นายสุระชัย กนกะปิณฑะ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ภาคอีสาน และคณะกรรมการส่งเสริมติดตามการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าวันที่ 9 มกราคม 2555 กลุ่มผู้ประกอบการรถสิบล้อที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 25,000 คัน ได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้รัฐบาลทบทวนและชะลอนโยบายลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวีออกไปก่อน ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับต้นทุนในการจัดหาก๊าซเอ็นจีวีของปตท.
นายสุระชัยกล่าวว่าการลอยตัวก๊าซเอ็นจีวีครั้งนี้ บริษัทปตท.อ้างว่ามีภาระต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 14.39 บาท แต่ถูกบังคับให้ขายก๊าซที่ราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้หน่วยธุรกิจเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์แบกรับภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายพิชัยอาจจะไม่ทราบว่าภาระขาดทุนที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเอ็นจีวีของปตท.จริงๆแล้วมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการภายในองค์กรของปตท.เองด้วย ซึ่งมีรายละเอียดและที่มาดังนี้
ปัจจุบันแหล่งก๊าซเอ็นจีวีของประเทศไทยที่ใช้กันอยู่หลักๆจะมีอยู่ 2 แหล่ง คือแหล่งก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยกับพม่า ก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมดถูกส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำไปใช้ผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 95 % เหลืออีก 5 % ใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งในส่วนของภาคขนส่งเท่านั้นที่ทำให้ปตท.ขาดทุน
“ถามว่าทำไมถึงขาดทุน ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ประกาศนโยบายพลังงานในช่วง 15 ปีข้างหน้า ตามแผนฯได้กำหนดราคาก๊าซเอ็นจีวีเอาไว้ หากสถานีก๊าซอยู่ห่างจากแนวท่อไม่เกิน 50 กิโลเมตรขายได้ไม่เกิน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้คนกรุงเทพใช้ก๊าซเอ็นจีวีนี้มาตลอด เพราะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีแนวท่อก๊าซล้อมรอบ แต่ถ้าสถานีก๊าซหรือปั้มอยู่ห่างจากแนวท่อก๊าซเกินกว่า 50 กิโลเมตรขึ้นไป กพช.กำหนดปรับราคาขายก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไปได้ตามระยะทาง แต่ไม่เกิน 10.34 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้ใช้ราคานี้เป็นระยะเวลา 10 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ) หลังจากนั้นให้ปรับราคาก๊าซลอยตัวได้ แต่ไม่เกิน 50 % ของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเขียนไว้สั้นๆ แต่ไม่ทราบว่าให้ใช้ราคาตลาดโลก หรือราคาขายปลีกที่มีภาษีรวมอยู่”นายสุระชัยกล่าว
สำหรับประเด็นแรกที่จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคือเรื่องสถานีแม่มีหน้าที่สูบก๊าซธรรมชาติขึ้นมาจากท่อ เพื่อเตรียมจัดส่งก๊าซใส่รถบรรทุก ซึ่งมีต้นทุนไม่เกิน 8.50 บาทเพราะยังไม่ได้ถูกส่งไปที่สถานีลูก ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ใช้รถยนต์เอ็นจีวีส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นที่สถานีแม่นอกจากจะอัดก๊าซใส่รถบรรทุกก๊าซแล้ว ยังเปิดให้รถบรรทุก รถเก่ง แท็กซี่ เข้ามาเติมก๊าซได้
แต่เมื่อส่งก๊าซออกไปขายในต่างจังหวัดไกลๆ เช่น เชียงราย อุบลราชธานี หนองคาย เกินรัศมี 50 กิโลเมตรนับจากแนวท่อออกไป กพช.อนุญาตให้ปรับราคาขายขึ้นไปได้สูงสุดไม่เกิน 10.34 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคานี้ได้คำนวณรวมเอาค่าขนส่งเข้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่พอแผนฯ 15 ปีของกพช.ใกล้หมดอายุ (วันที่ 31 ธันวาคม 2554) ผู้บริหารของปตท.ก็ได้ออกมาให้ข่าวเป็นระยะๆ ว่าขาดทุนๆ มาตลอด
“ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็พยายามจะคุมราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาท แต่พอมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีนายพิชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านทราบแต่ว่าต้นทุนเนื้อก๊าซอยู่ที่ 8.50 บาท ค่าบริหารจัดการอีก 6 บาท ราคาต้นทุนรวมตอนนี้ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางฝั่งของผู้ประกอบการรถบรรทุก รถโดยสารประจำทาง รถร่วมขสมก.แท็กซี่ เห็นว่าการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีของปตท.ไม่มีความเป็นธรรม” นายสุระชัยกล่าว
ทั้งนี้สัญญาการซื้อ-ขายก๊าซระหว่างปตท.กับกฟผ. ถูกกำหนดเอาไว้ที่กิโลกรัมละ 8.39 บาท สัญญาเขียนต่อท้ายไว้ว่าสามารถปรับราคาขึ้น-ลงได้ทุกไตรมาส นี่ก็คือค่า FT ซึ่งแปรผันตามปริมาณการใช้
นายสุระชัยกล่าวว่าก่อนหน้านี้ทางปตท.จัดงานสัมมนาการปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งที่ถูกเชิญไปในงานนี้ จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ของปตท.ว่าจะขอซื้อก๊าซที่ 8.39 บาทได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ของปตท.ได้ชี้แจ้งว่าปตท.มีค่าใช้จ่ายในการอัดก๊าซครั้งที่ 1 สูบจากท่อขึ้นมาที่สถานีแม่ (Mother Station) มีต้นทุนอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม อัดก๊าซครั้งที่ 2 จากสถานีแม่ใส่รถบรรทุกก๊าซมีต้นทุนอีก 2 บาท จากนั้นรถบรรทุกขนก๊าซไปส่งที่สถานีลูก (Daughter) มีต้นทุนค่าขนส่งอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับราคาเนื้อก๊าซที่ 8.39 บาท ทำให้ก๊าซเอ็จีวีของปตท.มีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.39 บาท จึงไม่สามารถเอามาขายให้ภาคขนส่งในราคาเดียวกับกฟผ.ไม่ได้
“แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมวันนั้น คือ สูตรในการคำนวณราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ที่ปตท.ระบุว่าเนื้อก๊าซมีต้นทุนอยู่ที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ราคานี้มีค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันความเสี่ยงกรณีที่ปตท.จัดหาก๊าซส่งให้กฟผ. และผู้ผลิตรายอื่น บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้รวมอยู่ในราคานี้ด้วย ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาทเช่นกัน ตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าต้นทุนที่แท้จริงของเอ็นจีวีจริงอยู่ที่ 6.38 บาทเท่านั้น ถ้าตัดค่าประกันความเสี่ยงที่ทำไว้กับกฟผ.ออกไป ซึ่งผู้ประกอบการขอให้ปตท.ช่วยพิจารณาประเด็นนี้ด้วย เพราะเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างปตท.กับกฟผ. ไม่เกี่ยวกับภาคขนส่ง ซึ่งปตท.ไม่เคยพูดถึงเลย”
ประเด็นที่ 2 ระบบการบริหารสถานีจ่ายก๊าซ ตัวสถานีแม่ ถ้าเป็น Super Mother Stayion จะส่งก๊าซไปให้สถานีลูก 8 แห่ง แต่ถ้าเป็นสถานีแม่แบบธรรมดา 1 แห่ง ส่งก๊าซไปเลี้ยงสถานีลูก 5 แห่ง ปรากฏว่าที่ผ่านมาปตท.ไม่เพิ่มสถานีแม่ แต่กลับไปเพิ่มสถานีลูก ทำให้สถานีแม่ส่งก๊าซไปให้สถานีลูกไม่ทัน เกิดปัญหาก๊าซขาด แต่หลังจากที่ปตท.ถูกกดดันอย่างหนัก ก็เปิดให้บริษัทเอกชน 3 รายเข้ามาลงทุนสร้างสถานีแม่ และวางเครือข่ายสถานีลูก เพื่อส่งก๊าซไปขายให้กับสถานีในเครือข่ายของปตท.
ประเด็นที่ 3 เรื่องการบริหารระบบการจัดส่งก๊าซ กล่าวคือ รถขนส่งก๊าซของปตท.จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นรถหัวลาก ในส่วนนี้ปตท.เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามารับเหมางานไป และส่วนที่เป็นตู้คอนเทรนเนอร์บรรจุก๊าซ (ส่วนหาง)ปตท.ลงทุนเอง โดยรถหัวลากของเอกชนจะมีขนาด 360 แรงม้าใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง นำมาบรรทุกก๊าซน้ำ 38 ตัน ทั้งๆที่ตามกฏหมายอนุญาตให้บรรทุกก๊าซได้ถึง 50.5 ตัน หมายความว่าใช้รถใหญ่ กินน้ำมันเยอะ แต่ใช้บรรทุกสินค้าได้ไม่เต็มพิกัด ทางปตท.ควรที่จะปรับปรุงตู้คอนเทรนเนอร์ที่ใช้บรรทุกก๊าซ ซึ่งมีอยู่ 750 ตู้ ให้สามารถบรรจุก๊าซเอ็นจีวีได้มากขึ้นกว่านี้
ประเด็นที่ 4 เป็นปัญหาในการบริหารงานภายในองค์กรของปตท.เองที่ทำให้ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวีขาดทุน ยกตัวอย่างการจัดซื้อเครื่องอัดก๊าซ (Compressor) และอุปกรณ์หัวจ่ายก๊าซที่ใช้อยู่มีขนาดเดียวคือ 6 มิลลิเมตร ไม่ว่าจะใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กหรือรถขนาดใหญ่ ก็ใช้หัวจ่ายขนาดเดียวกัน ทำให้การเติมก๊าซต้องใช้เวลานาน กินไฟเยอะ มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง ทั้งนี้สำหรับรถขนาดใหญ่ควรต้องใช้หัวจ่ายก๊าซขนาด 12 มิลลิเมตร
ประเด็นที่ 5 ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์(CO2)หลังจากที่ปตท.สร้างโรงแยกก๊าซที่ 6 เสร็จ สามารถแยกก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ได้ก๊าซเอ็นจีวีที่มีความบริสุทธิ์มาขึ้นกว่าเดิม ส่วนก๊าซอื่นๆที่แยกได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัวและทำกำไรให้กับบริษัทในเครือของปตท. โดยเฉพาะธุรกิจอะโรเมติก ทุกหน่วยธุรกิจมีกำไรทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจก๊าซที่ขาดทุน
เมื่อแยกก๊าซเสร็จ ก็จะได้ก๊าซมีเทนเกือบ 90 % (บริสุทธิ์มาก) ก๊าซอื่นๆเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงเอามีเทน 90 % ปล่อยมาตามท่อก๊าซเติมเข้าไปในรถยนต์ ปรากฏว่าเกิดปัญหาคุณภาพก๊าซตะวันออกมีคุณภาพสูงกว่า ก๊าซพม่า ปตท.แก้ปัญหาโดยเติมคาร์บอนไดอ็อกไซด์เข้าไป เพื่อปรับคุณภาพก๊าซทั้ง 2 ฝั่งให้ใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์น็อคดับ
“การเติม CO2 เติมเข้าไป แต่เอาราคาต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาบวกอยู่ในบัญชีของธุรกิจเอ็นจีวี ทำให้หน่วยเอ็นจีวีขาดทุนอยู่แล้ว ยิ่งขาดทุนไปกันใหญ่ ลงทุนไปซื้อถังเติม CO2 มาติดแล้วคิดเงินกับหน่วยธุรกิจเอ็นจีวีอีก ซึ่งจริงๆต้องไปคิดเงินกับธุรกิจอะโรเมติก เพราะฟันกำไรไปแล้ว นอกจากนี้ยังเอา CO2 มาขายให้กับคนใช้รถอีกได้เงินอีก ทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนช่วยในการสันดาปของเครื่องยนต์ ขณะเดียวกันก็โฆษณาว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คนใช้รถดีเซล รถบรรทุก ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำลายชั้นบรรยากาศ” นายสุระชัย กล่าว
ประเด็นสุดท้ายเป็นความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาพลังงาน แต่ก่อนที่จะมีการลอยตัวเอ็นจีวี ในช่วงปลายปี 2554 ปตท.ได้จัดงานเปิดตัวโครงการบัตรเครดิตพลังงานอย่างยิ่งใหญ่ใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัทเอกชนมาทำอีเวนท์ แต่โครงการนี้มีคนขับรถแท็กซี่ที่มีใบขับรถยนต์สาธารณะขอรับบัตรเครดิตพลังงานประมาณ 2,000 คน จากจำนวนคนขับแท็กซี่ทั้งหมด 1 แสนคน และรายชื่อคนขับรถแท็กซี่ทั้ง 2,000 คนที่กรมการขนส่งทางบกส่งไปให้ปตท.ตนไม่แน่ใจว่าวันนี้ปตท.แจกบัตรเครดิตพลังงานให้ไปกี่รายแล้ว คุ้มกับค่าอีเวนท์ 10 ล้านบาทหรือไม่ หลังเปิดตัวบัตรเครดิตพลังงาน ก็ไปฝากให้อู่ติดตั้งก๊าซให้ช่วยเป็นธุระในการประชาสัมพันธ์และจัดส่งคนขับรถแท็กซี่ให้เข้ามารับบัตรเครดิตพลังงาน
สนพ.แจงข้อมูลต้นทุนก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี
ทางด้านกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 ซึ่งอยู่ในช่วงส่งท้ายปีเก่าได้มอบหมายให้นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาแถลงข่าวถึงเหตุผลของรัฐบาลที่ต้องประกาศนโยบายลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี
นายสุเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาก๊าซแอลพีจี ณ โรงกลั่นเอาไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ กิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าวนี้ถูกคำนวณและกำหนดราคากันเอาไว้ ตั้งแต่ในช่วงที่น้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และใช้ราคานี้มาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ราคาขายส่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) รัฐบาลกำหนดไว้ที่กิโลกรัมละ 13.6863 บาทเช่นกัน และเมื่อรวมกับ VAT อีก 7 % ของมูลค่า ราคาขายส่งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.64 บาท บวกกับค่าการตลาดกิโลกรัมละ 3.2566 บาท และ VAT อีกกิโลกรัมละ 0.23 บาท ทำให้ราคาขายปลีกจริงๆแล้วมีราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนต้นทุนการจัดหาก๊าซแอลพีจีมีอยู่ 3 ส่วนดังนี้
1.โรงแยกก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ถูกตรึงราคาไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับภาระต้นทุน 117 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ กิโลกรัมละ 13.50 บาท ในแต่ละเดือนผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนเดือนละ 612 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล
2.โรงกลั่นน้ำมันมีต้นทุนในการแยกก๊าซอยู่ที่ประมาณ 688 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ราคา ณ โรงกลั่นถูกตรึงไว้ที่ 333 เหรีญสหรัฐต่อตัน ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายชดเชยให้ผู้ผลิต 355 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดเป็นวงเงิน 913 ล้านบาทต่อเดือน
3.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศมีต้นทุนอยู่ที่ 850 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่จากการตรึงราคาแอลพีจี รัฐต้องจัดหาเงินมาจ่ายชดเชยให้กับผู้นำเข้า 517 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดเป็นวงเงิน 1,763 ล้านบาทต่อเดือน
ที่ผ่านมา ก๊าซแอลพีจีมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2554 มีปริมาณความต้องการใช้ 545,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.51 % ส่วนกำลังการผลิตในประเทศทั้ง 3 ส่วนรวมกันมีแค่ 419,000 ตัน ต้องสั่งนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ 123,000 ตัน
ตลอดทั้งปี 2554 รัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยการนำเข้าแอลพีจี 26,331 ล้านบาท และจ่ายชดเชยแอลพีจีที่ได้มาจากโรงกลั่นน้ำมันอีก 9,500 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมแอลพีจีที่ได้มาจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งผู้ประกอบการยังไม่ได้รับเงินชดเชย
ถัดมาเป็นก๊าซเอ็นจีวี นายสุเทพ กล่าวว่า ก๊าซเอ็นจีวีมีต้นทุนอยู่ 2 ส่วนคือต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตก๊าซเอ็นจีวีหลักๆจะมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆคือ อ่าวไทย กับ เมียนมาร์ ในแต่ละวันมีความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซทั้ง 6 แห่งมีไม่เพียงพอ จึงต้องไปนำก๊าซเอ็นจีวีจากพม่ามาเสริมวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ก็ยังไม่พอต้องสั่งนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศมาเสริม
หลังจากที่สูบก๊าซขึ้นจากหลุมผ่านโรงแยกก๊าซส่งไปตามท่อส่งก๊าซ ก็ต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซ รวมแล้วเฉพาะก๊าซเอ็นจีวีจึงมีต้นทุนอยู่ที่ 9 บาท เมื่อนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด อาทิ การลงทุนก่อสร้างสถานีแม่ รถขนส่ง สถานีลูก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.56 บาท บวก VAT ทำให้ต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีจริงๆอยู่ที่ 15.58 บาทต่อกิโลกรัม แต่นโยบายสั่งให้ตรึงราคาขายปลีกไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ในแต่ละปีรัฐจึงต้องหาเงินมาจ่ายชดเชยราคาเอ็นจีวีอีก
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างการใช้พลังงานครั้งนี้ ภาครัฐบาลจะต้องมีมาตรการมาสนับสนุนภาคขนส่งให้หันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนแอลพีจี โดยในปี 2555 บริษัท ปตท.จะต้องลงทุนขยายสถานีก๊าซเอ็นจีวีให้ได้ตามเป้าหมาย 502 แห่ง