นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายและจัดการข้าว (นบข.) รับคำสั่งจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ นบข. ได้เห็นชอบการออกประกาศเปิดประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ปริมาณ 1.49 ล้านตัน และเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ปริมาณ 0.54 ล้านตัน รวม 2.03 ล้านตัน ตามแผนการระบายข้าว
ทั้งนี้ นบข. ได้ออกประกาศ เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2561 และการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2561 (TOR) โดยจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าดูสภาพข้าวในคลังสินค้า วันที่ 4 – 8 มิถุนายน 2561 ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ วันที่ 11 มิถุนายน 2561 และจะประกาศรายชื่อผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วน วันที่ 15 มิถุนายน 2561
สำหรับการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน มีปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูล 1.49 ล้านตัน จำนวน 91 คลัง ใน 19 จังหวัด เป็นคลังขององค์การคลังสินค้า (อคส.)จำนวน 64 คลัง ปริมาณ 1.13 ล้านตัน และเป็นคลังขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จำนวน 27 คลัง ปริมาณ 0.36 ล้านตัน
ประกอบด้วยข้าว 14 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100 % ชั้น 2 ข้าวหอมจังหวัด ข้าวขาว 5% ข้าวปทุมธานี 5% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% เลิศ ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ข้าวท่อนหอมจังหวัด ข้าวท่อนปทุมธานี ปลายข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวหอมจังหวัด และปลายข้าว A1 เลิศ กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอซื้อ เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคน
ส่วนการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2561 มีปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูล 0.54 ล้านตัน จำนวน 80 คลัง ใน 27 จังหวัด เป็นคลังของ อคส.จำนวน 61 คลัง ปริมาณ 0.44 ล้านตัน และเป็นคลังของ อ.ต.ก. จำนวน 19 คลัง ปริมาณ 0.10 ล้านตัน
ประกอบด้วยข้าว 15ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100 % ชั้น 2 ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% เลิศ ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ข้าวท่อนหอมจังหวัด ข้าวท่อนปทุมธานี ปลายข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวหอมจังหวัด ปลายข้าวปทุมธานี ปลายข้าว A1 เลิศ และปลายข้าว A1 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอซื้อ เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์
ขณะเดียวกัน นายอดุลย์ เปิดเผยว่า การประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ปริมาณ 4.37 หมื่นตัน ใน 20 คลัง ซึ่งที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐฯ ดังกล่าวทั้งหมด แก่ผู้เสนอซื้อสูงสุด จำนวน 9 ราย มูลค่าเสนอซื้อ 534.08 ล้านบาท
และสำหรับการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX 2018 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม -2 มิถุนายน 2561 นายอดุลย์ ระบุว่า ข้าวจากเกษตรกร โรงสี และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับการรับรองจากจังหวัดว่าเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิไทยที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดและได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยจากกรมการค้าต่างประเทศ และผู้ผลิตข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวนรวม 17 ราย จาก 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าครั้งนี้ได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากถึง 8,700 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 325 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมมือกับกรมการข้าว จัดแสดงและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าว กข43 ซึ่งเป็นข้าวขาวพันธุ์ใหม่ที่รัฐบาลอยู่ในระหว่างการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวนาของไทยเพาะปลูก เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลาง-ต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ห่วงใยในสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมชมงานสนใจสอบถามข้อมูลข้าว กข 43 เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้บริโภคคนไทย กลุ่มเกษตรกรไทย และผู้ค้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น จีน และไต้หวัน โดยกรมฯ คาดว่า จะสามารถผลักดันข้าวดังกล่าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นแน่ และจะส่งผลดีให้มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2561/62 ได้ต่อไป
ด้านสถิติการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (มกราคม-เมษายน) มีการส่งออกแล้วปริมาณ 583,156 ตัน มูลค่า 16,837.12 ล้านบาท โดยปัจจุบันราคาส่งออก F.O.B. ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 1,238 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง แคนาดา และสิงคโปร์ เป็นต้น
4 ปี รัฐบาล คสช. โล๊ะข้าวในสต๊อกได้14.88 ล้านตัน
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาล คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ พบว่ามีปริมาณข้าวในสต๊อกของรัฐรวม 17.76 ล้านตัน แบ่งเป็น
- ข้าวที่ถูกมาตรฐาน (เกรด P) 2.20 ล้านตัน
- ข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ยังปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ 10 ล้านตัน ได้แก่ ข้าวเกรด A ปริมาณ 6.26 ล้านตัน และข้าวเกรด B ปริมาณ 3.74 ล้านตัน
- ข้าวเกรด C หรือข้าวที่ผิดมาตรฐานมากปริมาณ 5.47 ล้านตัน เช่น มีข้าวหักปนอยู่สูง มีเมล็ดเสียเมล็ดเหลืองปนอยู่มาก นอกจากนี้บางส่วนยังเป็นข้าวที่ยุ่ยเป็นผุยผง เมล็ดลาย ขึ้นรา มีกลิ่นเหม็น มีฝุ่น เป็นต้น ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน
- ข้าวผิดชนิด 0.09 ล้านตัน เช่น กองข้าวเหนียวแต่เป็นขาวขาว หรือกองข้าวขาว 5% แต่เป็นปลายข้าวข้าวดังกล่าวข้างต้นตั้งกองปะปนกันอยู่ในคลังกลางต่างๆ
โดยในช่วงปี 2557 ถึงปัจจุบัน รัฐสามารถระบายข้าวไปได้แล้ว 14.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 135,654 ล้านบาท คงเหลือข้าวในสต๊อก 2.88 ล้านตัน โดยลดลงจากยอดคงเหลือเมื่อเดือนมิถุนยน 2560 ไปเพียง 0.06 ล้านตันเนื่องจากปลายปี 2560 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การระบายข้าวของรัฐจนทำให้การประมูลต้องหยุดชะงัก และต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการระบายข้าว ซึ่งหากการประมูลครั้งนี้สามารถประมูลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จะเหลือข้าวในคลังเพียง 0.85 ล้านตันเท่านั้น ทั้งนี้ไม่รวมข้าวที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี (ข้าวหาย) อีก 0.94 ล้านตัน