ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 (1) : สู่ธนาคารที่ยั่งยืน เมื่อแบงก์เกอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว… Green Financing

Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 (1) : สู่ธนาคารที่ยั่งยืน เมื่อแบงก์เกอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว… Green Financing

30 กรกฎาคม 2018


เสวนาหัวข้อ”Financing while Preserving Environment” มีนายบัณฑูร ล่ำซำ (กลาง) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายวิเวก ปาทัก (ที่ 2 จากซ้าย) Director, East Asia&The Pacific จาก International Finance Corporation, นาย โรเจอร์ ชาร์ลส์ (ที่ 2 จากขวา) Director, Environmental and Social Risk Management จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นายไซมอน เท (ขวา) Chairman Singapore Institute of International Affairs (SIIA) และ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน (ซ้าย) ผู้ดำเนินการอภิปราย

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานสัมมนา Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ขึ้น เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและการพัฒนาของ การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) โดยมีผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ

โดยช่วงเสวนาหัวข้อ “Financing while Preserving Environment” วิทยากรได้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายวิเวก ปาทัก Director, East Asia&The Pacific จาก International Finance Corporation, นาย โรเจอร์ ชาร์ลส์ Director, Environmental and Social Risk Management จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นายไซมอน เท Chairman Singapore Institute of International Affairs (SIIA) ได้ร่วมกันถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การพัฒนาการธนาคารยั่งยืน

ควรกำหนดเพดานปล่อยกู้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่

นายบัณฑูร ล่ำซำ กล่าวว่า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 1997 ที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะในระดับล่างของสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ)ได้ให้แนวทางการให้สินเชื่อโดยคำนึงถึงความเสี่ยงมากขึ้น เพราะก่อนวิกฤติมีการให้กู้ยืมแบบเบลอๆ ระบบสินเชื่อยังไม่ชัดเจน และหลังวิกฤติ แบงก์ชาติ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์โดยรวมมีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งได้นำเสนอแนวคิดให้มีการปฏิรูปภาคการเงิน กระบวนการให้สินเชื่อ การกำกับดูแล คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินมากขึ้น เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

เมื่อระยะเวลาผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 20 ปีก่อน ย่อมถูกลืมไป แต่ต้องถามว่า เราเรียนรู้ดีขึ้นไหม และยังคงเป็นประเด็นที่ทั้งแบงก์และแบงก์ชาติ คำนึงอยู่เสมอ และพยายามที่จะจัดการ และเชื่อว่าแบงก์ชาติ มีแนวทางการดูแล

“นอกจากขณะนี้เรากำลังให้ความสำคัญกับการรับความเสี่ยงในหลายรูปแบบ แต่ก็มีการกระจุกตัวความเสี่ยงในบางด้าน และมีช่องว่างเกิดขึ้นในสังคม ที่เกิดจากพฤติกรรมการให้กู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยมีการปล่อยกู้ให้กับคนที่ความสามารถมากกว่าและไว้วางใจ มากกว่าปล่อยกู้ให้กับคนที่ด้อยโอกาสแต่ต้องการมากกว่า เนื่องจากมีการดำเนินงานที่ง่าย และสิ่งนี้กำลังคืบคลานเข้ามาอีกครั้ง ขณะที่เพดานการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้รายใหญ่รายใดรายหนึ่งก็มีการผ่อนผันชั่วคราว สำหรับผมแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนอย่างมาก หากเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีผลต่อระบบธนาคารโดยรวม เพราะลูกหนี้รายใหญ่บางรายอาจจะล้มละลายได้

“ประเด็นที่สองที่ต้องการพูดถึง จากการมองในมุมสังคม อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนักสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีการระดมเงินทุนจากผู้ฝากเงินรายเล็ก นักลงทุนรายย่อยแล้วนำเงินมาปล่อยกู้แก่ธุรกิจรายใหญ่รายใดรายหนึ่ง ซึ่งสำหรับผมแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับจริยธรรม”

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)

นายบัณฑูรเสนอให้แบงก์ชาติกำกับดูแลการให้กู้แก่ลูกหนี้รายใหญ่ โดยเฉพาะการผ่อนผันเงินกู้ธุรกิจรายใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะกลุ่มธุรกิจจากเพดานที่กำหนดไว้ 25% ของเงินกองทุนรวมของสถาบันการเงิน (Single Lending Limit: SLL) เพราะเห็นว่าเพดานที่กำหนดไว้ 25% นี้ สูงเกินไป จะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินทางเศรษฐกิจ และยังจะทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจข้ามชาติซึ่งมีความสามารถมีกำลังอยู่แล้วนั้น มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆได้ เช่น ตลาดทุน นอกเหนือจากแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้ดีกว่าธุรกิจขนาดย่อม และบุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความยั่งยืนที่ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่มีผลต่อคนในวงกว้างและทุกกลุ่ม คือ สินเชื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการเห็น การให้สินเชื่อแก่พลังงานสะอาด สินเชื่อเพื่อน้ำสะอาด และดูเหมือนกับปล่อยกู้ได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริงทำได้ยาก ยกตัวอย่าง โครงการสร้างเขื่อน แม้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังคนที่ไม่เห็นด้วย

นายบัณฑูรได้ยกตัวอย่างจากกรณีพื้นป่าสงวนจังหวัดน่าน ที่เป็นป่าต้นน้ำ 40% ของประเทศ แต่ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พื้นป่าสงวนของน่านได้หายไปถึง 28% ของพื้นที่จากการทำไร่ข้าวโพด คำถามที่เกิดขึ้นคือ รัฐปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะจัดการกับป่าสงวนของชาติที่ถูกทำลายไปอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีทางออกแก้ไขปัญหา

สำหรับการให้สินเชื่อในมุมมองของธนาคาร ประเด็นนี้อาจจะมองเป็นองค์ประกอบย่อย เนื่องจากคำถามที่มีต่อธนาคารก็คือ เหตุใดจึงปล่อยเงินกู้แก่ธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อการผลิตข้าวโพดสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ การทำไร่ข้าวโพดเป็นการทำลายป่าสงวนทางอ้อม เป็นคำถามที่ไม่เคยได้รับการเจาะลึกลงไป เพราะรู้ว่าเงินส่วนไหนลงไปที่การทำไร่ข้าวโพด เกษตรกรก็ต้องกู้ด้วยความหวังว่าจะมีเงินมาชำระเงินคืน แต่ก็ไม่สามารถคืนเงินกู้ได้

ประเทศติดอยู่ตรงนี้ เพราะไม่สามารถจัดการกับการทำลายป่าสงวนได้ และแม้จะมีนโยบายด้านการธนาคารและการเงินที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะจัดการกับประเด็นนี้อย่างไร ต้องมีความชัดเจน

“ผมได้รับงานแก้ไขปัญหาผืนป่าน่านมาดูแล โดยรับเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน และเป็นโครงการแรกที่เรียกว่าเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแก้ไข เป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏในการทดลองแก้ปัญหาของประเทศ เพราะมีหลายส่วนเข้าร่วมทั้งในระดับจังหวัด และต้องมีการนำเสนอแนวคิดให้คนในพื้นที่และมีการวางแผนการดำเนินงาน”

โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อที่จะหาทางออกที่เหมาะสมและเบ็ดเสร็จ เพื่อหยุดการทำลายเพื่อดึงพื้นที่ป่ากลับมาก่อน ซึ่งมีประชาชน 20% ที่ได้ใช้พื้นที่นั้น ขณะเดียวกันต้องหาทางให้เกษตรกรมีเงินมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิต จึงต้องเป็นแนวทางที่ต้องคำนึงให้รอบคอบมองให้รอบด้านเพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง และขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการหาแนวทาง ยังไม่มีแนวทางใด ต้องมีการหารือกับคนพื้นที่ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากรัฐ จากหลายฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางที่ยั่งยืน

การจัดการนี้รัฐต้องมีบทบาทนำ เพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ซับซ้อนหลายประเด็น เช่น สิทธิในที่ดิน ในพื้นที่ป่าสงวน เป็นประเด็นทางกฎหมาย แต่ก็มีข้อเสนอขึ้นมาบ้างแล้ว

“เรายังต้องการ Green Funding เพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงชีวิตได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากการทำเกษตรเลื่อนลอย เช่น การปลูกข้าวโพด มาเป็นการทำการเกษตรที่มีรายได้เลี้ยงตัวอย่างยั่งยืน ดังนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เราต้องการเงินทุนสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาขณะนี้อยู่ในการขั้นตอนการดูข้อเสนอในเบื้องต้น ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดอีกมาก”

สำหรับธนาคารกสิกรไทยไม่ได้มีการปล่อยกู้ในด้านนี้ แต่การแก้ไขปัญหาผืนป่าน่านต้องมีการรายงานความคืบหน้าให้กับคณะกรรมการรับทราบทุกเดือน

สิงคโปร์เดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว

นายไซมอน เท กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นวาระระดับโลก และจากการสังเกตการณ์พบว่าทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จีน อินเดีย ที่หันมาสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีการตระหนักและปรับแนวคิดเกี่ยวกับการเติบโตสีเขียว (Green Growth) หรือการเติบโตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้ตลาดเริ่มมองว่าจะจัดเป็น สินทรัพย์ (standard asset) ได้หรือไม่ หลายๆ ประเทศได้เริ่มวางแผนวางยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมการรับมือกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนี้

จีนได้บรรจุเรื่อง Green Financing ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2016-2020) ปรับเปลี่ยนการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคนโดยตรงและยังขยายการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment: SRI) มาสู่ภูมิภาคด้วย และจะช่วยให้มีการเข้าถึงและยั่งยืนในระยะยาว โดยได้จัดจัดตั้ง Green Finance Zone ขึ้น เป็นโครงการนำร่อง และจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อลดภาวะมลพิษปีละราว 440 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากนี้ อินโดนีเซียที่สร้างปัญหาควันให้กับประเทศใกล้เคียงในอาเซียนจากการที่เกษตรกรเผาพื้นที่การเกษตรทุกปี ก็มีการวางแผนด้านความยั่งยืนเช่นกัน โดยในปี 2014 จัดทำ Sustainable Finance Roadmap 5 ปี (2015-2019) เป็นประเทศแรกที่มีการนำเสนอขาย Green Bond ในตลาดโลก

มีการออกพันธบัตรสีเขียวรวมทั้งพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นตลาด SRI ที่มีเสถียรภาพและแข็งแกร่งใหญ่อันดับสองของโลกไม่รวมญี่ปุ่น และอันดับสองของโลกเมื่อวัดจากมูลค่าตลาด

นายไซมอน เท Chairman, Singapore Institute of International Affairs (SIIA)

ทางด้านสิงคโปร์นั้น ได้มีการปรับตัวรับแนวโน้มโลกมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากควันไฟจากอินโดนีเซียมาก่อน ด้วยการออกกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ปี 2014 ต่อมา SIIA ได้ริเริ่มสร้างโครงการความเข้าใจเกี่ยวสินเชื่อสีเขียวหรือ Green Finance ด้วยความร่วมมือกับโครงสร้างสิ่งแวดล้อมองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Project: UNEP) ให้กับภาคการเงินและธุรกิจของสิงคโปร์

“ผมมองว่าการปรับเปลี่ยนมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักไม่ใช่ จากปัจจัยภายนอกประเทศ เพราะเป็นการดำเนินการเพื่อคนในประเทศ สำหรับสิงคโปร์เราตระหนักว่า ความยั่งยืนไม่ใช่มีเฉพาะสิ่งที่ต้องระวังและต้นทุนเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยโอกาสอีกด้วย และสิงคโปร์ได้เริ่มการเดินทางของเราแล้ว”

การดำเนินด้านสินเชื่อสีเขียวของสิงคโปร์นั้นมี 3 ด้าน หนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Stock Exchange: SGX) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคมีปีนี้ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนระบุในรายงานความยั่งยืน (SD report) บนพื้นฐานของการปฏิบัติที่ทำได้ (comply) กับการปฏิบัติที่ชี้แจงได้ (explain) เพื่อให้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืน สองได้ส่งเสริมให้ออกพันธบัตรสีเขียวหรือ Green Bond เป็นตัวอย่าง ผ่านการขยายแก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (private placement) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการออกกรีนบอนด์มากขึ้น และสุดท้าย Singapore Monetary Authority (MAS) ได้ริเริ่มโครงการ Green Bond Grant Scheme ไว้รองรับ

“การออกกรีนบอนด์นั้นใช้เวลานานขึ้นใช้เงินมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการให้คำปรึกษา มากกว่าการออกบอนด์ทั่วไป มีการตรวจสอบ รับรอง กระบวนการต้องนานขึ้น ดังนั้นภายใต้โครงการนี้ MAS จะช่วยรับภาระค่าที่ปรึกษา เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เกิดขึ้น”

สำหรับการดำเนินงานด้านอื่น สิงคโปร์ได้ออกกฎหมาย Carbon Tax เก็บภาษี 5 สิงคโปร์ดอลลาร์ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ตัน รวมทั้งได้มีการปรับราคาพลังงานและน้ำผ่านมาตรการทางภาษีในอัตราที่สูงพอที่จะผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้น้ำและพลังงานอย่างมีคุณค่ามากขึ้น และได้หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น

“เรากำลังผลักดันเศรษฐกิจของเราไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เชื่อว่าสินเชื่อสีเขียวก็จะเพิ่มตามมามากขึ้น”

SIIA ได้ทำการสำรวจผู้บริหารในหลายภาคส่วนของสิงคโปร์ ทั้งสถาบันการเงิน ภาครัฐ นักลงทุน NGO ในเรื่องความยั่งยืน พบประเด็นหลักๆ ว่า ต้องเคารพในความคิดที่แตกต่างกันของแต่ละคน ในสถานะที่ต่างกัน เพราะบางครั้งซีอีโอมีความสนใจส่วนตัวในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และธนาคารสิงคโปร์เองก็ไม่ต่างจากธนาคารไทยที่บางครั้งตั้งคำถามกับตัวเอง จะชักชวนให้ลูกค้าตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร และบางครั้งต้องเสียลูกค้าไปเพราะประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารมีความกังวล

อย่างไรก็ตาม การที่จะก้าวไปสู่การสนับสนุนการเงินแก่สิ่งแวดล้อมได้นั้นภาคการเงินสิงคโปร์มองว่า หนึ่ง รัฐบาลต้องส่งสัญญานความตั้งใจที่ชัดเจน ในการที่จะยกระดับเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว สู่ความยั่งยืน เพราะหากไม่ทำ ตลาดจะไม่ขานรับกับทิศทางนโยบาย สอง ต้องสนับสนุนให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน เพราะขณะนี้มีสถาบันการเงินไม่มากนักที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน สาม ธุรกิจประกันภัยยังไม่เข้าใจ เรื่องความยั่งยืน และเริ่มหาข้อมูล

นายเทกล่าวว่า สมาคมธนาคารในสิงคโปร์ได้มีการจัดทำแนวทางสำหรับการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Guideline for Responsible Finance) ในปี 2015 รวมทั้งธนาคารในสิงคโปร์ได้รับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนจากองค์กรต่างๆ เช่น WWF และแนวทางการประเมินธนาคารพาณิชย์ด้านกำกับดูแล MAS ของสิงคโปร์ยังได้นำความยั่งยืนมาผสมผสานไว้ด้วย

ไอเอฟซีชี้ 15 ปีจากนี้ต้องการสินเชื่อสีเขียวราว 25 ล้านล้านดอลลาร์

นายวิเวก ปาทัก กล่าวว่า การลงทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นการลงทุนที่ดี และเป็นการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตให้กับประเทศ และสำหรับไอเอฟซีเองได้ดำเนินการในหลายด้าน และนับเป็นผู้นำในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพราะมีการลงทุนในหลายประเทศ ดังนั้นการตระหนักถึงโอกาสในพลังงานหมุนเวียนจึงมีความสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า การนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลหรือด้านอื่นที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่นายวิเวกมองว่า ความท้าทายอยู่ว่าจะทำให้ ภาครัฐเห็นความสำคัญและมีการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนได้อย่างไร

ช่วง 20-25 ปีก่อนมีภาคการเงินการธนาคารได้ให้ความสำคัญการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) มีหลายธนาคารได้มีการดำเนินการหลายอย่างที่เป็นเรื่องดี ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แต่สำหรับนายวิเวิกมองว่า โอกาสทางธุรกิจของภาคการเงินการธนาคารจะอยู่ในช่วงนี้ไปเป็นต้นไป เพราะมีการคาดการณ์ว่านับจากวันนี้ไปจนถึงปี 2030 จะมีความต้องการเงินทุนราว 25 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อการลงทุนในตลาดสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในภาคการเกษตร ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลกระทบต่อดินจากการใช้ปุ๋ย การใช้น้ำปริมาณมาก

“ดังนั้นจึงมีความเป็นที่จะต้องมีนโยบายจากภาครัฐมาสนับสนุน”

นายวิเวก ปาทัก Director, East Asia&The Pacific จาก International Finance Corporation

ที่ผ่านมาไอเอฟซีได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังมีมูลค่าไม่สูงนัก โดยได้สนับสนุนโครงการลดใช้ปุ๋ยในเมียนมา ส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งตัวอย่างที่ยกขึ้นมานี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น มีโอกาสที่จะทำเงินได้ แม้การดำเนินงานด้านนี้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ไอเอฟซีมีเครื่องมือที่จะช่วยให้โครงการหรือการดำเนินงาน เดินหน้าได้

สำหรับการออกกรีนบอนด์นั้นแน่นอนว่า ต้นทุนไม่ต่ำ แต่มีโอกาสมหาศาล และมีความท้าทายในขณะเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่ไอเอฟซีทำ คือ ช่วยให้ธนาคารมองเห็นและใช้โอกาสที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์

นายปาทักกล่าวว่า การเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นต้องมีผู้เริ่ม ยกตัวอย่างเช่น ในห่วงโซ่การผลิต หากมีผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งเริ่มที่จะบอกว่า ต้องการวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะมีคนตาม หรือ อาจจะมีผู้บริโภคที่บอกว่า ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถเลี่ยงได้ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการตรวจสอบที่ดี

“ผมขอเชิญชวนให้ธนาคาร สถาบันการเงินเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking Network: SBN) ที่ไอเอฟซีก่อตั้งในปี 2012 เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างความยั่งยืน”

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเน้น “Licence to Operate”

นายโรเจอร์ ชาร์ลส์ กล่าวว่า สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง Licence to Operate จาก สังคม จากรัฐบาล จากชุมชนในพื้นที่ที่ธนาคารมีฐานธุรกิจอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารทำได้ดี เนื่องจากตั้งมุ่งที่จะทำในสิ่งที่ดี ยึดแนวทางการให้สินเชื่อที่เหมาะสมถูกต้องและให้กับธุรกิจที่มีการดำเนินงานในแนวทางที่ดี ตามปรัชญาความยั่งยืนที่วางไว้คือ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร

“เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงต่อสังคม เราได้บริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีธุรกรรมกับธนาคาร พัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ กระตุ้นให้ลูกค้าเห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมไปด้วยกัน หมายถึงว่า การดำเนินธุรกิจในฐานะธนาคารจะช่วยชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมทั้งการลดความเสี่ยงนั้น”

เส้นทางความยั่งยืนของธนาคารได้เริ่มวางขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน โดยวางกลยุทธ์ ความสามารถ และปลูกฝังการดำเนินงานของธนาคารในทุกด้านให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้รับหลักการร่วม Equator Principles และเป็นสมาชิก UN Finance Initiatives ปี 2002 (Equator Principles คือ กรอบการดำเนินงานที่ช่วยให้ธนาคารแก้ไขผลกระทบของโครงการทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เข้าร่วมในข้อตกลงนี้ในปี 2546 และปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ในการให้สินเชื่อโครงการ และการให้คำปรึกษาในระดับที่สูงกว่าที่กำหนดในข้อตกลงโดยจำกัดวงเงินโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านเหรียญขึ้นไป)

ธนาคารยังได้เข้าร่วมในความริเริ่ม Climate Bond รับหลักการ Green Bond เป็นสมาชิก Banking Environment Initiative ปี 2014 เป็นสมาชิก Green Loan Principles

“อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนต้องใช้เวลา ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน และยังคงเป็นการเดินทางสำหรับธนาคาร เพื่ออนาคต”

นายชาร์ลส์กล่าวว่า ธนาคารมีแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนบนหลัก 3 ประการ คือ หนึ่ง ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ (Contribution to Sustainable Economic Growth) ธนาคารต้องการที่ผลักดันให้เกิดผลในทางบวก โครงการที่จะให้สินเชื่อนั้นต้องส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สอง เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Being a Responsible Company) การจัดการกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งผลการลงมือทำจะสะท้อนมาในราคาหุ้น และสามลงทุนกับชุมชน Investing in Community ร่วมกับลูกค้าพัฒนาชุมชน เปิดให้เข้าถึงบริการทางการเงิน

สิ่งที่ธนาคารดำเนินงานมีหลายด้าน ธนาคารให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยึดกรอบ International Finance Corporation Performance Standard ในการให้สินเชื่อ รวมทั้งคำนึงถึงการปฏิบัติที่ดี พร้อมกับวางเป้าหมายผลักดันให้ลูกค้ามีแนวทางการปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับแนวทางของธนาคาร และธนาคารก็ต้องมีแนวทางการให้สินเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง โดยได้นำเกณฑ์การพิจารณาใหม่มาใช้รวมทั้งมีมาตรฐานในการพิจารณาประเภทธุรกิจที่ธนาคารจะให้การสนับสนุน

นายโรเจอร์ ชาร์ลส์, Director, Enviornmental and Social Risk Management ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

เกณฑ์ใหม่ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน โดยหนึ่งในส่วนของลูกค้าธนาคารต้องการให้ลูกค้าธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจได้มาตรฐานตามเกณฑ์สิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Social: E&S) ที่ธนาคารกำหนด ซึ่งจะมีการประเมินทุกปี สองในส่วนของธนาคารในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อกำหนดกรอบให้ต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Social Risk Assessment: ESRA) และส่วนที่สามเป็นประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวกับ NGOs และสื่อ

นอกจากนี้ยังยึดมั่นการส่งมอบความยั่งยืนตามพันธกิจของแบรนด์ Here for Good ด้วยการดำเนินการร่วมกันกับลูกค้า เพื่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมไปถึงแนวทางการสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเทศที่ธนาคารเข้าไปทำธุรกิจด้วย ให้เป็นมาตรฐานในทุกประเทศที่ธนาคารมีฐานธุรกิจ

“การดำเนินงานตามแนวทางความยั่งยืนไม่ควรมีการวัดได้ว่า ธนาคารใดเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เพราะการดำเนินงานบนความยั่งยืนไม่มีการแข่งขัน และไม่ควรเป็นเรื่องที่ธนาคารรายใดรายหนึ่งทำแล้วจะเกิดผลได้ ต้องเป็นเรื่องที่ว่า ธนาคารจะมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนและเกิดผลอย่างไร”

นายชาร์ลส์กล่าวว่า สำหรับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอรด์แล้วเชื่อมั่นว่า มาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับก้าวย่างของธนาคาร เพราะอยู่ในสถานะที่ไม่เหมือนใคร โดยมีสำนักงานใหญ่ในยุโรป ได้รับการสนับสนุนจาก NGOs แต่ฐานธุรกิจส่วนใหญ่ในเอเชีย ดังนั้นจึงเป็นข้อดี การธนาคารเพื่อความยั่งยืนของธนาคารเป็นการทำงานร่วมกันของภาคการเงิน กับสถาบันการเงิน กับ NGOS กับลูกค้า เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สู่ความยั่งยืน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา การทำงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญ

ในปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับนโยบายการให้สินเชื่อด้านพลังงาน โดยหวังว่าลูกค้าของธนาคารจะมีการดำเนินงานที่ได้ตามเกณฑ์ ESRA ของธนาคารและ ขณะนี้กำลังทบทวนที่จะใช้หลักการเดียวกันกับภาคธุรกิจอื่นด้วย

แม้ว่าธนาคารยังคงให้สินเชื่อแก่ธุรกิจถ่านหิน แต่ก็มีความเข้มงวดมากขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในมุมมองของธนาคารแม้ว่าถ่านหินจะจัดเป็น standard asset เหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และในอนาคตก็ยังมีความต้องการถ่านหินอยู่ในระดับหนึ่ง และตลาดยังต้องพึ่งพาถ่านหินอยู่ ส่วนพลังงานทดแทนนั้นแม้ว่ากำลังเติบโต แต่อายุของโรงงานหรือโครงการพลังงานด้านนี้จะไม่ยาว 20-30 ปีเหมือนเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาเร็วมากมีความก้าวหน้า เชื่อว่าสถาบันการเงินจำนวนหนึ่งรอการพัฒนาด้านเทคโนโลยีก่อนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร