หลังจากปล่อยให้นักวิชาการ “คาดเดา” “ฝากการบ้าน” และโยน “คำถาม” ผ่านสื่อมวลชนไว้มากมาย รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” ซึ่งมี “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 ออกมาแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554
มติครม. ได้วางกรอบ 4 ประเด็น ประเด็นแรก ให้รับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิต 2554/2555 ตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งไม่จำกัดทั้งปริมาณข้าวเปลือกที่จะเข้าโครงการรับจำนำ และปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะนำมาเข้าโครงการ แต่ต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรปลูกเองในฤดูกาลผลิต 2554/2555 ทั้งนี้ต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง
ประเด็นที่สอง เงื่อนเวลาการรับจำนำ จะเริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับจากวันรับจำนำ
ประเด็นที่สาม อนุมัติค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 435,547 ล้านบาท รายละเอียดของงบก้อนนี้ แยกเป็นวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในการรับจำนำข้าว 25 ล้านตัน ทั้งสิ้น 410,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาดอีก 25,547 ล้านบาท
ประเด็นที่สี่ ราคารับจำนำข้าว กำหนดชนิดข้าวเปลือกนาปีความชื้นไม่เกิน 15% โดยประกอบด้วย 1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท 2.ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 18,000 บาท 3.ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 16,000 บาท 4.ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 10% ตันละ 16,000 บาท 5.ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดสั้น 10% ตันละ 15,000 บาท 6.ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท 7.ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท 8.ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท 9.ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท 10.ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
อย่างไรก็ตามต่อเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามเรื่องตลาดข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยแสดงความเป็นห่วงว่า
“ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะในอดีตผมเคยเสนอให้ยกเลิกการจำนำข้าว แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่ต้องมองในขณะนี้คือ ไม่อยากเห็นอะไรบ้างในโครงการจำนำข้าว”
อย่าผูกขาดตลาดข้าว
ดร.นิพนธ์กล่าวว่าสิ่งที่ไม่อยากเห็นในโครงการจำนำข้าวครั้งนี้คือ การผูกขาดตลาดส่งออกข้าว และครอบงำตลาดข้าวในประเทศ เพราะถ้ารัฐบาลทำแบบนั้นจริงๆ จะเกิดความเสียหายมหาศาล
“ตอนนี้ไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร แต่แนวคิดของกลุ่มนี้คือ ผูกขาดแน่นอน โดยให้รัฐผูกขาด เพราะเชื่อว่าถ้าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ส่งออกข้าวรายใหญ่ จะกำหนดราคาข้าวส่งออกในตลาดโลกได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ไปคิดว่าเหมือนหุ้น ไม่เข้าใจว่าข้าว ถ้าราคาขึ้นเมื่อไร เกษตรทั่วโลกจะปลูกข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งจะปลูกข้าวกันมากมาย”
ดร.นิพนธ์ขยายความว่า การผูกขาดระบบค้าข้าวของพรรคเพื่อไทย ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าถ้าผูกขาดระบบค้าข้าวในประเทศและต่างประเทศได้ ไทยจะสามารถค้าข้าวในตลาดโลกได้ในราคาแพง
“เป็นความเชื่อบนพื้นฐานว่า ปริมาณข้าวไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่จริง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เรากำลังสร้างอานิสงส์ หรืออาจพูดได้ว่าเรากำลังส่งเสริมการค้าของเวียดนาม และอินเดีย เพราะข้าวไทยจะราคาแพง เนื่องจากรัฐบาลรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท โรงสีทั่วไป พ่อค้าทั่วไป ก็ต้องรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาใกล้เคียงหรือเท่าๆ กับราคาจำนำคือตันละ 15,000 บาท เพื่อจะแข่งกับรัฐบาล และยังต้องจ่ายเงินสด ทำให้ราคาข้าวในประเทศสูงมาก”
ทั้งนี้หากปล่อยให้ราคาสูงมากจะมีปัญหาตามมา กล่าวคือเมื่อไปขายในตลาดต่างประเทศก็ขายแพงกว่าคนอื่น ทำให้ขายไม่ได้เพราะคนจะไปซื้อข้าวเวียดนาม และข้าวอินเดียแทน ผลกระทบตรงนี้ “ไม่อยากเห็น” เพราะไทยจะสูญเสียตลาดอย่างรวดเร็ว
“ไม่อยากให้ทำแบบทฤษฎีผูกขาด ซึ่่งไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะใครๆ ก็ปลูกข้าวได้ เมื่อข้าวเราแพง คู่แข่งจะปลูกข้าวขายแข่ง เราแข่งเขาไม่ได้ ก็จะสูญเสียตลาดส่งออกไปเรื่อยๆ ส่วนเกษตรกรจะปลูกข้าวมากขึ้นเพราะต้องการได้ราคาจำนำ 15,000 บาท ข้าวยิ่งมีคุณภาพต่ำลง เรายิ่งขายข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งจะขายได้น้อยลงทุกวัน เหตุการณ์แบบนี้ผมไม่อยากให้เกิด”
ดร.นิพนธ์เล่าว่าสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามผูกขาดตลาดส่งออก โดยให้บริษัทเดียวประมูลข้าวได้เยอะๆ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2547 ที่ให้บริษัทเพรสซิเดนท์อะกรี จำกัด สร้างประวัติศาสตร์สามารถประมูลข้าวสารของรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก กลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่สุด
“ในตอนนั้นการผูกขาดยังไปไม่ถึงตลาดข้าวในประเทศ แต่ถ้าเข้ามาถึงตลาดข้าวถุงในประเทศด้วย เป็นห่วงว่าจะทำลายระบบการแข่งขันในตลาดที่ดีอยู่แล้ว นี่เป็นอีกประเด็นที่ไม่อยากเห็น”
ขณะนี้ตลาดข้าวถุงในประเทศค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง เห็นได้จากข้าวถุง 5 กิโลกรัม มีหลากหลายราคาตั้งแต่ 90 กว่าบาทไปจนถึง 200 กว่าบาท สะท้อนว่าตลาดในประเทศมีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ตลาดข้าวในประเทศมี 2 ตลาดคือ ตลาดที่อยู่นอกซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดชั่งกิโลขายกับตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันทั้งสองตลาดมีการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ
หวั่นตลาดข้าวชั่งกิโลพัง
ดร.นิพนธ์บอกว่า จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะแทรกแซงตลาดในประเทศเพื่อให้ค่าครองชีพต่ำ เพราะตลาดข้าวถุงเวลานี้ราคาค่อนข้างต่ำอยู่แล้วจากการแข่งขันของพ่อค้าและผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้นแนวคิดที่จะใช้องค์การคลังสินค้า (อคส.) มาทำแข่ง ก็ไม่แน่ใจว่าอคส. จะเก่งกว่าพ่อค้าโดยทั่วไป
ถ้าจะให้ทำ ก็ทำแต่น้อยๆ เฉพาะบางส่วน คือจะขายข้าวถุงธงฟ้าก็ทำไป แต่ทำเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นพอ อย่าไปทำลายพ่อค้ารายเล็กๆ ที่เขาแข่งขันกันดีอยู่แล้ว เพราะถ้าทำลายลงเมื่อไร วันหลังจะกู่ไม่กลับ จะไม่มีใครกลับมาทำธุรกิจนี้อีก และวันหลังเมื่อเลิกโครงการรับจำนำข้าว จะพบว่าข้าวตกอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น
“ถ้ารัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวในประเทศ ตลาดที่จะพังก่อนคือ ตลาดชั่งกิโลขายที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60-70 % เพราะตลาดชั่งกิโลขายเป็นรายย่อยทั้งนั้น พ่อค้าพวกนี้ถ้าเข้าไปแทรกแซงมาก โดยเอาข้าวที่อคส. แทรกแซงมาขาย ธุรกิจพวกนี้ก็จะเจ๊ง เนื่องจากแข่งขันสู้ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้ความเสียหายน้อยลงที่สุดต้องอย่าแทรกแซงตลาดส่งออก อย่าแทรกแซงตลาดในประเทศ”
ระวังบริษัทใหญ่ฮุบตลาด ทุบรายเล็กเจ๊ง
ดร.นิพนธ์ย้ำว่า ตลาดข้าวมีค่ามากเกินกว่าจะมาสร้างความเสียหาย และข้อดีของการแข่งขันตลาดข้าวในประเทศที่มีบริษัทเล็กๆ มีโรงสีต่างจังหวัดคือ สามารถทำข้าวถูกขายได้ เช่น ที่โคราชและจังหวัดอื่นๆ โดยเอาข้าวที่คนพื้นเมืองกิน ซึ่งเหมาะกับรสนิยมคนพื้นเมืองมาชั่งกิโล หรือทำข้าวถุงแล้วขายได้ถูกกว่าผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ จนทำให้บริษัทใหญ่ๆแข่งสู้ไม่ได้ก็มีเจ๊งไปหลายราย
ดังนั้นวิธีเดียวที่บริษัทใหญ่จะทุบบริษัทเล็กๆ ก็คือ ผูกขาดตลาด ด้วยการซื้อข้าวจากรัฐบาล โดยให้รัฐบาลรับจำนำ หรือซื้อข้าวเข้าไปเก็บในสต๊อกไว้เยอะๆ แล้วเขาก็ไปประมูลซื้อได้ในราคาต่ำ โดยบริษัทอื่นประมูลซื้อไม่ได้ เพราะเขาจะประมูลล็อตใหญ่ เมื่อเขาได้ข้าวราคาต่ำ ก็สามารถขายข้าวได้ราคาถูกกว่าบริษัทเล็ก ทำให้บริษัทเล็กแข่งไม่ได้ก็เจ๊งไป
“นี่คือเหตุผลที่ไม่อยากให้ผูกขาดตลาดข้าวในประเทศและตลาดส่งออก”
นอกจากไม่อยากเห็นตลาดข้าวพังแล้ว ดร.นิพนธ์ ไม่อยากเห็นคุณภาพข้าวไทยแย่ลงด้วย โดยเป็นห่วงว่าราคาจำนำข้าวที่สูงถึงตันละ 15,000 บาท และยิ่งรับจำนำจำนวนมาก จะยิ่งทำให้เกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพแย่ลง ไม่สนใจคุณภาพ เน้นแต่ปริมาณ เพราะเมื่อปลูกข้าวแล้วก็เข้าโครงการรับจำนำ ซึ่งรัฐบาลดูตามความชื้้นเท่านั้น ไม่ดูคุณภาพข้าว
ต่างจากพ่อค้าโรงสีเมื่อซื้อข้าวจะดูคุณภาพข้าว ถ้าข้าวดีโรงสีให้ราคาดี ข้าวไม่ดีก็ให้ราคาไม่ดี แต่พอซื้อข้าวเข้าโครงการรับจำนำ จะไม่สนใจแล้ว เนื่องจากวัดดูตามความชื้น 15% ก็จบ และได้ราคาตันละ 15,000 บาท โดยไม่สนใจว่าจะเป็นข้าวสั้น ข้าวยาว ข้าวคุณภาพเป็นอย่างไร ผลที่จะตามมาคือ ต่อไปเกษตรกรก็จะปลูกข้าวเบา ข้าวอายุสั้น เพื่อเพิ่มรอบการเพาะปลูกให้ได้มากที่สุด
“ที่เป็นห่วงคือ ปีหนึ่งจะจำนำกี่รอบ ถ้ายิ่งเยอะก็ยิ่งผูกขาดมาอยู่ในมือรัฐบาล เท่ากับรัฐเอาเงินไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพต่ำเก็บไว้ในยุ้งจนกระทั่งเสียหาย แล้วรัฐเอาออกมาขาย ตอนเวลาขายก็ส่งเสริมให้คนขายเจ้าเดียว แล้วก็ให้กำไรตกอยู่ในมือคนเจ้าเดียว นี่คือสิ่งที่ไม่อยากเห็น”
โรงสีไม่มีประสิทธิภาพเหตุไร้คู่แข่ง
เมื่อกลับมามองที่โรงสี ดร.นิพนธ์มองว่า จะเหลือแต่โรงสีที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือโรงสีที่อยู่ในโครงการ ค้าขายไม่เก่ง เพราะไม่ต้องแข่งขันกับใคร ที่ผ่านมาโรงสีมีกำลังการผลิตส่วนเกินประมาณ 60 ล้านตัน อันนี้นับเฉพาะโรงสีทันสมัย โรงสีมืออาชีพ แต่ผลผลิตข้าวมีเพียง 30-32 ล้านตันต่อปี จะเห็นว่าโรงสีมีกำลังการผลิตเกินกว่าเท่าตัวแล้ว
ฉะนั้นถ้ารับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ถ้านโยบายนี้ทำเยอะ โรงสีจะลงทุนกันอีกจำนวนมาก และโรงสีคงพยายามหาช่องทางเพื่อให้ได้เข้าโครงการจำนำข้าว จะเกิดกระบวนการการพยายามเอาข้าวเข้าโครงการให้มากที่สุด กระบวนการดังกล่าวจะเบียดภาคเอกชน พ่อค้าที่ค้าขายข้าวเปลือกรายย่อยหมดอาชีพ เหลือแต่โรงสีที่เข้าโครงการ
“เรามีข้าวคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก ขายข้าวได้ราคาแพงกว่าคนอื่น และอร่อยที่สุด ในที่สุดแล้วข้าวดีๆ จะไม่มี ข้าวอร่อยก็จะไม่มี ข้าวดีๆ จะเริ่มหายไป นี่คือสิ่งที่จะทำลายคุณภาพข้าวไทย ทำลายการแข่งขันของข้าวไทย ทำลายสิ่งดีของข้าวไทยทั้งหมด ถ้าทำแบบนี้ตลอดไป แต่เชื่อว่าไม่ต้องตลอดไปหรอกแค่ 3-4 ปี ก็เห็นผลแล้ว”
จำนำข้าวผลประโยชน์กระจุกไม่กระจาย
อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ไม่ได้มีแต่ด้านลบ ด้านบวกก็มีคือ เกษตรกรได้เงินเยอะ โรงสีบางโรงได้เงินเยอะ ผู้ส่งออกเฉพาะบางคนที่ประมูลข้าวได้จะกำไรสูง แต่ดร. นิพนธ์บอกว่า นั่นคือผลดีกับคนบางคน แต่ผลเสียกับคนมากมาย
ดร. นิพนธ์ ย้ำว่า โครงการจำนำข้าวแม้ผลดีจะตกกับเกษตรกร แต่ไม่ใช่เกษตรกรทั่วประเทศ ถ้าดูจากข้อมูลที่เคยศึกษาโครงการจำนำข้าวปี 2548/49 พบว่าเกษตรกรได้เพียง 37% ที่เหลือตกอยู่กับโรงสีและผู้ส่งออก ที่สำคัญโครงการจำนำต้องเป็นเกษตรกรที่มีข้าวเหลือขายทำให้เกษตรกรในภาคเหนือ ภาคอีสานที่ปลูกข้าวเหนียวจะไม่ได้ประโยชน์
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังจะเปลี่ยนนโยบายจากช่วยเหลือเกษตรมาเป็นช่วยเหลือโรงสี พ่อค้าและผู้ส่งออกจำนวนน้อย ผิดกับโครงการรับประกันรายได้ที่เกษตรกร 4 ล้านครัวเรือนได้ประโยชน์ เพราะเกษตรกรที่ไม่ได้ขายข้าวก็ได้ประโยชน์ด้วย
เนื่องจากเกษตรกรได้จดทะเบียนมีพื้นที่ปลูกข้าวจริง เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนจะได้เงินส่วนต่างจากการประกันรายได้ และวิธีนี้รัฐบาลไม่ยุ่งกับตลาดข้าว ปล่อยให้แข่งขันตามกลไกตลาด ใครเก่งคนนั้นอยู่ ใครไม่เก่งก็ไม่อยู่ คุณภาพข้าวไทยจะดีขึ้น เงินทั้งหมดก็เทไปที่เกษตรกรเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงสีและผู้ส่งออกไม่ได้สักบาท
“โครงการรับจำนำเป็นการนำระบบของเราไปสู่ระบบการผูกขาด การค้าข้าวจะอยู่ในมือคนไม่กี่คนที่มีอำนาจทางการเมือง แทนที่จะอยู่ในมือของธุรกิจเอกชนรายย่อยที่เข้มแข็ง เรากำลังทำลายธุรกิจเอกชน ทำลายโรงสีไปจนถึงผู้ส่งออก ทำลายคุณภาพข้าวไทย และวันดีคืนดี ถ้าเลิกนโยบายนี้ โรงสีก็จะค้าขายทำธุรกิจไม่เป็น”
บริหารสต็อกจำกัดความเสียหาย
ดร.นิพนธ์มองว่า การรับจำนำข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาต้องใช้เงินมโหฬารแน่นอน แต่ประเด็นคือ ต้องจำกัดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยวิธีลดความเสียหายง่ายที่สุดที่จะเสนอคือ พยายามมีนโยบายบริหารจัดการสต็อกให้มีประสิทธิภาพ อย่าให้สต็อกค้างปี และเวลาขายข้าวออกรัฐบาลต้องทำให้โปร่งใส โดยประมูลขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFED) เป็นหลัก และประมูลตลอดเวลาเป็นล็อตเล็กๆ อย่าไปขายข้าวให้แต่บริษัทใหญ่
กระบวนการคือ เมื่อรัฐบาลซื้อข้าวมาแล้วต้องประกาศชัดเจนว่ามีนโยบายระบายข้าวออกทุกๆ กี่เดือน เพื่อให้พ่อค้ารู้ว่ารัฐบาลจะขายข้าวเมื่อไร และรัฐบาลทยอยขายข้าวในปริมาณไม่มาก เพื่อให้ผู้ส่งออกทุกรายมีสิทธิ์ที่จะซื้อ ราคาข้าวจะลดลง ทำให้ราคาข้าวในประเทศไม่สูงเกินไป การส่งออกข้าวจะแข่งกับตลาดโลกได้ ที่สำคัญวิธีนี้จะไม่มีการทุจริต เพราะวิธีนี้ใช้ซื้อขายผ่านตลาดล่วงหน้า และที่สำคัญตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะฟื้นคืนชีพ อย่างที่รัฐบาลอยากให้เป็น
ดร.นิพนธ์มั่นใจว่า นี่คือข้อเสนอแนะที่พูดได้ว่าโปรงใสที่สุด เพราะลดความเสียหายให้จำกัดอยู่เฉพาะเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่จะจำกัดความเสียหายให้น้อยที่สุด ดีที่สุด ต้องไม่ใช่ราคาที่ 15,000 บาทต่อตัน
“ข้าวคือพืชสำคัญตัวใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จึงต้องระวังมาก และขอความกรุณาว่ารัฐบาลต้องจำกัดความเสียหายต่ออุตสาหกรรม ต่อเศรษฐกิจข้าวไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้”