ThaiPublica > เกาะกระแส > สกว. จับมือมั่นพัฒนาฯ รุกวิจัยเพื่อชนบทไทย เดินหน้าเวิร์กชอป 4 ภาค ปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่ แก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำ  

สกว. จับมือมั่นพัฒนาฯ รุกวิจัยเพื่อชนบทไทย เดินหน้าเวิร์กชอป 4 ภาค ปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่ แก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำ  

21 เมษายน 2016


สกว.4resize
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยเพื่อชนบทไทย ระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการขับเคลื่อนและส่งเสริมการสร้างผลงานวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนในพื้นที่ชนบทไทย ถือเป็นความก้าวหน้าอีกระดับในการขับเคลื่อนให้นักวิจัยรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่มากขึ้น โดยเชื่อว่าการผสานความรู้วิชาการและองค์ความรู้ในท้องถิ่นจะช่วยลดช่องว่างระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” และเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“การขับเคลื่อนชนบทไทย จะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิผล โจทย์วิจัยจะต้องมาจากชนบท การสร้างการตื่นรู้ สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ในการสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกัน ชนะร่วมกัน ด้วยการนำแนวคิดใหม่มาประมวลเข้ากับความคิดดั้งเดิมในพื้นที่” ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวถึงโจทย์การวิจัยเพื่อพัฒนาชนบทไทยไว้เมื่อไม่นานมานี้ โดยการทำงานเชิงพื้นที่ถือเป็น 60% ในการทำงานของมูลนิธิมั่นพัฒนา ที่มีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ชนบทไทยบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนากับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ด้วยการจัดเวทีเสวนา “ชนบทไทย: พื้นที่วิจัยสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่” จนปัจจุบันจึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มระหว่างกันขององค์กรที่เชี่ยวชาญการทำงานเชิงพื้นที่และองค์กรที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาองค์ความรู้

นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า การทำงานของมูลนิธิมั่นพัฒนาส่วนใหญ่คือการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาผสมผสานความรู้เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แต่ละภูมิปัญญา อาทิ พื้นที่แก่งกระจาน ภายใต้การดำเนินโครงการรับผิดชอบต่อสังคมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ในการทำงานที่ผ่านมายังมีองค์ความรู้หลายเรื่องที่ขาดการรวบรวมและยังมีสิ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการอย่างตัวชี้วัด Happiness Index ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

“ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัย นักวิชาการ ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาที่หลากหลายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่นักวิจัยเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้นำความรู้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ชนบทห่างไกล การที่มูลนิธิฯ เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ก็น่าจะช่วยให้เกิดการรับรู้ต่อสังคมมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้นักวิจัยรุ่นใหม่เกิดการเรียนรู้ต่อการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ สามารถทำความเข้าใจบริบทของสภาพสังคมชนบทที่ถือว่าเป็นพื้นที่หลักของประเทศ อันจะนำไปสู่การต่อยอดและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งตรงกับภารกิจหลักของมูลนิธิมั่นพัฒนา” นางวรรณวิมลกล่าว

ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันใน 1 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงจุดที่ลงนามความร่วมมือระหว่างกัน จะทำให้เกิดการทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยต่อยอดการทำงานวิจัยชุมชนพื้นที่ที่ทาง สกว. ทำมาอย่างต่อเนื่องในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา บนความเชื่อที่ว่าการขับเคลื่อนงานพัฒนาจากฐานรากเป็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี

โดยการดำเนินงานของ สกว. ที่ผ่านมามีการสนับสนุนทุนวิจัยชุมชนพื้นที่หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. สนับสนุนให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัย ปัจจุบัน สกว. มีโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชาวบ้านแล้วกว่า 3,372 โครงการ และมีนักวิจัยชาวบ้านกว่า 25,000 คน โดยที่ผ่านมา สกว. สนับสนุนให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัย และสร้างงานวิจัยท้องถิ่นโดยชาวบ้านสร้างโจทย์วิจัยและหาทางแก้ด้วยตัวของเขาเอง 2. นักวิชาการเป็นนักวิจัย สนับสนุนให้นักวิจัยทำงานร่วมกับชาวบ้านเป็นการสนับสนุนการวิจัยเชิงประเด็น เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบนโยบายเชิงโครงสร้างและกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ฯลฯ 3. การสนับสนุนเชิงพื้นที่ (Area Based Collaborative Research) มองพื้นที่วิจัยในระดับจังหวัดโดยสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาในเชิงพื้นที่ และ 4. การสนับสนุนเชิงสถาบัน โดยสนับสนุนสถาบันการศึกษาขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาจังหวัดก่อให้เกิดนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย 20 แห่ง และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

“การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้หันมาผลิตงานวิจัยเพื่อสังคมชนบท ถือว่าเป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ทั้งนี้ สกว. ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัย จะมีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงคอยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้จากการลงไปทำงานในพื้นที่จริง และพัฒนาให้กลายเป็นผลงานวิจัยที่สามารถสร้างคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” ศ. นพ.สุทธิพันธ์ กล่าว

ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการจัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ “ไทย: โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่” ที่จะจัดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ แต่บทบาทหลักภายใต้ความร่วมมือนี้จะยังเป็นงานวิจัย และมองว่าการทำความร่วมมือกับมูลนิธิมั่นพัฒนาจะสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโดยใช้งานวิจัยเป็นตัวเชื่อมนักวิจัยรุ่นใหม่และการทำงานในพื้นที่ชนบท โดยจะช่วยยกระดับการวิจัยในพื้นที่ ที่อาจจะเคยทำได้เพียงระดับของการสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา แต่ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ ให้สามารถพัฒนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้และสามารถนำไปเป็นองค์ความรู้ตัวอย่างเพื่อใช้ขยายผลในพื้นที่อื่นได้

ทั้งนี้ การสนับสนุนวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ชนบทไทย โดยการส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและมีใจที่จะสร้างผลงานวิจัยเชิงพื้นที่จากความเชี่ยวชาญของตนเอง ได้ส่งข้อเสนอโครงการเข้าร่วมพิจารณารับทุนดังกล่าว และรางวัลงานวิจัยและนักวิจัยชุมชนเชิงพื้นที่ดีเด่น ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างกำลังใจแก่นักวิจัย พร้อมเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน