ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นักวิชาการถามหาความคืบหน้าระบบแจ้งเตือนและอพยพประชาชนมาบตาพุด หลังโรงงาน BST ระเบิด “ไม่ใช่จ่ายเงินแล้วก็จบ”

นักวิชาการถามหาความคืบหน้าระบบแจ้งเตือนและอพยพประชาชนมาบตาพุด หลังโรงงาน BST ระเบิด “ไม่ใช่จ่ายเงินแล้วก็จบ”

13 มิถุนายน 2012


โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์  จำกัด ระเบิด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555
โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ระเบิด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ที่มาภาพ : http://a3.sphotos.ak.fbcdn.net

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการภายใต้ชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่าหลังจากโรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ระเบิด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานข้อเท็จจริงของการเกิดระเบิดโรงงาน BST เพื่อใช้ในการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ รวมทั้งยังไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมืออาชีพเผยแพร่ต่อสาธารณะ

เป็นเวลา 3 ปีหลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ(เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552) ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าปริมาณมลพิษจะถูกควบคุมให้ลดลง

“ในทางตรงกันข้าม รัฐยังอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ มีการประกาศเขตพื้นที่เพื่อก่อสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นใหม่ มีการอนุญาตให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพให้ดำเนินการผลิตได้ และมีการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาตตามกฎหมายในมาตรา 67 วรรค 2 โดยขาดเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไปตรวจสอบและควบคุม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานไม่ทราบจะทำอย่างไร เพราะการเข้าไปในพื้นที่ของโรงงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีรั้วรอบขอบชิดและมียามเฝ้า ดังนั้น ถึงแม้จะรู้ว่ามีการก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาตก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพราะหากผู้มีหน้าที่ไม่เข้ามาตรวจสอบก็ไม่สามารถที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงได้พยายามใช้กฎหมายอื่นมาต่อสู้ เช่น การแจ้งจับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น”

ส่วนมาตรการป้องกันผลกระทบต่อชุมชนที่ทำได้ง่าย ๆ ได้แก่ การปลูกต้นไม้ยืนต้นล้อมรอบโรงงานให้มีความสูง 3 ระดับเรือนยอด เป็นแนวป้องกันตามข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับว่าจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตและต่ออายุโรงงาน รวมทั้งสำนักนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แจ้งในที่ประชุมว่า จะนำไปใส่เป็นข้อกำหนดในการศึกษารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นับถึงวันนี้ พบว่ามีการปลูกต้นไม้ล้อมรอบพื้นที่โรงงานเพียงไม่กี่แห่ง และเป็นการปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะเติบโตเป็นรั้วธรรมชาติ ที่ช่วยลดผลกระทบจากโรงงานสู่ชุมชนที่อยู่ชิดติดกัน

ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกพร้อมผู้นำชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม ได้รวมตัวกันนำต้นกล้วยกว่า 100 ต้นไปมอบให้ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมปฏิบัติตามข้อตกลงในการประชุมของคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด

“เครือข่ายประชาชน ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษของโรงงาน ได้เรียกร้องให้การนิคมฯ ติดตามให้โรงงานปลูกต้นไม้ สูง 3 เรือนยอดเป็นแนวป้องกันผลกระทบต่อชุมชน โดยใช้ต้นกล้วยเป็นสัญลักษณ์ ว่าการปลูกต้นไม้รอบรั้วโรงงานเป็น ‘เรื่องกล้วยๆ’ ถ้าโรงงานมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาและลดผลกระทบต่อชุมชน”

ทั้งนี้ แนวป้องกัน (protection strip) นี้ คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้พิจารณาจากแนวทางของประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้มีการปลูกต้นไม้เป็นรั้วในพื้นที่ของโรงงาน ทำให้มีระยะห่างระหว่างโรงงานและชุมชน เป็นระยะทาง 0, 3, 6, 10, 30 และ 50 เมตร ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของโรงงาน

สำหรับการปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกันอยู่ในพื้นที่ของโรงงาน ส่วนพื้นที่กันชนเป็นพื้นที่นอกเขตโรงงานและอยู่ในชุมชน จึงควรซื้อที่ดินจากชุมชนในราคาที่เหมาะสม มิใช่อาศัยกลไกรัฐในการการเวนคืนที่ดิน นอกจากการซื้อแล้วยังสามารถเช่าที่ หรือให้เจ้าของที่เป็นหุ้นส่วน รวมทั้งออกพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อให้ประชาชนได้รับผลตอบแทนประจำปี นอกเหนือจากเงินก้อนแรกเพื่อโยกย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่ปลอดภัยกว่า

“การไปศึกษาดูงานของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและคณะในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงเป็นความคาดหวังของสังคมว่า จะได้เรียนรู้แบบก้าวกระโดดและนำความรู้มาประยุกต์ใช้พัฒนาการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่หนาแน่นมากในมาบตาพุด โดยเฉพาะการนำแนวปฏิบัติที่ดีของโรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชนมาวางแผนและบังคับใช้ เช่น การแยกโซนของพื้นที่อุตสาหกรรมออกจากพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสาหร่ายที่ใช้เป็นอาหาร การปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกัน การทำข้อตกลงระหว่างโรงงานกับชุมชนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งคัด การรายงานชนิดและปริมาณสารเคมีที่ใช้และจัดเก็บสำรองเพื่อการผลิต รวมทั้งปริมาณมลพิษที่ได้ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม การขอโทษและแสดงความรับผิดชอบเมื่อมีอุบัติเหตุ รวมทั้งให้ข้อมูลหลังจากศึกษาพบสาเหตุและวิธีป้องกันเพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ของโรงงาน และจัดทำข่าวเผยแพร่สู่ชุมชน”

ตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างโรงงานกับชุมชนที่ได้ผลดีต่อการลดมลพิษในประเทศญี่ปุ่น คือ การลงนามทำข้อตกลงในการกำหนดโควตาการปล่อยมลพิษ เช่น โรงงานทำข้อตกลงว่าจะปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ในรูปของ SOx ปีละ 1 ล้านตัน ดังนั้น ถ้าในเดือนพฤษภาคมปรากฏว่าโรงงานเกิดอุบัติเหตุในกระบวนการผลิต ทำให้ปล่อย SOx ไปแล้วตามโควตาที่ตกลงไว้กับชุมชน โรงงานจะต้องหยุดผลิต และใช้เวลาที่เหลือปรับปรุงโรงงานและพัฒนาคนงาน รอไปจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไปจึงจะเริ่มผลิตใหม่ได้ ตัวอย่างนี้ทำให้โรงงานมีความเสียหายมาก เพราะต้องหยุดการผลิตถึง 7 เดือน ส่งสินค้าให้คู่ค้าไม่ทัน และยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานขณะที่หยุดการผลิตด้วย

ดังนั้น จึงไม่มีโรงงานใดปล่อยให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามตัวอย่างที่กล่าวถึง เพราะนั่นคือความเสียหายทางธุรกิจที่มีค่าสูงทั้งมูลค่าและความน่าเชื่อถือ ทำให้ทุกโรงงานให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนเข้าทำงานและพัฒนาระบบงาน รวมทั้งมอบหมายงานสำคัญในการควบคุมการผลิตแต่ละขั้นตอนให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีเลิศ

การระเบิดของโรงงาน BST ผ่านมาเป็นเวลา 1 เดือนเศษแล้ว แต่ยังไม่มีความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบและกลไกในการแจ้งเหตุ และอพยพประชาชนเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานขึ้นอีก เชื่อว่าข่าวที่ปรากฏต่อสื่อต่างๆ ถึงการแจ้งเหตุเตือนภัยให้อพยพ ก็จะไม่แตกต่างกับภาพที่เห็นการหนีตายของประชาชนจากการเกิดก๊าซรั่วที่มาจากโรงงานของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และการระเบิดของโรงงาน BST ภาพบนหน้าจอทีวีที่เห็นความแตกตื่น ความสับสนของประชาชนที่พยายามอพยพหนีอุบัติภัย แต่ก็ไม่ทราบว่าควรจะหนีไปอยู่ที่ใดถึงจะปลอดภัย ครอบครัวที่มีแต่รถจักรยานยนต์และมีผู้สูงวัยที่เป็นอัมพาต ต่างชะเง้อรอรถยนต์ที่จะมาช่วยอพยพตามที่ผู้นำชุมชนเคยนัดหมายไว้เมื่อครั้งที่ซ้อมเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุจริงผู้นำชุมชนกลับไม่ได้รับแจ้งเหตุ หรือรถที่นัดหมายไว้ก็ไปต่างจังหวัด ดังนั้นทุกคนจึงต้องพึ่งตนเอง ทำให้ถนนทุกสายเต็มไปด้วยรถทุกประเภทแต่เคลื่อนที่ไปได้ช้ามาก

กรณีโรงงานในประเทศญี่ปุ่นระเบิด โรงงานและภาครัฐปฏิบัติอย่างไรนั้น จากกรณีศึกษาจากการระเบิดของโรงงานอิวากูนิ-โอตาเกะ ของบริษัท มิตซุย เคมิคอลส์ จังหวัดยามากูจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระเบิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2555 เวลาบ่าย 14.15 น. หลังจากควบคุมเหตุการณ์ซึ่งการระเบิดถึง 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมง บริษัทได้ตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายของชุมชน การบาดเจ็บและเสียชีวิต ในเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน ประธานบริษัท มิตซุย เคมิคอล จากสำนักงานใหญ่ในเมืองโตเกียว ได้ออกประกาศความเสียหายที่สำรวจพบจากบ้านเรือนประชาชน 267 แห่ง และโรงงาน 14 แห่ง รวมทั้งให้ข้อมูลสารเคมีซึ่งเป็นผลกระทบที่ชุมชนกังวลอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแม้จะขาดรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบสาเหตุและผลกระทบต่อการผลิตในรายละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาและแจ้งให้ทราบต่อไป ภาคราชการทั้งตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเข้ามาตรวจสอบและกำกับให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย และช่วยปกป้องสิทธิของชุมชน

อีก 2 วันต่อมา บริษัท มิตซุย เคมิคอล ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาสาเหตุของการระเบิดของโรงงาน เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงระบบความปลอดภัยและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในอนาคต คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเป็นศาสตราจารย์ 3 คน จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงซึ่งจัดการสอนด้านเทคโนโลยี 3 แห่ง และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านวิศวกรรมความปลอดภัย 1 คน และเป็นผู้บริหารของบริษัท 5 คน มาจากด้านการจัดการ ด้านความปลอดภัย ด้านการวิจัย ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ด้านการผลิตและเทคโนโลยี ด้านละ 1 คน โดยประกาศฉบับนี้บริษัทได้แสดงความเสียใจและขอโทษชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

และอีก 6 วันต่อมา คณะกรรมการบริหารได้แสดงความรับผิดชอบโดยประกาศต่อสาธารณะในการลดค่าตอบแทนลง ประธานกรรมการบริหารลดลง 40% กรรมการภายในลดลง 30% และบริษัทได้จัดทำประกาศให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้มีส่วนได้เสีย รวม 7 ฉบับ โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยของแหล่งเก็บยูเรเนียมของโรงงาน ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของคนทั้งประเทศ เพราะโรงงานใช้ยูเรเนียมเป็นแหล่งพลังงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณูกล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจากโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดจะแก้ไขได้ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการนำกฎหมายที่กำกับโดยหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบหลักในพื้นที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการป้องกันไว้ก่อน และรัฐต้องให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย

การเกิดอุบัติเหตุของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นครั้งสำคัญ เช่น การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง รัฐบาลญี่ปุ่นมิได้นำงบประมาณของรัฐมาจ่ายชดเชยให้ประชาชน แต่รัฐบาลให้โรงงานกู้เงินเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชย จึงแตกต่างจากวิธีแก้ปัญหามาบตาพุดที่รัฐบาลไทยใช้งบประมาณของรัฐเพื่อแก้ปัญหา ทำให้เจ้าของโรงงานไม่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดและการทำความผิดต่างๆ ไม่มีการคิดค่าเสียหายที่โรงงานก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายที่จะบังคับใช้ การระเบิดของโรงงานก่อให้เกิดความร้อนทั้งจากการลุกไหม้ และทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นจากการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ปริมาณน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงที่ฉีดชะล้างสารเคมีและสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไหลบ่าลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ฝนที่ตกยังช่วยพัดพาสารปนเปื้อนไปตกค้างอยู่ในดินและพืช

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณูกล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2552 รัฐอนุมัติวงเงิน 2,182.22 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อลดและขจัดมลพิษของจังหวัดระยอง ซึ่งมีแผนงานรองรับเหตุฉุกเฉินและเตือนภัยสารพิษด้วย และในปีงบประมาณ 2553 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดเพิ่มเติมอีก 255.72 ล้านบาท

“ประชาชนชาวไทยต้องร่วมกันติดตามว่า การอนุมัติเงินที่มาจากภาษีราษฎรจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น ทำให้เกิดการลดมลพิษในพื้นที่และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษดีขึ้นหรือไม่ โครงการจำนวนมากเป็นการป้องกันปัญหาหรือตามแก้ปัญหา”

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตรวจน้ำในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากที่โรงงาน BST ระเบิด ระหว่าง 8-14 พฤษภาคม 2555 ซึ่งตรวจพบโทลูอีน เบนซีน และสไตรีน ในปริมาณสูง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่ยอมรับได้โดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำตาม มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะค่ามาตรฐานน้ำใต้ดินที่ให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1,000 ไมโครกรัม/ลิตร หรือพีพีเอ็ม แต่ค่าโทลูอีนที่ตรวจพบนั้นพบสูงสุด ประมาณ 550 ไมโครกรัม/ลิตร

จากข้อมูลของ “ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง” ส่วนน้ำเสียอุตสาหกรรม สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เรื่องการดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เมื่อ 5 มิถุนายน 2555 ซึ่งผลการตรวจวัดโทลูอีนในแหล่งน้ำรอบโรงงาน BST 6 จุด และพื้นที่ปากคลองชากหมาก จุดที่ทิ้งน้ำลงทะเล และน้ำฝนจาก 6 ชุมชน

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังได้ตรวจตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทั่วไป เป็นที่น่าเสียดายที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้ตรวจหาสารเคมีที่เป็นอันตราย ที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมีของโรงงาน เพราะการตรวจเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยนั้นควรตรวจในพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุให้ครบถ้วนด้วย มิใช่เน้นที่ตรวจตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทั่วไป

ส่วนการตรวจคุณภาพอากาศนั้น ตรวจสารอินทรีย์ระเหยง่าย 5 ชนิดด้วยเครื่องตรวจแบบพกพาและรายงานว่า พบโทลูอีน สไตรีน 1,3 บิวทาไดอีน (สารก่อมะเร็งในคน กลุ่ม 1) แอมโมเนียและไวนีลคลอไรด์ (สารก่อมะเร็งในคน กลุ่ม 1) อยู่ในระดับต่ำไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ยังตรวจพบไวนีลคลอไรด์และ 1,3 บิวทาไดอีน ตกค้างปนเปื้อนในดินด้วย แต่ก็สรุปว่าตรวจพบในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“เป็นที่น่าแปลกใจว่า ค่าพารามิเตอร์ที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมีที่อยู่ในอุบัติเหตุครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษทราบดีว่ามีอะไรบ้างที่เป็นอันตราย เหตุใดจึงไม่มีการตรวจ หรือตรวจแล้วแต่ไม่สามารถรายงานผลได้ ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษควรที่จะระมัดระวังในการสรุปว่าปริมาณสารเคมีที่ตรวจพบทั้งในน้ำ ในอากาศ และในดิน นั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสารก่อมะเร็งนั้นในด้านการแพทย์มิได้มีการกำหนดไว้ว่าค่าที่คนได้รับเป็นเท่าใดจึงก่อให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ แต่ละบุคคลยังมีความไวต่อสารพิษแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความไวต่อสารพิษสูง ดังนั้น ถึงแม้ปริมาณน้อย ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เรณูกล่าว

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในมาบตาพุดนั้น นอกจากความรับผิดชอบที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเรียกร้องจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว รัฐต้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยองนั้น หากนับอายุโรงงานแล้วก็ถือว่ามีการใช้งานมานานและถึงเวลาต้องตรวจสอบความปลอดภัยครั้งใหญ่ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ นับจากที่นายกรัฐมนตรีลงมารับฟังปัญหาและสั่งการให้แก้ปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะให้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเพื่อลงพื้นที่ตรวจวัดสารเคมีตกค้าง และให้ปรับปรุงแผนการสื่อสารและแผนเตือนภัย บัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าให้สาธารณชนได้รับทราบ

“บทเรียนจากอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้คนตายไม่น้อยกว่า 11 คน และบาดเจ็บอีกนับร้อย รวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินและสุขภาพของประชาชน จึงไม่ควรจบลงแบบเงียบๆ ตามกลิ่นและกลุ่มควันจากการเผาไหม้สารเคมีที่จางลง ชาวต่างชาติที่ทำงานในพื้นที่กล่าวว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่น่าจะแก้ไขได้ เพราะคนไทยเมื่อจ่ายเงิน เรื่องก็จบลงแล้ว”

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณูกล่าวอีกว่า หากเกิดอุบัติเหตุในโรงงานซ้ำ โดยไม่ได้มีระบบการแจ้งเหตุและการช่วยเหลืออพยพประชาชนในชุมชนที่เป็นระบบ โดยเฉพาะการอพยพเด็กนักเรียนในโรงเรียนไปยังพื้นที่ปลอดภัย ย่อมแสดงความล้มเหลวของการลงพื้นที่ของผู้บริหารระดับประเทศ ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา เพราะบ่งชี้ว่า นอกจากจะไม่มีระบบแล้ว กลไกก็ยังไม่ทำงานด้วย

“การลงพื้นที่เพื่อติดตามสารเคมีและน้ำปริมาณมากที่ใช้ในการดับเพลิงว่ามีการบำบัดอย่างไร เมื่อติดตามเส้นทางระบายน้ำไปลงทะเลที่อ่าวตากวน ก็พบภาพที่น่าตกใจจนแทบไม่เชื่อสายตาตนเองว่า มีตะกอนเลนสีดำทับถมบนหาดทรายสีขาวและใต้ท้องทะเลจำนวนมาก เมื่อใช้ขวดน้ำดื่มตักน้ำขึ้นมาตรวจ พบว่าน้ำมีสีดำปี๋ ชาวประมงบอกว่าเป็นสิ่งปกติเมื่อถึงช่วงเวลาน้ำลง ที่สำคัญพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่ ผู้เลี้ยงหอยเล่าว่าปกติหอยที่เพาะเลี้ยงไว้จะสามารถชั่งได้ 1 พวง หนักประมาณ 9 กิโลกรัม แต่หลังจากโรงงาน BST ระเบิด พบว่าลูกหอยและหอยที่เติบโตถึงระยะหนึ่งก็ทิ้งพวงหอยเหลือพวงละ 1 กิโลกรัม จึงพบเปลือกลูกหอยและเปลือกหอยขนาดกลางเกลื่อนหาด กรมประมงและกรมควบคุมมลพิษควรเข้ามาดูแล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ หากพบว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม ควรที่จะมีการชดเชยการสูญเสียพื้นที่ทำกินให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้”