ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงการใช้งบประมาณเพื่อโครงการประชานิยมในปี 2553-2557 ว่าใช้เงินไปแล้วเกือบ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่งบลงทุนรวมเพียง 1.3 ล้านล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญในปัจจุบัน (ประชานิยม) มากกว่าอนาคต (ลงทุน) โดยเป็นเม็ดเงินที่อุดหนุนโครงการจำนำข้าว อุดหนุนพลังงาน และรถคันแรก 3 นโยบายนี้ใช้งบรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท
“เมื่อพูดถึงนโยบายประชานิยม คนก็มักจะพูดถึงโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนไปเกือบ 6.9 แสนล้านบาท แต่แท้จริงแล้วยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณไปไม่น้อยเช่นกัน ล่าสุดตัวเลขจากกองทุนพลังงานพบว่าระหว่างปี 2553-2557 เราใช้เงินอุดหนุนก๊าซแอลพีจีไปกว่า 1.4 แสนล้านบาท ทำให้งบประมาณที่ใช้อุดหนุนพลังงาน เฉพาะดีเซลกับแอลพีจีนั้นคิดเป็นเงินกว่า 5.2 แสนล้านบาท”
จากข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเป็นบทเรียนในการกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างขาดความระมัดระวัง และนำไปสู่แนวคิดที่ต้องการตีกรอบจำกัดการใช้นโยบายลักษณะนี้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของนักการเมืองคือต้องการได้รับเลือกตั้ง ดังนั้น การจะให้นักการเมืองเลิกทำนโยบายประชานิยมจึงเป็นไปได้ยาก เพราะสามารถสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองได้ทันที โดยที่ในบางครั้งสามารถผลักภาระทางการคลังไปในอนาคตได้ แตกต่างจากนโยบายที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าอย่างโครงการลงทุนของภาครัฐที่กว่าจะเห็นผลลัพธ์ต้องใช้ระยะเวลา ส่วนผู้รับผลประโยชน์ก็กระจัดกระจาย ไม่ได้เป็นฐานเสียงที่ชัดเจน
“โจทย์หลักเกี่ยวกับประชานิยมต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าควรจะทำนโยบายหรือไม่ เพราะไม่ว่าอย่างไร นักการเมืองก็ต้องทำอย่างแน่นอน แต่จะกำหนดกรอบงบประมาณประชานิยมอย่างไร เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังมากกว่า” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดังนั้น สถาบันอนาคตไทยศึกษาจึงขอเสนอแนวทางเกี่ยวกับกรอบงบประมาณประชานิยม ดังนี้
1.ระบุและจำกัดวงเงินงบประมาณประชานิยมให้ชัดเจน เช่น ไม่เกินงบลงทุน
2.ตัดหรือลดงบนโยบายประชานิยมที่มีเข้าข่าย 3 สูง คือ ภาระการคลังสูง บิดเบือนตลาดสูง และใช้งบต่อหัวสูง
3.ควรใช้สูตร 2/98 กับทุกโครงการประชานิยมที่ใช้งบตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป เพื่อทำฐานข้อมูลแบบปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดทั้งหมด