ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชี้กรรม 3 ประการ อาการประเทศไทย “วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง ย่ำค่ำระฆังขาน”

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชี้กรรม 3 ประการ อาการประเทศไทย “วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง ย่ำค่ำระฆังขาน”

2 พฤศจิกายน 2013


ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวปิดงานสัมมนา “จับชีพจรประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โดยได้กล่าวว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งสัญญานเตือนภัยแต่เนิ่นๆ ว่า ณ วันนี้ ปัญหาของประเทศที่สั่งสมกันมานานและไร้การแก้ไขอย่างจริงจัง มันเริ่มฉุดให้ประเทศไทยของเราเริ่มก้าวเข้าสู่ความถดถอยแล้ว ตอนนี้ไม่ได้เป็นเวลาที่เราจะมาเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยหรือไม่ เพราะเรื่องมันเกินเลยไปมากแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ความตกต่ำและถดถอยของประเทศที่กำลังมีอาการตามที่ ดร.เศรษฐพุฒิ(สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา) ได้กล่าวมา กำลังนำพาประเทศไทยไปสู่จุดใดในอนาคตข้างหน้าหากเราไม่เร่งแก้ไข ดร.เศรษฐพุฒิได้ชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง คือ ตัวอย่างรูปแบบการตกต่ำและถดถอยของประเทศฟิลิปปินส์ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 70 แล้วค่อยๆ ทอดยาวมาอีกประมาณ 3-4 ทศวรรษ จากตรงนั้นเกิดอะไรขึ้นกับฟิลิปปินส์ที่เคยเป็นประเทศซึ่งได้ชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วสูงสุดประเทศหนึ่งในเอเชีย เป็นรองก็แค่ญี่ปุ่น แล้วพลิกกลับลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวในแทบทุกมิติ

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นเช่นนี้ มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและการเมืองของเอเชียในอดีตคนหนึ่งได้ศึกษาเรื่องของประเทศฟิลิปปินส์และเขียนรายงานเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Affairs ซึ่งเป็นวารสารสำคัญของโลกที่เน้นเรื่องการต่างประเทศ เขาระบุว่า เหตุผลที่ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเป็นเช่นนั้นมาจากสิ่งที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “บาป 3 ประการที่ประเทศนั้นได้กระทำเอาไว้”

ประการที่ 1 การบริหารประเทศที่ผิด (mismanagement) แต่ไม่ใช่การบริหารที่ผิดพลาด
ประการที่ 2 การฉ้อราษฎร์บังหลวงและคอร์รัปชัน
ประการที่ 3 เมื่อรู้ว่าประเทศเริ่มมีสัญญาณแห่งการถดถอย แต่ไร้ความพยายามโดยสิ้นเชิงในการที่จะปฏิรูปเพื่อดึงให้มันกลับมาสู่ภาวะที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง

บาป 3 ประการนี้ได้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วง 3-4 ทศวรรษจนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อภาคการเมือง และที่สำคัญ ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจให้ล้มเหลวทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการสร้างทักษะความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ของฟิลิปปินส์ บาป 3 ประการนี้ได้ฉุดรั้งให้ฟิลิปปินส์จมลึกลงในความตกต่ำและล้มเหลว จนถึงขีดสุดที่คนฟิลิปปินส์ต้องอพยพไปหางานในต่างประเทศและยอมขายแรงงานราคาถูก คนที่มีการศึกษาและความสามารถก็ยอมลดระดับตัวเอง (downgrade) เพื่อให้มีโอกาสได้อยู่รอดในต่างประเทศ และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ ranking_GDP

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฟิลิปปินส์มีความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองและแก้ไขกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ยุคของมาร์กอส ตามมาด้วยยุคของรามอส ยุคของเอสตราดา ไล่มาจนถึงยุคของอาร์โรโย แต่ปรากฏว่าการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปฏิรูปเพื่อทำให้อำนาจฐานะของเหล่าผู้นำทางการเมืองเหล่านั้นเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยหรือระบบการเมืองของประเทศดีขึ้น เป็นเสมือนการแสดงละครทางการเมืองครั้งใหญ่ตลอด 30-40 ปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักการเมืองรุ่นหลังที่ควรจะปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจให้ดีขึ้นก็กลับพยายามที่จะกีดกั้นและขัดขวางไม่ให้เกิดการปฏิรูปเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองให้ดูดี มีนักวิชาการคนหนึ่งได้กล่าวสรุปไว้ตรงนี้ว่า ลักษณะการถอยลงของฟิลิปปินส์ ตรงกับหลักของหนังสือที่ขายดีในขณะนี้ที่ชื่อ “Why Nations Fail” นั่นก็คือ ภาคการเมืองไม่ได้เน้นการพัฒนาประเทศ แต่กลายเป็นกลไกในการแย่งชิงอำนาจเพื่อกลุ่มคณะของตนเอง

แล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างฟิลิปปินส์หรือไม่?

ประเทศไทยกำลังเริ่มกระทำบาป 3 ประการนี้หรือเปล่า ผมคงตอบไม่ได้ แต่เศรษฐกิจของเราเริ่มมีอาการถดถอยซึ่งมีข้อสังเกต 2 ประการคือ

หนึ่ง การถดถอยของเศรษฐกิจในครั้งนี้ มันเกิดขึ้นกับ 4 เสาหลัก ซึ่งได้แก่ การส่งออก การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ทรุดตัวลงพร้อมๆ กัน

สอง ผมไม่คิดว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจจะฟื้นคืนกลับมาได้ ต้นปีหน้า หากเราโชคดี เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นมา เราก็อาจจะฟื้นขึ้นมาบ้าง แต่ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะจรรโลงอยู่ได้ และจะเป็นการเติบโตที่เปราะบาง เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ของโลกมันหดหายไป แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มูลค่าการส่งออกที่ลดลงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ไม่มีอุปสงค์ หรือค่าเงินบาทแข็งตัว แต่เป็นเพราะความสามารถในการแข่งขันของเรามันหายไป และแรงหนุนส่งจากอดีตมันเริ่มหมดไป ในขณะเดียวกันก็ไม่มีแรงหนุนใหม่เข้ามา

ประเทศที่ส่งออกหากเศรษฐกิจเริ่มแย่ เขาต้องพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศ จริงๆ แล้ว GDP per capita ของประเทศไทยไม่ใช่ 5,000 เหรียญต่อปีหรอก เพราะถ้าเรามี 30 ล้านครัวเรือน 30 ล้านคน ตอนนี้ GDP ภาคเกษตรอยู่ที่ประมาณ 10% หากเอา 10% คูณด้วย GDP ของประเทศไทยแล้วหารด้วย 30 ล้านคน จะทำให้ GDP per capita ต่อหัวจริงๆ ของคนเหล่านั้นอยู่แค่ 1,200 เหรียญต่อปี ซึ่งจนมากเลย ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นอำนาจซื้อภายในประเทศ

ฉะนั้น ถ้าไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตเพื่อทำให้ value chain ของเรานั้นเข้มแข็งและมีจุดขาย ในอนาคตข้างหน้า หากเราไม่ปฏิรูปการศึกษาและไม่ปฏิรูปวิทยาการ แต่ทำเพียงเรื่องที่กระตุ้นหลอกคนไปวันๆ เพราะว่าผลงานของภาคการเมืองจะดูที่ GDP หากรัฐบาลไหนมี GDP ไม่ดีจะแปลว่าไม่มีความสามารถ ดังนั้น ถ้าเราไม่ปฏิรูปการเกษตรอย่างจริงจัง คนของเรามันก็จะยากจน และก็ไม่เกิดการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ผมกล้ากล่าวได้เลยว่าไทยเป็นประเทศที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกทีเดียว เราไม่มีอะไรที่แน่นอนเลยใน 3-5 ปีข้างหน้า คนที่จะเข้ามาลงทุนเขาจะดูอนาคตของประเทศนั้นๆ ดังนั้น ต่อให้เมืองไทยเป็นเพชรเม็ดงามของอาเซียน เขาก็ไม่เสี่ยงกับการนำเงินเป็นแสนล้านมาไว้ในประเทศซึ่งมีความเสี่ยงทางการเมืองและไม่มีอะไรที่แน่นอน

ส่วนค่าใช้จ่ายของภาครัฐบาล เราเริ่มมีอาการขาดดุลการค้าในปีนี้ประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ถ้าถึงปลายปีก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ 8% ของ GDP) ถ้าสถานการณ์มันไม่ดีขึ้น และเราเริ่มเก็บภาษีได้น้อยลงเทียบกับปีที่แล้ว พร้อมๆ กับการลดภาษีนิติบุคคลที่ปีหน้าก็จะมีการปรับกันอีก งบฯ ของเราก็จะปิดหีบไม่ลง ทำให้ รัฐบาลมีเงินที่จะนำมาใช้จ่ายน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่คือข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น

ในเมื่อมีข้อเท็จจริงแล้ว ทำไมเราถึงไม่ปฏิรูป เหตุผลก็คล้ายๆ กับฟิลิปปินส์ คือ แทนที่การเมืองของเราจะเป็นกลไกในการพัฒนา กลับกลายเป็นสนามรบที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ตนนั้นอยู่ได้และอยู่รอด เมื่อมันเป็นเช่นนี้ นโยบายก็มีแต่ระยะสั้นเพื่อมุ่งการหาเสียงเป็นหลัก สิ่งไหนที่ไม่ดีก็ไม่สามารถเลิกได้ เพราะมันหมายถึงฐานเสียงที่จะหายไป

ดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สิ่งที่น่ากลัวมากคือเรื่องของคอร์รัปชัน เราปล่อยให้มันเบ่งบาน ค่อยๆ กลืนกินเข้าไป สิ่งเหล่านี้มันกำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีฐานที่แข็งแรงสั่งสมมาจากในอดีตซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็คือว่า เวลามีอาการเจ็บไข้อยู่ข้างใน อาการมันจะหลบใน โผล่ขึ้นมาก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอาการมากเท่าใดนัก แต่สิ่งที่หลบอยู่ข้างในมันจะเป็นมะเร็งเมื่อถึงเวลามันทรุด ก็เหมือนกับเสาหลักของประเทศ ถ้ามันผุกร่อนมากๆ เวลามันเริ่มทรุดมันจะทรุดตัวอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยจะเป็นอย่างฟิลิปปินส์ในอนาคตหรือไม่ ผมมองว่าประเทศไทยมีฐานที่แข็งแรง มีแรงลมส่งในอดีต เพียงแต่ว่ามันค่อยๆ เบาลง หากเราเห็นอาการแล้วต้องการจะแก้ไข สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้มันแก้ไขได้มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1. ผู้นำ

ผู้นำมีความสำคัญมากต่อประเทศไทยในขณะนี้ เพราะว่าจะต้องเป็นคนที่พยายามผลักดันให้ประเทศกลับมาสู่ภาวะที่เข้มแข็ง ในขณะเดียวกัน เมื่อ AEC เกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นโอกาสของประเทศไทยหากเรารู้จักใช้ความสามารถทั้งหมดเพื่อสร้างโอกาสนี้ขึ้นมา และเมืองไทยจะมีโอกาสเจริญรุ่งเรืองสูงมากๆ เลยทีเดียว ผู้นำจะต้องรู้สถานการณ์ว่าเรานั้นเป็นอย่างไรอย่างแท้จริง ถ้าลูกน้องไม่รู้ คุณต้องหาคนที่รู้มาพูดให้ฟังมาวิเคราะห์ให้ฟัง เมื่อรู้แล้วต้องพยายามคิดวิธีในการแก้ไขและปรับปรุง ที่สำคัญ ต้องรู้จักใช้คนที่ทำงานเป็น ทำงานจริงจัง อันนี้สำคัญมาก ที่สิงคโปร์เจริญมาได้ทุกวันนี้เป็นเพราะระบบ Meritocracy คือการเอาคนที่ทำงานเป็น เอาคนที่ถูกต้องมาใช้งาน แต่ถ้าการเมืองกลายเป็นสนามรบเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน มันก็จะกลายเป็นการแต่งตั้งบุคคลากรตามสายบังคับบัญชา (Command) และความจงรักภักดี (Loyalty) มาทำงาน แต่ไม่ได้เน้นถึงความสามารถที่เหมาะสม ผลที่เกิดขึ้นก็คือภาวะสมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศในทุกระดับ และถ้ามันเป็นตัวหลักๆ มันก็จะทำให้การทรุดของประเทศเกิดขึ้นในอัตราเร่งได้

ดังนั้น ผู้นำจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเองและเข้าใจสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง จะมีที่มาจากไหนก็ไม่สำคัญ แต่เมื่อเป็นผู้นำแล้วต้องมองทุกอย่างเพื่อประเทศไทย ต้องคิดเอง สั่งการเอง แต่งตั้งบุคคลเพื่อมาทำงานด้วยตัวเอง เอาคนเก่งมาทำงานแล้วกล้าขับเคลื่อน

อย่างที่ผมได้กล่าวมา ฟิลิปปินส์นั้นล้มจากภายในไม่ใช่จากภายนอก เป็นเพราะว่าประชาชนขาดศรัทธาต่อกลไกการเมือง หรือที่เรียกว่า Distrust Society ซึ่งหากมันเกิดขึ้น เมื่อคุณจะทำเรื่องอะไร ประชาชนจะตั้งคำถามว่าทำจริงหรือไม่ ถ้าคุณทำอะไรอย่างตั้งใจเต็มที่ พวกเขาก็จะบอกว่าจะโกงกันหรือไม่ ถ้าคุณโต้ตอบคุยอะไรก็แล้ว ก็จะไม่มีใครเชื่อเพราะพวกเขามีสมมุติฐานที่ไม่ดีอยู่ข้างหลัง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องทำคือสร้างศรัทธาขึ้นมาให้ได้ ผมไม่คิดว่ามันจะช้าเกินไป คนเก่งในภาครัฐมีมากแต่เขาต้องเป็นตัวของตัวเองและกล้าที่จะบริหารจัดการอย่างซื่อสัตย์ (integrity) และมีศักดิ์ศรี แล้วประเทศไทยจะฟื้นกลับมาดีขึ้น ไม่ต้องไปสนใจว่าใครจะว่าอย่างไร ใครจะด่าจะว่าก็ต้องถือว่าเราน้อมรับ รับเพื่อมาแก้ไขให้ประเทศอยู่รอด

2. จิตสำนึกของนักการเมือง

บางครั้งนักการเมืองก็ไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมและความรับผิดชอบของตัวเองนั้นสำคัญเพียงใด ลองมองตัวอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความที่ไม่มีจิตสำนึกการเมืองที่ดีเพียงพอของนักการเมืองรุ่นนี้มันกำลังทำลายอเมริกา ใครจะคิดว่าประเทศมหาอำนาจและใหญ่ขนาดนี้จะปล่อยให้สภาวการณ์ดำเนินมาจนกระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนที่ทุกอย่างจะล้มเหลวถึงจะตกลงกันได้ เปิดโอกาสให้จีนไปยืดเส้นยืดสายที่ APEC เปิดโอกาสให้จีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ณ วันนี้ลงข่าวของสำนักข่าวซินหัวเพื่อเรียกร้องให้ทุกประเทศในโลกเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า de-Americanized World เลิกคิดตามก้นอเมริกาในการใช้เงินอเมริกา เลิกให้อเมริกาไปยุ่งในแต่ละประเทศแต่ให้เน้นในอำนาจของสหประชาชาติ ผมไม่รู้ว่าเขาเข้าใจในสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เข้าใจหรือไม่ว่าในอนาคตข้างหน้าเงินดอลลาร์จะไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ความรับผิดชอบมันสำคัญมากๆ นักการเมืองไทยที่ดีนั้นมีเยอะ เพียงแต่บางครั้งไม่มีที่ยืน ไม่มีความกล้าที่จะคิดด้วยตัวเองเพื่อประเทศเพื่อบ้านเมือง คิดถึงแต่ความอยู่รอดว่าจะมีพรรคอยู่หรือเปล่า แล้วก็กลายเป็นว่าพรรคการเมืองคือกลไกบางอย่างเท่านั้นเอง

TFF 240413 event_dr_somkid 1
3. ภาคประชาชนที่เข้มแข็ง

เราต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งอย่างที่ดร.ประเวศ วะสี ได้กล่าวเอาไว้ ต้องเข้มแข็งเพียงพอที่จะสามารถตีกรอบการเมืองที่ดีได้ ไม่ใช่ว่าใครให้คิด คิด, ใครให้ทำ ทำ, ใครให้โกง โกง แล้วก็มาบ่นว่าและรอให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เหมือนนกกระสาเปลี่ยนนายที่เกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนจากมาร์กอสแล้วไล่มาอีกสี่ห้าคน แต่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมและเลวลง เป็นต้น

ฉะนั้น ผู้นำก็ดี นักการเมืองก็ดี สามารถทำให้เมืองไทยดีขึ้นได้ แต่ภาคประชาชนต้องกลายเป็นภาคพลเมืองที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน ถ้าภาคพลเมืองยังไม่เข้มแข็ง ภาคเอกชนยังไม่รวมพลัง เมื่อถึงวันนั้นในอนาคตข้างหน้า ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องจ่ายราคา (เป็น Price ที่ต้อง Pay) เพราะข้อ 1 ถึง 3 ที่กล่าวมามันจะไม่ใช่บาป 3 ประการแล้ว เพราะถ้าคุณไม่มีทั้ง 3 ข้อ มันจะกลายเป็น “กรรม” กรรม 3 ประการที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ กล่าวได้ว่า ชีวิตของพวกเราในอนาคตจะได้เห็นถึงความเสื่อมถอยถึงความผุกร่อนของประเทศอย่างแน่นอน อย่าคิดว่าในขณะนี้เศรษฐกิจดูดี เพราะมันดีเฉพาะแค่เปลือก แต่ข้างล่างของเสาหลักแต่ละเสามันเริ่มผุกร่อน ณ ตอนนี้ ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข

งานในวันนี้จัดขึ้นมาเพื่อเตือนภัย ไม่ใช่เพื่อต่อว่าว่าพรรคนี้ก็ไม่ดี พรรคนั้นก็ไม่ดี เพราะปัญหามันสั่งสมกันมาจนถึงเวลาที่เราต้องมาช่วยกันแก้ไขกันแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในขณะที่ชาติอื่นในอาเซียนกำลังขึ้น เราจะตกลงด้วยความเร็วและทำให้เสียโอกาส ถ้าเราป้องกันทัน เราจะไม่เหมือนฟิลิปปินส์เพราะเรานั้นแข็งแรงกว่า ท่านจำบทกลอนสมัยประถมที่มันเริ่มต้นว่า “วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง ย่ำค่ำระฆังขาน ” ได้หรือไม่ ไอ้ความวังเวงนั่นแหล่ะครับ คือชีพจรประเทศไทย ถ้าเรายังไม่สำนึกตื่นตัวเพื่อแก้ไขตั้งแต่วันนี้