ข่าวปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือในช่วงต้นปีเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน แต่ปัญหานี้ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง กลายเป็นวัฏจักรของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี โดยในปี 2555 นี้ กรมควบคุมมลพิษได้เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก ได้ประสบกับปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) จากข้อมูลที่เก็บตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคมพบว่า มีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือค่า PM 10 เกินค่ามาตรฐาน มีค่าสูงสุดที่จังหวัดเชียงราย 437.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐานถึง 25 วัน
รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลจากผลการศึกษาทั่วโลกว่า หากฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าค่ามาตรฐาน จะส่งผลให้การตายด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 7-20% การป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 5.5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2-5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 5.3% ผู้สูงอายุป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 17% ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 7.6% และยังทำให้สภาพปอดในเด็กแย่ลง
สถิตินี้สอดคล้องกับข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปี 2555 ที่หน่วยระบบหายใจเวชบำบัดวิกฤติและภูมิแพ้ ภาคอายุรเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคหืดเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่า นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ป่วยทั่วไปที่มารับการตรวจจากอาการแสบตา แสบจมูก หายใจไม่สะดวก ไอ จาม มึนศีรษะ มีจำนวนมากในแต่ละวัน
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหามลพิษหมอกควันในภาคเหนือเกิดจากการเผาป่า เผาเศษวัสดุ ในภาคการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และเผาขยะมูลฝอยในพื้นที่
สำหรับสาเหตุที่มาจากการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และขบวนการเพาะปลูกส่วนใหญ่จะเผาทำลายข้าวโพดเพื่อเตรียมการเพาะปลูกรอบใหม่
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการสาธารณสุขว่า ปัญหาหมอกควันมาจากการเผาป่าในประเทศไทย ไม่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
จากการรวบรวมข้อมูลของ ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา: ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ. น่าน ได้ให้ข้อมูลว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จาก 3 แสนไร่ในปี 2548-2549 เป็น 9 แสนไร่ในปี 2553
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้นทุกปี จาก 9.6 ล้านตันในปี 2543 เป็น 14.32 ล้านตันในปี 2554 เช่นเดียวกับข้อมูลความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ พบว่ามีความต้องการข้าวโพดจาก 4.5 ล้านตันในปี 2543 เป็น 5.6 ล้านตันในปี 2555
ขณะที่ข้อมูลน.ส.พ.คมชัดลึก ได้รายงานว่าหากย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน สถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยนั้น ส่งออกเป็นอันดับสองรองจากข้าว โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2528/2529 มีการส่งออกสูงสุดถึง 3.8 ล้านตัน คิดเป็น 76.4% ของผลผลิตทั้งประเทศ แต่ในปีเพาะปลูก 2553/2554 ปริมาณความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายขึ้นถึงปีละ 4.07 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตภายในประเทศเฉลี่ย 4.16 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูก 7.851 ล้านไร่ มีการนำเข้า 0.12 ล้านตัน และส่งออกเพียง 0.27 ล้านตัน
สำหรับฤดูการปีเพาะปลูก 2555/56 ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า มีพื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ 7.195 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 60,610 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.84 แต่ผลผลิตเพิ่มคือได้ 4.813 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 31,440 ตัน หรือร้อยละ 0.66 เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากการที่มีการพัฒนาสายพันธุ์
ส่วนสาเหตุที่เนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง สศก.ระบุว่า เกษตรกรปรับเปลี่ยนไป ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน ที่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนดีกว่า ประกอบกับในภาคเหนือเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แซมในสวนยางพารา ปัจจุบันต้นยางพาราเจริญเติบโตไม่สามารถปลูกแซมได้อีก ทำให้วงการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีการใช้ข้าวสาลีทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางส่วนในสูตรอาหารสัตว์ด้วย
ทั้งนี้ดร.สิทธิเดชและ ดร.เขมรัฐให้ความเห็นว่า จากงานวิจัยข้างต้น ได้ประมวลว่าสิ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรการปลูกข้าวโพดหรือวงจรอุบาทว์ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และภูมิประเทศที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจทำอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเมื่อเข้ามาอยู่ในวงจรนี้แล้วก็พบกับปัญหาดินเสื่อมโทรม ต้นทุนสูง ต้องกู้เงินในระบบ-นอกระบบ ประกอบกับเป็นพืชที่มีการต่อรอง เพราะมีกระบวนการอาศัยตัวกลางทั้งหัวสี และไซโล (ผู้รวบรวมข้าวโพด)รวมถึงแรงจูงใจจากภาครัฐในการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด จึงทำให้เกษตรกรตัดสินใจเพิ่มผลผลิตเพื่อรักษาระดับรายได้ของตน

“ถ้าเกษตรกรไม่เพิ่มผลผลิต รายได้ลดลง เขาก็เจอความยากจน แต่ถ้าเพิ่มผลผลิตก็เจอต้นทุนสูงขึ้นจากค่ายาฆ่าแมลง ค่าปุ๋ย รายจ่ายเขามากขึ้น ด้วยภาระหนี้เช่นนี้ทำให้เขาไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ต้องทำงานที่ได้เงินแน่ๆ เรื่อยไป ก็คือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีสัญญาณจากภาครัฐตลอดเวลาว่าปลูกข้าวโพดได้เงินแน่ๆ ทำให้เขาวนไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีก วงจรอุบาทว์นี้จึงหมุนเร็วขึ้น คนปลูกมากขึ้น ซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง และกู้นอกระบบ พ่อค้ารวยขึ้น แถมมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ฐานลูกค้าแน่นมากขึ้น ตรงนี้การันตีได้ว่าพ่อค้าสะสมรายได้และความมั่งคั่งไปได้อีกนาน”
นักวิจัยทั้งสองกล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ จะทำอย่างไรให้วงจรนี้หมุนช้าลง หรือให้คนที่อยากออกจากระบบวงจรนี้จริงๆ สามารถออกมาได้ เราจึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีแรงจูงใจให้เขาออกมา โดยจากที่สอบถาม ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่อยากออก และเขาไม่ได้อยากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้ว แต่ไม่รู้จะออกมาทำอะไร และจะหาเงินจากไหนไปใช้หนี้ และเขามีความเชื่อว่าสภาพพื้นที่ที่เขาอยู่ปลูกได้แต่ข้าวโพด ขณะที่ตอนนี้คุณภาพชีวิตเขาแย่ลง น้ำในแม่น้ำสารพิษเยอะมาก โดยเฉพาะหน้าเพาะปลูกทุกคนซื้อน้ำใช้หมด ไม่แตะน้ำในแม่น้ำเลย ปลาไม่มีแล้ว แม่น้ำน่านจะสีแดงมากเพราะดินถูกชะลงมาเยอะ
“ปัญหาคือ เกษตรกรที่อยากจะออกจากวงจรนี้ แต่เขาก็ติดในวงจรหนี้ เพราะถ้าไม่กู้เงินก็ผลิตไม่ได้ ถ้าผลิตไม่ได้ก็ไม่มีเงินมาใช้หนี้เงินกู้เดิม ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนไก่กับไข่ที่วนเวียนกันอยู่ ตรงนี้เองที่ทำไห้เกิดความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่ที่นับวันจะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกษตรกรมีแต่จนลง ในขณะที่หัวสี ไซโล รวยขึ้นๆ”
ข้อเสนอแนะคือ นโยบายต้องไม่เน้นหรือจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต เช่น ให้ราคาสูงๆ ใครปลูกเท่าไหร่ก็ให้เลยทีเดียว แต่ควรให้แบบ regressive คือ กำหนดขนาดพื้นที่ให้เงิน เช่น 10 ไร่แรกประกันรายได้เท่านี้ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นก็ให้เงินที่น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ให้เท่ากันหมดอย่างปัจจุบัน เพราะระบบปัจจุบันยิ่งส่งเสริมให้เกษตรกรบุกรุกป่า ขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ดังนั้นต้องมีมาตรการเพื่อสร้างความรู้สึกให้เกษตรกรว่าปลูกในพื้นที่แค่นี้พอแล้ว เขาก็สามารถอยู่ได้ หรือมีเงินสนับสนุนชดเชยเกษตรกรที่สามารถกั้นพื้นที่บางส่วนเพื่อการอนุรักษ์ป่าและลดการใช้สารเคมี
ด้วยข้อมูลด้านสุขภาพ เรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้มากพอ แต่พอทราบว่าปัจจุบันคุณภาพชีวิตและสุขภาพเกษตรกรที่นี่แย่ลง จากการตรวจสารพิษในเลือดก็พบว่ามีปัญหา ทำให้เกษตรกรที่น่านตอนนี้เริ่มมีจุดเปลี่ยน เขาต้องการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและดูแลที่ดินของเขาบ้างแล้ว เพราะเขาได้รับผลกระทบหนักๆ จากการปลูกข้าวโพดมา 4-5 ปี ตอนนี้เขาจึงตัดสินใจหยุดแล้ว เช่น บางหมู่บ้าน จากเดิมที่เขาปลูกข้าวโพด 50 ไร่ ตอนนี้เขาเปลี่ยนมาปลูกแค่ 20 ไร่ ส่วนที่ที่เหลือก็ปลูกคืนเป็นป่าหมดเลย แต่มันใช้เวลานานมากกว่าจะได้ป่าคืนมา เช่น หากมีเงินจากรัฐมาช่วยก็ใช้เวลา 5-10 ปี แต่ถ้าปล่อยที่ว่างเลยก็ประมาณ 20 ปี ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูก 20 ไร่นั้นก็ต้องได้รับการสนับสนุนด้วย เช่น รัฐเข้าไปจัดการหาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เขาได้ใช้ทั้งปี หรือแนะนำว่า นอกจากข้าวโพดแล้ว พื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกอะไรได้บ้าง การที่หมู่บ้านหนึ่งๆ ทำสำเร็จก็เพราะมีผู้นำที่เข้มแข็งและต้องสู้มากๆ หาทุนเอง ทำเองทุกอย่างโดยที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย
“สิ่งที่เกษตรกรต้องการมากที่สุดคือแหล่งน้ำ เพราะถ้ามีเขาจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่างตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นจะสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรไม่ได้ ตามกฎหมาย ก็เป็นภาพที่ขัดแย้งกันที่รัฐคิดว่าการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำให้จะทำให้ชาวบ้านขยายพื้นที่เพาะปลูกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านมองว่าถ้ามีแหล่งน้ำเขาก็ไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกหรอก เพราะเขามีน้ำ จะปลูกอะไรก็ได้ตลอดปี ไม่ใช่ปลูกได้ปีละครั้งอย่างปัจจุบัน”