ThaiPublica > เกาะกระแส > “ความเสี่ยงทางการเงิน : ความท้าทาย และบทเรียนจาก ปตท.”

“ความเสี่ยงทางการเงิน : ความท้าทาย และบทเรียนจาก ปตท.”

19 สิงหาคม 2013


หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของหน่วยงานผู้ว่าจ้างบัณฑิต ทางหลักสูตรฯ จึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานชั้นนำต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งจากทางสายงานการเงินการธนาคาร และจากบริษัทมหาชนชั้นนำของประเทศ มาร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรฯ

โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ได้จัดบรรยายเรื่อง “ความเสี่ยงทางการเงิน : ความท้าทาย และบทเรียนจาก ปตท.” โดยนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน

นายสุรงค์กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยต้องใช้พลังงานจากภายในประเทศประมาณ 2 ใน 3 อีก1 ใน 3 เป็นพลังงานที่มาจากประเทศพม่า ที่เหลือคือพลังงานที่ต้องนำเข้าในอนาคต และคาดการณ์ว่าปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเปิดประชาคมอาเซียน และเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มขาดพลังงาน เพราะว่าแหล่งสำรองแก๊สธรรมชาติกำลังจะหมดลง ซึ่ง ปตท. มองว่าประมาณปี ค.ศ. 2030 แก๊สจะหมด

“เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการเจรจาเรื่องการต่ออายุของไทยหรือเขมรเอง เราก็จะเกิดสภาพการขาดพลังงาน ซึ่งถ้าขาดก็ต้องเร่งนำเข้า NGV ที่มีราคาแพงกว่าเท่าตัว ถ้าเราไม่รีบทำตรงนี้ก็ต้องมาใช้ของแพงตรงนี้แทน แล้วก็หายากขึ้นเพราะแพงขึ้น”

ดังนั้น บทบาทของ ปตท. คือหาซัพพลายที่มีต้นทุนที่เหมาะสมและมีความมั่นคงมารองรับดีมานด์ที่สูงขึ้น นี่คือความท้าทาย สำหรับสายบัญชีการเงินต้องมีความพร้อม พร้อมในการเตรียมเงิน พร้อมในการบริหารเงิน พร้อมในการลงทุนที่มีความเสี่ยง การขุดน้ำมันไม่ใช่ขุดแล้วเจอ บางทีเราดูภาพเอ็กซ์เรย์เห็นเป็นน้ำมันแต่ขุดไปกลายเป็นน้ำ เพราะฉะนั้นเงินที่ลงไปทั้งหมดมันเท่ากับศูนย์ นี่คือความเสี่ยง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเงินเรื่องหลักๆ ได้แก่

1. ความเสี่ยงเรื่อง Funding availability คือเรื่องการหาเงินให้เพียงพอให้เขาใช้
2. ความเสียงเรื่อง cost of debt คือเรื่องต้นทุนการกู้ ก็ต้องดูให้สมดุลว่าจะออกเป็นเงินบาท ออกเป็นดอลลาร์ หรือออกเป็นพันธบัตร หรือจะใช้ในกระแสเงินสด ใช้เงินเบิกเกินบัญชี
3. ความเสี่ยงเรื่อง funding maturity คือเรื่องของอายุของเงินกู้ต่าง เราก็ต้องจับคู่การกู้เงิน การใช้เงิน ให้ตรงกับเวลาที่เราจะสร้างรายได้ เราก็ต้องมองว่า ถ้าจะลงทุนเป็นเงินดอลลาร์ ก็ต้องกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์
4. ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ปตท. มียอดขาย 2.8 ล้านล้านบาท ต้องจัดการบริหาร ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนวันนี้มีผลต่อการบริหารเงินของเรา คือน้ำมัน 1 เหรียญ มีผลกระทบประมาณ 600 ล้านบาท ดังนั้นต้องมีการป้องกันความเสี่ยงโดยการทำ swap, forward และ hedging เพื่อปิดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด
5. ความเสี่ยงเรื่อง transaction exposure คือความเสี่ยงจากการทำธุรกรรม อย่างที่บอก ถ้าเรามีรายได้เป็นดอลลาร์ ก็ต้องลงทุนเป็นดอลลาร์ ซึ่งเป็นเรื่อง natural hedging หรือการป้องการความเสี่ยงแบบธรรมชาติ

นายสุรงค์กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาทางการเงินของเราก็มีสโลแกนว่า “เติบโต มีกำไร ยั่งยืน และ innovation” ในวันนี้เราอยู่ในปี 2012-2013 แต่เรามองไปถึง PTT Global Finance ก็คือทำงานให้ครบกับทุกสถาบัน เพราะฉะนั้นเรากำลังจะตั้งสถาบันการเงินที่อยู่สิงคโปร์ เพื่อบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่เงินบาททั้งหมด และต่อไปก็ที่อังกฤษ ต่อไปก็อเมริกา เพื่อไปรองรับธุรกิจที่กำลังเติบโตและขยายอยู่

“ตรงนั้นเป็นภาพอนาคตที่เราจะเป็น globalize ยิ่งขึ้น ต่อไปก็ต้องเลือกว่าจะทำบัญชีเป็นเงินบาทหรือดอลลาร์ ซึ่งใน ปตท. เอง ปตท.สผ. ใช้บัญชีเป็นดอลลาร์แล้วเพราะว่ารายได้และรายจ่ายเขาเป็นดอลลาร์”

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน

ขณะที่พื้นฐานการพัฒนาสายบัญชีการเงินของ ปตท. นายสุรงค์กล่าวว่า เริ่มต้นจะต้องสร้างมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในบริษัทที่มีบริษัทลูกหลายๆ แห่ง ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน การปิดบัญชีต้องมีวินัย และเรามีการสร้างงานที่มีองค์ความรู้เฉพาะเพื่อให้ทุกคนมาใช้ร่วมกัน และในที่สุดก็เป็นเรื่อง in-house banking คือว่า เราจะสร้างธุรกิจซึ่งให้การบริการซึ่งกันและกัน คนไหนขาดเงิน คนไหนมีเงินเหลือก็มาแชร์กัน

“เพราะว่าปัญหาคือ ตอนนี้ ปตท. เขาใหญ่เกินกว่าที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งในโลกนี้จะสามารถบริการได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดู และจะเกิดประสิทธิภาพบริหารงานในองค์รวม”

นายสุรงค์กล่าวว่า พัฒนาการของประเทศไทยอยู่ในยุคที่ขาดบุคลากร (Thailand shorted of man power) แต่ที่ขาดแคลนมากที่สุดเป็นแรงงานฝีมือที่มีความรู้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครรู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตเท่าไหร่ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าโต 4.2% ต่อปี หรืออยู่ในช่วง 4-4.5% ต่อปี ซึ่งเรายังเติบโตอยู่ ถึงแม้ว่าจะรู้สึกไม่ดีโลกในวันนี้ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ แต่ประเทศไทยมีความท้าทายอยู่ 3 เรื่อง คือ คน เทคโนโลยี (องค์ความรู้) และเงิน

เรื่องคน ปัญหาจริงๆ คือเราคือมีบุคลากรที่ไม่พร้อมกับงานที่ต้องการ หรือมีซัพพลายกับดีมานด์ไม่สอดคล้องกัน โดยวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะสายอาชีวะ หรือสายวิชาชีพที่ขาดแคลนอย่างมาก ประเด็นคือเราต้องสร้างให้คนเรียนวิชาชีพให้มีหน้ามีตา วันนี้เราไม่ต้องการสังคมที่เป็น white collar แต่เราต้องการสังคมผสมผสานต้องมีทั้ง white collar และ blue collar ที่มีความเหมาะสมกับประเทศ

ในยุโรป ในเยอรมัน เขามี “เด็กฝึกหัด” ที่ฝึกอบรมกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา คนจะเป็นช่างนาฬิกา คนจะเป็นช่างไฟ แล้วรายได้เขาไม่ต่ำ หรืออาจจะสูงกว่านักบริหารเงินในห้องแอร์ด้วยซ้ำไป แต่คิดว่าในไทยปัญหาสำคัญเป็นเรื่องค่านิยม

“ปตท. มีโปรมแกรมที่เราจะฝึกอบรมพนักงาน เพราะใน 5 ปี ปตท. จะขาดผู้บริหารระดับฝ่าย 100 คน แต่ผู้บริหารระดับฝ่าย 80% อยู่นอกประเทศ เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ใช่คนจะเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย แต่ต้องเป็นเชื้อชาติการเงิน สัญชาติวิเคราะห์การเงิน ดังนี้โปรมแกรมที่จะพัฒนาคนที่เราต้องการขึ้นมา”

เรื่องเงินมีความสำคัญ เป็นบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในองค์กรที่จะต้องบริหารเงินให้เป็น บริหารเงินให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดคือเงินนี้ไม่ใช่เงินของเรา เจ้าของเงินคือผู้ถือหุ้น เจ้าของเงินคือประเทศ ฉะนั้นบอกว่าเอาเงินชาวบ้านมาใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมีโครงการดีมีธุรกิจที่ดี ธนาคารก็จะวิ่งมาหา เพราะอยากปล่อยกู้ให้ ดังนั้นธุรกิจดีๆ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยาก

เรื่องเทคโนโลยี ถ้าเราไม่สร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเอง เราก็ต้องไปรับจ้างเขา ก็ต้องรับจ้างเขาผลิต รับจ้างเขาทำของต่างๆ เราก็ได้ค่าแรงอย่างเดียว ซึ่งไม่ยั่งยืน

นายสุรงค์ บูลกุล
นายสุรงค์กล่าวว่า ความท้าทาย 3 อย่าง คือ คน เงิน เทคโนโลยี ประเทศไทยถ้าดูในแง่ของขีดความสามารถแข่งขัน ไม่มีอะไรทอปเลย แต่ความท้าทายที่ยากที่สุดคือ เรื่องคน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศไม่มาลงทุนในไทย เพราะว่าเราไม่มีความพร้อม

อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกคน เพราะปัจจุบันเราเห็นว่าไม่สามารถสรรหาบุคลากรได้ตามความต้องการหรือความจำเป็น และซื้อไม่ได้ก็ต้องสร้าง ซึ่งตอนนี้ ปตท. ได้สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า CFO academy คือการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มาเป็นผู้บริหารระดับสูงทางการเงิน โดยคณะพาณิชย์และบัญชี จุฬาฯ ได้สนับสนุนโครงการซึ่งจะมีการเปิดรุ่นแรกในเดือนตุลาคม ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากที่จะเอาพนักงานมานั่งเรียนอีกครั้งหนึ่ง

“วันนี้ประเทศไทยต้องเตรียมตัวว่า ซื้อคนไม่ได้ ก็ต้องสร้าง”