ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่1) : ความเข้มแข็ง”ชุมชนสะเอียบ” 23 ปีการต่อสู้ พลังจากรุ่นสู่รุ่น

เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่1) : ความเข้มแข็ง”ชุมชนสะเอียบ” 23 ปีการต่อสู้ พลังจากรุ่นสู่รุ่น

11 ธันวาคม 2012


ภาพมุมสูง แก่งเสือเต้น พื้นที่ทั้งหมดที่จะน้ำเขื่อนจะท่วมโดยมีภูเขาโอบล้อมไว้
ภาพมุมสูง แก่งเสือเต้น มองออกไปเป็นผืนป่า หากมีการสร้างเขื่อนก็จะเป็นพื้นที่ที่จะเก็บน้ำไว้ในเขื่อนโดยมีภูเขาโอบล้อมไว้

โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2516 แต่ถูกผลักดันอย่างจริงจังในปี 2532 และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้อนุมัติงบสร้างแล้ว จากเหตุผลที่ว่าป่าไม้ในบริเวณดังกล่าวเสื่อมโทรมเพราะการสัมปทานป่าไม้ถึง 2 ครั้ง และชาวบ้านสะเอียบก็คัดค้านการสร้างเขื่อน โดยเสนอทางเลือกให้รัฐบริหารการจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่แก่งเสือเต้น เพราะว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง อีกทั้งพบว่าป่าแห่งนี้เป็นป่าสักทองสภาพสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย และในปี 2538 รัฐบาลก็อนุมัติงบสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง แต่ด้วยแรงคัดค้านของชาวบ้านปัจจุบันก็ยังคงไม่สามารถสร้างเขื่อนได้

นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานของคนในพื้นที่ และสามารถยืนหยัด มุ่งมั่นที่จะรักษาผืนป่าซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ ที่เป็นของคนไทยทุกคน

หากเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จจริง ป่าทั้งหมดประมาณ 2 แสนไร่ และชาวสะเอียบกว่า 1,000 คน จาก 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย หมู่ 1, บ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9, บ้านแก้วหมู่ 6 และบ้านแม่เต้น หมู่ 5 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด และถึงแม้จะเปลี่ยนเป็นเขื่อนยมบน-ยมล่าง เพื่อไม่ให้หมู่บ้านโดนน้ำท่วมแล้ว ชาวบ้านก็ยังคงไม่เอา เพราะป่าทั้งหมดก็จะถูกน้ำท่วมเหมือนเดิม

ชาวสะเอียบต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนมาตลอดอย่างไม่ลดละ และสามารถทานอำนาจรัฐมาได้ถึง 23 ปี จนถึงวันนี้ เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ยังเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการอยู่ ในขณะที่ชาวสะเอียบก็ขัดขวางการก่อสร้างทุกวิถีทาง

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยิบโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลกระบวนการต่อสู้อะไรคือพลังของชาวบ้านที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ
นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ

นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ เล่าว่า สิ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสะเอียบคือ 1. เป็นสังคมแบบเครือญาติ สายเลือดเดียวกันหมด ไม่ค่อยมีเขย สะใภ้จากต่างถิ่น มีนามสกุลใหญ่เพียง 2-3 นามสกุล 2. ผู้นำชุมชนทุกๆ รุ่นเกิดที่นี่ ทำให้เกิดความรักความผูกผันต่อถิ่นฐานบ้านเกิด 3. ผู้นำมีความซื่อสัตย์ 4. กฎ กติกา ของชุมชน หมู่บ้าน ที่เข้มงวด

ชาวสะเอียบไม่ใช่ชุมชนเกิดใหม่ แต่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้มากว่า 200 ปีแล้ว ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งใดๆ ต่อกัน รักและผูกผันกันแบบพี่น้อง รักถิ่นฐานบ้านเกิด มีความสามัคคีกันมาโดยตลอด ไม่เคยมีกลุ่มทุนจากภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์เลย

แต่พอจะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็เริ่มมีคนเข้ามาตัดไม้ในป่าทันที สิ่งแรกที่ชาวบ้านทำได้ในตอนนั้นคือการปิดป่า ตั้งด่านร่วมกับทหาร และไปเฝ้าด่านกับทหารทุกคืน ซึ่งตอนนั้นมีชาวบ้านที่เป็นหัวแรง 3-4 คน เท่านั้น แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มมีชาวบ้านมาผลัดเปลี่ยนเวรยามเฝ้าด่านแทน

จากการรวมตัวกันคัดค้านของแกนนำไม่กี่คน ก็ขยายวงกว้างสู่ชาวบ้านคนอื่นๆ ทั่วทั้งหมู่บ้าน เริ่มจากหมู่ 1 กับหมู่ 9 เป็นหลักก่อน ต่อมาหมู่ 5 และหมู่ 6 ก็มาร่วมคัดค้านด้วย เกิดเป็นความเข้มแข็งระหว่างหมู่บ้านขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ผู้นำในชุมชนก็มีหลายระดับ หลายกลุ่มองค์กร ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และกลุ่มผู้นำที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้น เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ไว้ใจผู้นำที่เขาเลือกมา

ดังนั้น ความซื่อสัตย์ ความจริงใจของผู้นำ และการยึดถือตามระเบียบกฎเกณฑ์ชุมชนจึงสำคัญ

กฎ ระเบียบ กติกา ของชุมชนนี้มาจากการประชุมตกลงร่วมกันของชุมชน และเขียนออกมาเป็นกฎบังคับใช้กับทุกคนในหมูบ้าน เช่น

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ตั้งขึ้นในปี 2534 เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ป่า มีกฎว่า

1. ห้ามค้าขายไม้และชักนำพ่อค้านายทุนเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน

2. ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย หากฝ่าฝืนปรับ 5,000 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

3. ห้ามซื้อขายไม้ทุกชนิด รวมถึงไม้บ้านเรือนเก่า แม้ว่าเจ้าของบ้านจะรื้อออกนอกชุมชนก็ไม่ได้ ให้ขายคืนชุมชน

นอกจากนี้ก็มีการทำโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านทุกคน โดยการปักหมุดเขตที่จีพีเอส เพื่อป้องกันการบุกรุกป่า เพื่อป้องกันการซื้อขายที่ดินให้นายทุน และสร้างการรับรู้เรื่องการขาดที่ดินทำกินของคนชุมชน แต่เป็นเพียงการสร้างความรับรู้กับเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเท่านั้น ไม่มีผลทางนโยบายเพราะผิดกฎหมาย เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่ประกาศเมื่อปี 2529

ป้ายผ้าที่พบทั่วไปในหมู่บ้าน
ป้ายผ้าที่พบทั่วไปในหมู่บ้าน

กระบวนการต่อสู้ของชุมชน

ปี 2532 ชาวบ้านรับรู้ว่าจะสร้างเขื่อนแต่ไม่รู้จะคัดค้านทำไม อย่างไร เพราะไม่มีความรู้เลยว่าเขื่อนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เขื่อนให้ประโยชน์ให้โทษอะไรบ้าง ดังนั้นพวกเขาจึงออกเงินค่ารถไปศึกษาพื้นที่ต่างๆ ที่มีการสร้างเขื่อนกันเอง เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล ดูว่าชาวบ้านอพยพไปอยู่ที่ใหม่แล้วมีวิถีชีวิตอย่างไร เขื่อนให้ประโยชน์ไหม แล้วโทษเป็นอย่างไร

ข้อสรุปที่ชาวบ้านทำการสำรวจเองพบว่า ชาวบ้านที่อพยพไปแล้วลำบาก ที่ดินทำการเกษตรไม่ได้ ป่าไม้ถูกทำลาย จึงร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

วิธีการคัดค้านในช่วงแรกของชาวบ้านคือการยึดพื้นที่และใช้ความรุนแรง ใครเข้ามาก็โดนทุบรถ เอาก้อนหินขว้างปา สู้กันด้วยจอบ เสียม เป็นเรื่องราวขึ้นโรงพัก เพราะยังไม่รู้ว่าจะต่อสู้ขัดขวางอย่างไร

ในช่วงแรกๆ กลุ่มคนภายนอกที่เข้ามาให้ความรู้คือกลุ่มนักศึกษา ต่อมาปี 2534 ก็เริ่มมีกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เข้ามา โดยให้ความรู้เรื่องการเคลื่อนไหวของภาครัฐบาล และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันผ่านการออกค่าย อย่างเรื่องทรัพยากร ก็จะมีกลุ่มอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าทิศทางการต่อสู้ควรเป็นอย่างไร และมีแนวคิดที่เป็นวิชาการมากขึ้น

ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อคนภายนอกที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้คือ ดีใจและภูมิใจที่มีคนเข้ามาช่วยเหลือ ให้พวกเขารู้ทันและสามารถต่อสู้กับภาครัฐได้

ณ วันนี้ ชุมชนสะเอียบมีความเข้มแข็งมากจนไม่ต้องพึ่งพาคนนอกแล้ว ทุนหรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ก็ไม่รับมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ค่ายตะกอนยม
ค่ายตะกอนยม

นอกจากนี้ ยังมีการต่อสู้ของเยาวชนในชุมชนผ่าน “กลุ่มตะกอนยม” ที่ตั้งขึ้นในปี 2537 โดยให้ความรู้เรื่องเขื่อน ป่าไม้ แก่เยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งรุ่นพี่ถ่ายทอดสู่น้องรุ่นต่อๆ ไปทุกปี กิจกรรมที่เด็กช่วยได้ เช่น เขียนป้ายและเดินรณรงค์ในหมู่บ้าน รวมถึงสร้างเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำกับกลุ่มเยาวชนอื่นๆ ภายนอก

วิธีการต่อสู้ของเด็กไม่ได้สู้แบบผู้ใหญ่ แต่ถอดบทเรียนจากผู้ใหญ่ที่ฟังผู้ใหญ่ประชุมกันแล้วค่อยๆ ซึมซับรับรู้เข้าไป

ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านต่อสู้และทำงานอย่างหนัก วันนี้ชาวบ้านสามารถยึดพื้นที่ได้แล้ว โดยส่งคนลงเวรยามเฝ้าที่หัวงานสร้างเขื่อนในเขตอุทยานทุกวัน โทรศัพท์รายงานเหตุการณ์มายังผู้นำชุมชนตลอด ตามที่เคยประกาศห้าม “กลุ่มบุคคลภายนอกที่สนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนยมบน-ยมล่างเข้ามาในพื้นที่ มิฉะนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย” ซึ่งติดป้ายประกาศและแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว ถือว่ารับรู้ทั่วกัน

กระบวนการส่งสารรายงานเหตุการณ์ของชาวบ้านคือ ชาวบ้านที่เข้าเวรที่หัวงานจะโทรศัพท์มาบอกผู้นำชุมชนหากมีบุคคลภายนอกที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนเขื่อนเข้ามาในพื้นที่ หลังจากนั้น ทั้ง 4 หมู่บ้าน จะประกาศเสียงตามสายทันที เพื่อให้คนในหมู่บ้านรับทราบ จากนั้นชาวบ้านก็จะยกกำลังกันไปที่หัวงาน

แต่เดิมชาวบ้านจะใช้ความรุนแรง รุมใช้จอบ เสียม ก้อนหิน ตี ขว้างปาใส่ทั้งคนทั้งรถ ปัจจุบันก็ยังใช้มาตรการเดิมแต่ไม่รุนแรงแล้ว เพียงเชิญตัวมาคุยแล้วเชิญออกนอกพื้นที่ เพราะไม่ต้องการให้มาศึกษาเรื่องเขื่อน แต่หากคนนอกจะเข้ามาด้วยเรื่องดีอื่นๆ เช่น มารับบริจาคเลือด ก็ไม่มีปัญหา

บริเวณที่ตั้งสันเขื่อนแก่งเสือเต้น
บริเวณที่ตั้งสันเขื่อนแก่งเสือเต้น

ชาวบ้านยังยึดถือมติ ครม. เมื่อปี 2540 ที่ว่า ให้ชะลอโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และการศึกษาเพิ่มเติมต่างๆ ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ยกเลิกมติดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลจะทำอะไรต้องแจ้งชาวบ้านทราบด้วย

ในกระบวนการต่อสู้ไม่ได้มีเพียงผู้ใหญ่หรือเด็กเท่านั้น กลุ่มวัยรุ่นอายุ 20-30 ปี ก็มีอยู่มากเช่นกัน ประชากรในชุมชนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไปทำงานนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะทำงานที่บ้าน เช่น ต้มเหล้า เลี้ยงหมู ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็น กองกำลังหลักของชุมชน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรในหมู่บ้าน

วิธีการผลักดันถ่ายทอดกระบวนการต่อสู้จากรุ่นสู่รุ่น ผู้ใหญ่จะแบ่งงานให้แต่ละฝ่ายทำ กลุ่มคนที่มีความรู้ก็จะทำงานในระดับนโยบาย งานวิชาการ ชาวบ้านก็ยกระดับขึ้นมาเป็นกรรมการหมู่บ้าน หรือกรรมการองค์กรจัดตั้ง เช่น กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต่างคนก็ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปปฏิบัติกัน ส่วนแกนนำอย่างผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็เลื่อนขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา ให้คนรุ่นใหม่ๆ มาเป็นแกนนำ เยาวชนก็เข้ากลุ่มตะกอนยม

เมื่อมีเวทีปราศรัย แต่ละหมู่บ้านก็จะส่งตัวแทนขึ้นปราศรัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นเพื่อฝึกความคล่องแคล่ว ความชำนาญ และเพิ่มประสบการณ์ในการขึ้นปราศรัย

แม้ว่าตอนนี้แกนนำหลักจะอายุระหว่าง 30-40 ปี แต่กลุ่มวัยรุ่นก็เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ยิ่งหนุ่มยิ่งกล้า พร้อมท้าชนกับกลุ่มคนภายนอกที่จะเข้ามาทำวิจัยหรือสำรวจพื้นที่ในการสร้างเขื่อน

ด้านบทบาทผู้นำในหมู่บ้านนี้เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คือ ทุกคนที่ลงสมัครจะต้องมีนโยบายค้านเขื่อนเสมอ หากได้ตำแหน่งต้องสาบานตนว่าจะค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ว่ากรณีใดๆ รวมถึงครู ตำรวจ และข้าราชการที่มาประจำตำแหน่งที่นี้ มิฉะนั้นอยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้ เพียงแต่เป็นแกนนำหลักคัดค้านออกหน้าออกตาไม่ได้เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับแกนนำคัดค้านมากกว่า

ส่วนบทบาทของชาวบ้านที่เกิดในชุมชนนี้แต่ไปทำงานต่างถิ่นคือ เป็นกลุ่มทุนให้เงินช่วยเหลือหมู่บ้าน และเพื่อนำข้อมูลจากชุมชนไปกระจายในพื้นที่ที่แต่ละคนทำงาน

นายวาด เทือกฉิมพลี กรรมการหมู่บ้านดอนชัยสักทอง
นายวาด เทือกฉิมพลี กรรมการหมู่บ้านดอนชัยสักทอง

ด้านการกระจายข่าวสู่สื่อมวลชน นายวาด เทือกฉิมพลี กรรมการหมู่บ้านดอนชัยสักทอง เล่าว่า ชาวสะเอียบเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนมากๆ ตอนที่ธนาคารโลกเข้ามาสำรวจพื้นที่ก่อนปล่อยกู้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ประเทศไทย แต่ถูกชาวบ้านรุมทำร้าย

ต่อมา ชาวสะเอียบรู้ว่าการเป็นเครือข่ายเล็กๆ ต่อสู้คนเดียวคงไม่ไหว จึงไปร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายเขื่อน ร่วมประท้วงเขื่อนปากมูล ฯลฯ เพื่อหาพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐเหมือนกัน

ภายหลังกลุ่มคนภายนอกก็ให้เบอร์ติดต่อสื่อกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านแจ้งข่าวแก่สื่อได้โดยตรง เมื่อมีสื่อเข้ามาในพื้นที่มากๆ ชาวบ้านก็มีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์สื่อสลับๆ กันไป จนเกิดความคุ้นชินในการตอบคำถามกับสื่อ ด้านชาวบ้านก็ตอบแบบชาวบ้าน ส่วนแกนนำก็จะตอบมีข้อมูลมากกว่าหน่อย บางครั้งมีการเชิญสื่อมาทำข่าวในพื้นที่ ทำให้มีข่าวเผยแพร่ตลอดเวลา

ปัจจุบันชาวบ้านรู้จักการใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เช่น ผ่านทางเฟซบุ๊ก “ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น” และ “ตำบลสะเอียบ ป่าสักทอง

สักทองที่บวชป่าฯ แล้ว
ต้นสักทองที่บวชป่าฯ แล้ว

“เราไม่อยากอพยพ เพราะเรามีที่อยู่ ที่ทำมาหากิน มีอะไรๆ พร้อมหมดแล้ว ทรัพย์ในดินอย่างสักทองที่เราปลูกก็โตเป็นไม้ใหญ่” นางภารดี สะเอียบคง ชาวบ้าน ต.สะเอียบ

ความเข้มแข็งของชาวสะเอียบเกิดจากไม่ละทิ้งถิ่นฐาน รักและหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากกว่าวิ่งเข้าหาความเจริญในเมือง