ThaiPublica > คอลัมน์ > หนังการเมือง “All the King’s Men” อำนาจทำให้คนเปลี่ยน

หนังการเมือง “All the King’s Men” อำนาจทำให้คนเปลี่ยน

19 กรกฎาคม 2013


Hesse004

หลังจากติดตามกรณี “คลิปเสียงถั่งเช่า” ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าเป็นคลิป “คล้าย” เสียงของสองนักการเมืองใหญ่ที่คนหนึ่งอยู่แดนไกล อีกคนหนึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหญ่ใน ครม. ปู 5

กรณีคลิปเสียงดังกล่าวทำให้นึกย้อนไปเมื่อสามปีก่อนที่มีการปล่อย “คลิปวีดีโอ” ออกมาบนโลกออนไลน์กรณีที่มีการต่อรองเรื่องยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายพรรคนั้นก็รอดสันดอนไป

ทั้งสองคลิปที่ว่าสะท้อนให้เห็นภาพเบื้องหลังทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

…ไม่ว่ายุคสมัยใด ไม่ว่าที่ใดในโลก การเมืองล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ การรักษาอำนาจ การทำลายล้างคู่แข่ง และการต่อรองผลประโยชน์ โดยมิได้สนใจกฎกติกาหรือความชอบธรรมแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้เว็บไซด์อย่าง “Wikileakes” ของนาย Julian Assangeจึงเป็นเว็บที่กล้าจะเปิดโปงความจริงซึ่งอยู่เบื้องหลังการทำงานต่าง ๆ ของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในทำเนียบขาว

หากไม่ “ไร้เดียงสา” จนเกินไปนัก เราคงยอมรับว่าการจะหานักการเมืองดี ๆ สักคนเป็นเรื่องที่ยากพอ ๆ กับการหาพระดี ๆ ที่น่าเคารพสักรูป

เพราะ“สันดาน” นักการเมือง ไม่ว่าจะทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนแล้วแต่เหมือนกันทั้งสิ้น

เพราะนักการเมืองสนใจเพียงแค่ “เป้าหมาย” แต่มิได้สนใจเรื่อง “วิธีการ” ที่จะบรรลุเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดเรื่องราวของนักการเมืองผ่านทาง “โลกภาพยนตร์” ดูจะทำให้เรา “อิน” และเข้าถึงอีกด้านหนึ่งของความเป็นนักการเมืองได้ดีเช่นกัน

กระบวน “หนังการเมือง” ที่ผู้เขียนดูแล้วประทับใจมีอย่างน้อย 3 เรื่องครับ…

เรื่องแรก เริ่มจาก Wag the Dog (1997) ผลงานการกำกับของ Barry Levinson หนังเล่าถึงการทำ “การตลาดทางการเมือง” โดยอาศัย Producer กำกับหนังจาก Hollywood มาช่วยสร้างภาพให้กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐผู้มีมลทินเรื่องเพศที่กำลังจะจนแต้มสามารถรักษาเก้าอี้ในทำเนียบขาวไว้ได้อีกสมัยหนึ่ง

หนังของ Levinson นับเป็นหนังเสียดล้อนักการเมืองอเมริกันที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ถึงขนาดต้องพึ่งบทดราม่า ๆ จาก Hollywood มาเป็นตัวช่วย

สำหรับเรื่องที่สองนั้น คือMan of the Year (2006) ของ Levinson เจ้าเดิม หนังเรื่องนี้สื่อให้เห็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ในการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

งานของ Levinson ทั้งสองเรื่องสะท้อนให้เห็น “ทัศนวิจารณ์” ทางการเมืองของเขาได้เป็นอย่างดีครับ

และดูเหมือนตัวเขาเองก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของนักการเมืองเท่าไรนัก สังเกตได้จาก Wag the Dog ที่พยายามชี้ให้เห็นการสร้างภาพของนักการเมืองที่พยายาม “หลอกแดก” ผู้ลงคะแนนเสียงด้วยผลงานในช่วงสองอาทิตย์สุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน

ขณะที่ Man of the Year ที่ Levinson ให้นาย Tom Dobbs เป็นตัวแทนของความเบื่อหน่ายต่อระบบการเมืองแบบเก่าประเภท “นักการเมืองโดยอาชีพ” ที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้ดูดีในสายตาประชาชน โดย Levinson จงใจให้ Dobbs ที่รับบทโดย “Robin Williams” นักแสดงตลกปัญญาชนอเมริกัน คือ ตัวแทนเสียดสีรูปแบบการเล่นการเมืองแบบ Democrat และ Republican

ทัศนวิจารณ์ของ Levinson ทั้งสองเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “การเมือง”กับ “ทุน”ในระบอบประชาธิปไตยว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

…เพราะการเมืองสมัยใหม่จำเป็นต้องใช้ทุนหนุนหลังมากกว่ายึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ Political Marketing หรือ “การตลาดการเมือง” จึงมีความสำคัญอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่อาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกในการตัดสินใจเลือกผู้แทนและรัฐบาล

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า Levinson ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเหล่านักคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ Public Choice หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ หนังของเขาสะท้อนให้เห็นความเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ของเหล่านักการเมืองในด้านที่พยายามแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ตนเองและประสานประโยชน์ให้กับพวกพ้องสูงสุด (Utility Maximization for me and Profit Maximization for party)

Gordon Tullock เจ้าสำนัก Public Choice   ที่มาภาพ : http://www.gmu.edu
Gordon Tullock เจ้าสำนัก Public Choice ที่มาภาพ : http://www.gmu.edu

เจ้าสำนัก Public Choice อย่าง James Buchanan (คนละคนกับอดีตประธานาธิบดีอเมริกา) และ Gordon Tullock ได้ช่วยกันพัฒนาแนวคิดของ Public Choice จนกลายเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า นักการเมืองก็จัดอยู่ในจำพวก “สัตว์เศรษฐกิจ” จำพวกหนึ่งที่มุ่งแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองและกลุ่มผลประโยชน์ที่หนุนหลังตนเอง
นอกจากนี้งานของ Tullock ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายเรื่องของ Economic Rent Seeking หรือ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อรากฐานความคิดในการอธิบายพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ

งานของ Tullock ถูกต่อยอดจาก Ann O. Kruger นักเศรษฐศาสตร์หญิงชื่อดังชาวแคนาเดียน ที่อธิบายการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่างการจำกัดโควต้าสินค้านำเข้าในตุรกี โดย Paper วิชาการของ Krueger เรื่องนี้ได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของนักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้มีส่วนได้เสียในอำนาจรัฐ จนองค์ความรู้ดังกล่าวได้รับการพัฒนามาสู่เรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชัน” (Economics of Corruption) ในที่สุด

จะเห็นได้ว่าทัศนวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์สาย Public Choice ที่มีต่อ “นักการเมือง” นั้นดูจะไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจสักเท่าไรนัก

ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เคยสรุปไว้ว่า

“สังคมไทยมีความคาดหวังจากอาชีพนักการเมืองสูงเกินกว่าระดับปุถุชน คนเป็นอันมากคาดหวังว่านักการเมืองจักต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ความคาดหวังในลักษณะดังกล่าวนี้บางครั้งมีมากจนถึงขั้นที่มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นนักการเมืองได้”

…เตลิดไปไกลเชียวนะครับ กลับมาที่หนังการเมืองกันต่อดีกว่า…

สำหรับหนังการเมืองเรื่องสุดท้ายที่ผู้เขียนประทับใจนั้นได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์เมื่อปี 1949 หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “All the King’s Men” ผลงานการกำกับของ Robert Rossen

All the King’s Men หนังรางวัลออสการ์ปี 1949 ผลงานการกำกับของ Robert Rossenที่มาภาพ : http://www.dbcovers.com
All the King’s Men หนังรางวัลออสการ์ปี 1949 ผลงานการกำกับของ Robert Rossen
ที่มาภาพ :http://www.dbcovers.com

All the King’s Men เล่าเรื่องราวของ Willie Stark ชายผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่นที่ฟอนเฟะ โดยเริ่มต้นเขาอาสาที่จะลงสมัครผู้แทน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้รับเลือกเสียที จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อชาวบ้านเห็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของเขา Willie จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในที่สุด
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้บทบรรยายของ Jack Burden นักข่าวหนุ่มที่เข้ามาทำข่าวเรื่อง Willie ตั้งแต่เป็นนักการเมืองกระจอกงอกง่อยที่ไม่มีใครรู้จัก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาก้าวจนกระทั่งก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะ “ผู้ว่าการรัฐ”

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายชิ้นเยี่ยมที่การันตีด้วยรางวัลพูลิตเซอร์ของ Robert Penn Warren
กล่าวกันว่านิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของ Huey Long (1893-1935) อดีตผู้ว่าการรัฐ Louisiana ที่เคยโด่งดังในการเมืองท้องถิ่นสหรัฐยุค 30 ก่อนจะจบชีวิตลงด้วยการถูกลอบสังหาร
อย่างไรก็ตามสารที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อความในภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในประเด็นที่ว่า

…“อำนาจทำให้คนเปลี่ยน” ครับ

ใช่แล้วครับ อำนาจก็เหมือน “แหวนวิเศษ” ในหนังเรื่อง Lord of the Ring ซึ่งมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ยังคงเฝ้าแสวงหาและอยากครอบครองมัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่านักการเมืองหลายคนเริ่มต้นเข้าสู่การเมืองแบบ Willie Stark ด้วยความตั้งใจดี มีปรารถนาอันแรงกล้า เต็มไปด้วยอุดมคติและอุดมการณ์ทางการเมือง

เมื่อวันที่เรายังไม่มีอำนาจ เราก็ยังพูดได้ว่าเราอยากจะทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ อยากจะเปลี่ยนไอ้โน่น ปรับไอ้นี่
แต่พอได้อำนาจมาแล้วดูเหมือนว่ามันจะมีทั้ง “มือและตีนที่มองไม่ค่อยเห็น” คอยดึงให้เราไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจ

… แต่ไอ้มือหรือตีนที่ว่ามันคงไม่สำคัญเท่ากับ “ใจ” ของเราที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า…

ผู้เขียนเชื่อว่าคนบางคนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตได้ แต่อย่าเปลี่ยนแปลง “สาระ” ของชีวิตที่ตัวเองเป็นก็แล้วกัน

… เพราะสาระในชีวิตมันแสดงให้เห็น “จุดยืน” ที่เราเคยเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันตั้งอยู่บนหลักการของความถูกต้องแล้ว และที่สำคัญคือเราจะไม่เบียดเบียนส่วนรวมเป็นอันขาด

All the King’s Men ยังสะท้อนให้เห็นปรัชญาทางการเมืองที่ว่า หากนักการเมืองคนใดคิดจะขึ้นเป็นใหญ่แล้ว ทุกคนล้วนมี “ราคาที่ต้องจ่าย”

ราคาที่ว่านี้ดูจะแพงเสียเหลือเกินนะครับ เพราะมันต้องแลกมาด้วยการแตกสลายของครอบครัว

บางทีนักการเมืองอาจทำให้คนพันคน หมื่นคน หรือแม้แต่ประชาชนสิบล้านคนรักตัวเองได้ แต่เขาอาจจะไม่สามารถทำให้ลูกและเมียที่รักหันกลับมารักตัวเองได้

บทสุดท้ายของ All the King’s Men ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2544

ถ้าอยากว่ารู้ว่าฉากตอนนั้นคืออะไร ลองไปหาคลิปเก่า ๆ หรือหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้นดูแล้วกันนะครับ

และถ้าจะให้ดีลองหาหนังเรื่องนี้มาดูประกอบด้วยสิครับ…. All the King’s Men