ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (6): เอกชนร้อง “ยิ่งลักษณ์” เลิกตั้งโต๊ะเก็บค่าธรรมเนียม”ผู้นำเข้า-ส่งออก” 270บาท/รายการ เงินไม่เข้าหลวงแต่ใช้แจกคนกรมศุลฯ

กรมศุลกากร (6): เอกชนร้อง “ยิ่งลักษณ์” เลิกตั้งโต๊ะเก็บค่าธรรมเนียม”ผู้นำเข้า-ส่งออก” 270บาท/รายการ เงินไม่เข้าหลวงแต่ใช้แจกคนกรมศุลฯ

21 ตุลาคม 2012


นับตั้งแต่กรมศุลกากรมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี ในปี 2497 กำหนดให้จ่ายเงินสินบนรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่และสายสืบ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รับเงินใต้โต๊ะจากผู้ประกอบการแลกกับการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

อย่างเช่น กรณีหลบเลี่ยงภาษี กำหนดให้นำเงินรายได้จากค่าปรับ 2-4 เท่ารวมอากร หรือนำเงินรายได้จากการขายของกลางมาแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ 25% สายสืบ 30% รวมแล้ว 55% ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และสายสืบรับเงินไปทั้งสิ้นกว่า 10,343 ล้านบาท

แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าจำหน่ายของกลางแล้ว จริงๆ เหลือส่งเข้าหลวงไม่มากเท่าไหร่ เนื่องจากบริษัทห้างร้านที่กระทำความผิดสามารถนำเงินค่าปรับไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะที่เจ้าหน้าที่และสายสืบก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (กรมศุลกากร (5): ระบบการจ่ายเงินสินบน รางวัล หลุมดำการปฏิรูป และรัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นหรือใครได้!!) ทำให้ผู้ที่รับประโยชน์ตัวจริงก็คือเจ้าหน้าที่และสายสืบนั่นเอง

นอกจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมีรายได้จากการไปไล่จับกุมผู้ประกอบการที่กระทำความผิด เพื่อนำเงินค่าปรับมาแบ่งสรรปันส่วนกันแล้ว สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก ที่ไม่ได้กระทำความผิด กรมศุลกากรเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการผ่านพิธีการศุลกากรฉบับละ 200 บาท และค่าบันทึกข้อมูลหรือคีย์ข้อมูลเข้าสู่ระบบแลกเปลี่ยนอิเล็กทรอนิกส์ (E-custom) อีกฉบับละ 70 บาท รวมแล้วผู้ประกอบการที่ไม่ได้กระทำความผิด ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ศุลกากร 270 บาทต่อฉบับ

การจัดสรรเงินค่าธรรมเนียมศุลกากร

และนี่คือแหล่งเงินรายได้ที่อยู่บนโต๊ะอีกประเภทหนึ่ง โดยเงินรายได้ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปเรียกเก็บจากผู้นำเข้า-ส่งออก แต่ละเดือนจะถูกนำมาจัดให้เป็นรายได้ให้กับเจ้าหน้าที่เป็นรายเดือนประมาณ 85% ของรายได้จากค่าธรรมเนียมศุลกากร ตั้งแต่ลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงาน หรือข้าราชการที่โอนย้ายมาทำงานที่กรมศุลกากรครบ 3 เดือนไปจนถึงอธิบดีกรมศุลกากร

ส่วนอีกประมาณ 10% ของรายได้จากค่าธรรมเนียมศุลกากรในแต่ละเดือน จะถูกเก็บสะสมเอาไว้เพื่อเตรียมไว้จ่ายเป็นรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่มีผลงานดีเด่น เสมือนเป็นโบนัสพิเศษปีละ 2 ครั้ง และส่วนที่เหลืออีก 5% ถูกนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร

ส่วนรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินค่าธรรมเนียมมีดังนี้

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากภาคเอกชนไปร้องเรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนหรือยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมศุลกากร

ภาคเอกชนมองว่ากรมศุลกากรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ทำให้เป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา นอกจากนี้ บริการผ่านพิธีการทางศุลกากรหรือการตรวจปล่อยสินค้าถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ควรเรียกค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมอีก

ในหลักการคงไม่ถูกต้อง และถ้าหากมีหน่วยงานอื่นๆ เลียนแบบกรมศุลกากร ออกกฎหมายเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม เพื่อหาเงินมาจ่ายเป็นเงินเดือนเพิ่มเติมหรือโบนัสพิเศษให้กับข้าราชการ อาจจะมีผลกระทบกับระบบข้าราชการโดยรวมและประชาชน

นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร

ด้านนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีภาคเอกชนขอให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมศุลกากรว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้รับทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งตนได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ไปทำการศึกษาแล้ว แต่หลักในการพิจารณา คงต้องดูด้วยว่าหลังจากที่กรมศุลกากรเรียกค่าธรรมเนียมแล้ว ทำให้งานบริการทางด้านพิธีการศุลกากรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างเช่น กระทรวงต่างประเทศก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง (Passport) ปัจจุบัน การออกหนังสือเดินทางหรือต่ออายุเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย

เปิดปูมที่มา ค่าธรรมเนียมศุลกากร รายได้พิเศษเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ความเป็นมา กรณีกรมศุลกากรเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมศุลกากรจากผู้นำเข้า-ส่งออก เริ่มดำเนินการครั้งแรกในสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาทุจริตในกรมศุลกากร โดยมีหลักการคือนำเงินที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมากองอยู่บนโต๊ะ และเพื่อให้การผ่านพิธีการศุลกากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทางศุลกากร พ.ศ. 2547 โดยให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาจัดสรรเป็นค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า เฟสแรกมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2547 มาจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2552

หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้สิ้นผลการบังคับใช้ไปแล้ว ช่วงที่นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร พ.ศ. 2552 เฟสที่ 2 ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการดังนี้ คือ

1. การผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจปล่อยสินค้า สำหรับใบขนสินค้า จ่ายค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท
2. การผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าหรือขาออก สำหรับคำร้องขอรับสินค้าออกไปก่อน หรือส่งสินค้าออกไปก่อน เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท
3. การบันทึกข้อมูลใบขนสินค้า ใบกำกับการขนย้ายสินค้า และคำร้องขอรับสินค้าออกไปก่อน หรือส่งสินค้าออกไปก่อน โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นผู้ทำการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดค่าธรรมเนียมฉบับละ 70 บาท

ค่าธรรมเนียมศุลกากร

ส่วนรายการที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับกรมศุลกากรมีดังนี้
1. กรณีผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกเป็นส่วนราชการ
2. เป็นใบขนสินค้าที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร 2530 ภาค 4
3. ใบขนสินค้าขาเข้าหรือขาออกพิเศษที่มีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท
4. ใบขนสินค้าขาออกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท กรณีที่ทำการส่งออกในเขตพื้นที่รับผิดชอบของด่านศุลกากร
5. ใบขนสินค้าผ่านแดน

ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับล่าสุดนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการบังคับใช้