้วัดไปที่ผลลัพธ์ทางสังคม แต่เอาผลผลิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ดูผลลัพธ์ โดยอ้างอิงกับระเบียบ และกรอบการรายงาน ฉะนั้น ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ และกำหนดโจทย์ที่ชัดเจนว่า เป็นผลผลิตหรือผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง

ประเด็นที่ 5 คือ trust ความไว้วางใจ สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะเกิดคำถามมากว่ารัฐสร้างความไว้วางใจได้มากแค่ไหน เนื่องจากมีประเด็นรากฐานบางด้านที่หน่วยงานราชการเอง ทั้งองคาพยพของระบบ ยังไม่ได้มีความเห็นหรือมุมมองที่ตรงกัน เช่น เรื่องของสวัสดิการ จากแนวคิด จากการกระทำ ข้าราชการบางหน่วยงานที่ยังไม่เข้าใจ จึงจัดสวัสดิการในลักษณะสังคมสงเคราะห์ เป็นการอนุเคราะห์

“ความไว้วางใจเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ราชการต้องมีความไว้วางใจจากประชาชนถึงจะเดินหน้าได้ เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ หากประชาชนมั่นใจว่ารัฐจะคุ้มครองข้อมูลให้ ไม่เอาข้อมูลไปทำสิ่งที่ผิดวัตถุประสงค์ ก็จะเกิดความไว้วางใจ เกิดแรงจูงใจมากขึ้น”

อ่านต่อตอนจบ ThailandFuture Forum 2021: สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย ทำอย่างไรจะให้เกิด