วันที่ 3 มีนาคม 2558 สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ออกรายงาน “เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่?” โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2558 อยู่ที่ -0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.12% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว โดยราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่ดึงให้ดัชนีราคาลดลง ดัชนีราคาพลังงานลดลง 12.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สองแล้ว นั่นแปลว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือไม่?
เงินฝืดคืออะไร
เงินฝืดไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ราคาของสินค้าส่วนใหญ่ลดลงหรือไม่ ภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวด้วยหรือไม่ คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง รายได้คนลดลงหรือไม่ ฯลฯ
ทำไมเราต้องกังวลเรื่องเงินฝืด
การที่สินค้าราคาถูกลงฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้คนไม่ค่อยใช้จ่ายเพราะคิดว่าราคาจะถูกลงอีก ลองคิดดูว่าถ้าเรารู้ว่า สินค้าชนิดหนึ่งจะลดราคาลงอีก เราก็คงจะไม่ซื้อของชิ้นนั้นในวันนี้ แต่จะรอจนราคาถูกลงจึงซื้อ แต่พอคนไม่ซื้อมากๆ เข้า คนขายก็จำเป็นต้องลดราคาลงอีกเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจและการจ้างงาน
อีกผลกระทบของเงินฝืดคือทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ถ้าลองนึกภาพโรงงานปากกามีหนี้อยู่ 100 บาท ผลิตปากกาขายราคาด้ามละ 10 บาท ถ้าผลิตปากกา 10 ด้าม ก็จะได้เงิน 100 บาท และสามารถใช้หนี้คืนได้ (คิดง่ายๆ ว่าไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ) แต่ถ้าเกิดภาวะเงินฝืด ปากกาจากเดิมราคาด้ามละ 10 บาท ตอนนี้เหลือด้ามละ 5 บาท ถ้าจะชำระหนี้จะต้องผลิตและขายปากกาถึง 20 ด้าม บริษัทหรือครัวเรือนที่มีหนี้มากก็จะประสบปัญหาในการชำระหนี้
เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่
เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อติดลบอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องดูประกอบกัน ในประเทศที่ประสบกับภาวะเงินฝืดอย่างประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่านอกจากเงินเฟ้อที่ติดลบแล้ว ยังพบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจติดลบ ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง คนคาดว่าเงินเฟ้อในระยะยาวจะยังคงต่ำมากหรือติดลบ เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ต่ำมาก (ดูรูป 1)
ในขณะที่กรณีประเทศไทย เงินเฟ้อทั่วไปเริ่มติดลบ (เมื่อเทียบกับปีก่อน) แต่ก็เกิดจากการลดลงของราคาสินค้าไม่กี่ชนิด เช่น ราคาน้ำมัน ถ้าดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งตัดราคาน้ำมัน และราคาอาหารสดออกจะพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น ราว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ยังพอขยายตัวได้ในปีนี้ (อย่างช้าๆ)เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การที่น้ำมันและอาหารราคาถูกลงทำให้รายได้ในกระเป๋าคนเพิ่มขึ้น และจะเห็นได้ว่าการจ้างงานยังคงสูงมาก ชั่วโมงการทำงานยังไม่ลด ค่าจ้างยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำมาก
แล้วเงินเฟ้อจะติดลบต่อไปอีกนานหรือไม่
เงินเฟ้อเมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังคงติดลบต่อไปอีกระยะ อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งปีแรก ด้วยผลของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยนั้นขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลงราวเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว