ThaiPublica > เกาะกระแส > ปมปลด “พยุงศักดิ์” ทุจริตงบฯ น้ำท่วม หรือ เกียร์ว่าง ค้านขึ้นค่าแรง?

ปมปลด “พยุงศักดิ์” ทุจริตงบฯ น้ำท่วม หรือ เกียร์ว่าง ค้านขึ้นค่าแรง?

17 มกราคม 2013


ปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระหว่างกลุ่มสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กับกลุ่มนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงวันนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ

หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่าย เปิดฉากประลองกำลัง ต่างฝ่ายต่างระดมกรรมการ ส.อ.ท. หรือ กส. ในสังกัดมาประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 ในเวลาเดียวกัน 15.00 น. ฝั่งนายพยุงศักดิ์จัดงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนนายธนิตจัดที่โรงแรมดุสิตธานี กรรมการ ส.อ.ท. มีทั้งหมด 348 คน ลาออกไป 1 คน เหลือ 347

ตามระเบียบของ ส.อ.ท. การเปิดประชุมได้ต้องมีกรรมการเกินครึ่ง (173 เสียงขึ้นไป) ปรากฏว่ามีกรรมการมาประชุมเกินครึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งของนายพยุงศักดิ์นับได้ 183 เสียง ฝั่งนายธนิตนับได้ 176 เสียง ไม่ทราบว่าฝั่งไหนของจริงฝั่งไหนของปลอม

เบื้องลึกปมปัญหาความขัดแย้งหลักๆ ใน ส.อ.ท. มี 2 ประเด็น คือ กรณีที่นายพยุงศักดิ์ในฐานะประธาน ส.อ.ท. ถูกกล่าวหาว่าไม่ออกมาคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้โรงงานขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่อยู่ต่างจังหวัดเดือดร้อน กับกรณีนายพยุงศักดิ์สั่งตั้งกรรมการสอบทุจริต “โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.- ส.อ.ท.ตรวจสอบ” ตามที่ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

โครงการนี้ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ส.อ.ท. โดยตรง แต่มีชื่อผู้บริหารของ ส.อ.ท. บางคนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ของบฯ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปลายปี 2554 จังหวัดลพบุรี ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินไม่ครบ ทำเรื่องร้องเรียนสำนักงาน ป.ป.ช., ธรรมาภิบาลจังหวัด และสื่อมวลชน เรื่องจึงปรากฏขึ้นมา

ต่อมา นายพยุงศักดิ์แต่งตั้งนายสุชาติ วิสุวรรณ รองประธาน ส.อ.ท. รับผิดชอบสายงานต่างจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยกำหนดให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน เวลาผ่านไป 2 เดือน ผลการสอบสวนไม่คืบหน้า นายพยุงศักดิ์ปลดคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยกชุด และแต่งตั้งนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่แทน

นายสุชาติ วิสุวรรณ รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.
นายสุชาติ วิสุวรรณ รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.

ขณะที่นายสุชาติชี้แจงว่า ตนไม่เข้าใจ ทำไมทางฝั่งของนายพยุงศักดิ์พยายามเชื่อมโยงสาเหตุการถอดถอนนายพยุงศักดิ์ออกจากประธาน ส.อ.ท. ว่าเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริตที่จังหวัดลพบุรี และสาเหตุที่คณะกรรมการฯ ไม่สามารถสรุปผลสอบให้ชี้ชัดลงไปได้ว่าใครคือผู้กระทำความผิด เพราะคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่ศาล อาจจะถูกฟ้องกลับได้ ซึ่งในรายละเอียดของผลการสอบสวน ตนไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้

นายสุชาติจึงมอบหมายให้นายธีรวุฒิ ประกายสันติสุข นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทนายความของกลุ่มนายธนิต โสรัตน์ เป็นผู้ชี้แจงผู้สื่อข่าว

โดยนายธีรวุฒิกล่าวว่า ในฐานะที่ตนดูแลงานกฎหมายให้กับฝั่งของนายธนิต โสรัตน์ เรื่องทุจริตที่จังหวัดลพบุรี ประเด็นนี้ไม่มีผู้ใดร้องเรียนที่ ส.อ.ท. โดยตรง แต่ไปหยิบข่าวที่สำนักข่าวไทยพีบีเอส และสำนักข่าวออนไลน์นำเสนอ มาเป็นประเด็นในการสอบสวน โดยแต่งตั้งนายสุชาติเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้บริหารของ ส.อ.ท. ที่อยู่ในสายบังคับบัญชาของนายสุชาติเข้าไปพัวพัน มองแบบนี้คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเหนือกว่านายสุชาติคือประธานสายงานจังหวัด และถ้าเหนือขึ้นไปอีกคือประธาน ส.อ.ท. แสดงว่าผู้ที่เข้าไปพัวพันเป็นคนของทุกคนใช่หรือไม่

นายธีรวุฒิ ประกายสันติสุข นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทนายความกลุ่มนายธนิต โสรัตน์
นายธีรวุฒิ ประกายสันติสุข นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทนายความกลุ่มนายธนิต โสรัตน์

“ยอมรับว่าข้อมูลทางฝั่งนายธนิตตรงกับทางฝั่งของนายพยุงศักดิ์ คือ ส.อ.ท. ไม่รู้เรื่องและไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เป็นการติดต่อกันโดยตรงระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านผู้ประสานงาน เพื่อของบฯ จากรัฐบาลไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วม ประเด็นนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานคงจะไม่มีปัญหาอะไร ในเมื่อ ส.อ.ท. แต่งตั้งสอบมาแล้ว หากพบว่าใครผิดก็ให้ดำเนินการไปเลย ยืนยัน เรื่องนี้ไม่ใช่สาเหตุการถอดถอนนายพยุงศักดิ์” นายธีรวุฒิกล่าว

การถอดถอนนายพยุงศักดิ์ครั้งนี้ นายธีรวุฒิกล่าวว่า เท่าที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นประเด็นเรื่องขาดภาวะความเป็นผู้นำ ไม่สมควรที่จะปล่อยให้บริหารงานต่อไป อย่างเช่น กรณีนายพยุงศักดิ์ไม่ออกมาคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรง ยอมให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 หลังจากที่รัฐบาลขึ้นค่าแรงนำร่องไปแล้ว นายพยุงศักดิ์เพิ่งออกมาเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555

ในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กส. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมจึงมีมติถอดถอนนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง ด้วยเสียงสนับสนุนจากกรรมการ 2 ใน 3 ซึ่ง กส. เป็นผู้แทนบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมาจากสมาชิก ส.อ.ท. ทั่วประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องเทคนิคทางด้านกฎหมาย ต้องขออธิบายในรายละเอียดดังนี้

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15.00 น. นายพยุงศักดิ์อาศัยอำนาจประธาน ส.อ.ท. ทำจดหมายแจ้งสมาชิก ส.อ.ท. ขอเลื่อนประชุม กส. ที่กำลังจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 โดยอ้างว่าจะมีการชุมนมขององค์กรพิทักษ์สยาม (ม็อบ เสธ.อ้าย) ปรากฏว่า เวลา 19.00 น. ม็อบ เสธ.อ้ายประกาศสลายการชุมนุม เพราะเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย หากปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อ ดังนั้น เมื่อการชุมนุมยุติ เหตุผลของนายพยุงศักดิ์ในการขอเลื่อนการประชุม กส. จึงตกไป

ตามระเบียบข้อบังคับของ ส.อ.ท. กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ต้องจัดให้มีการประชุม กส. เดือนละ 1 ครั้ง เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร อันนี้เป็นประเพณีปฏิบัติของ ส.อ.ท.” ดังนั้น การเลื่อนประชุมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน แต่นายพยุงศักดิ์อ้างว่า ตนเป็นประธาน ส.อ.ท. ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลื่อนประชุม กส. ในสถานการณ์ที่จำเป็นได้ ซึ่งเป็นการอ้างผิด นายพยุงศักดิ์มีสถานะเป็นเพียงผู้นำคนหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ กลุ่มของนายพยุงศักดิ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตามกฎหมายของ ส.อ.ท. การถอดถอนนายพยุงศักดิ์ต้องใช้เสียงสนับสนุนจากที่ประชุมสามัญหรือวิสามัญ 2 ใน 3 และกล่าวหาว่า การดำเนินการกลุ่มของนายธนิตเป็นการเล่นผิดเวที

การประชุม ส.อ.ท. มีประมาณ 2-3 รูปแบบ คือ การประชุมสามัญประจำปี ตามกฎหมายต้องจัดให้มีขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี ส่วนการประชุมครั้งอื่น อย่างเช่น การประชุม กส. เรียกว่า “ประชุมวิสามัญ” เพราะกรรมการใน กส. ถือว่าเป็นตัวแทนบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมาจากสมาชิกทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น ถือว่าการประชุม กส. ยังมีอยู่ ทำให้เมื่อมีการเสนอให้ปลดนายพยุงศักดิ์เข้ามาเป็นวาระจรต่อที่ประชุม กส. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 กรรมการฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ใช้เสียง 2 ใน 3 ถอดถอนนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. และแต่งตั้งนายสันติ วิลาสศักดานนท์ เป็นประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ ซึ่งมีผลตามกฎหมายทุกประการ นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 การประชุมหรือการดำเนินการใดๆ ของนายพยุงศักดิ์จึงไม่มีผลผูกพันกับ ส.อ.ท. และไม่มีผลบังคับตามกฎหมายด้วย(สรุปผลการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยของกลุ่มนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท.)

รศ.มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 ที่มา: http://www.matichon.co.th/online/2012/07/13411316841341131973l.jpg
รศ.มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา: http://www.matichon.co.th/online/2012/07/13411316841341131973l.jpg

ขณะที่ทางฟากฝั่งของนายพยุงศักดิ์ ได้นำสรุปความเห็นของนายมานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีปลดนายพยุงศักดิ์จากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. มาชี้แจงผู้สื่อข่าวใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. ประธาน ส.อ.ท. ออกจดหมายเลื่อนการประชุม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายมานิตย์ เห็นว่า ตามกฎข้อบังคับของ ส.อ.ท. กำหนดให้ประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากคณะกรรมการให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น อำนาจดำเนินการ ควบคุม ดูแลจัดการประชุมคณะกรรมการ ประธาน ส.อ.ท. จึงมีอำนาจสั่งเลื่อนประชุมได้

การนำข้อบังคับฉบับที่ 3 ข้อ 7 ตีความว่า การสั่งเลื่อนประชุมต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการก่อน เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักการของข้อบังคับ กำหนดให้ประชุมเดือนละครั้ง แต่ถ้ากำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ประชุมเดือนละ 2 ครั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการก่อน และถ้าหากเลื่อนประชุมต้องเรียก กส. มาถามความเห็นก่อน ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนประชุม เพราะมีการเปิดประชุม กส. เกิดขึ้นแล้ว

2. การประชุม กส. โดยไม่มีการบรรจุวาระปลดนายพยุงศักดิ์ไว้ล่วงหน้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นายมานิตย์เห็นว่า ปกติการประชุมคณะกรรมการใดๆ หากเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องบรรจุเข้าไปในวาระ และจัดส่งล่วงหน้าให้กรรมการทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมการได้พิจารณาอย่างเต็มที่ก่อนที่จะแสดงความเห็นหรือลงมติ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรบรรจุเป็นวาระจรได้

และ 3. คณะกรรมการ ส.อ.ท. หรือ กส. มีอำนาจปลดนายพยุงศักดิ์หรือไม่ นายมานิตย์เห็นว่า กส. ไม่มีอำนาจลงมติปลดประธาน ส.อ.ท. เพราะกฎหมายและข้อบังคับของ ส.อ.ท. ไม่ได้ให้อำนาจกรรมการในการปลดประธาน ส.อ.ท. แต่กฎหมายของ ส.อ.ท. กำหนดว่า “ต้องเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่มาประชุม”

“พยุงศักดิ์” บี้รัฐบาลจัดงบฯ 5 หมื่นล้าน เยียวยาเอสเอ็มอี 70 จังหวัด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการ SMEs We Care”
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการ SMEs We Care”

หลังจากที่ ครม. ไฟเขียวมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ปรากฏว่า ทั้ง 5 มาตรการ ไม่มีเรื่องการจัดสรรงบกลาง 49,600 ล้านบาท มาจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นให้กับเอสเอ็มอีตามที่ ส.อ.ท. เรียกร้อง

วันที่ 14 มกราคม 2556 นายพยุงศักดิ์จึงใช้โอกาสนี้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ SMEsWeCare“พร้อมกับเดินหน้าผลักดัน ““มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท” ชิงจังหวะตัดหน้าฝั่งของนายธนิตที่กำลังจะเรียกกรรมการ ส.อ.ท. มาประชุมในวันที่ 21 มกราคม 2556

ก่อนหน้านี้คงจะจำกันได้ ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างปลดนายพยุงศักดิ์คือ ไม่คัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ยอมให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงนำร่อง 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป การจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ จึงทำให้ประเด็นที่ใช้เป็นข้ออ้างถอดถอนนายพยุงศักดิ์มีน้ำหนักอ่อนลง

การแถลงข่าวครั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างกว่า 1 ล้านราย กระจายอยู่ในพื้นที่ 70 จังหวัด คาดว่าจะใช้งบกลางไม่ถึง 50,000 ล้านบาท โดย ส.อ.ท. จะนำรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเสนอต่อคณะทำงานร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2556 ก่อนเสนอให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. เพื่อเสนอ ครม.เป็นขั้นตอนต่อไป

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ 127 แห่ง ซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น, ก่อสร้าง, ยานยนต์และเครื่องจักรกล, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร,พลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นต้น

กิจการส่วนใหญ่ประมาณ 80.10% ของกิจการที่ตอบแบบสอบถาม ได้รับผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

“ปัจจุบันแรงงานที่ไปจดทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศมี 4.9 ล้านราย หากคิดแค่ 70 จังหวัด คือตัดโครงการนำร่อง 7 จังหวัดออกไป เหลือแรงงานที่มีชื่อในประกันสังคม 2.2 ล้านราย รัฐบาลต้องจัดงบกลางมาจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยในปีแรก 24,500 ล้านบาท ปีที่สอง 18,500 ล้านบาท และปีที่สาม 6,600 ล้านบาท รวม 49,600 ล้านบาท แต่ถ้าตัดเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบไม่มากในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น อยุธยา ระยอง ออกไป คาดว่าจะใช้งบกลางแค่ 24,000-25,000 ล้านบาทเท่านั้น”นายวัลลภกล่าว

ส่วนในเรื่องหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น นายวัลลภกล่าวว่า ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด แต่ในเบื้องต้น ประการแรกคงจะต้องให้ความช่วยเหลือกับเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรเท่านั้น ผู้ที่อยู่นอกระบบนั้นรัฐบาลไม่มีข้อมูล แต่หลักเกณฑ์นี้จะเป็นการจูงใจให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ประการที่สอง ต้องอยู่ในพื้นที่ 70 จังหวัดที่เหลือเท่านั้น และประการสาม เอสเอ็มอีที่มีความสามารถในการจ่ายค่าแรง 300 บาท ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ

“หากรัฐบาลไม่จัดงบกลางมาสนับสนุน เจ้าของโรงงานเล็กๆ คงต้องปิดกิจการแล้วย้ายโรงงานมาเปิดที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อประหยัดค่าขนส่ง หรืออาจจะไม่รับพนักงานใหม่เพิ่ม และปลดพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพออก เป็นต้น”นายวัลลภกล่าวทิ้งท้าย