ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บทเรียนคดีสิ่งแวดล้อม จากสารพิษถึงการทำงาน “คดีคลิตี้-เดอะบีช-ซานติก้าผับ”

บทเรียนคดีสิ่งแวดล้อม จากสารพิษถึงการทำงาน “คดีคลิตี้-เดอะบีช-ซานติก้าผับ”

3 มีนาคม 2013


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำคดีสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อให้ฝ่ายตุลาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางสภาทนายความเคยจัดประชุมสรุปบทเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 และ 22 กันยายน 2555 ในโครงการ “สรุปบทเรียน ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ”

ในโครงการสรุปบทเรียน ทนายความคดีสิ่งแวดล้อมจะร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยแบ่งคดีสิ่งแวดล้อมเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มคดีเกี่ยวกับสารพิษและวัตถุอันตราย/คดีสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน กลุ่มคดีที่ดินป่าไม้ กลุ่มคดีตรวจสอบการดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน กลุ่มคดีที่ฟ้องหน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และกลุ่มคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน

กลุ่มคดีเกี่ยวกับสารพิษและวัตถุอันตราย/คดีสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีหลายประเด็นกว่าคดีกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีคดีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้

คดีโรงงานทอผ้ากรุงเทพ

จากกรณีลูกจ้างของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด จำนวน 38 คน ฟ้องบริษัทและกรรมการ หลังจากเป็นโรคปอดอักเสบ (บิสซิโนซีส) เนื่องจากฝุ่นฝ้ายจากการทำงาน ซึ่งฟ้องในปี 2538 เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท

สำหรับกรณีนี้ ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้ง 38 คน ทราบการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งหมดไปตรวจร่างกายที่คลินิกอาชีววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวิถี และพบว่าป่วยเป็นโรคบิสซิโนซีส หรือตั้งแต่วันที่กรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวและจ่ายค่าทดแทนให้ ซึ่งไม่ว่านับระยะเวลาตอนไหนคดีนี้ก็พ้น 1 ปีแล้ว แต่เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน คดีจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 40 เพราะศาลมองว่าเป็นเหตุ “ละเมิดต่อเนื่อง”

ในปี 2546 ศาลแรงงานกลางชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายคนละ 1-2 แสนบาท รวม 37 คน เพราะเป็นแหล่งปล่อยมลพิษทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้ ศาลยกฟ้องโจทก์ 1 คน เพราะไม่เป็นโรคปอดอักเสบ แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์

ในปี 2550 ศาลแรงงานกลางชั้นอุทธรณ์ พิพากษาคดีที่จำเลยอุทธรณ์ โดยยืนตามคำพิพากษาชั้นต้น ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแกโจทก์ทั้ง 37 คน เป็นจำนวนเงิน 10,000-110,000 บาทต่อคน ใน 15 วัน เนื่องจากนายจ้างละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานและคนป่วยนาน 11 ปี โดยผ้าปิดจมูกไม่ได้มาตรฐานและไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงไม่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงงานให้ดีขึ้นด้วย

ส่วนคดีฟ้องกรรมการนั้น ศาลพิพากษาให้กรรมการไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เพราะเห็นว่ากรรมการกระทำภายในขอบเขตอำนาจของบริษัท

คดีคลิตี้

บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานเหมืองตะกั่วในปี พ.ศ. 2510 และปิดโรงงานในปี พ.ศ. 2542 ส่วนเหมืองแร่ปิดถาวรในปี พ.ศ. 2544 ประมาณปี 254 ชาวบ้านคลิตี้สังเกตเห็นว่าน้ำในลำห้วยขุ่น และทราบต่อมาว่าโรงแต่งแร่ที่อยู่ต้นลำห้วยคลิตี้ปล่อยน้ำในบ่อกักเก็บแร่สารตะกั่วลงสู่ลำห้วย ในวันที่ 22 เมษายน 2541 ทางบริษัทถูกกรมทรัพยากรธรณีสั่งระงับชั่วคราว (120 วัน) และปรับ 2,000 บาท ต่อมาได้บริจาคเงินให้ชาวบ้านมาตั้งเป็นเงินกองทุน 1 ล้านบาท โดยระบุว่าไม่ใช่การยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหาย

30 มกราคม 2546 สภาทนายความช่วยดำเนินการให้ชาวบ้านยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 119,036,400 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 และศาลแพ่งกาญจนบุรีได้นัดสืบพยานครั้งแรกวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ชาวบ้านชนะ โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านประมาณ 4 ล้านบาทเศษ

กรณีคดีคลิตี้ แม้ว่าโรงงานปล่อยสารตะกั่วจะปิดกิจการไปแล้ว แต่ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากสารตะกั่วในน้ำยังมีผลอยู่ เรียกว่า “ผลของการละเมิดต่อเนื่อง” แต่ศาลรับฟ้องโดยใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 อายุความจึงยังไม่ขาด

นอกจากจะฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้ว ในคำขอท้ายฟ้องชาวบ้านจะขอให้บริษัทฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้เอาสารตะกั่วออกให้หมดด้วย เพราะเหตุว่าผู้ที่ปล่อยมลพิษควรมีส่วนรับผิดชอบกรณีดังกล่าว ซึ่งคดีแรกฟ้องโดยโจทก์ 8 คน แต่ศาลบอกว่าโจทก์ทั้ง 8 ไม่มีสิทธิฟ้องเพราะไม่ใช่ตัวแทนชุมชนดั้งเดิม คดีที่ 2 ชาวบ้านทั้งหมดรวม 151 คน เป็นโจทก์ฟ้อง ศาลบอกว่า เรื่องสิทธิชุมชนยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับให้ฟ้องคดีเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานโดยตรงที่จะต้องฟื้นฟูแก้ไขหรือมีหน้าที่ฟ้องคดี

สำหรับคดีคลิตี้ในศาลปกครองที่ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ เรียกค่าเสียหายและให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปัจจุบันสิ้นสุดแล้วเมื่อมกราคม 2556

คดีเดอะบีช

เมื่อปี 2542 นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ นายพันคำ กิตติธรกุล นายกบริหารส่วนตำบล กับพวกรวม 19 คน คือ ประชาชนจังหวัดกระบี่และกลุ่มอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้, นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้, บริษัท แซนต้า อินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มโปรดักชั่น จำกัด และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช” ในข้อหาละเมิด โดยขอให้ระงับการถ่ายภาพยนตร์ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2541 เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของรัฐมนตรีและอธิบดีกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะกองถ่ายภาพยนตร์เสร็จสิ้นแล้ว คำสั่งทางปกครองจึงสิ้นสุดลงและการเยียวยาไม่มีผลใด จึงงดสืบพยานทั้งหมด แต่ฝ่ายโจทก์ขออุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาในปี 2545 ให้บริษัท แซนต้า อินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มโปรดักชั่น จำกัด และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำกัด จำเลยที่ 4-5 ร่วมกันฟื้นฟูอ่าวมาหยาให้คืนสภาพเดิม เพราะเห็นว่าเกิดความเสียหายจริงและผลของความเสียหายยังอยู่ แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 1-3 เพราะการถ่ายทำจบแล้วคำสั่งถือว่าสิ้นสุดลง แต่โจทก์ยังยื่นฎีกา ต่อมาในปี 2549 ศาลฎีกาพิจารณาว่า ประชาชนจังหวัดกระบี่โจทก์ที่ 3-19 ไม่มีสิทธิฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และยืนยันตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นความเสียหายของอ่าวมาหยาใหม่

ล่าสุด ศาลนัดสืบพยานครั้งแรกปลายปี 2555

คดีซานติก้าผับ

กรณีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ของบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 67 คน บาดเจ็บสาหัส 45 คน บาดเจ็บทางร่างกาย 72 คน รวมทั้งความเสียหายและสูญเสียในทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกค้า

ในปี 2553 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และโจทก์ร่วมอีก 57 คน ฟ้องนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์, นายธวัชชัย ศรีทุมมา, นายพงษ์เทพ จินดา, นายพุฒิพงศ์ ไวย์ลิกรี, นายสราวุธ อะริยะ, บริษัท โฟกัส ไลท์ ซาวด์ ซิสเท็ม จำกัด และนายบุญชู เหล่าสีนาท จำเลยที่ 1-7 ความผิดฐานกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต และกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการ ปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ

20 กันยายน 2554 ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุกนายวิสุทธิ์ เสร็จสวัสดิ์ ผู้บริหารซานติก้าผับ และเจ้าของบริษัททำเอฟเฟกต์ เป็นเวลา 3 ปี ไม่รอลงอาญา และให้เจ้าของบริษัททำเอฟเฟกต์จ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย 5 ราย จำนวนกว่า 8 ล้านบาท

สิ่งสำคัญของกรณีคือ นายวิสุทธิ์ เสร็จสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 นั้นเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แต่ต่อมาให้นายสุริยา ฤทธิ์ระบือ เป็นกรรมการผู้จัดการแทนโดยที่ไม่ได้ถือหุ้นเลยแม้แต่หุ้นเดียว ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ และจากการสอบคดีปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า นายสุริยาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการบริหารซานติก้าผับเลย ทราบภายหลังว่าเป็นเพียงคนขับรถ จึงเป็นช่องโหว่ใหญ่ในการเอาผิดกรรมการบริษัท เพราะบางครั้งผู้มีอำนาจในกิจการที่แท้จริงคือผู้ถือหุ้น ไม่ใช่กรรมการ

สำหรับคดีนี้ กรณีฟ้องบริษัทเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องกรรมการตามหนังสือรับรองที่มีอำนาจลงลายมือชื่อทุกคนให้ร่วมรับผิดกับบริษัทด้วย ศาลพิพากษาให้กรรมการทั้ง 7 คน ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับบริษัท เพราะกรรมการแต่ละคนไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งดำเนินงานของบริษัท (คำพิพากษาเพิ่มเติม)

ด้านศาลปกครอง ในเดือนธันวาคม 2552 นางเอสเตอร์ เยียน เชน เลาพิกานน์ กับพวกรวม 12 คน ฟ้องกรุงเทพมหานคร เรื่องการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ต่อมา ในเดือนตุลาคม 2555 ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าเสียหาย ทั้ง 12 คน ในจำนวนร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมดที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้อง พร้อมทั้งให้ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งแสดงถึงการแบ่งส่วนรับผิดของรัฐโดยไม่ต้องรอศาลยุติธรรม