ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” -ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (5) คลีโอพัตราแห่งศตวรรษที่ 20

“ผู้นำโกง” -ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (5) คลีโอพัตราแห่งศตวรรษที่ 20

7 มีนาคม 2013


รายงานโดย : อิสรนันท์

ซูซานน์ มูบารัก ที่มาภาพ: http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com
ซูซานน์ มูบารัก ที่มาภาพ: http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com

เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษก็คือสตรี ซึ่งมักไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน มักถูกปล่อยให้กลืนหายไปกับประวัติศาสตร์ และเบื้องหลังความล้มเหลวของบุรุษก็คือสตรีอีกเช่นกัน แต่พวกเธอมักจะกลายเป็นแพะถูก ประณามว่าเป็นตัวกาลกิณี ทำให้บุรุษประสบความปราชัย

ถ้าอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักเป็นซีซาร์แห่งศตวรรษที่ 20 ซูซานน์ มูบารัก ก็คือ “คลีโอพัตรา” ในยุคเดียวกัน เนื่องจากเป็นนางพญาคู่ใจกันมาตลอด

ระหว่างการปฏิวัติประชาชนที่ตะวันออกกลาง หรือรู้จักกันในชื่อ “อาหรับสปริง” มี “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” หลายคนถูกประณามว่าเป็นตัวการการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ครอบครัวร่ำรวยมหาศาล มีขุมสมบัติซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศนับหมื่นๆ ล้านท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจในประเทศ ท้ายสุด ประชาชนต้องลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาลคอร์รัปชัน โดยไม่มองให้ลึกลงไปว่าต้นตอการทุจริตคอร์รัปชันแท้ๆ มาจากที่ใด

หลังรัฐบาลประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ถูกประชาชนโค่นล้มไม่นาน ชาวอียิปต์หัวโบราณกลุ่มหนึ่งก็ตั้งป้อมกับนางซูซานน์ มูบารัก ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความเลวร้ายของรัฐบาลมูบารักในฐานะที่เป็นตัวการใหญ่ในการสร้างระบบเล่นพรรคเล่นพวก การทุจริตคอร์รัปชัน และการขับเคลื่อนกลไกทางการเมือง

นักวิเคราะห์การเมืองบางคนถึงกับเปรียบเทียบเธอว่าเหมือนกับเลดี้ แมคเบธ ตัวเอกในละครเรื่อง “แมคเบธ” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ผู้เต็มไปด้วยความชั่วร้าย เลือดเย็น และความทะเยอทะยานไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวของเธอมีอำนาจเหนือการเมืองและเศรษฐกิจของอียิปต์ จนนำพาชีวิตไปสู่ความหายนะ

และที่เหมือนกับเลดี้แมคเบธยิ่งกว่าอะไรก็ตรงที่มีอิทธิพลเหนือสามี ความทะเยอทะยานของเธอทำให้หลายคนเชื่อว่าจริงๆ แล้วนางซูซานน์เป็นมือที่ชักใยหุ่นการเมืองเหล่านั้น อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันครอบครัวหมายเลขหนึ่งให้สร้างอาณาจักรการเมืองและธุรกิจอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการผลักดันให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทั้งสองคนรั้งตำแหน่งสำคัญทางธุรกิจและการเมือง สามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยมากถึง 10,000-80,000 ล้านดอลลาร์ด้วยการไซฟอนเงินและฟอกเงิน รวมทั้งขโมยเงินจากกองทุนการกุศลที่รัฐสนับสนุนหลากหลายกองทุน แล้วนำไปฝากในบัญชีธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่นับรวมกรณีที่มีที่ดินผืนงามนับไม่ถ้วนทั้งในอียิปต์และในต่างประเทศ และมีเงินฝากในบัญชีลับอีก 20 ล้านปอนด์

คณะกรรมการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตของอียิปต์ ซึ่งได้ตรวจสอบและตามล่าหาสมบัติของนายมูบารักที่ได้มาจากการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ได้กล่าวหาอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งหลายกระทงด้วยกัน นอกเหนือจากมีพฤติกรรมน่าสงสัยในการบริหารกองทุนเพื่อการกุศลหลายแห่ง หลังจากตรวจพบบัญชีเงินฝากที่ต้องสงสัยในองค์การช่วยเหลือด้านวัฒนธรรมและมนุษยธรรมที่ไม่แสวงหากำไรหลายองค์การ เธอยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคนคุมบัญชีเงินบริจาค 145 ล้านดอลลาร์ ที่ใช้สร้างห้อสมุดอเล็กซานเดรีย นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือที่เชื่อว่ามีมูลความจริงว่านายซาฮี ฮาวาสส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศิลปากร ได้ขโมยโบราณวัตถุอันหาค่ามิได้ ซึ่งถือเป็นสมบัติของแผ่นดิน ไปมอบเป็นของขวัญส่วนตัวให้กับเธอ

อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอียิปต์เป็นลูกครึ่ง มีพ่อเป็นชาวอียิปต์ ส่วนแม่เป็นนางพยาบาลชาวเวลช์ เธอเกิดในเมืองเมนยา ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ห่างจากกรุงไคโรประมาณ 250 กิโลเมตร สมัยเด็กเคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส แต่กลับต้องแต่งงานกับนายทหารอากาศฮอสนี มูบารัก วัย 30 ปีตอนที่เธอมีอายุ 17 ปี หลังจากมีลูกชาย 2 คน เธอจึงกลับไปเรียนหนังสือต่ออีกครั้ง จากประวัติส่วนตัวระบุว่า นางซูซานน์ได้ปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์และปริญญาโทด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร

ตอนที่เป็น “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ” ใหม่ๆ นางซูซานน์จะจำกัดบทบาทของเธอเฉพาะองค์การเพื่อการกุศลในประเทศ ก่อนจะขยายบทบาทไปทำงานองค์กรกุศลระดับโลก เป็นประธานพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดหลายแห่ง เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิต่างๆ แทบนับไม่ถ้วน รวมไปถึงสภาสตรีแห่งชาติและสมาคมจันทร์เสี้ยวแดงของอียิปต์ ก่อตั้งขบวนการระหว่างประเทศเพื่อสตรีและสันติภาพซูซานน์ มูบารัก กระทั่งได้รับรางวัลระดับโลกมากมายรวมไปถึงรางวัลจากองค์การต่างๆ ของสหประชาชาติด้วย

นางซูซานน์เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อปี 2531 ปฏิเสธว่าเธอไม่ใช่ “เฟิร์สเลดี้” หรือ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” เพราะคำนี้เป็นคำที่นำเข้ามาจากตะวันตก “ในฐานะภรรยาหรือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง หมายถึงพันธสัญญาว่าจะต้องช่วยเหลือหรือช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในฐานะภรรยาของประธานาธิบดีก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหมายถึงจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ”

นิวยอร์กไทมส์ได้ยกย่องเธอว่าเป็นคนตรงไปตรงมาและพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอังกฤษ

แต่เว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์กลับให้ภาพเธอในอีกแบบหนึ่ง

โทรเลขลับจากสถานทูตสหรัฐในกรุงไคโรที่ส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนธันยาคม 2553 ระบุว่า “คลีโอพัตรา”ยุคใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการเมืองอียิปต์ โทรเลขลับยังกล่าวด้วยว่าเธอเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริงในการผลักดันกามาล ลูกชายคนเล็ก ให้ขึ้นมาเป็นดาวรุ่งทางการเมือง ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นทายาทการเมืองของนายมูบารักผู้เป็นพ่อที่โรคภัยเบียดเบียน กระทั่งต้องเก็บตัวมากขึ้น ความเห็นนี้เท่ากับยืนยันความเห็นของนักการทูตอเมริกันที่ส่งรายงานถึงกรุงวอชิงตันเมื่อเดือน เม.ย. 2549 ว่านางซูซานน์พยายามผลักดันลูกชายคนนี้ โดยจะถ่ายรูปคู่กันกลางงานใหญ่ๆ ตลอดเวลา

อิทธิพลของเธอยังทำให้นิตยสารนิวส์วีคถึงกับพาดหัวว่า “เมื่อรัฐบาลในมือของทหารคนหนึ่งที่ทรงอำนาจเปลี่ยนไปเป็นบริษัทของครอบครัว” พาดหัวนี้มาจากคำสัมภาษณ์พิเศษของนางซูซานน์ที่ว่า อียิปต์ต้องการครอบครัวของเธอเข้ามารักษากฎหมาย ความสงบสุข และความมั่นคงปลอดภัย และถ้าหากนายมูบารักมีอันลาลับแล้ว เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ลูกชายต้องเข้ามารับหน้าที่แทน เธอเชื่อว่าครอบครัวหมายเลขหนึ่งจะต้องอยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อปกป้องอียิปต์ให้พ้นจากมือของมุสลิมสุดโต่ง (กลุ่มมุสลิมภราดรภาพหรือบราเธอร์ฮูด) และเพื่อดำรงไว้ซึ่งเครือข่ายของมูบารักในเรื่องของผลประโยชน์ทางการเงิน หรืออีกนัยหนึ่ง นางซูซานน์เชื่อมั่นว่าต้องตั้งราชวงศ์มูบารักขึ้นปกครองอียิปต์ในยุคสมัยนี้ อียิปต์ถึงจะอยู่รอด

โทรเลขอีกชิ้นหนึ่งที่วิกิลีกส์นำมาเผยแพร่ระบุว่า เธอได้ยึดรถบัสคันหนึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวทั้งๆ ที่เป็นรถที่สำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐบริจาคให้เพื่อใช้เป็นรถโรงเรียน

เป็นที่ทราบกันดีว่านางซูซานน์ไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดาทั่วๆ ไปที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย แต่เธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มาก เลดี้แมคเบธแห่งแดนสฟิงซ์ไม่เพียงแต่มีอิทธิพลเหนือนายมูบารักเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในกิจการของรัฐด้วย ยิ่งในช่วงที่สุขภาพของนายมูบารักทรุดโทรมลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่แล้ว อิทธิพลของเธอก็ยิ่งมีมากขึ้น กลายเป็นคนตัดสินใจในนโยบายสำคัญๆ นอกเหนือจากควบคุมดูแลมหาสมบัติของตระกูล

บทบาทเหล่านี้ทำให้เธอเริ่มกลายจากเลดี้แมคเบธมาเป็น “คลีโอพัตรา” ยุคศตวรรษที่ 20 ผู้กุมอำนาจแท้จริงอยู่เบื้องหลังนายมูบารัก รวมไปถึงการแต่งตั้งข้าราชการอาวุโส ตลอดจนเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานในกระทรวงหลักๆ ทำให้หลายปีที่ผ่านมานี้ สถานที่ราชการ สถาบันการเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม ต่างเอาอกเอาใจด้วยการนำชื่อของเธอเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ

ขณะที่สามีกำลังเผชิญกับโทษประหารชีวิต ลูกชายทั้ง 2 คนถูกจองจำในข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน ส่วนอาณาจักรที่เธอสร้างขึ้นมากับมือได้แตกเป็นเสี่ยงๆ นางซูซานน์ซึ่งพำนักที่คฤหาสน์มูลค่าราว 6 ล้านดอลลาร์ ที่ชาร์ม เอล ชีค ริมฝั่งทะเลแดง ก็ต้องไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลเป็นประจำเมื่อโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงกำเริบ ทำให้สามารถหลบเลี่ยงการถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำหญิงคานาเตอร์ในกรุงไคโร ความอ่อนแอนี้ทำให้เธอถึงกับเป็นลมหมดสติเมื่อได้ยินศาลตัดสินให้กักขังเธอเป็นเวลา 15 วัน ในข้อหาร่ำรวยผิดปรกติ ไม่นับรวมกรณีถูกฟ้องในคดีอาญาว่าเกี่ยวข้องกับการสั่งฆ่าผู้ประท้วง

ด้วยความกลัวว่าจะถูกขังในเรือนจำ นางซูซานน์ถึงกับยื่นข้อแลกเปลี่ยนว่ายินดีจะคืนเงินสดราว 3.3 ล้านดอลลาร์ ที่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารในอียิปต์ให้ทางการ โดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์สินทั้งหมดที่เธอมีอยู่ หลังจากก่อนหน้านี้ทางการได้อายัดบัญชีในธนาคารต่างชาติ รวมทั้งบัญชีเงินฝากในธนาคารสวิสจำนวนกว่า 240 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

แน่นอน นางพญาแมคเบธแห่งอียิปต์ได้ปฏิเสธทุกข้อหา อ้างว่าทรัพย์สินของลูกชายได้มาจากการทำธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งปฏิเสธว่าทรัพย์สินส่วนตัวของเธอไม่ได้มาจากการคอร์รัปชันเงินจากกองทุนการกุศล พร้อมกันยืนกรานว่าไม่รู้เรื่องกรณีเงินบริจาคเข้ากองทุนที่ไม่แสวงหากำไรหายไปจากบัญชี