ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”
ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้
….
กรณี ไชนีสวอล (chinese wall) เป็นอีกข้อครหาที่ ปรส. ถูกโจมตีอย่างหนัก ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัท คือ เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ผู้เข้าประมูลซื้อสินทรัพย์ ปรส. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์ ) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาการขายของ ปรส. ประเด็นร้อนเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีคำอธิบายจากอดีตประธาน ปรส. โดยมีรายละเอียดดังนี้
ไทยพับลิก้า : ประเด็น ไชนีสวอล “chinese wall” กรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส จะอธิบายอย่างไร
อธิบายได้อย่างนี้ว่า ตอนที่เข้าประมูลก็มีคนประมูลเข้ามา 5-6 ราย แต่ผมจำไม่ได้ว่ากี่ราย ก็มือใหญ่ๆ ทั้งนั้น มือเล็กๆ ที่บอกว่าเป็นคนไทยเก่งๆ ซึ่งไม่มีสตางค์ก็ไม่เห็นมีใครเข้ามาประมูล แล้วตอนนั้นมันต้องเร็ว ประมูลครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 มันเร็วมาก คนไทยที่มีสตางค์ไม่มีหรอกตอนนั้น มีก็เงินอยู่เมืองนอก ใครมันจะเข้ามา
“เมื่อจริงๆ แล้วคนที่มีศักยภาพที่จะซื้อได้ก็เป็นฝรั่งเสียส่วนใหญ่นะครับ เราต้องไปห่วงอะไร ใช่ไหม เราก็เป็นห่วงอย่างเดียวว่าฝรั่งจะฮั้วกันหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า เพราะถ้าฝรั่ง 5 ราย ฮั้วกัน เราก็ตายเหมือนกันนะใช่ไหม”
เราก็ต้องพยายามทำให้เขาแข่งกัน แล้วเลห์เมนฯ เป็นประมาณเบอร์ 2 ในขณะนั้น โกลด์แมน แซคส์ เป็นเบอร์ 1 จีอีเป็นเบอร์ 3 ถ้าเผื่อเราบอกเอาเบอร์ 2 ออกไปไม่ให้แข่ง การแข่งขันจะดีขึ้นไหม ก็ไม่ดี เราก็ต้องถาม ก็คุยกันในคณะกรรมการฯ หลายรอบนะ ว่าจะให้เขาเข้ามาประมูลไหม
เพราะถ้าเขาเข้ามา ก็มีปัญหาเรื่องนี้ว่า จะมีการครหาได้ว่าบริษัทลูกเขาอาจจะไปช่วยบริษัทแม่นะครับ แต่ว่า ถ้าเผื่อเราไม่เอาเขาเข้ามา การแข่งขันน้อยลง เราจะได้ราคาดีไหม
“ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจว่า ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของ ปรส. หรือทำอะไรเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม สำคัญกว่า procedure (กระบวนการ) หรือเปล่า สำคัญกว่าความรู้สึกของคนหรือเปล่า ว่าทำไมให้บริษัทลูก (ของเลห์แมนฯ) เข้ามาแข่ง”
แม้แต่ในเมืองไทย การที่บริษัทแม่ทำอะไรอยู่ แล้วบริษัทลูกเข้ามาทำด้วย เขาก็ทำกันอยู่ แล้วเราก็พยายามที่จะป้องกันอันนี้ ก็เอาเรื่องไชนีสวอลเข้ามาเป็นหลัก เพราะเรารู้ว่าไชนีสวอลใช้อยู่ในต่างประเทศ เราก็บอกว่าต้องใช้ไชนีสวอลเป็นเครื่องมือในเรื่องนี้นะ และในการเซ็นสัญญากับเขาเราก็บอกเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษเรื่องไชนีสวอลด้วยนะครับ นอกจากนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะเอาไชนีสวอลมาใช้ ไช่ไหม
ถ้าไม่มีบริษัทลูกเลยก็ไม่ต้องมาพูดเรื่องไชนีสวอลใช่ไหม เมื่อมีบริษัทลูกเราถึงต้องบอกว่าเรื่องนี้ต้องมีไชนีสวอลนะ แล้วระบุไว้ในสัญญาเลย ซึ่งเขาก็ยอม ก็ไม่มีปัญหา เมื่อประมูลแล้วคนอื่นเขาก็รู้ว่าไชนีสวอลมันมี แล้วก็ถ้าเผื่อฝ่าฝืนเขาอาจจะได้เปรียบงานนี้ แต่อีก 50 งานข้างนอก ที่ญี่ปุ่น ที่อเมริกา ที่ยุโรป ที่จะเกิดขึ้น เขาก็อาจจะเสียเปรียบตรงที่ว่าเขาเสียชื่อ คุ้มหรือเปล่าสำหรับเขา
“คนมันต้องมองกว้างถึงจะเข้าใจของพวกนี้ ถ้าคนที่ดูอะไรแคบๆ ดูตัวบทกฎหมายอย่างเดียว ดูกติกาง่ายๆ อย่างเดียว มันก็คิดอะไรผิด ผิดไอ้นั่น ผิดไอ้นี่ มันไม่ผิด เพราะว่าเรามีวิธีการป้องกันอยู่แล้ว แล้วก็หลังจากประมูลแล้วก็ไม่เห็นมีใครแอะ! สักคน คนอื่นเขาก็รู้”
และในที่สุดแล้วข้อมูลมันอยู่ในห้องดาต้ารูม (data room) ทั้งหมด ไม่มีใคร access (เข้าถึง) ได้ ผมยังเข้าไม่ได้เลย คุณต้องจ่ายเงินหนึ่งแสนบาทถึงจะเข้าไปได้ เรื่องอะไรผมจะเอาเงินเป็นแสนไปจ่ายด้วย คุณต้องจ่ายหนึ่งแสนแล้วคุณก็เข้าไปดู แล้วคุณอยากจะดูอะไรคุณก็ดูได้หมด มันไม่ดีกว่าหรือ การไปขอข้อมูลพิเศษจากลูกน้อง มันไม่ได้ แล้วคนที่มาทำ ปรส. ในขณะนั้นเขาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการประมูล ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูล มันคนละอย่างกันเลย
เรื่องนี้ได้อธิบายไปไม่รู้กี่ทีแล้ว ในศาลก็อธิบาย จนกระทั่งเวลานี้ผมคิดว่าศาลอาญาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญไชนีสวอลแล้ว (หัวเราะ) อธิบายกันหลายอย่าง แล้วก็มันก็เป็นของที่มีอยู่นะครับ ไชนีสวอลเป็นของที่มีอยู่ใช้อยู่ โดยเฉพาะในอเมริกา ในยุโรป ก็ใช้นะครับ แต่ในอเมริกาใช้มากที่สุด แล้วก็มีตัวอย่างว่าคนที่ฝ่าฝืนถูกปรับ ถูกลงโทษ มันเห็นชัดเจนว่ามันเป็นของจริง และเป็นของที่ฝรั่งเขาใช้กัน และในตอนนั้นเราทำงานกับฝรั่ง เป็นบริษัทฝรั่ง เราก็ต้องใช้กฎหมายที่เขากลัว เอากฎหมายที่เขาไม่รู้จักไปขู่เขา เขาก็อาจจะไม่กลัว
แต่เราก็มีกฎหมายอีกอันหนึ่งนะครับ กฎหมายของ ปรส. ก็มีที่ลงโทษได้ ถ้าเผื่อเราจับได้ว่าเขาเอาความลับไปเปิดเผย ก็ติดตะรางได้ ปรับเป็นล้าน เพราะฉะนั้นมันก็ “มีเขี้ยวมีเล็บ” อยู่ ไม่ใช่ไม่มี