ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะรอย ข้าว อคส. 120 ล้านถุง หายไปไหน?

แกะรอย ข้าว อคส. 120 ล้านถุง หายไปไหน?

6 ธันวาคม 2013


นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

ศึกอภิปรายซักฟอกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ดูเหมือนว่าจะไม่มีญัตติใดที่ฝ่ายค้านโชว์หลักฐานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมากเท่ากับโครงการรับจำนำข้าว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มเงินงบประมาณกว่า 6.8 แสนล้านบาท เข้าไปรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ขณะที่ภาคปฏิบัติมีปัญหาตามมามากมาย อาทิ ระบายข้าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เงินที่ต้องใช้ในการรับจำนำข้าวฤดูกาลถัดไปจมอยู่กับข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขาดสภาพคล่อง ชาวนาได้รับเงินล่าช้า แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ ระบบกำกับดูแลหละหลวม ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นทุกขึ้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เฉพาะช่วงสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คาดว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท

การอภิปรายครั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ หรือ “มิสเตอร์ข้าว” ได้เจาะลึกนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจาก 2 ครั้งแรก อภิปรายในประเด็น “การระบายข้าวแบบจีทูจี” กับ “การระบายข้าวให้กับเอกชนในราคา 5,700 บาท/ตัน ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 12,000 บาท/ตัน”

ซีรีส์เปิดโปงกระบวนการที่ไม่โปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าวนี้ นพ.วรงค์ใช้ชื่อตอนว่า “จุดจบจำนำข้าว สู่อวสาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดย นพ.วรงค์ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการระบายข้าวขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 2.5 ล้านตัน ให้กับบริษัทเอกชนผลิตข้าวถุง แบบเจาะลึก

นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร

นพ.วรงค์กล่าวว่า การจัดทำข้าวถุงโดยรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นชนิด 5 กิโลกรัม มี 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ข้าวถุงถูกใจ, ข้าวถุงธงฟ้า และข้าวถุงตรา อคส. ทั้งนี้ ข้าวสาร 1 ตัน มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ผลิตข้าวถุงได้ 200 ถุง

เฉพาะในช่วงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติให้ อคส. เบิกข้าวมาทำข้าวถุงทั้งหมด 4 ครั้ง ยอดรวมอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน (500 ล้านถุง)

ครั้งแรกเริ่มเดือนตุลาคม 2554 กขช. มีมติให้ อคส. ทำข้าวถุง 1 แสนตัน (20 ล้านถุง) ขายชาวมุสลิม ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม 2555 คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติระบายข้าว 1 แสนล้านตัน (20 ล้านถุง) ครั้งที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2555 กขช. มีมติระบายข้าว 5 แสนตัน (100 ล้านถุง) และครั้งที่ 4 เดือนธันวาคม 2555 คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติให้ อคส. ระบายข้าวทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละ 3 แสนตัน รวม 1.8 ล้านตัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2556

“โดยความเข้าใจของสามัญชนคนธรรมดา หลังจาก กขช. มีมติที่ 1 ให้ อคส. ทำข้าวถุง 1 แสนตัน เมื่อผลิตข้าวถุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาทำตามมติที่ 2 ทำเสร็จก็ไปทำตามมติที่ 3 และมติที่ 4 ปรากฏว่ามติที่ 1 เริ่มเดือนตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบันผลิตข้าวถุงยังไม่ทันเสร็จเลย ออกมติที่ 2 ซึ่งผมทราบว่าทำข้าวถุงเสร็จแล้ว ส่วนมติที่ 3 ผลิตข้าวถุง 5 แสนตัน ยังทำไม่เสร็จ ออกมติที่ 4 อีก แต่ทำไปได้ 2 เดือน คือเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 ก็ยังทำไม่เสร็จ” นพ.วรงค์กล่าว

มติคณะกรรมการนโยบายข้าว

นพ.วรงค์อภิปรายต่อว่าคำถามที่นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจง คือทำไม กขช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวอนุมัติให้ อคส. ผลิตข้าวถุงแบบพร่ำเพรื่อ และหลังจากเรื่องนี้เป็นกระแสข่าวขึ้นมา ปรากฏว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 อคส. ออกหนังสือเวียน สั่งให้บริษัทหรือโรงสียุติการทำข้าวถุง

มติที่ 1 และมติที่ 2 อคส. จ้างบริษัทเจียเม้งเป็นผู้ผลิตข้าวถุงรวม 2 แสนตัน พอมาถึงมติที่ 3 จำนวน 5 แสนตัน เจียเม้งรายเดียวทำไม่ไหว ดึงพันธมิตรเข้ามาช่วย คือ บริษัทโชควรลักษณ์ จากลพบุรี, บริษัทสิงห์โตทอง จากกำแพงเพชร และบริษัทนครสวรรค์ค้าข้าว ผลิตได้ประมาณ 300 ตัน นครสวรรค์ค้าข้าวมีปัญหา จึงเอาโควตามาแบ่งให้โชควรลักษณ์และสิงห์โตทอง

และมติที่ 4 ผลิตข้าวถุง 1.8 ล้านตัน เริ่มเดือนมกราคม 2556 จำนวน 3 แสนตัน มีบริษัทเข้ามารับจ้างผลิตทำข้าวถุงทั้งหมด 6 บริษัท และเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เหลือแค่ 2 บริษัท จากนั้น โครงการผลิตข้าวถุงก็ชะลอออกไป เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ นพ.วรงค์ขอให้ที่ประชุมจำชื่อบริษัทเจียเม้ง, บริษัทโชควรลักษณ์ และบริษัทสิงห์โตทองเอาไว้ ส่วนเอเชียโกลเด้นไรซ์, บริษัทนครหลวงค้าข้าว และบริษัท พงษ์ลาภ จำก็ได้ ไม่ต้องจำก็ได้

ประเด็นที่ นพ.วรงค์ตรวจสอบพบคือ สัญญาว่าจ้างบริษัทผลิตข้าวถุงทั้ง 6 บริษัท เป็นสัญญาปลายเปิด ไม่มีการระบุวันที่ต้องส่งมอบงาน หมายความว่าบริษัทสามารถไปเบิกข้าวออกมาแล้วทำไม่เสร็จ อย่างเช่น เจียเม้ง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 หรือเซ็นสัญญาเดือนพฤศจิกายน 2554 ผ่านมา 2 ปี ยังผลิตข้าวถุงไม่เสร็จ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

“ข้าวที่เบิกไปแล้ว ท่านคิดว่าบริษัทเหล่านี้จะเก็บไว้เฉยๆ หรือ ผมว่ามันเป็นกระบวนการฝากปลาย่างไว้กับแมว การทำสัญญาปลายเปิด ไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่กำหนดเวลาว่าต้องผลิตข้าวถุงให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ อีก 10 ปี ตายแล้วเกิดใหม่ ก็ไม่เป็นไร แต่ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจง ทำไม พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผู้อำนวยการ อคส. และเจ้าหน้าที่ ไม่ยอมลงนามในสัญญาว่าจ้าง 6 บริษัท ผลิตข้าวถุงตามมติที่ 4 ”นพ.วรงค์กล่าว

จากนั้น พ.ต.ต.ศราวุฒิก็ถูกพักงาน บริษัทปรับปรุงข้าวถุงจากเดิมมี 6 บริษัท พอมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เหลือแค่ 2 บริษัท คือ บริษัทสิงห์โตทองกับโชควรลักษณ์ ได้รับโควตาผลิตข้าวถุงจาก อคส. บริษัทละ 1.5 แสนตัน ขณะนั้นนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการ อคส. คนปัจจุบัน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส. แทน พ.ต.ต.ศราวุฒิ นายชนุตร์ปกรณ์ไม่ยอมลงนามในสัญญาฯ เช่นกัน คำถามคือ ไม่มีตัวแทนภาครัฐลงนามในสัญญาว่าจ้างผลิตข้าวถุง ทำไม อคส. ปล่อยให้เบิกข้าวออกไปเป็นจำนวนมาก

“ผมโชคดีที่พูดคุยกับ พ.ต.ต.ศราวุฒิ ก่อนที่จะเสียชีวิต พ.ต.ต.ศราวุฒิบอกว่า เรื่องไหนที่ยอมได้ผมก็เซ็นให้ แต่มติที่ 4 จำนวน 1.8 ล้านตัน มันเยอะมาก ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ผู้อำนวยการ อคส. ติดคุกคนเดียว ส่วนฝ่ายการเมืองเอาตัวรอดได้ ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ต.ศราวุฒิจึงไม่ยอมลงนามในสัญญา” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์ตั้งประเด็นถามนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ 3 ข้อ คือ

1. ทำไมอนุมัติให้มีการเบิกข้าวออกไปทำข้าวถุงอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ทำให้เสร็จเป็นสัญญาไป
2. สัญญาไม่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบงาน เอื้อให้โรงสีเบิกข้าวมาปรุงข้าว เสมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว โดยอาจจะมีการนำข้าวมาเวียนเทียนได้ เพราะช่วงนั้นข้าวสารมีราคาแพงมาก
3. ทำไมสัญญาว่าจ้างผลิตข้าวถุงไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐลงนาม

ข้าวถุง

จากข้อมูลของ อคส. ระบุว่า มีการเบิกข้าวจากบัญชีข้าวของ อคส. ทั้งสิ้น 660,754 ตัน ทำข้าวถุงขายแล้ว 132 ล้านถุง ในจำนวนนี้เป็นข้าวถุงธงฟ้า กระทรวงพาณิชย์ 0.33% เป็นข้าวถุงถูกใจ 8.72% ที่เหลือกว่า 90% เป็นข้าวถุง อคส. ถ้าอยากช่วยเหลือคนจนให้ได้ซื้อข้าวถุงในราคา 70 บาทจริง นพ.วรงค์กล่าวว่า ควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตข้าวถุงยี่ห้อถูกใจ เพื่อนำไปวางขายตามร้านถูกใจที่มีอยู่ทั่วประเทศ 10,000 แห่ง แต่ทำไมมาเน้นผลิตข้าวถุง อคส. ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ประชาชนไม่ค่อยรู้จัก หาซื้อยากครั้งนี้ตนจึงต้องมาตามหาข้าวถุง อคส. กว่า 100 ล้านถุง มันหายไปไหน

นพ.วรงค์อภิปรายต่อว่าข้อมูล อคส. ระบุว่า มีบริษัทผลิตข้าวถุงมาเบิกข้าวออกไปผลิตข้าวถุงแล้ว 5.9 แสนตัน แต่คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ก่อนที่รัฐบาลสั่งยุติโครงการผลิตข้าวถุงมีโรงสีมาเบิกข้าวออกไปแล้ว 6.6 แสนตัน ผลิตข้าวถุงได้ทั้งหมด 132 ล้านถุง โดยแบ่งเป็นข้าวถุงตรา อคส. 120 ล้านถุง ข้าวถุงถูกใจ 11.5 ล้านถุง ข้าวถุงธงฟ้า 4.5 แสนถุง หากไปดูปริมาณการผลิตข้าวถุงตรา อคส. มีสัดส่วนถึง 90% ปรากฏว่าแทบจะไม่มีใครเคยเห็นข้าวถุงตรา อคส. วางขาย ตามร้านค้ามีแต่ข้าวถุงถูกใจกับข้าวถุงธงฟ้า ทั้งๆ ที่มีสัดส่วนรวมกันไม่ถึง 10% ข้าวตรา อคส. หายไปไหน อยากรู้ว่าหายไปไหน ต้องติดตามต่อไป

กระบวนการจัดจำหน่ายข้าวถุง

ข้าวถุง อคส. ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 3 บริษัท คือ บริษัทสยามรักษ์, บริษัทคอน-ไซน์ เทรดดิ้ง และบริษัทร่มทอง ด้านซ้ายมือของแผนภูมิที่นำมาแสดงคือกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายข้าวถุงตามปกติ ประเด็นคือ อคส. จ้าง 6 บริษัทมาปรับปรุงและผลิตข้าวถุงตั้งแต่ราคา 22–26 บาทต่อถุงต้นทุนในการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 24 บาทต่อถุง นี่คือสายการผลิตข้าวถุง

สายตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตัวแทนจำหน่ายทั้ง 3 บริษัทคือ สยามรักษ์ คอน-ไซน์ฯ และร่มทอง ไปซื้อข้าวจาก อคส. และชำระเงินค่าข้าว 65.60 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม เพื่อนำไปขายประชาชนถุงละ70 บาท โดย อคส. ออกใบเบิกข้าวให้ตัวแทนจำหน่ายมาเบิกข้าวถุงจากโรงสี โดยโรงสีต้องจัดส่งข้าวไปยังเป้าหมายปลายทางที่ตัวแทนจำหน่ายต้องการ

ประเด็นที่คณะกรรมาธิการตรวจพบคือ ตัวแทนจำหน่ายทั้ง 3 บริษัท ส่วนใหญ่ไม่ได้นำข้าวถุงไปขายประชาชน ข้าวถุง อคส. กว่า 100 ล้านถุง ราคาถุงละ 70 บาท ไม่ถึงมือคนจน แต่ข้าวเหล่านี้ถูกขายกลับคืนโรงสีผู้ปรับปรุง คือเจียเม้ง โชควรลักษณ์ และสิงห์โตทอง โดยโรงสีกลุ่มนี้ไปเบิกข้าวจาก อคส. มาเป็นกระสอบ เพื่อทำการปรับปรุงและบรรจุข้าวใส่ถุง โรงสีผู้ปรับปรุงข้าวออกเงินให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายนำเงินไปจ่ายให้กับ อคส. ตัวแทนจำหน่ายได้รับใบเบิกข้าวถุงจาก อคส. เมื่อจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย ตัวแทนจำหน่ายนำใบเบิกข้าวถุงมามอบให้โรงสี

นพ.วรงค์กล่าวสรุป ข้าวที่โรงสีไปเบิกมาจาก อคส. ยังคงอยู่ในกระสอบเหมือนเดิม จึงไม่แปลกใจว่าข้าวถุงยี่ห้อ อคส. มันหายไปไหน

คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทบริษัท เจียเม้ง
คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทเจียเม้ง

ตามที่กล่าวมาทั้งหมด มีพยานหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและพยานบุคคล โดยก่อนหน้านี้ นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนบริษัทตัวแทนจำหน่าย คือ คอน-ไซน์ฯ และร่มทอง มาสอบปากคำ ตัวแทน 2 บริษัทยอมรับความจริง และทางคณะกรรมาธิการได้บันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน

นพ.วรงค์กล่าวว่า ตัวแทนจำหน่ายทั้ง 2 บริษัท ให้การว่า“ตนไม่มีประสบการณ์ในการขายข้าวถุง จึงจำเป็นต้องเอามาขายคืนให้กับโรงสีผู้ปรับปรุง คือบริษัทเจียเม้ง, โชควรลักษณ์ และสิงห์โตทอง” คลิปเสียงนี้คือคำยืนยันว่าทำไมข้าวถุง อคส. ไม่ได้ไปถึงมือประชาชน แต่เวียนมายังโรงสีผู้ปรับปรุงข้าว นพ.วรงค์ถามตัวแทนบริษัทต่อไปว่า “ดีลนี้เกิดขึ้นที่ไหน” ตัวแทนจำหน่าย 2 บริษัทบอกว่า “เกิดขึ้นที่ อคส.” จากนั้น นพ.วรงค์จึงบอกให้บริษัทคอน-ไซน์ฯ และบริษัทร่มทองทำหนังสือชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการและประธานกรรมาธิการ

ระหว่างที่ นพ.วรงค์กำลังพูดอภิปราย ได้ขอให้ที่ประชุมสภาฯ เปิดคลิปเสียง แต่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลหลายคนลุกขึ้นคัดค้านไม่ยอมให้เปิดคลิปเสียง เพราะเกรงว่าจะทำให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีโอกาสชี้แจงเสื่อมเสียชื่อเสียง ดังนั้น นพ.วรงค์จึงนำหลักฐานหนังสือสัญญาขายข้าวคืนระหว่างตัวแทนจำหน่ายกับบริษัทผู้ปรับปรุงข้าวทั้ง 3 บริษัท มาแสดงต่อที่ประชุมรัฐสภา

นพ.วรงค์กล่าวว่า กระบวนการผลิตและจำหน่ายข้าวถุงมี 3 ส่วน คือ อคส., บริษัทผู้ปรับปรุงข้าว (ผู้ผลิตข้าวถุง) และตัวแทนจำหน่าย บริษัทผู้ปรับปรุงข้าว คือ เจียเม้ง, โชควรลักษณ์, สิงห์โตทอง, เอเชียโกลเด้นไรซ์, พงษ์ลาภ และนครหลวงค้าข้าว ตัวแทนจำหน่าย คือ สยามลักษณ์, คอน-ไซน์ และร่มทอง แต่ที่ไม่ปกติ คือ ตัวแทนจำหน่ายนำเงินของบริษัทผู้ปรับปรุงข้าวไปชำระให้กับ อคส.

วิธีการชำระเงิน กล่าวคือ บริษัทผู้ปรับปรุงข้าวจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้ตัวแทนจำหน่ายไปจ่ายที่ อคส. เมื่อ อคส. ได้รับเงินก็ออกใบเบิกข้าวให้กับตัวแทนจำหน่าย จากนั้นตัวแทนจำหน่ายนำใบเบิกข้าวส่งคืนให้กับผู้ปรับปรุง เป็นอันทุกอย่างจบ เอากระดาษมาค้าขายกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ค่อยมีข้าวถุง อคส. วางขายตามท้องตลาด

กระบวนการระบายข้าวสาร

ส่วนบริษัทผู้ปรับปรุงข้าว หรือโรงสี เป็นผู้ออกเงินให้ตัวแทนจำหน่ายนำเงินไปจ่ายให้ อคส. ถุงละ 65.60 บาท ย้อนกลับไปที่สมการข้าว 1 ตัน ผลิตข้าวได้ 200 ถุง เท่ากับว่าโรงสีมีต้นทุนจ่ายเงินให้ตัวแทนจำหน่ายไปซื้อข้าวสารจาก อคส. ตันละ 13,120 บาท (รายจ่าย)

มาดูฝั่งรายรับ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ อคส. ไปจ้างโรงสีเหล่านี้ผลิตข้าวถุง โดย อคส. จ่ายค่าจ้างเป็นข้าวให้โรงสี คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ในช่วง 22-26 บาทต่อถุง ดังนั้น โรงสีมีรายได้จากค่าปรับปรุงและบรรจุถุงเฉลี่ย 24 บาทต่อถุง ถ้าข้าวสาร 1 ตัน โรงสีจะมีรายได้ค่าปรับปรุงข้าวคิดเป็นเงิน 4,800 บาท/ตัน นำรายได้ไปหักลบรายจ่าย สรุปโรงสีมีต้นทุนจากการซื้อข้าวจาก อคส. สุทธิอยู่ที่ 8,320 บาทต่อตันเท่านั้น ขณะที่ราคาข้าวสารตามท้องตลาด ตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 15,000-17,000 บาท/ตัน แต่โรงสีผู้ปรับปรุงข้าวซื้อข้าวสารจาก อคส. ได้ที่ราคา 8,320 บาท/ตัน นพ.วรงค์กล่าวว่า ตนได้สอบถามคนในวงการค้าข้าว ราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ 15,000-17,000 บาท/ตัน หากนำข้าวที่ “เวียนเทียน” หรือ “เปาเกา” ออกขายแบบเร็วๆ ในตลาดจะรับซื้อที่ราคา 14,000 บาทต่อตัน

เท่ากับโครงการนี้โรงสีได้กำไร 5,680 บาท/ตัน หากคำนวณเฉพาะมติคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ครั้งที่ 4 ที่สั่งให้ อคส. ระบายข้าว 1.8 ล้านตัน ไปให้โรงสีผลิตข้าวถุง โรงสีทำเสร็จแล้ว 3 แสนตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน หากกระบวนการดังกล่าวไม่ถูกเปิดโปงขึ้นก่อน คาดว่าโรงสีได้กำไร 8,520 ล้านบาท

โรงงานผลิตข้าวถุง

นพ.วรงค์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล รัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาตันละ 15,000 บาท เมื่อนำมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารต้นทุนอยู่ที่ 24,000 บาท รวมค่าบริหารจัดการ ค่าดอกเบี้ย ต้นทุนข้าวสารของรัฐบาลอยู่ที่ 28,600 บาท/ตัน ขณะที่ อคส. ที่รายได้สุทธิจากการขายข้าวสารภายใต้โครงการผลิตข้าวถุง 8,320 บาท/ตัน หักลบกันแล้ว โครงการนี้รัฐบาลขาดทุนตันละ 20,280 บาท

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่าหากรัฐบาลไม่สั่งยุติโครงการผลิตข้าวถุง ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 โครงการนี้จับไม่ได้ คาดว่ารัฐบาลเสียหายประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่บังเอิญโครงการนี้ถูกจับได้เสียก่อน โรงสีเบิกข้าวไปทำข้าวถุง อคส. แล้วกว่า 6 แสนกว่าตัน ความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท

สุดท้าย นพ.วรงค์หยิบยกคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า “การโกง คือ การคอร์รัปชันที่จับได้ ขณะเดียวกัน การคอร์รัปชัน คือการโกงที่จับไม่ได้ วันนี้การคอร์รัปชันของท่านผมจับได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมเอกสารและหลักฐาน รัฐมนตรีขี้โกง ผมขอไม่ไว้วางใจ”

“อภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”