ThaiPublica > เกาะกระแส > ค่าเสียโอกาส: 3 G รายได้ที่มองเห็น และค่าเสียโอกาสที่มองไม่เห็น

ค่าเสียโอกาส: 3 G รายได้ที่มองเห็น และค่าเสียโอกาสที่มองไม่เห็น

14 ธันวาคม 2012


ข่าวประชาสัมพันธ์ : สถาบันอนาคตไทยศึกษา

13 ธันวาคม2555- สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดตัวงานวิเคราะห์ฉบับใหม่ “Opportunity Cost (ค่าเสียโอกาส)” โดยงานฉบับแรกขอนำเสนอค่าเสียโอกาสของโครงการ 3G ที่ประเทศไทยไม่ตัดสินใจเดินหน้าลงทุนเมื่อ 3 ปีก่อน ว่าสร้างรายได้ที่มองเห็นให้แก่ประเทศไทยเพียงประมาณปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ในทางกลับกัน โครงการนี้ กลับก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสที่มองไม่เห็นแก่ประเทศไม่น้อยกว่า 4.8 แสนล้านบาท (หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1.6 แสนล้านบาท)

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า “สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการวิจารณ์ การวิจารณ์ส่วนใหญ่มักมาจากสิ่งที่คนมองเห็นและพูดถึงแต่ไม่ได้เป็นผู้ทำ บ่อยครั้งที่การวิจารณ์ทำให้คนไม่กล้าตัดสินใจไม่กล้าเดินหน้าที่จะทำในสิ่งที่คิดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เราเรียกต้นทุนของการไม่กล้าเดินหน้านี้ว่า “ค่าเสียโอกาส” ซึ่งในกรณีของโครงการขนาดใหญ่ของประเทศไทย ต้นทุนประเภทนี้อาจก่อความเสียหายให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล ไม่น้อยไปกว่าต้นทุนที่เราเห็นกันได้อย่างชัดแจ้งเลยทีเดียว”

สำหรับงานวิเคราะห์ฉบับนี้ ทางสถาบันฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ จากการไม่ตัดสินใจทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย โดยจะนำเสนอตัวเลขของต้นทุนนี้ในรูปแบบที่วัดกันได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างพื้นฐานและยกระดับการวิจารณ์ของสังคมให้อยู่บนข้อมูลที่ครบถ้วน และทราบโดยทั่วกัน

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้จัดการ สถาบันฯ เปิดเผยถึงค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากโครงการ 3G ว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ที่ร่างเงื่อนไขการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHZ ของ กทช. ได้ถูกคัดค้านมิให้มีการเปิดประมูล จนกระทั่งมีการประมูลจริงเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจนจบสิ้นการประมูล ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมในเชิงกฎหมาย ตลอดจนผลได้ผลเสียจากการประมูล ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่มองเห็นให้แก่ประเทศไทยมูลค่าเพียงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่การวิจารณ์เหล่านั้นไม่ได้กล่าวถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศไทยที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 4.8 แสนล้านบาท (หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1.6 แสนล้านบาท) ซึ่งขาดหายไปจากการที่เราไม่ตัดสินใจเดินหน้าลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นค่าเสียโอกาสของภาครัฐปีละ 0.2 หมื่นล้านบาท ภาคธุรกิจปีละ 9.6 หมื่นล้านบาท และภาคประชาชนอีกปีละ 6.2 หมื่นล้านบาท

“การลงทุนในโครงการ 3G อาจทำให้รัฐสูญเสียส่วนแบ่งรายได้บนคลื่นความถี่เก่า แต่เมื่อคิดรวมรายได้จากค่าสัมปทานคลื่นความถี่ใหม่ และรายได้จากภาษีทางตรงเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีทางอ้อมเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรัฐจะจัดเก็บเพิ่มได้จากภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงจากการมี 3G คาดว่ารัฐจะได้รับผลประโยชน์สุทธิเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าปีละ 0.2 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน ยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ธุรกิจไม่น้อยกว่าปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในโครงการ 3G และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นำเอาผลประโยชน์จาก 3G ไปเป็นพื้นฐานต่อในการผลิตคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่าปีละ 6.3 หมื่นล้านบาท”

ท้ายที่สุด ก็คือภาคประชาชนซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จาก 3G ถึงกว่าปีละ 6.2 หมื่นล้านบาท จากความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการเข้าชมเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือด้วย 3G ซึ่งเร็วกว่า EDGE 30-35 เท่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มจากปัญหาสายหลุดขณะสนทนาเมื่อใช้คลื่นความถี่เดิม ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงต้นทุนความสะดวกสบายอื่นๆ ที่จะได้รับจากการใช้โทรศัพท์มือถือบน 3G อาทิเช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และการใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศฟรีผ่านระบบ VOIP เป็นต้น

อ่านเอกสารฉบับเต็ม
[gview file=’https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2012/12/Opportunity-Cost_3G.pdf’]