31 มกราคม 2556 – สถาบันอนาคตไทยศึกษา ออกรายงาน TFF Business Roundtable “หลากมุมมองจากภาคเอกชนต่อการพัฒนาประเทศไทยนับจากปี 2556” เก็บประเด็นมุมมองและมุมคิดของนักธุรกิจระดับคีย์แมนจากภาคเอกชน นำเสนอ 4 ปัจจัยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้านับจากปี 2556 เริ่มจากพร้อมรับ AEC โดยการก้าวขึ้นเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียนอินโดจีน เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน กระจายการพัฒนาด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และผลักดันแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ชัดเจนเพื่อเป็นหางเสือแห่งการพัฒนา
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้จัดงานสนทนา TFF Business Roundtable โดยได้รับเกียรติจากผู้นำภาคเอกชนระดับคีย์แมนในหลากหลายสาขาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสาขาการเงิน ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ประกันภัย และโทรคมนาคม ซึ่งได้แก่นายกฤษฎา ล่ำซำ นายชาติศิริ โสภณพนิช นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายทศ จิราธิวัฒน์ นายธีรพงศ์ จันศิริ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายสาระ ล่ำซำ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ร่วมสนทนาเกี่ยวกับมุมมองและความเห็นของภาคเอกชนต่อปัจจัยขับเคลื่อนที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยนับจากปี 2556 เป็นต้นไป ซึ่งสถาบันฯ เห็นว่าสาระที่ได้จากวงสนทนานี้มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง จึงขอนำเนื้อหาที่สำคัญมาจัดทำเป็นรายงาน TFF Business Roundtable เพื่อเผยแพร่ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้นำจากภาคเอกชนได้สะท้อนมุมมองและความคิดที่มีต่อการพัฒนาประเทศไทยนับจากปี 2556 ว่าต้องการเห็น 4 ปัจจัยขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่ได้เปรียบในเชิงแข่งขันเหนือกว่าประเทศอื่น ซึ่งได้แก่เรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เรื่องความสามารถในการแข่งขัน เรื่องเศรษฐกิจชุมชน และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องยุทธศาสตร์ประเทศไทย
สำหรับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ภาคเอกชนให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรฉวยโอกาสนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนโดยเฉพาะอาเซียนอินโดจีน ควรพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค (Regional supply chain) เพราะเราไม่สามารถมองห่วงโซ่อุปทานแบบจำกัดประเทศเดียวได้อีกต่อไป ควรสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ได้เปรียบของประเทศเพื่อนบ้านผนวกรวมกับความเชี่ยวชาญของประเทศไทย ในขณะเดียวกัน การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคน พัฒนางานวิจัย ผลิตคนและผลิตงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาด และต้องผสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาให้ได้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เราควรกระจายการพัฒนาสู่ระดับรากหญ้า เพราะความสามารถในการแข่งขันต้องเริ่มต้นจากระดับฐานราก ที่ผ่านมา การพัฒนายังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง ประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับไปเป็นคลัสเตอร์ระดับภูมิภาค (Regional Cluster) ให้ได้ อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่ภาคเอกชนได้กล่าวมาทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น หากภาครัฐไม่มียุทธศาสตร์ของประเทศที่ชัดเจนเพื่อเป็นหางเสือของการพัฒนา โดยกลยุทธ์ในระยะยาวจะต้องมีแผนปฏิบัติงานที่รองรับและนำไปปฏิบัติได้จริง พร้อมทั้งมีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนงานที่ชัดเจน
ศาสตราพิชานดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้กล่าวเสริมความคิดเห็นของภาคเอกชนว่า “ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งจนภาครัฐยากที่จะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง และในยามที่ภาคประชาชนส่วนใหญ่ยังอ่อนแอและยากจน ภาคเอกชนคือความหวังอันสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศสามารถพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะเพียบพร้อมทั้งทรัพยากรและความสามารถ ไม่มียามใดอีกแล้วที่ประเทศต้องการบทบาทเชิงรุกของภาคเอกชนเพื่อสะสางปัญหาที่สั่งสมในประเทศ และร่วมบุกเบิกโอกาสในต่างประเทศเพื่อสร้างอนาคตแก่ประเทศไทย”