เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ร่วมกับโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดงานเสวนา “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำคดีสิ่งแวดล้อม” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้น และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทางออกของปัญหา โดยนำเสนอจากโครงการ “สรุปบทเรียน ปัญหา และอุปสรรคในการการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ” ของสภาทนายความ ที่ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 2 และ 22 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนรวมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีผลบังคับใช้ ประชาชนได้ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมจนมีการจัดตั้งชมรมและองค์กรต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับข้อพิพาทที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ จึงจัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมคดีในความรับผิดชอบถ่ายทอดออกมาเป็นประสบการณ์และข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นฐานข้อมูลเพื่อการเผยแพร่ งานเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนและผู้สนใจ รวมถึงตัวแทนจากสำนักอัยการ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง
นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล สำนักงานยุติข้อพิพาททางแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำหรับศาลปกครอง อัยการต้องแก้ต่างเสมอ เพราะรัฐถูกฟ้อง แล้วให้หน่วยงานรัฐส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาคดีตามหลักฐานเอกสารนั้น ดังนั้น แนวคิดหรือกระบวนการทำงานทั้งหมดจึงเป็นของหน่วยงานรัฐที่วางพื้นฐานการโต้ตอบและโต้แย้ง แล้วอัยการก็พิจารณาแนวคิดนั้นๆ ว่าใช้ได้หรือไม่
ส่วนคดีอาญานั้น อัยการพิจารณาคดีตามสำนวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเฉพาะเรื่องการรับโทษและสิทธิในที่ดินว่าเป็นของใคร ส่วนคดีแพ่งนั้นพิจารณาความเสียหายตามตัวความ ส่วนเรื่องเขตอำนาจศาลนั้นมีปัญหามากในทางปฏิบัติ เพราะการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมนั้นรัฐต้องยอมรับว่ามีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการใช้อำนาจ จึงไม่อยากให้ทนายมองเรื่องค่าเสียหายเป็นหลัก แต่อยากให้มองว่าระเบียบวิธีปฏิบัติและการเกิดโครงการนั้นมีที่มาอย่างไร เพราะโครงการเหล่านี้ล้วนมาจากกระบวนการของรัฐก่อน จุดนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปฟ้องร้องศาลปกครอง เพราะเอกสารของรัฐเกี่ยวกับโครงการที่กระทบสิทธิของประชาชนมักจะมีช่องโหว่เสมอ และเสนอแนะให้ฟ้องศาลปกครองก่อนฟ้องศาลยุติธรรม เพราะการพิจารณาคดีจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และส่งผลไปยังศาลยุติธรรมภายหลัง อีกทั้งศาลปกครองยังสามารถพิสูจน์สิทธิได้ ในขณะที่คดีอาญาทำไม่ได้ หรือจะฟ้องทั้ง 2 ศาลควบคู่ไปเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองบางอย่าง
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า “สิทธิชุมชน” บางครั้งเป็นเรื่องที่ศาลหนักใจ แต่หากใช้ 2 แนวคิดในเชิงมหาชนและปกครองเชื่อว่าศาลจะสบายใจมากกว่า เนื่องจากการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมยังติดแนวคิดระบบปัจเจกนิยมอยู่ แต่ศาลปกครองจะมีช่องของ “สิทธิชุมชน” ที่กว้างกว่า เพราะมีระบบโครงสร้างทางอำนาจ ข้อมูล แนวคิดหรือปรัชญา ไปทางของกฎหมายมหาชนมากกว่า แต่มีข้อด้อยที่ควรแก้ไขคือ ในส่วนหลักฐานที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณานั้น ศาลต้องยอมผ่อนคลายเรื่องหลักฐานเอกสารและต้องยอมรับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนมากขึ้น
“การตัดสินคดี ศาลถูกจำกัดด้วยหลักฐานเอกสารที่รัฐให้มา การแก้ต่างหรือให้ความเห็นจึงทำได้จำกัด แต่ทนายน่าจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดบรรทัดฐานให้ก้าวคืบไปข้างหน้า เช่น โครงการต่างๆ ของรัฐ จะมีแผนหรือกำหนดนโยบายบางอย่างออกมาก่อน ดังนั้น หน้าที่ของทนายคือแสวงหาหลักฐาน เก็บหลักฐาน ตั้งประเด็นตรวจสอบ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพราะหลักฐานนี้เป็นส่วนสำคัญมากในการพิจารณาคดี อย่างกรณีเปิดเส้นทางปทุมธานี-ทวายนั้นต้องเวนคืนที่ดินแน่ๆ ใน 4 จังหวัด จากปทุมธานีถึงกาญจนบุรี ฉะนั้นควรไปเก็บหลักฐานก่อน เพราะเชื่อว่าต้องฟ้องกันหลายคดีแน่ๆ นอกจากนี้ งานวิจัยจะเป็นหลักฐานแบบใหม่ที่สำคัญในชั้นศาล” นางสาวจันทิมากล่าว
ด้านนายวีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทนายความพยายามเปิดทุกมิติเพื่อให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ แต่ปัญหาของคดีสิ่งแวดล้อมมีหลายทาง ทั้งเรื่องไม่มีสิทธิฟ้อง ยกฟ้อง หรือกระบวนการทางศาลที่ใช้เวลานาน เช่น กรณีที่นายทุนไปบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ทำการถมที่ดิน ซึ่งเป็นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน แต่หน่วยงานรัฐเพิกเฉยทั้งหมด ทางชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวก็ยื่นฟ้องเอกชนที่บุกรุกป่าต่อศาล แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะชาวบ้านไม่มีสิทธิฟ้องเนื่องจากป่าชายเลนเป็นพื้นที่สาธารณะ อยู่ในความดูแลของรัฐ รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้อง
หรือกรณีคดีภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช ที่หาดมาหยา จังหวัดกระบี่ ทางทีมงานปรับพื้นที่ชายหาด ถอนต้นมะพร้าว จนธรรมชาติถูกทำลาย ชาวบ้านก็มาขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ ขั้นแรกเราก็ขอให้หน่วยงานรัฐเพิกถอนใบอนุญาต แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้ดำเนินการในชั้นศาล ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตและฟื้นฟูเยียวยาหากเกิดความเสียหาย และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลก็ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้น ทีมงานภาพยนตร์ก็อยู่ถ่ายภาพยนตร์จนเสร็จ ส่วนธรรมชาติก็ถูกทำลายให้เห็นชัดเจน เมื่อทีมงานกลับประเทศไปแล้วศาลก็ไม่พิจารณาต่อเพราะผลที่ออกมาบังคับใช้ไม่ได้ นี่คือความเจ็บปวด แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์เห็นว่าเกิดความเสียหายจริง คำพิพากษายังมีผล ซึ่งปัจจุบันผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ศาลเพิ่งจะนัดสืบพยานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
“ทนายความมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงหลักฐานมาก ส่วนใหญ่ต้องใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญก็หายากด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงคือให้กรรมการบริษัทรับผิดเป็นการส่วนตัวด้วย รวมถึงคู่มือดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมวิธีสารบัญญัติ เพราะปัจจุบันเรามีแต่สารบัญญัติ และขอให้วิธีการพิจารณาคดีนั้นให้ความสำคัญกับทนาย อัยการ ในการมีส่วนรวมมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงองค์ประกอบเช่นปัจจุบัน” นายวีรศักดิ์กล่าว
ในขณะที่นายไพโรจน์ มินเด็น ตุลาการศาลปกครอง กล่าวว่า เห็นด้วยที่ว่าคดีสิ่งแวดล้อมนั้นฟ้องศาลปกรองก่อนดีกว่า สำหรับเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องสาธารณะ ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องคอยสอดส่อง ด้านประชาชนก็ต้องร่วมมือกัน เพราะก่อนที่คนจะเดือดร้อนนั้นธรรมชาติถูกทำลายไปก่อนแล้ว แต่ที่ผ่านมาการฟ้องคดียังเน้นที่ค่าเยียวยารักษาคนเสมอ ปัญหาที่เกิดขึ้นมากในศาลปกครองคือการยกฟ้องเนื่องจากขาดคุณสมบัติ เช่น คดีขาดอายุความ ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือหลักฐาน เอกสาร และข้อมูลไม่มากพอ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็อย่าเพิ่งฟ้อง ประชาชนคือด่านแรกของการฟ้อง ดังนั้นควรคัดกรองเรื่องเหล่านี้ก่อนจะมาที่ศาล บางกรณีไม่สามารถตามตัวผู้ฟ้องได้ เช่น กรณีน้ำท่วมปี 2554 มีผู้มาฟ้องร้องจำนวนมากจนศาลต้องเปิดโต๊ะรับฟ้องเฉพาะ แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการกลับติดต่อเรียกตัวผู้ฟ้องมาศาลไม่ได้ ดังนั้น เรื่องคุณภาพการฟ้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคดีสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมามีการฟ้องมากก็จริง แต่การยกฟ้องก็มีมากเช่นกัน
“ประชาชนประชุมร่วมกัน มีข้อเสนอให้ศาลแก้กฎหมาย เสนอวิธีปฏิบัติแก่ศาลมากมาย แต่กลับมีข้อเสนอว่าประชาชนต้องทำอย่างไรบ้างน้อย ” นายไพโรจน์กล่าวและให้ความเห็นต่อข้อเสนอของสภาทนายความว่า กรณีเรื่องอายุความที่เพิ่มเป็น 10 ปี นั้นไม่มีปัญหาอะไรหากสามารถผลักดันให้เกิดได้จริง ซึ่งโดยปกติเรื่องอายุความในศาลปกครองบางคดียืดหยุ่นบางคดีเคร่งครัด คือหากเป็น “การทำละเมิดต่อเนื่อง” จะไม่มีปัญหาเรื่องอายุความ ต่างจาก “ผลการทำละเมิดต่อเนื่อง” คือทำละเมิดครั้งเดียวแต่เกิดผลต่อเนื่อง ศาลอาจจะนับอายุความแค่มูลละเมิด 1 ปี ส่วนกรณีการฟ้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ/ส่วนรวม/มีเหตุจำเป็น ศาลจะยืดหยุ่นให้เข้ามาตรา 52 ได้
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การรับผิดของ “กรรมการบริษัท” เป็นการส่วนตัวนั้น ความผิดเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของศาลจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์ แต่ทั้งนี้กรรมการบางคนก็อาจไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นการกระทำของบริษัทนั้น ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ตามกรณีไป สำหรับกรณีแบ่งความรับผิดระหว่างรัฐและเอกชนนั้น ศาลปกครองสามารถเรียกเอกชนมาสอบได้ แต่การสั่งมีปัญหาแน่นอนเพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าศาลปกครองรับผิดชอบเฉพาะหน่วยงานของรัฐ กรณีแบ่งกันชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐชดใช้ร้อยละ 20 เอกชนร้อยละ 80 นั้นยังมีข้อสงสัยว่าใช้หลักเกณฑ์ใด เหมาะสมอย่างไร และในส่วนของรัฐเองก็ยังไม่แน่ว่าจะเอาเงินจากส่วนไหนมาจ่ายให้ อีกทั้งต้องดูมูลเหตุด้วยว่า รัฐ-เอกชนกระทำร่วมกันหรือไม่ด้วย
สำหรับข้อเสนอที่ให้ตัดมาตรา 66 (2) ออกเพื่อไม่ให้ศาลยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างเหตุกระทบการทำงานของหน่วยงานรัฐนั้นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งเรื่องการไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้เป็นบางคดีเท่านั้นและเป็นคดีที่ฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่ฉุกละหุก ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมศาลในศาลปกครองนั้น หากชนะคดีคืนทั้งหมด หากชนะบางส่วนคืนบางส่วนและมีแนวโน้มลดค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว รวมถึงกำลังจะออกกฎหมายให้พิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้คู่กรณีโต้แย้งในศาลได้ และแก้กฎหมายให้ศาลออกคำสั่งแก้ไขข้อขัดข้องการบังคับคดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพียงแต่อาจใช้เวลาดำเนินการนาน
ส่วนนายวินัย เรืองศรี ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม แผนกคดีสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ด้านศาลยุติธรรมนั้นรับรองสิทธิเอกชนด้านกฎหมายทางแพ่ง แต่สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมจะมองสิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นหลัก ตนยอมรับว่าอำนาจฟ้องเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรมนั้นแคบ แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อำนาจฟ้องจะกว้าง ซึ่งปัญหาการฟ้องหน่วยงานรัฐมิติใหม่ที่ประสบอยู่คือ การฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนไว้ แต่มีข้อสังเกตว่า หลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีอยู่ว่า “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” แล้วรัฐเป็นผู้ก่อมลพิษหรือไม่ ผู้เสียหายถึงมุ่งฟ้องรัฐเป็นหลัก แม้ว่าอำนาจฟ้องนี้จะกว้างพอให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ฟ้องให้รับผิดแทนนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังสงสัยอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วเงินที่รัฐต้องจ่ายก็คือภาษีของประชาชนเอง แม้ว่าจะสามารถไล่เบี้ยกับผู้ก่อมลพิษได้ภายหลัง
นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่ว่าประชาชนต้องกลั่นกรองคดีก่อนฟ้อง เพราะไม่แน่ใจว่าสังคมไทยพร้อมมาแค่ไหนเรื่องการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ เช่น การฟ้องเพื่อคุ้มครองดอยอินทนนท์ที่เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไกลตัวบุคคล แต่เป็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยควรมีหลักเกณฑ์อย่างไรนั้น ทางศาลเองก็กำลังพยายามพัฒนาอยู่
สำหรับข้อเสนอของสภาทนายความ นายวินัยมีความเห็นว่า เรื่องอายุความ ปกติศาลจะดูตามเนื้อหาที่ฟ้องอยู่ และเพิ่มเติมในส่วนของคดีอาญาว่า กรณีการกระทำต่อเนื่อง เช่น บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าจะสร้างอะไรเพิ่มบ้างก็ไม่สามารถเอาผู้กระทำผิดมาฟ้องซ้ำได้ ต้องทำตามบังคับของ พ.ร.บ.ป่าไม้ ส่วนเรื่องหลักกฎหมายขอให้เข้าใจตรงกันว่าข้อกฎหมายไม่ใช่ข้อเท็จจริง จึงต้องตีความไปทางเดียวกันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อกฎหมายอีกมากที่ต้องตีความ เช่น สิทธิ สิทธิชุมชน สิทธิชุมชนดั้งเดิม ว่านิยามคืออะไร และกลายเป็นปัญหาทั้งแง่บวกและลบ เพราะการขยายอำนาจฟ้องหรือความเสียหายจะกระทบฝ่ายตรงข้าม
ส่วนเรื่องค่าเสียหายต่อคนและต่อสิ่งแวดล้อมนั้นต่างกัน คือ การละเมิดต่อคน มีกรณีที่มักพูดกันว่าคนตายได้น้อยกว่าคนเป็น นั่นเพราะคนตายได้แค่ค่าปลงศพและค่าขาดการงาน ในขณะที่คนไม่ตายมีทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดงาน ค่าทุพพลภาพ ฯลฯ ในขณะที่ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ลงรายละเอียดใด แต่ศาลจะมองค่าเสียหายทางตรงเป็นหลัก และบางคดีมองค่าเสียหายทางอ้อมด้วย เพราะป่ามีประโยชน์ให้เรา
ข้อเสนอของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ
กลุ่มคดีเกี่ยวกับสารพิษและวัตถุอันตราย/คดีสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน
1. ควรกำหนดอายุความในการฟ้องคดีละเมิดทางด้านสิ่งแวดล้อมไว้เป็นการเฉพาะ อาจกำหนด 10 ปี และหากการกระทำผิดยังอยู่ หรือผลของการกระทำผิดยังอยู่ หรือการกระทำหยุดแล้วแต่ผู้กระทำผิดยังไม่จำกัดสารพิษออกไป ยังถือว่าไม่เริ่มนับอายุความ สำหรับอายุความการฟ้องละเมิดในศาลปกครอง หากเป็นประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ สามารถตั้งประเด็นเพื่อฟ้องได้ โดยทำหนังสือถึงหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ส่วนการฟ้องละเมิดในศาลยุติธรรม ให้นำ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 96 มาฟ้องได้ โดยผลักภาระการพิสูจน์เรื่องจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้จำเลย
2. กำหนดความรับผิดของกรรมการบริษัทเป็นการส่วนตัวอย่างชัดเจนในกรณีนิติบุคคลทำละเมิดสิ่งแวดล้อม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือกระทำโดยสุจริต หากกรรมการเป็นนอมินีผู้ถือหุ้นต้องรับผิดร่วมด้วย โดยพิจารณาความรับผิดของกรรมการทุกคน รวมถึงคำว่า “เจ้าของหรือผู้ครอบครอง” แหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ต้องรับผิด ต้องรวมผู้มีอำนาจสั่งการ กรรมการและผู้ถือหุ้นด้วย
3. การฟื้นฟู ทั้งผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษและหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ต้องแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบกิจการที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้ากองทุนเยียวยาผู้เสียหาย โดยไม่ต้องรอคำพิพากษา ด้านสิทธิชุมชนและสิทธิส่วนบุคลที่ได้รับผลกระทบ ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กำหนดให้รัฐและเอกชนต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบค่าเสียหาย และกำหนดให้มีกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อดูแล เยียวยาผู้เสียหายโดยเร็วและเป็นธรรม
4. กำหนดให้ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมที่รับฟ้องคดี มีอำนาจพิจารณาและเรียกหน่วยงานรัฐและเอกชนผู้ทำละเมิดมาเป็นคู่ความและพิจารณาความรับผิดได้โดยไม่ต้องฟ้องแยกศาล
5. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์พิเศษเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นหลักสำคัญต่างจากคดีทั่วไป และนำคำแนะนำของประธานศาลมาปฏิบัติ การกำหนดการชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากการคุ้มครองชั่วคราว และกำหนดให้ศาลเดินเผชิญสืบก่อนออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รวมถึงการฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉินพร้อมกัน โดยแสดงให้เห็นความเสียหายอย่างชัดเจน หากขาดคำสั่งนี้และไม่ตัดสิทธิการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวใหม่ หากมีข้อเท็จจริงใหม่
6. เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดการสงวนสิทธิตามพิพากษา 10 ปี จาก 2 ปี ยกเว้นบางคดีที่ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าต้องสงวนสิทธิคำพิพากษาเกิน 10 ปี
7. เร่งพิจารณาคดีเชิงเยียวยาแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ผู้เสียหายมีอำนาจต่อรองและทำให้ผู้ประกอบการยอมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ต้องเสียไปมากกว่าค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหาย
8. กำหนดให้การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมพิจารณาคดีแบบกลุ่ม เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม และในกระบวนการพิสูจน์ให้พิสูจน์ว่าจำเลยทำละเมิดสิ่งแวดล้อมหรือไม่ประเด็นเดียว รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟู และความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือค่าจำกัดมลพิษ และเสนอให้แก้กฎหมายร่างวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม โดยระบุค่าเสียหายเชิงลงโทษ
กลุ่มคดีที่ดินและป่าไม้
1. เสนอให้ศาลปกครองและศาลยุติธรรมพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องเขตอำนาจศาลทั้ง 2 แห่ง กรณีชาวบ้านฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตนเอง ดังนั้น จึงควรพิจารณาในศาลปกครองมากกว่า
2. กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญประจำศาล ที่ขึ้นทะเบียนทั้งคดีปกครองและคดียุติธรรม โดยครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและครอบคลุมทั้งประเทศ และประจำศาลเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี รวมถึงให้คู่ความปรึกษาเบื้องต้นในการดำเนินคดีได้ เช่น การอ่านและแปลภาพถ่ายทางอากาศ
3. กรณีการรับสารภาพของจำเลยคดีอาญาข้อหาบุกรุกป่าสงวน จึงต้องย้ายออกจากป่าและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น เสนอให้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินโดยคำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ สนับสนุนให้ใช้สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิชุมชนให้อยู่ในที่ดินเดิมได้ตามมติคณะรัฐมนตรีหรือแนวนโยบายแห่งรัฐ
กลุ่มคดีตรวจสอบการดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
1. ควรแก้ไขมาตรา 66 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เพื่อไม่ให้ศาลยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยอ้างเหตุจะกระทบต่อการทำงานของหน่วยงานรัฐ
2. การเดินเผชิญสืบบางกรณีไม่ควรแจ้งล่วงหน้า แต่เมื่อได้ประเด็นต้องกับมาแจ้งคู่ความและเปิดโอกาสให้โต้แย้งกันในศาล
3. แก้ไขวิธีพิจารณาความ เปิดโอกาสให้นำบุคคลหรือองค์กรภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความมาเสนอความเห็นทางวิชาการขึ้นศาลได้โดยตรง และศาลนำไปประกอบคำวินิจฉัยได้ โดยศาลต้องทำบัญชีผู้เชี่ยวชาญให้ครอบคลุมและเพียงพอด้วย ซึ่งศาลสามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญได้เองโดยไม่ต้องรอให้คู่ความร้องขอ รวมถึงกำหนดเกณฑ์การรับฟังและคัดค้านเอกสารของผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียม
4. หากโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐ เกิดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช้ดุลพินิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียหายสามารถฟ้องโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองได้ รวมถึงเสนอให้ออกกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้
กลุ่มความรับผิดของหน่วยงานรัฐกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
1. สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจทางปกครอง ออกประกาศ คำสั่ง ตามอำนาจหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับการฟ้องคดีให้เจาะจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง มิฉะนั้นจะทำให้เสียเวลาในการอุทธรณ์ของหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางตรง
2. ในคดีปกครองที่พิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฟ้องคดีต้องแจ้งศาลเพื่อให้ศาลเรียกหน่วยงานมาไต่สวน และออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
3. กรณีคำขอท้ายฟ้องเพื่อให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เสนอให้ผู้ฟ้องเขียนว่า เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู ประกอบด้วยตัวแทนผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เสนอแผนต่อศาลและให้พิจารณาเห็นชอบก่อนและให้ปฏิบัติตามแผนที่เห็นชอบร่วมกันนั้น และกำหนดคำบังคับให้ศาลควบคุมตรวจสอบการดำเนินการ โดยหน่วยงานรัฐต้องรายงานศาลตามเวลาที่ศาลกำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 72 (3)
4. กรณีที่หน่วยงานรัฐหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ให้พิจารณาฟ้องเอาผิดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะเรื่องที่มีแนวปฏิบัติชัดเจน เช่น การขอข้อมูลแต่กลับปฏิเสธทุกครั้ง และยื่นร้องเรียนที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือใช้ดุลพินิจอนุญาตส่อไปในทางทุจริต
กลุ่มคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิของชุมชน
1. คดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อหาหมิ่นประมาทกรณีแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน ทนายความต้องยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะผู้พิพากษาย่อมผูกผันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 27 รวมถึงควรมีองค์คณะพิเศษ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีความรอบด้านเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมควรมีข้อเสนอทบทวน และเพิ่มเติมคำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของศาล
2. ในการทำคดี นอกจากเพื่อเยียวยาความเสียหายและสร้างความเป็นธรรมแล้ว กระบวนการดำเนินคดีควรเปิดโอกาสให้ชุมชนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้วย ด้านรัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมให้มีองค์กรช่วยเหลือประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอกับสิทธิของประชาชนที่มากขึ้น รวมถึงต้องใช้สื่อสาธารณะเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในสังคม
3. ต้องมีเกณฑ์การสั่งฟ้องคดีอาญากรณีการใช้สิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรม ต้องมีกฎหมายกำหนดว่า การใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นเหตุต้องรับผิดทางอาญา