ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (3)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (3)

13 กุมภาพันธ์ 2013


รายงานโดย : อิสรนันท์

เป็นเรื่องน่าแปลกไม่ใช่น้อย ที่ทรัพย์สินของ “ฟาโรห์แห่งศตวรรษที่ 20” ฮอสนี มูบารัก พร้อมด้วยภรรยาและลูกๆ อีก 2 คนจากการตรวจสอบของสื่อตะวันตกมีแต่งอกเงยขึ้นแบบก้าวกระโดด ช่วงที่เพิ่งถอดหัวโขนทิ้งใหม่ๆ หนังสือพิมพ์เดอะ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ ประเมินว่า อดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งมีทรัพย์สินรวมกันอย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์เท่านั้น จากนั้นก็เพิ่มเป็นไม่กี่หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนจะกระโดดพรวดเป็นหลักแสนล้านดอลลาร์ จากการประเมินล่าสุดของนิตยสารฟอบส์เมื่อปลายปี 2554 ระบุว่าอาจมีมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่างบประมาณของประเทศด้อยพัฒนาไม่รู้กี่สิบเท่า ทำให้หลายคนเชื่อว่าอาจเป็นตัวเลขที่ปั้นแต่งให้สูงเกินจริง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยข่าวลือเพื่อสร้างกระแสโกรธแค้นนายมูบารักจนเข้ากระดูกดำในช่วงที่มีการเดินขบวนขับไล่เมื่อปี 2554

สื่ออาหรับบางสื่อให้ความเห็นว่า ถ้าเทียบภาพลักษณ์และทรัพย์สินของนายมูบารัก กับผู้นำอาหรับหลายประเทศที่ล้มระเนระนาดราวโดมิโนระหว่างการปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับสปริง ภาพลักษณ์ของอดีตฟาโรห์มูบารักดูดีกว่าผู้นำคนอื่นๆ ในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่เป็นเทวดาเดินดินหรือนางฟ้าติดปีกบินไปช็อปปิ้งในต่างประเทศเป็นว่าเล่นเหมือนอดีตผู้นำหลายคน

จากรายงานหนา 5 หน้าของคณะกรรมการติดตามทรัพย์สินของนายมูบารักและครอบครัว ที่เชื่อว่าได้มาจากการทุจริตฉ้อฉล ที่กระทรวงยุติธรรมอียิปต์ตั้งขึ้น ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ระบุว่า ทรัพย์สินของอดีตผู้นำไม่มากเท่ากับที่สื่อตะวันตกพยายามขุดคุ้ย เพราะตรวจสอบแล้วพบว่ามีแค่ไม่กี่พันล้านปอนด์อียิปต์ ไม่ใช่แสนๆ ล้านดอลลาร์อย่างที่ประโคมข่าวกัน

ถ้าเป็นจริงตามนี้ นับว่านายมูบารักเป็นอดีตผู้นำที่จนที่สุดในหมู่ผู้นำอาหรับที่มีเหตุตกกระป๋องในเวลาไล่เลี่ยกัน

ทางการอียิปต์ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ พบหลักฐานทรัพย์สินในชื่อของนายมูบารักเพียงน้อยนิด แค่คฤหาสน์หรู 1 หลัง ขนาด 350 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 15,640 ตารางเมตร ที่ชาร์ม เอล ชีค ริมฝั่งทะแลแดง และอพาร์ทเมนต์เลขที่ 5 บนชั้น 3 ที่เมืองมาร์ซา มาทรูห์ ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เหลือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องในธนาคารชาติอียิปต์

อย่างไรก็ดี สื่อตะวันตกบางสื่อโต้ว่า นายมูบารักน่าจะมีทรัพย์สินมากกว่านี้ นอกเหนือจากเงินเบี้ยหวัดบำนาญหลายร้อยล้านดอลลาร์จากการรับใช้ชาติทั้งในฐานะประธานาธิบดีและอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งนายมูบารักได้นำเงินส่วนหนึ่งไปต่อยอดลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จนได้กำไรหลายร้อยล้านปอนด์อียิปต์ อีกส่วนหนึ่งนำไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่พักอาศัยและโรงแรมหรูหรา ยังมีเงินใต้โต๊ะอีกนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างประเคนให้เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน และนายมูบารักได้นำเงินส่วนใหญ่ไปฝากในบัญชีธนาคารลับต่างชาติในสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ

Hosni Mubarak ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian
Hosni Mubarak ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian

ถึงแม้ว่าทางการอียิปต์จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ชัดเจนในบัญชีลับเหล่านั้น จากข้อมูลที่รวบรวมไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชี้ว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่จะฝากไว้ที่ธนาคาร ยูบีเอส ในสวิตเซอร์แลนด์ และแบงค์ ออฟ สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนของกลุ่มธนาคารลอยด์

ด้านสำนักข่าวออนไลน์อาห์รามแฉว่า นายมูบารักยังมีเงินในบัญชีธนาคารชาติอียิปต์สาขาเฮลิโอโปลิส ย่านหรูในกรุงไคโร จำนวน 145 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,350 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินที่เตรียมมอบให้กับห้องสมุดอเล็กซานเดรีย อันเป็นอภิมหาโครงการที่ดึงดูดผู้คนในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรปให้ร่วมกันบริจาคเงินก้อนใหญ่ โดยนางซูซานน์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารห้องสมุดแห่งนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่าทั้งนายมูบารักและนางซูซานน์สามารถเข้าถึงกองทุนนี้หรือไม่ และในช่วงที่เกิดจลาจลล้มรัฐบาลมูบารัก มีข่าวลือว่านายมูบารักได้แอบโอนเงินก้อนนี้ไปต่างประเทศ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ

ในรายงานของคณะกรรมการติดตามทรัพย์สินของนายมูบารักเผยด้วยว่า อดีตฟาโรห์ศตวรรษที่ 20 แห่งแดนสฟิงซ์ยังมีทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่งที่ใช้ชื่อร่วมกับนางซูซานน์ผู้เป็นภรรยาเป็นอสังหาริมทรัพย์ 34 ผืน รวมไปถึงที่ดินผืนใหญ่หลายผืน อพาร์ทเมนต์ทั่วกรุงไคโร และคฤหาสน์หลายหลังบริเวณชานเมืองหลวง เงินสดอีก 300 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,000 ล้านบาท) ที่ฝากในบัญชีธนาคารสวิสในชื่อของนายอาลาและนายกามาล ลูกชายสุดสวาททั้ง 2 คน ไม่นับรวมไปถึงกองทุนและหุ้นบริษัทอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนทรัพย์สินส่วนใหญ่ของนางซูซานน์ มูบารัก ซึ่งติดทำเนียบเศรษฐินีมาตั้งแต่ปี 2543 คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 90,000-150,000 ล้านบาท) ซุกไว้ในบัญชีลับธนาคารหลายแห่งในสหรัฐ ในรายงานของคณะกรรมติดตามทรัพย์สินของนายมูบารักและครอบครัวระบุว่า นางซูซานน์มีเงินบัญชีธนาคารแค่ 3.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 99 ล้านบาท) รวมไปถึงคฤหาสน์หลังหนึ่งในกรุงไคโร แต่สื่อตะวันตกแฉว่า เธอยังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่หลายแห่ง อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต มาดริด ปารีส และดูไบ นอกจากนี้ยังมีรายได้ในรูปผลตอบแทนมหาศาลจากการถือครองหุ้นในกิจการต่างๆ ตลอดจนสินทรัพย์สภาพคล่องในสกุลเงินต่างๆ หลายสกุลในธนาคารชาติอียิปต์และอังกฤษ และสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคาร Société Générale Bank ในกรุงปารีส

อดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งอียิปต์ยังมีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วโลก จากลอนดอนสู่ปารีสสู่นิวยอร์กและเบเวอร์ลีฮิลส์ นอกจากคฤหาสน์หลายแห่งในกรุงไคโรและหลายเมืองในอียิปต์แล้ว ยังมีคฤหาสน์หรูขนาด 6 ชั้นที่ไนท์บริดจ์ในกรุงลอนดอน มูลค่าราว 8.5 ล้านปอนด์ บ้านพักหลังหนึ่งในกรุงปารีสและเรือยอชต์อีก 2 ลำ มูลค่ากว่า 83 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,490 ล้านบาท)

รายงานหนา 5 หน้าของคณะกรรมการพิเศษชุดนี้ย้ำว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตระกูลมูบารักอยู่ในชื่อของนายอาลา ลูกชายคนโตวัย 50 ปี และนายกามาล ลูกชายคนแรกวัย 48 ปี ซึ่งแยกกันคุมเครือข่ายบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจต่างๆ ในแดนสฟิงซ์อียิปต์ ขณะที่รายงานเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่อง “คอร์รัปชันในอียิปต์: เมฆดำทะมึนที่ปิดไม่มิด” ของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2549 ได้เผยรายชื่อบริษัทที่เชื่อว่าเป็นของสองพี่น้องตระกูลมูบารัก อาทิ ถือครองหุ้นใหญ่ของบริษัทบุลเลียน คอมพานี จำกัด บริษัทการลงทุนในไซปรัส บริษัทปาล์ม ฮิลส์ ดีเวลลอปเมนต์ หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์ และบริษัทหลักทรัพย์ชาร์ลส์ ชว้าบ ในสหรัฐ มูลค่า 3.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 99 ล้านบาท)

นายอาลา ลูกชายคนโตนั้นเป็นนักธุรกิจเต็มตัว คาดว่ามีทรัพย์สินรวมกันถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 240,000 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์เกือบเต็มร้อยจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อาทิ เป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ให้บริการสายการบินทุกแห่งในประเทศ เป็นคนนำเข้าเข็มขัดนิรภัยทั้งหมดทันทีที่รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องคาดเข้มขัดนิรภัย นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งในอียิปต์และที่ลอสแองเจลิส วอชิงตัน และนิวยอร์ก

ส่วนนายกามาล ลูกชายคนเล็กผู้เป็นทายาทการเมืองของนายมูบารัก ผู้เป็นพ่อ ด้วยการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นดีพี) พรรครัฐบาลที่มีนายมูบารักผู้พ่อเป็นประธานพรรค สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร จากนั้นก็ใช้เวลา 6 ปี เป็นวานิชธนกิจของแบงค์ ออฟ อเมริกา ก่อนจะตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการลงทุนของตัวเองขึ้นมา ชื่อเมด อินเวสต์ พาร์ทเนอร์ เพื่อช่วยนักลงทุนตะวันตกซื้อหุ้นและบริษัทในอียิปต์ เชื่อว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเงินทองมหาศาลนี้กระจัดกระจายอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐ นอกจากนี้ ยังหว่านเงินไปลงทุนตามกองทุนต่างๆ ในสหรัฐและอังกฤษด้วย