ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปตท. แจงผลสอบน้ำมันดิบรั่ว ทุกขั้นตอนทำตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน – บทเรียนกรณีมอนทารา

ปตท. แจงผลสอบน้ำมันดิบรั่ว ทุกขั้นตอนทำตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน – บทเรียนกรณีมอนทารา

15 สิงหาคม 2013


ข่าวประชาสัมพันธ์: บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงผลสอบสวนน้ำมันดิบรั่ว

เจ้าหน้าที่พีทีทีจีซี ทำความสะอาดหินเปื้อนน้ำมันรั่ว

คณะกรรมการสอบสวนสรุปปริมาณน้ำมันรั่ว 54,000 ลิตร ยืนยัน พีทีที โกลบอล เคมิคอล มีการดำเนินงานตามขั้นตอน และใช้สารกระจายคราบน้ำมันอย่างมีเหตุผล

กรุงเทพฯ 14 สิงหาคม 2556: คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล เผยผลการสอบสวน ยืนยันปริมาณน้ำมันรั่ว 54,341 ลิตร และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกระบวนการทำงานและการจัดการน้ำมันรั่ว รวมถึงการใช้สารกระจายคราบน้ำมันในปริมาณที่สอดคล้องกับภาวะฉุกเฉิน โดยเป็นสารที่กรมควบคุมมลพิษอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทยได้

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลดังกล่าวมีคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นประธานกรรมการ, ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ ในการสอบสวน คณะกรรมการได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน โดยพิจารณาข้อมูลเปรียบเทียบการปฏิบัติงานในสถานการณ์ปกติ กับการปฏิบัติงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ในด้านต่างๆ คือ ขั้นตอนการดำเนินงาน การบำรุงรักษา เครื่องมืออุปกรณ์ และผู้ปฏิบัติงาน

ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนระบุว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 06.30 น. ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมัน M.T. Maran Plato สัญชาติกรีซ กำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร มายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ ได้เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่ว ทำให้มีน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล ทันทีที่เกิดเหตุ บริษัทฯ ได้ปิดระบบวาล์วทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงมีเพียงน้ำมันที่ค้างอยู่ในท่อระหว่างจุดส่งน้ำมันบนเรือและทุ่นเท่านั้นที่มีโอกาสรั่วไหลออกสู่ทะเล โดยมีประมาณการปริมาณที่รั่วไหล 54,341 ลิตร

น้ำมันรั่วอ่าวพร้าว
ในด้านการปฏิบัติงาน บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกระบวนการทำงานและการจัดการในสภาวะฉุกเฉินกรณีน้ำมันรั่ว โดยฉีดพ่นสารกระจายคราบน้ำมันในการปฏิบัติการทางเรือ และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ จึงได้ใช้การปฏิบัติการทางอากาศโปรยสารกระจายคราบน้ำมันร่วมด้วย แต่เนื่องจากกระแสน้ำและลมแรง คณะทำงานประเมินว่าน้ำมันอาจจะเข้าฝั่ง จึงนำทุ่นกักน้ำมันลง เพื่อกักน้ำมันให้อยู่ในบริเวณที่สามารถใช้สารกระจายคราบน้ำมันทางเรือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุ่นกักน้ำมันใช้ไม่ได้ผล เพราะช่วงเวลานั้นทะเลมีคลื่นลมแรง ทำให้มีน้ำมันเล็ดลอดไปขึ้นฝั่งที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด

สำหรับประเด็นการใช้สารกระจายคราบน้ำมัน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นคือ สภาพอากาศที่แปรปรวนและสภาพของน้ำมันที่มีการกระจายตัวมาก ทำให้การทำงานของสารกระจายคราบน้ำมันมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ บริษัทฯ จึงต้องใช้สารกระจายคราบน้ำมัน 2 ชนิด ได้แก่ Slickgone NS เป็นจำนวน 30,612 ลิตร และ Super-dispersant 25 เป็นจำนวน 6,930 ลิตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายคราบน้ำมัน

สารกระจายคราบน้ำมันทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารที่กรมควบคุมมลพิษอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทยได้โดยมีความเป็นพิษต่ำมาก สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้เร็ว ไม่พบการสะสมทางชีววิทยา (bio-accumulate) ไม่เกิดการกลายพันธุ์ และไม่เกิดการเสื่อมพันธุ์

นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนยังได้เสนอแนะให้ตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมหาสาเหตุการแตกของท่อ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ตามข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมการด้านเทคนิคประกอบด้วยผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมหาสาเหตุการแตกของท่อและรายงานมายังบริษัทฯ เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงานทราบต่อไป

บทเรียนมอนทารา

4 ปีของเหตุการณ์น้ำมันรั่วมอนทารา (Montara Oil Spill) ของบริษัท ปตท. สผ. ออสตาเลเซีย (PTTEPAA) บริษัทย่อยของ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการการบนแท่นขุดเจาะ นอกชายฝั่งทางเหนือของประเทศออสเตรเลียในทะเลติมอร์ เหตุดังกล่าวมีการประมาณว่าสูญเสียน้ำมันไปทั้งหมด 29,600 บาร์เรล หรือกว่า 4 ล้านลิตร เกิดเป็นคราบน้ำมันในทะเลกินพื้นที่เกือบ 90,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติด้านน้ำมันครั้งเลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย

สำหรับค่าความเสียหายที่ ปตท. สผ. ได้จ่ายไปแล้วนั้น ปรากฏอยู่ในงบประจำปีของ ปตท. สผ. ดังนี้

ค่าความเสียหายน้ำมันรั่วที่มอนทารา

จากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลในแหล่งมอนทารารัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว(Montara Commission of Inquiry) โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 กระทรวงทรัพยากรและพลังงาน(Minister for Resources and Energy)ของประเทศออสเตรเลียได้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการแล้ว ซึ่งได้มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย(ดูรายละเอียดแผนปรับปรุงน้ำมันดิบและก๊าซรั่วที่มอนทารา)

นอกจากค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินแล้ว กระทรวงความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม น้ำ ประชากร และชุมชน แห่งรัฐบาลออสเตรเลีย (DSEWPaC) ได้เรียกร้องให้ ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในทะเลต่อเนื่องอย่างน้อย 2-5 ปี รวมถึงจัดทำโครงการสำรวจและรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งล่าสุดศาลออสเตรเลียตัดสินว่า PTTEPAA มีความผิด 4 ข้อหา และสั่งปรับเงินอีก 500,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 14 ล้านบาท ซึ่งองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าค่าปรับนั้นมีมูลค่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

หมายเหตุ: ดูข้อมูลเพิ่มเติมหมายเหตุงบดุลปี 2553 หน้า 58 กรณีมอนทารา