ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ องค์การคลังสินค้า แจงปม “ข้าวเน่า”

คำต่อคำ องค์การคลังสินค้า แจงปม “ข้าวเน่า”

15 กุมภาพันธ์ 2013


การประชุม กมธ. กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน
การประชุม กมธ. กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน

เป็นมหากาพย์อีกเรื่องสำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

ที่ในวันนี้ นักวิชาการและพรรคประชาธิปัตย์ยังคงโจมตีต่อเนื่องถึงความไม่ชอบมาพากลในทุกขั้นตอน ทั้งใบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลอม การนำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ และการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่การขาดทุนของรัฐอย่างมหาศาล

ล่าสุด ปม “ข้าวเน่า” เป็นหลักฐานใหม่ที่ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกขึ้นมาตั้งกระทู้ถามถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมนำกระสอบข้าวสารที่อ้างว่าเป็นข้าวจากคลังกลางในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าวไม่ได้คุณภาพอันเป็นผลมาจากการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน มาประกอบการอภิปราย

จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) แจ้งความในข้อหาลักทรัพย์

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยได้เชิญผู้อำนวยการ อคส. ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และอธิบดีกรมศุลกากรเข้าให้ข้อมูล ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้ส่งตัวแทนชี้แจงดังนี้

ผอ.อคส. ให้นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รอง ผอ.อคส., ผอ.อตก.ให้นางสาวเตือนใจ หล่อพัฒนากูร ผอ.ฝ่ายธุรกิจการเกษตร ขณะที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบให้นางศุภลักษณ์ เอี่ยมวงศ์ศานติ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเรื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชี้แจง

โดยในการประชุมดังกล่าว กมธ. ได้เชิญ นพ.วรงค์ มาให้ข้อมูลต่อ กมธ. ด้วย

อคส.-อตก. ระบุ โกดังสต็อกข้าวไม่พอ

นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาถึง 30 กันยายน 2556 ขณะนี้รับจำนำข้าวเปลือกไปแล้ว 8.5 ล้านตัน จากที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ 10 ล้านตัน และมีการแปรสภาพสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งได้ข้าวสารจากการสีประมาณ 4.1 ล้านตัน โดยในปริมาณข้าวสารที่สีได้ในขณะนี้มีคลังสินค้าที่เก็บข้าวสารจำนวน 180 แห่ง ความจุ 3.7 ล้านตัน และยังขาดคลังสินค้าอยู่ประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งอยู่ระหว่างการรับสมัครในแต่ละจังหวัดเพื่อเข้าร่วมโครงการและทำสัญญาต่อไป

ด้าน น.ส.เตือนใจกล่าวว่า ในส่วนของ อตก. ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ได้รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 ที่เป็นข้าวเปลือกจำนวน 1.8 ล้านตัน ขณะนี้ได้สั่งสีแปรเป็นข้าวสารแล้ว และได้ส่งมอบเข้าคลังกลางแล้ว 1.9 แสนตัน เก็บไว้ในโกดังกลางทั้งหมด 55 หลังใน 18 จังหวัด และยังมีบางส่วนที่ทยอยส่งมอบอยู่และยังขาดโกดังกลางอยู่บ้าง แต่รับสมัครเข้าเรื่อยๆ

อ้างเปิดคลังสินค้าช้าทำข้าวค้าง

นพ.วรงค์ถามว่า กรณีที่มีปัญหาเรื่องข้าวค้างส่งจำนวนมากถึงล้านตัน ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และปัญหาเกิดจากอะไร นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีข้าวค้างส่งประมาณ 5 แสนตันเศษ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปิดคลังสินค้ากลางในปีนี้มีความล่าช้ากว่าโครงการในปีที่ผ่านมา เพราะคณะกรรมการนโยบายข้าวได้มีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาคัดเลือกโกดังกลางในการเก็บข้าวสาร และคัดเลือกตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ซึ่งทำให้ล่าช้าไป 2-3 สัปดาห์

อีกประเด็น ในเรื่องข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีการสั่งสีแปรสภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการระบายจำหน่ายให้กับผู้ส่งออก ทางโรงสีจะต้องรอทางผู้ส่งออกที่มีการจัดซื้อจากรัฐบาลและจับคู่กัน ให้โรงสีเหล่านี้ส่งมอบข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่ทำการซื้อจากรัฐบาล ซึ่งในการจับคู่กันให้ทางผู้ส่งออกได้พิจารณาคัดเลือกโรงสีด้วยความสมัครใจซึ่งกันและกัน เพื่อการส่งข้าวมอบจะได้ไม่มีปัญหาอุปสรรค แต่ในช่วงต้นมีความล่าช้าเกิดขึ้น ทำให้เกิดการค้างข้าวสารที่มีการส่งมอบอยู่

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

“วรงค์” งง จับคู่โรงสี-ผู้ส่งออก

น.พ.วรงค์ถามต่อไปว่า ข้อกังวลใจคือคลังสินค้ามีไม่พอ เหตุผลที่คลังมีไม่พอเพราะการระบายข้าวของรัฐบาลในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้า ซึ่งอธิบดีกรมการค้าภายในได้มาชี้แจงใน กมธ. ชุดหนึ่ง บอกว่าได้ตั้งเป้าในการส่งออกประมาณ 9 ล้านตัน แต่เราส่งออกได้เพียง 6.9 ล้านตัน ทำให้ข้าวมีปัญหาการค้างส่งและการจัดหาคลังเพิ่มเติม

แต่ประเด็นที่มากกว่านี้คือการที่ให้ผู้ส่งออกมาจับคู่กับทางโรงสี ซึ่งไม่แน่ใจว่ากระบวนการระบายข้าวด้วยวิธีการนี้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ เพราะวิธีการอย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงที่เข้าร่วมโครงการ ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวได้มีการประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า เนื่องจากปีนี้พิจารณากันแล้วว่าจะเกิดปัญหาเรื่องภัยแล้งในฤดูการผลิต ซึ่งอาจจะทำให้ข้าวมีผลผลิตน้อย ประกอบกับสมาคมผู้ผลิตข้าวมีข้อเสนอว่า ควรจะมีการกำหนดคุณภาพข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวพรีเมียมและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยให้ชัดเจน มีความบริสุทธิ์ของข้าวสูง ดังนั้น ขอให้กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาให้ทางโรงสีซึ่งโดยปกติแล้วต้องสีข้าวเปลือกตามคำสั่งสีของทางราชการและส่งเข้าโกดังกลาง แต่ให้ทางโรงสีมาส่งกับบริษัทโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณในเรื่องการเก็บรักษาด้วย

จนกระทั่งออกเป็นมติให้ อคส. และ อตก. แจ้งไปยังโรงสีให้จับคู่กับผู้ส่งออก และแจ้งมายังกรมการค้าภายในกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ไปประสานกันในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ส่งออกกับทาง อคส. โดยวิธีการประมูลเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว อคส.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามจะต้องดำเนินการตามมติของที่ประชุม และเป็นคนแจ้งเร่งรัดทางโรงสีให้ส่งมอบข้าวไปให้ผู้ส่งออก

รอง ผอ.อคส. รับ ไม่มีกฎหมายรองรับ

สำหรับเรื่องกฎหมายนั้น เป็นมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่จะต้องพิจารณาในการให้ความเห็นชอบในแนวทางที่อนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้นำเสนอ ตรงนี้มีกฎหมายอย่างอื่นรองรับหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ เพราะในหลักปฏิบัติแล้วในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ในโครงการรับจำนำข้าว 2549/2550 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลได้มีการระบายข้าวเพื่อจำหน่ายให้กับประเทศอิหร่าน โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับประเทศอิหร่าน และมอบหมายให้ผู้ส่งออกข้าว 6-7 ราย เป็นผู้ที่ทำการปรับปรุงข้าวสารที่จะส่งมอบให้รัฐบาลอิหร่าน โดยได้กำหนดให้ อคส. แจ้งไปยังโรงสีที่เข้าร่วมโครงการว่าข้าวสารไม่ต้องส่งมอบเข้าโกดังกลาง แต่ไปส่งมอบให้ผู้ส่งออก 5-6 รายที่รัฐบาลได้พิจารณาคัดเลือก เพราะจะได้ประหยัดในเรื่องของค่าเช่าโกดัง ค่าแรงงาน และความเสื่อมของสภาพข้าวหากมีการเก็บรักษาไว้นาน

อย่างไรก็ตาม จากการชี้แจงดังกล่าว กมธ. ได้ท้วงติงว่า ข้อเท็จจริงในการขายข้าวให้รัฐบาลอิหร่านเมื่อปี 2549/2550 นั้นเป็นการหาซัพพลายเออร์ให้กับผู้ส่งออก ไม่ใช่เรื่องจับคู่ตามที่รอง ผอ.อคส.ระบุ ดังนั้น การจับคู่ระหว่างโรงสีและผู้ส่งออกจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง ซึ่งทำให้นายสมศักดิ์ได้ยอมรับกับ กมธ. ในที่สุดว่า การขายข้าวให้กับรัฐบาลอิหร่านเป็นไปตามที่ กมธ. เข้าใจ

แจงค่าใช้จ่ายยิบ

นายสมศักดิ์ยังได้ชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า รัฐบาลให้งบประมาณจ่ายขาดในการดำเนินการดังนี้ ค่าเช่าโกดัง ตันละ 20 บาทต่อเดือน ค่าแรงงานแบกคน อัตราตันละ 30 บาทต่อครั้ง ค่าจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวที่รับมอบข้าวหน้าโกดัง 16 บาทต่อตัน ค่าจ้างรมยาเคมีกำจัดแมลงทุกๆ 2 เดือนต่อครั้ง ครั้งละ 12 บาทต่อตัน และค่าเบี้ยประกันภัยการเก็บรักษาเฉลี่ย 5 บาทต่อตัน

นอกจากนี้ รัฐบาลรับผิดชอบค่าบรรจุกระสอบ ซึ่งราคาขึ้นลงตามภาวะตลาด 50-54 บาทต่อตัน และชดเชยค่าขนส่งให้โรงสี โดยการชดเชยขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล ไม่เกิน 50 กิโลเมตร ตันละ 12 บาท ส่วนระยะไกลขึ้นก็จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับความเสื่อมนั้น ข้าวเปลือกถ้าเก็บในยุ้งฉางของโรงสีจะเก็บได้นานหรือไม่ขึ้นกับระดับความชื้น โดยความชื้นของข้าวเปลือกในระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ 11-12 เปอร์เซ็นต์ของข้าวเปลือกที่เก็บรักษา เพราะช่วงนั้น ถ้าเป็นช่วงที่ระดับความชื้นภายในเมล็ดแห้งสนิทก็สามารถที่จะเก็บไว้ได้นาน ซึ่งอาจจะอยู่ระหว่างหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง

ส่วนการเก็บรักษาข้าวสาร ใช้การเก็บบรรจุกระสอบและวางเรียงกองซ้อนกันขึ้นไป แต่ข้อกำหนดจะต้องไม่เกิน 30 กระสอบ ข้าวสารของรัฐบาลโดยปกติจะมีการล็อคปิดกุญแจจนกว่าจะมีการจ่ายส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้วจึงค่อยเปิดออก หรือทุกๆ 2 เดือนจะเปิดออก 1 ครั้ง เพื่อลงยากำจัดแมลง

อ้างไม่มีตัวเลขข้าวเสื่อมที่ชัดเจน

รอง ผอ.อคส. กล่าวว่า ในส่วนของข้าวสาร ถ้าไม่มีการยักย้ายถ่ายเท เมื่อเก็บได้ปีกว่าๆ จะเริ่มมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพ มีระยะการถดถอยของคุณภาพ เมื่อพ้นปีแรกไปจะมีความเสื่อมที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ปีที่สองอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และจะลดลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่เป็นผู้รับภาระในส่วนของข้าวเปลือก รัฐบาลรับภาระเฉพาะข้าวสาร ซึ่งรัฐบาลได้ให้มีการหักลดน้ำหนักด้วย เพราะเนื่องจากว่าข้าวสารตามที่รับเข้าเก็บในคลังสินค้าจะมีระดับความชื้นของเมล็ดข้าวอยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเก็บไปได้ระยะหนึ่ง ความชื้นในเมล็ดข้าวจะระเหยออกไป รัฐบาลยินยอมให้ว่าถ้าข้าวสารเก็บเกิน 1 ปี ให้น้ำหนักลดน้อยลงไปได้ 1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำหนักที่รับเข้า

สำหรับรอบปี 2554/2555 เนื่องจากจ่ายออกยังไม่หมด เลยทำให้ไม่มีตัวเลขปริมาณเน่าเสียที่ชัดเจน แต่โดยเฉลี่ยไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

ยันไม่มีข้าวเน่าตั้งแต่วันแรกที่รับจำนำ

นพ.วรงค์กล่าวว่า เรื่องข้าวเน่านั้น มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่ามีการจัดเก็บและมีข้าวเน่า แต่ในข้อเท็จจริงได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามันเน่าตั้งแต่ตอนส่ง เท่ากับว่าเอาของเสื่อมสภาพมาเก็บเข้าโกดังรัฐบาลตั้งแต่วันแรก จะต้องมีกระบวนการในการทุจริตเกิดขึ้นอย่างเป็นทีม ไม่ทราบว่าเรื่องนี้ผลการสืบสวนเป็นอย่างไรกันแน่

นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รอง ผอ.องค์การคลังสินค้า
นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รอง ผอ.องค์การคลังสินค้า

นายสมศักดิ์ยืนยันว่า ไม่มีข้าวสารที่เน่าในขณะที่กำลังส่งมอบในขณะนี้ ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวค่อนข้างเข้มงวด และหลังจากที่ได้อภิปรายในเรื่องของกระสอบข้าวในสภานั้น มีการพิมพ์รหัสเอาไว้ติดกับตัวกระสอบ โดยระบุเป็นตัวย่อ จังหวัด รหัสอำเภอ ปีของโครงการ และเลขที่สัญญาที่จะบ่งบอกว่าเป็นโรงสีใด เช่น สร. เป็นตัวย่อของ จ.สุรินทร์ รหัสของอำเภอ 04 ซึ่งเป็นของ อ.จอมพระ โดยมี 2 โรงสีในอำเภอที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับ อคส. คือ จอมพระประเสริฐผลสุรินทร์และโรงสีเต็กเฮง ซึ่งทั้ง 2 โรงสี มีรหัสคู่สัญญา คือ 18 และ 19 ตามลำดับ จากนั้นตามด้วยปีของโครงการ 2555/2556 ปี แล้วถึงจะเป็นเลขที่สัญญา

แต่ปรากฏว่าตัวเลขตรงนี้เบลอ ไม่ชัดเจนว่าเป็นของโรงสีใด อย่างไรก็ตามทาง อคส. ยังได้ตรวจสอบไปยังโกดังของโรงสีสหพืชผลสุรินทร์ อ.ท่าตูม ซึ่งเป็นโกดังปลายทางของโรงสีที่ส่งข้าวไป ก็ไม่พบลักษณะข้าวสารตามที่ นพ.วรงค์นำมาเรียกร้องให้ตรวจสอบ

นพ.วรงค์กล่าว่า เห็นใจรอง ผอ.อคส.ที่ต้องทำหน้าที่อย่างที่นายสั่งมา แต่ยืนยันว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ชี้แจงมาทั้งหมดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รหัส “สร.04 อคส. 2555/2556 …/2555 ขข.หอมมะลิ” ซึ่ง สร. ย่อมาจากจังหวัดสุรินทร์ ต่อมาเป็นรหัสอำเภอ แต่รหัสเหล่านี้เป็นรหัสที่มาของแหล่งข้าว เพื่อหาต้นกำเนิดของข้าวได้เลย อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่า 04 คืออำเภออะไร ตรงนี้ถ้าถามความเห็นตน ถ้าตนจะทุจริต ถามว่าตนจะมาใส่รหัสอำเภอตนทำไม ส่วนที่มีการปล่อยว่างไว้คือเลขที่ของสัญญาที่ทำกับ อคส. ขข. คือข้าวขาวหอมมะลิ

ดังนั้น ถ้าจริงจังในการตรวจสอบ ไม่มีทางมาตรวจง่ายๆ อย่างนี้ ต้องย้ำว่ารหัสนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงสถานที่จัดเก็บข้าว

แฉเหลี่ยม “ล้อมกอง” ยัดข้าวเน่าตรงกลาง

“ผมเคยจ้างคนไปเป็นสายสืบไปแอบถ่าย ท่านเคยได้ยินคำว่าล้อมกองไหม วิธีการมันแยบยล เอาข้าวดีๆ มาล้อมเป็น กองสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้ จะสองชั้นสามชั้นก็แล้วแต่ จากนั้นเอาข้าวเสียไปหยอดลงหลุม เสร็จแล้วก็เอาข้าวดีกลบทับ วิธีการที่ท่านให้คนไปตรวจที่โรงสีสหพืชผลสุรินทร์เป็นวิธีที่หลอกชาวบ้าน แน่จริงมันต้องผ่าโกดัง รื้อออกเจอแน่ ผมกล้ายืนยันว่าคนอีสานที่เขาอุตส่าห์เอาหลักฐานมาให้ผมที่นี่ เชื่อว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัว ตอนนี้ได้ชื่อโกดัง ได้แหล่งกำเนิดของข้าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่พิมพ์ให้ครบเพื่อบ่งบอกถึงตัวเขา แต่ถ้าท่านเอาจริงเอาจัง มากระซิบแล้วไปด้วยกัน ผมว่าผ่าแล้วเจอเลย แต่ที่ยังไม่บอกชื่อโกดังเพราะถ้ารู้ว่าจะโกดังไหนเขาย้ายหมดเลย” นพ.วรงค์กล่าว

เอกสารกรมศุลฯ ไม่เห็นตัวเลขส่งออกข้าวของรัฐ

ทั้งนี้ กมธ. ได้สอบถามตัวแทนจากกรมศุลกากรถึงวิธีการนับข้าวว่า ในการส่งออกมีการตรวจนับด้วยวิธีการใดบ้าง และจะทราบได้อย่างไรว่าข้าวได้ส่งออกจริง และสถิติการส่งออกข้าวของรัฐบาลในปีที่ผ่านมามีจำนวนเท่าใด

นางศุภลักษณ์กล่าวว่า ขั้นตอนการส่งออกในกระบวนการส่งออกของศุลกากร ผู้ประกอบการทำใบส่งสินค้าว่าสินค่าคืออะไร โดยที่อาจจะมีการกำหนดเป็นพิกัดศุลกากร รหัสสถิติ ปริมาณที่ส่งออก และมูลค่าที่ส่งออก เมื่อสินค้ามาที่ศุลกากรก็จะทำการสุ่มว่าตรงตามที่ได้สำแดงเอาไว้หรือไม่ ก่อนที่จะบรรทุกสินค้าขึ้นเรือ ส่วนสถิติการส่งออกข้าวนั้น จากเอกสารสรุปบริษัทที่ส่งออกที่ตนเตรียมมานั้น เท่าที่เห็นจะเป็นบริษัทเอกชนทั้งสิ้น ยังไม่เห็นเป็นภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม กมธ. ได้มีมติว่าจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติมาให้ข้อมูลแผนงานการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณปี 2556 ในโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้