ThaiPublica > คอลัมน์ > Sustainable Consumption และความรับผิดชอบ

Sustainable Consumption และความรับผิดชอบ

1 ธันวาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เราได้ยินคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development_SD) กันบ่อยมาก แต่อีกคำที่มีความสำคัญเหมือนกันแต่มักไม่ได้ยินก็คือ “การบริโภคที่ยั่งยืน” (Sustainable Consumption_SC) SD และ SC มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และ SC มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างไร เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการกำหนดนโยบาย

SD หมายถึงการปฏิบัติที่มุ่งรักษาความสมดุลระหว่างทรัพยากรที่ใช้ไปกับทรัพยากร “ใหม่” โดยไม่ทำลายหรือทำให้ระบบนิเวศของธรรมชาติเกิดอันตราย พูดง่าย ๆ ก็คือการปฏิบัติที่ห่วงกังวลความสามารถของธรรมชาติที่ต้องสู้กับความท้าทายจากเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของมนุษย์

แนวคิดนี้มีรากมาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ป่าไม้มิได้มีไว้เพื่อเก็บเข้าเซฟ หากต้องใช้ประโยชน์จากมันอย่างมีความสมดุลและยั่งยืน ในศตวรรษที่ 17 และ 18 เกิดมีความกังวลเรื่องป่าไม้ที่หายไปในอังกฤษจนอาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ ดังนั้นแนวคิดจัดการเรื่องป่าไม้อย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้น

หนังสือชื่อ Silent Spring ของ Rachel Carson ตีพิมพ์ในปี 1962 มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม แนวคิดจาก Silent Spring ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับโลกในเรื่องความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

เรียงความที่มีชื่อเสียงในปี 1966 ที่มีชื่อว่า “The Economics of the Coming Spaceship Earth โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล Kenneth Boulding ตอกย้ำแนวคิดดังกล่าว โดยเสริมว่าระบบเศรษฐกิจจะต้องเข้าไปสอดคล้องอยู่ในระบบนิเวศที่มีทรัพยากรจำกัดของโลก

แนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันมาจากรายงานของ Club of Rome ในปี 1972 ที่มีชื่อว่า “Limits to Growth” ซึ่งเขียนโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก MIT รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามี “State of Global Equilibrium” (สภาวะดุลยภาพของโลก) ที่พึงปรารถนา กล่าวคือมีระบบที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในโลกจากการผลิตสินค้าบริการพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทั้งหมดโดยไม่เกิดการพังทลายทันทีหรือการพังทลายที่ควบคุมไม่ได้ขึ้น

แนวคิด SD เกิดขึ้นในระดับโลกมาจาก 1987 Brundtland Report ของ UN ซึ่ง SD คือหลักการในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรที่มีจำกัดในโลกให้สืบทอดไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปบนโลกใบนี้ SD เป็นกระบวนการที่นำไปสู่สภาวการณ์ที่น่าพึงปรารถนาของมนุษยชาติในอนาคต

สำหรับศัพท์ Sustainable Consumption (SC) นั้นตามมาในภายหลังโดยผูกโยงใกล้ชิดกับ SD โดย SC เป็นส่วนหนึ่งของ SD กล่าวคือถ้าไม่มีการบริโภคที่มีลักษณะของความยั่งยืนแล้ว “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ SD ก็เกิดขึ้นไม่ได้

SC ปรากฏชัดใน 1994 Oslo Symposium on Sustainable Consumption โดยมีคำจำกัดความว่าเป็นการบริโภคสินค้าและบริการซึ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อันนำไปสู่คุณภาพของชีวิตที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และก่อให้เกิดสารพิษและสร้างมลภาวะน้อยที่สุดเพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลเสียต่อคนรุ่นต่อไป

ที่มาภาพ : http://www.unep.org/newscentre/Default.aspx?DocumentID=27058&ArticleID=36076&l=en
ที่มาภาพ : http://www.unep.org/newscentre/Default.aspx?DocumentID=27058&ArticleID=36076&l=en

พูดสั้น ๆ คือ SC คือการบริโภคที่เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตมนุษย์โดยใช้ทรัพยากรน้อยสุด ก่อมลภาวะน้อยสุด และไม่เป็นภาระต่อคนรุ่นต่อไป เช่น บริโภคแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียวแต่ใช้กระดาษนับสิบแผ่น บริโภคอาหารทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เก็บอาหารไว้ไม่ดีจนสูญเสีย บริโภคอาหารประหลาด เช่น อุ้งตีนหมี ท่ออสุจิปลาวาฬ มันสมองลิง ดีงู ฯลฯ คำถามก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิด SC ขึ้นได้

เพื่อให้เกิด SC ขึ้น สองสิ่งจะต้องเกิดขึ้น กล่าวคือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพของการบริโภค และ (2) การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคและการลดระดับการบริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว

การเพิ่มประสิทธิภาพของการบริโภคของข้อ (1) หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการที่ทำให้ใช้วัตถุดิบน้อยลงและใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ (ตัวอย่างเช่นไม่ตัดต้นไม้เพื่อเก็บรังผึ้ง ถลุงทองคำและปล่อยไซยาไนด์ซึ่งเป็นผลพลอยได้ให้ประชาชน)

สำหรับข้อ (2) นั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภค (เช่น เปลี่ยนการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินจากถ้วยและจานเป็นกล่องกระดาษ) และการลดระดับการบริโภค โยงใยกับทัศนคติ ค่านิยม การเลือกของผู้บริโภค โครงสร้างพื้นฐาน (การรณรงค์การบริโภคระดับ “พอเพียง” การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ)

ในเดือนกันยายน 2015 UN ได้กำหนด 2030 Agenda for Sustainable Development โดยมี 17 Sustainable Development Goals (SDG’s) โดยตั้งใจให้ประสบความสำเร็จในทุกประเทศ ความพยายามนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2030 และใน Goal ที่ 12 นั้นมีการระบุ Sustainable Consumption เป็นเป้าหมาย

SC คือการบริโภคที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนา และความยั่งยืนของมนุษยชาติ คนที่จะทำให้เกิด SC ได้อย่างแท้จริงก็คือพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละคน ลองดูข้อมูลเหล่านี้แล้วจะเห็นว่า SC เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

(1) ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในโลก (ประมาณ 1.3 พันล้านตัน หรือมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ถูกทิ้งในถังขยะโดยผู้บริโภคและผู้ขายรายย่อย หรือเน่าเสียอันเนื่องมาจากการขนส่ง หรือการเก็บเกี่ยวที่ขาดประสิทธิภาพ

(2) ด้วยระดับการบริโภคในปัจจุบัน ตัวเลขที่ประมาณการว่าจะมีประชากรโลก 9.6 พันล้านคน (ปัจจุบัน 7 พันล้านคน) ในปี 2050 หมายถึงว่าจะต้องมีโลกถึง 3 ใบ จึงจะมีทรัพยากรเพียงพอ

(3) ประชากรโลก 2 พันล้านคน มีน้ำหนักเกินพอดี ในขณะที่ประมาณ 1 พันล้านคนที่มีภาวะทุโภชนาการ และอีก 1 พันล้านคนอดอยาก

(4) น้อยกว่า 3% ของปริมาณน้ำในโลกที่ดื่มได้ ในจำนวนนี้ 2.5% เป็นก้อนน้ำแข็งในทวีป Arctic และ Antarctica ดังนั้นมนุษย์จึงต้องพึ่งพิง 0.5% ที่เหลือนี้

ถ้าไม่คำนึงถึง “การบริโภคที่ยั่งยืน” มนุษยชาติก็จะไม่มีชีวิตที่ยั่งยืนจนไปถึงชั่วคนต่อ ๆ ไปได้ แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” สอดคล้องกับ SC เพราะทำให้มีความต้องการของทรัพยากรน้อยลง และช่วยให้เกิด SC โดยอัตโนมัติ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 พ.ย. 2559