ThaiPublica > คนในข่าว > “แจ็ค หม่า” (ตอนจบ): จับมือ UNCTAD สร้าง digital ecosystem เชื่อมโลกการพัฒนาที่ยั่งยืน – หนุนบทบาท”ผู้หญิง”

“แจ็ค หม่า” (ตอนจบ): จับมือ UNCTAD สร้าง digital ecosystem เชื่อมโลกการพัฒนาที่ยั่งยืน – หนุนบทบาท”ผู้หญิง”

25 เมษายน 2018


แจ๊ค หม่าขึ้นเวทีYouth Connext ที่อัฟริกา ที่มาภาพ:http://www.alizila.com/ma-africa-empowering-young-entrepreneurs/

ต่อจากตอนที่ 1 นอกจากแจ๊ค หม่าจะมุ่งการให้ผ่านการบริจาคเงินให้สังคม เพื่อปรับปรุงแก้ไข สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษา เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังมีแนวคิดที่ทำให้การอยู่บนโลกนี้ยั่งยืน

“UNCTAD- รร.ธุรกิจอาลีบาบา” สร้างหลักสูตรหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

แจ็ค หม่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย จึงได้ร่วมกับ UNCTAD (อังค์ถัด) พัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการยุคใหม่ UNCTAD and Alibaba Business School’s eFounders Fellowship Program ซึ่งเป็นความร่วมมือของโครงการ The eFounders Initiative (เป็นส่วนหนึ่งของชุดการสร้างคู่หุ้นส่วนที่ชาญฉลาดของ UNCTAD เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้วาระ 2030 หรือ Sustainable Development Goals 2030: SDGs) กับโรงเรียนธุรกิจอาลีบาบา (Alibaba Business School) โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี มีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี

การเปิดหลักสูตรได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ซึ่งมีผู้ประกอบการของแอฟริกาจำนวน 24 คน จาก 7 ประเทศในทวีปแอฟริกาเข้ารับการอบรมเป็นรุ่นแรก ได้เดินทางมาเข้าโครงการ ที่สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบาในเมืองหังโจว เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ (e-commerce ecosystem) โดยใช้ประสบการณ์จากประเทศจีน

ก่อนหน้านั้นเดือนกรกฎาคม 2017 แจ็ค หม่า ได้เดินทางไปยังแอฟริกาเป็นครั้งแรก เพื่อเยือนเคนยาและรวันดา ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของ UNCTAD ซึ่งได้พบปะกับภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือที่จะนำเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ในแอฟริกา เข้ามาสู่เวทีเศรษฐกิจโลก พร้อมกับขึ้นเวทีประชุม YouthConnekt Africa Summit ที่จัดขึ้นในรวันดาด้วย

แจ็ค หม่า กล่าวว่า การลงทุนในคนรุ่นใหม่ คือ การลงทุนเพื่ออนาคตพร้อมประกาศตั้งกองทุน African Young Entrepreneurs Fund ด้วยเงิน 10 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนธุรกิจออนไลน์ในแอฟริกา และได้ประกาศที่จะนำผู้ประกอบการมือใหม่ของแอฟริกาไปเรียนรู้เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ที่สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบาในหังโจว

แจ๊ค หม่ากับผู้ประกอบการอัฟริกันที่เข้าโครงการ eFounder ทีมาภาพ:http://www.alibabagroup.com/en/news/article?news=p171123

ในเดือนเมษายน 2018 มีผู้ประกอบการชาวเอเชียสำเร็จการอบรมจำนวน 37 คน หลังจากผ่านการหลักสูตรเข้มข้นที่ใช้เวลาเรียน 11 วัน เป็นผู้ประกอบการรุ่นที่สอง ซึ่งส่งผลให้อาลีบาบาเข้าสู่เป้าหมาย ตามที่แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นเยาว์และธุรกิจขนาดเล็กของ UNCTAD ได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการ 1,000 รายในประเทศกำลังพัฒนาให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อเปิดให้เข้าถึงเทคโนโลยีและมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ตลอดการอบรม 11 วัน ผู้ประกอบการเอเชียที่มาจาก กัมพูชา อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทยและวียดนาม ที่เข้าร่วมโครงการได้รับข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิโดยตรง โดยเฉพาะการเยี่ยมชมสำนักงานและรับอาลีบาบา เป็นตัวอย่างในการศึกษา ได้เยี่ยมชมโรงเรียนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เรียนรู้เกี่ยวกับ ecosystem ของอาลีบาบา ที่ประกอบด้วยแพลตฟอร์มและโซลูชันส์ ตลอดจน ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทรนด์ล่าสุดในอุตสาหกรรมและการพัฒนาใหม่ๆ เช่น ค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) อีคอมเมิร์ซในชนบท และการเกิดขึ้นของผู้มีชื่อเสียงในอินเทอร์เน็ต

ผู้เข้ารับการอบรมยังได้เยี่ยมชมนวัตกรรมล้ำยุคมากมาย เช่น เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) ซูเปอร์มาร์เก็ตต้นแบบค้าปลีกรูปแบบใหม่ของอาลีบาบา, ศูนย์โลจิสติกส์ไช่เหนี่ยว เจียชิ่ง และหมู่บ้านไป่หนิว (Bainiu) ที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือหมู่บ้านเถาเป่า เพราะได้ผสมผสานอีคอมเมิร์ซเข้ากับทุกจังหวะของวิถีชีวิต

ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้รับโจทย์ให้นำเสนอแผนงานในอนาคต ที่ได้นำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมต่าง ทั้งในด้าน E-Commerce การเงินและระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ Big Data และธุรกิจท่องเที่ยว ไปแบ่งปันให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในประเทศบ้านเกิด พร้อมต่อยอดแนวคิดธุรกิจของตนเอง

แจ๊ค หม่า กับผู้ประกอบการเอเชีย ที่เข้าร่วมอบรม EFounder รุ่น ที่มาภาพ:http://www.alibabagroup.com/en/news/article?news=p180405

เมื่อสำเร็จหลักสูตรแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เป็นสมาชิกเครือข่ายผู้สำเร็จหลักสูตร eFounder ทั่วโลก รวมทั้งต้องลงนามรับคำมั่นต่อ UNCTAD และอาลีบาบาว่าพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นทูต เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง ไม่เฉพาะในประเทศของตัวเอง แต่ของโลกด้วย ซึ่งอาลีบาบาและ UNCTAD จะติดตามความคืบหน้าเป็นระยะทุก 3 เดือน เพื่อวัดผลว่าได้นำความรู้ไปใช้กับชุมชนจริงหรือไม่ รวมทั้งจะสนับสนุนการสร้าง digital ecosystem ที่เปิดให้มีการเข้าถึงและมีส่วนร่วมต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของโลก

ส่งเสริมผู้หญิงเป็นผู้ประกอบการ-ผู้บริหาร

แจ๊ค หม่ายังผลักดันให้อาลีบาบาจัดการประชุมนานาชาติ Global Conference on Women and Entrepreneurship ส่งเสริมผู้ประกอบการหญิงเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2015 ที่หังโจว เพื่อส่งเสริมและส่งต่อความรู้ให้ผู้ประกอบการหญิงใช้ศักยภาพของตัวเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้นำแนวหน้าของประเทศจากทุกภาคส่วน ทั้งในแวดวงการเมือง ธุรกิจ การเงิน เทคโนโลยี สื่อ

ประเด็นผู้หญิงกับการเป็นผู้ประกอบการ มีความสำคัญต่อธุรกิจหลักของอาลีบาบา และได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ซ เพราะปัจจุบันมากกว่า 50% ของร้านค้าบนเถาเป่ามาร์เก็ตเพลสเป็นผู้หญิง

นอกจากนี้ผู้หญิงยังเป็นกำลังสำคัญของอาลีบาบากรุ๊ป เพราะในช่วงเริ่มต้นสัดส่วน 1ใน 3 ของทีมงาน 18 คนเริ่มแรกเป็นผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันนี้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบากรุ๊ป ส่วนพนักงานหญิงของอาลีบาบากรุ๊ปมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของพนักงานทั้งหมด และราว 35% ของผู้บริหารเป็นผู้หญิง

แจ๊ค หม่ากล่าวว่า “โลกนี้น่าอยู่ขึ้นเพราะการสร้างสรรค์ที่สำคัญและการมีส่วนร่วมของผู้หญิง และเรารู้ว่าผู้หญิงจะนำเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่าและสดใสกว่า ผู้หญิงคือองค์ประกอบที่สำคัญของอาลีบาบากรุ๊ปตั้งแต่เริ่มต้น และหากไม่มีผู้หญิง เราคงไม่ก้าวหน้าอย่างที่เห็นในทุกวันนี้”

Conference on Women and Entrepreneurship ที่อาลีบาบาจัดขึ้นปี 2017 ทีมาภาพ:http://www.alibabagroup.com/en/news/article?news=p170710

กิจกรรมเพื่อสังคมของอาลีบาบา

แจ็ค หม่า นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางธุรกิจของอาลีบาบาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของอาลีบาบาด้วย เพราะได้ริเริ่มกิจกรรมด้านนี้ของอาลีบาบา จนยกระดับเป็นการทำงานของมูลนิธิเช่นเดียวกัน

กิจกรรมเพื่อสังคมในช่วงแรกเน้นไปที่การให้ความรู้ด้านอินเตอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซกับผู้ประกอบการในจีน และผู้ซื้อออนไลน์ แต่ได้เริ่มอย่างจริงจังครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2010 ด้วยการโดยประกาศจัดสรรเงิน 0.3% ของรายได้ทั้งปีอาลีบาบาให้กับการส่งเสริมให้ตระหนักรักและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งในจีนและทั่วโลก ซึ่งในปี 2015 ได้บริจาคไป 47.1 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 15.7 พันล้านดอลลาร์

งานประชุม Xin Philanthropy Conference ปี 2016 ที่มาภาพ:http://www.alibabagroup.com

ในเดือนธันวาคม 2011 อาลีบาบาจัดตั้งมูลนิธิอาลีบาบาในจำนวนเงินที่สูงพอสมควร โดยมีเป้าหมายไปที่ประเด็นทางสังคม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 อาลีบาบาประกาศเปิดตัว องค์กรไม่แสวงหากำไร คือมูลนิธิผู้ประกอบการอาลีบาบาฮ่องกง (Alibaba Hong Kong Young Entrepreneurs Foundation) โดยมีทุนประเดิม 129 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในฮ่องกง ในด้านการเงินด้านวิชาการและการฝึกอบรม เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ

ในเดือนพฤษภาคม 2015 มูลนิธิอาลีบาบา รับที่จะสร้างบ้านจำนวน 1,000 หลังให้กับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาล

ต่อมาในปี 2016 เดือนกรกฎาคม มูลนิธิอาลีบาบาได้จัดการประชุมด้านการกุศลระดับโลกขึ้นเป็นครั้งแรกคือ Xin Philanthropy Conference ที่หังโจว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมทั้งผู้บริจาค เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ ที่จะนำไปสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการกุศลและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเศรษฐีจีนที่มีมากกว่า 1.3 ล้านคน

ผู้เข้าร่วมประชุมนอกจาก แจ๊ค หม่าแล้ว ยังมีนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการยูเอ็น นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายเหยา หมิง นักบาสเก็ตบอลระดับโลกชาวจีนที่ก่อตั้งมูลนิธิเหยา หมิง และเจ๊ท ลี นักแสดงที่ก่อตั้งมูลนิธิ One

อาลีบาบากรุ๊ป ยังเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ริเริ่มแนวคิดการให้แก่สังคมเข้ามาใส่ไว้ในธุรกิจหลัก โดยได้พัฒนาแพล็ตฟอร์มบนมาร์เก็ตเพลส เพื่อให้องค์กรการกุศลต่างๆ สามารถเปิดร้านสินค้าการกุศลหรือระดมอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม นอกจากนี้ผู้ค้าหรือผู้ช้อป ยังสามารถบริจาคให้กับองค์กรการกุศลได้ โดยกำหนดเปอร์เซ็นต์จากยอดขายหักเข้าการกุศลหรือร่วมประมูลสิ่งของเพื่อการกุศลได้

แถลงการจัดตั้งกองทุนบรรเทาความยากจน ที่มาภาพ:http://www.scmp.com/news/china/society/article/2122521/alibaba-launches-us15-billion-fund-help-fight-poverty-china

ในเดือนธันวาคมปี 2017 อาลีบาบากรุ๊ปประกาศสนับสนุนเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ตั้งกองทุนขจัดความยากจนในจีน

แจ๊ค หม่าเชื่อว่า ความตั้งใจนั้นไม่พอที่จะทำการกุศลในจีน ที่ต้องการทั้งเงินและความสามารถ การวางแผนที่ดี และการนำไปใช้อย่างถูกต้อง และเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น